รับรองบุตร
คดีจดทะเบียนรับรองบุตร #ทนายคดีรับรองบุตรThanuLaw #ฟ้องรับรองบุตร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 ถือว่า เด็กซึ่งเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว เท่านั้น
***เพียงแต่การจดแจ้งในสูติบัตรหรือทะเบียนสำมะโนครัวว่าเป็นบิดา ไม่ถือว่าเป็นการจดทะเบียนรับรองบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเบื้องต้น สำหรับการใช้สิทธิทางศาลเท่านั้น
การรับรองบุตร เป็นวิธีการที่ทำให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ โดยมี 3 วิธี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547
1. เมื่อบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง แม้ว่าการสมรสดังกล่าวจะเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ก็ตาม
2. บิดาจดทะเบียนรับรองว่าเด็กเป็นบุตร ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 คือ ทะเบียนรับรองบุตร คร.1 จากสำนักทะเบียน ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ซึ่งวิธีการนี้บิดาไม่ต้องจดทะเบียนสมรสกับมารดาเด็ก
โดยกำหนดเงื่อนไข ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 ดังนี้
2.1. ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็ก โดยทั้งสองคนต้องให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ซึ่งเด็กที่สามารถให้ความยินยอมได้นั้น ต้องสามารถสื่อสาร อ่านออก เขียนได้ และรู้ผิดรู้ชอบ ปกติจะมีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป อ้างอิงตามนิยามของ "เด็กไร้เดียงสา" ข้อ 1. ในกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. 2551
2.2. แต่หากบุคคลทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น มารดาเสียชีวิต วิกลจริต บ้า เจ็บป่วยขั้นโคม่า หรือเด็กยังไร้เดียงสาอายุยังน้อยเกินไป กรณีแบบนี้นายทะเบียนจะจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ได้ จนกว่าจะมีคำสั่งศาลอันเป็นถึงที่สุด ให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรได้
3. ให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ซึ่งเป็นกรณีที่บิดาไม่สมัครใจยินยอม ไม่รับผิดชอบ การฟ้องคดีบิดาให้รับเด็กเป็นบุตร เมื่อเด็กอายุ 15 ปีบริบูรณ์สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ด้วยตนเอง หากเด็กยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ต้องให้มารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 อ้างอิง ฎ.3434/2558
พฤติการณ์ที่ถือว่าบิดารับรองว่าเป็นบุตร : ให้ใช้นามสกุล อุปการะเลี้ยงดูอย่างบิดากับบุตร ให้การศึกษา แจ้งเกิดต่อนายทะเบียนให้ระบุในสูติบัตรว่าเป็นบิดา แจ้งในทะเบียนบ้านว่าเป็นบิดา ฝากครรภ์ เป็นต้น
ผลเสีย การไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
1. เสียสิทธิต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน ป.พ.พ.บรรพ 5 ลักษณะ 2 บิดามารดากับบุตร อาทิเช่น การใช้นามสกุล ใช้อำนาจปกครอง การฟ้องร้องคดีแทน เรียกบุตรคืน จัดการทรัพย์สินผู้เยาว์ การให้ความยืนยอมทำนิติกรรม เป็นต้น
2. หากบุคคลภายนอกทำละเมิดให้บิดาตาย บุตรไม่สามารถฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้
3. บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 คือ บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว แต่ในความเป็นจริงมักจะถูกผู้จัดการมรดกปฏิเสธว่าไม่ใช่บุตร จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ความเป็นบุตรที่แท้จริง
***บุตรนอกกฎหมายที่บิดาไม่ได้รับรอง ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่
4. หากบิดาเป็นข้าราชการ เมื่อบิดาตาย บุตรมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด แต่เมื่อบุตรไปขอรับเงินจากทางราชการ แต่ทางราชการจะปฏิเสธว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บุตรต้องมายื่นคำฟ้องต่อศาลก่อน ซึ่งจะทำให้ถูกทายาทเจ้ามรดกคัดค้านว่าไม่ใช่บุตร
5. บุตรไม่สามารถฟ้องบิดาได้ เพราะถือเป็นคดีอุทลุม
6. ไม่มีสิทธิได้รับเงินจากประกันสังคม
ข้อดี การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
1. เรียกให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล
2. การลดหย่อนภาษี
3. Visa ประเภทอุปการะเลี้ยงดูบุตร ในกรณีบิดาเป็นชาวต่างชาติ
4. สิทธิในการรับมรดกความ
5. มีสิทธิรับสวัสดิการของหน่วยงาน สิทธิประโยชน์ข้าราชการ เช่น การรักษาพยาบาล ทุนการศึกษา ฯลฯ
6. การได้สัญชาติตามบิดา
เอกสารประกอบการยื่นคำร้องหรือฟ้อง
1. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา
2. ทะเบียนบ้านของบิดา มารดา และบุตร
3. สูติบัตรของบุตร
4. คำร้องขอจดทะเบียนและบันทึกทะเบียนครอบครัว คร.1 จากสำนักงานทะเบียน
5. หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล ของบิดา มารดา และบุตร (ถ้ามี)
6. หนังสือให้ความยินยอมของมารดาเด็ก (ถ้ามี)
7. ใบสำคัญการหย่าของมารดา (ถ้ามี)
8. ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของบิดา มารดา และบุตร (ในรูปภาพควรมีญาติอยู่ด้วย)
9. หนังสือรับรองการเรียนของบุตร จากโรงเรียน (ถ้ามี)
10. ผลตรวจสารพันธุกรรมหรือ DNA ของโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น (ถ้ามี)
เอกสารเพิ่มเติม กรณีบิดามารดาเป็นชาวต่างชาติ
11. หนังสือเดินทาง PASSPORT พร้อมแปลภาษาไทย
12. VISA แสดงการเข้า-ออกราชอาณาจักรไทย
13. กฎหมายเกี่ยวกับรับรองบุตรของประเทศของบิดาหรือมารดาต่างชาติ กรณีโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องการขัดกันของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
เอกสารเพิ่มเติม กรณีบิดาเสียชีวิต
14. มรณบัตรของบิดา
15. บัญชีเครือญาติของบิดา
16. หนังสือให้ความยินยอมจากเครือญาติบิดาผู้มีสิทธิรับมรดก เช่น ปู่ย่า ลูกของพ่อคนอื่นๆ(พี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน) แต่พี่น้องของพ่อไม่จำเป็น
หากไม่มี ต้องยื่นคำแถลงขอส่งหมายนัดไต่สวนแจ้งให้ทายาททราบ ตามที่อยู่ภูมิลำเนา *** หากไม่ส่ง หรือปิดบัง ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ถูกเพิกถอนได้ อ้างอิง ฎ.730/2562
ยื่นคำแถลงขอปิดประกาศภูมิลำเนาผู้ตาย ด้วย
17. เอกสารจากประกันสังคม บัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ภาพถ่ายข้อมูลการส่งเงินสมทบ ประกันสังคม
เอกสารเพิ่มเติม กรณีมารดาเสียชีวิต
18. มรณบัตรของมารดา
ขั้นตอนและระยะเวลา
1. เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ศาลจะกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง ประมาณ 1 เดือนครึ่ง - 2 เดือน โดยในระหว่างนี้ ภายในเวลา 15 วันนับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง บิดาต้องนำมารดาและบุตรไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ฯ เพื่อทำรายงานข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อศาล ประกอบในการพิจารณา ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 167
2. ในวันนัดไต่สวน บิดา มารดา และบุตร ต้องมาศาลพร้อมกัน โดยนำเอกสารตัวจริงแสดงต่อศาล เพื่อใช้ประกอบการเบิกความ
3. เมื่อพ้น 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต บิดาต้องขอคัดถ่ายคำสั่งศาล และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อนำเอกสารไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร (คร.1) ต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ใดก็ได้ โดยจะต้องมีพยาน 2 คน ตามขั้นตอนทางทะเบียน จึงที่ถือว่าสมบูรณ์
แต่หากยังไม่ได้ไปจดทะเบียน จนกระทั่งบิดาถึงแก่ความตาย ถือไม่ได้ว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548
4. รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 - 4 เดือน
ผลของการจดทะเบียนรับรองบุตร ที่สำคัญ คือ
1. ถือว่าเป็นบิดาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย นับตั้งแต่วันที่บุตรเกิด
2. บิดามีอำนาจปกครองบุตร
3. เกิดสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายต่อกัน เช่น การอุปการะเลี้ยงดู และการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม การลดหย่อนภาษี เป็นต้น
4. หากจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว จะเพิกถอนไม่ได้
การยินยอมให้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่ไม่ยอมให้บิดาใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมด้วย เป็นไปตาม ป.พ.พ. ม.1549 และ 1551
กฎหมายให้สิทธิมารดาหรือเด็กในการคัดค้าน โดยจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 90 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการขอจดทะเบียนรับรองบุตร
ระหว่างดำเนินการ บิดายังไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้
โดยกฎหมายกำหนดให้มารดาหรือเด็ก จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 90 วันนับแต่วันแจ้งให้จดบันทึก เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าบิดาเป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมด้วย หรือไม่
หากมารดาหรือเด็กไม่ยื่นภายใน 90 วัน ถือว่าบิดาสามารถใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมด้วยได้
ในขณะที่ขอจดทะเบียนรับรองบุตร มีบุคคลอื่นใช้อำนาจปกครองบุตรอยู่ (นอกเหนือจากมารดา เพราะมารดาเสียชีวิตไปแล้ว) เป็นไปตาม ป.พ.พ. ม.1552
บิดาสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครอง และให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ โดยจะต้องพิสูจน์ว่าตนมีความเหมาะสมกว่า ศาลจึงจะมีคำสั่งถอนอำนาจปกครองให้ได้
ผลการจดทะเบียนรับรองบุตร มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด และจะถอนมิได้ เป็นไปตาม ป.พ.พ. ม.1557 และ 1559
การขอถอนจดทะเบียนรับรองบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1554
: ผู้มีส่วนได้เสีย (นอกจากบิดา) ขอได้ เพราะเหตุว่าผู้ขอให้จดทะเบียนนั้นมิใช่บิดา ต้องฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ 10 ปีนับแต่จดทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแบ่งมรดก
ค่าธรรมเนียมศาล
1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท
2. ค่าประกาศผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ E-Notice ฟรี
3. ค่าปิดประกาศคำร้อง ณ ภูมิลำเนาผู้ร้อง อัตราตามระเบียบศาล
4. ค่าส่งสำเนาคำร้องให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย อัตราตามระเบียบศาล
เขตอำนาจศาล
คำร้อง : ภูมิลำเนาผู้ร้อง หรือสถานที่บิดามารดาได้อยู่กินกัน
คำฟ้อง : ภูมิลำเนาจำเลย
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกาที่ น่าสนใจ
ประเด็น : ก่อนยื่นคำร้องต่อศาล ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานทะเบียน ของสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ก่อน จะถือว่าเป็นคำร้องที่ชอบ (บิดาไปแล้ว แต่นายทะเบียนไม่ดำเนินการให้)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5982/2551 (เทียบเคียง ฎ. 13745/2553, 635/2550)
ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ส่วนวรรคสามและวรรคสี่บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว การที่นายทะเบียนแจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ได้โดยไม่แจ้งการขอจดทะเบียนของผู้ร้องไปยังผู้คัดค้านและเด็กก่อนตาม มาตรา 1548 วรรคสอง หรือตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว ฯ มาตรา 19 วรรคสอง เพราะปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนขอจดทะเบียนนั้น เด็กหญิง ป. อายุเพียง 3 ปีเศษ ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 แล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนเด็กหญิง ป. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้
ประเด็น : หากไม่เคยไปติดต่อนายทะเบียนเลย ถือว่าไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2521
บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ถ้า) ประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิด ก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย จะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียน ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย เมื่อปรากฏทั้งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ และทางนำสืบว่าก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสต่อนายทะเบียน หรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปให้ความยินยอมจดทะเบียนว่าเด็กชาย อ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ มอบคืนเด็กชาย อ. แก่จำเลย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้โจทก์มอบเด็กชาย อ. คืน ให้กับจำเลยตามฟ้องแย้งได้
ประเด็น : กรณีทำเป็นคำฟ้องและยื่นฟ้องคดีต่อมารดาและบุตร เพื่อรับรองบุตร ต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2521
บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ถ้า) ประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิด ก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียนถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย เมื่อปรากฏทั้งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์และทางนำสืบว่าก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสต่อนายทะเบียนหรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปให้ความยินยอมจดทะเบียนว่าเด็กชาย อ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ มอบคืนเด็กชาย อ. แก่จำเลย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้โจทก์มอบเด็กชาย อ. คืน ให้กับจำเลยตามฟ้องแย้งได้
ประเด็น : พฤติการณ์รับรองว่าเป็นบุตร เช่น ให้ใช้นามสกุล เลี้ยงดูอย่างบิดากับบุตร ไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา จึงไม่อาจจะร่วมใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ด้วยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2553
ป.พ.พ มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนี้ พฤติการณ์รับรองว่าผู้เยาว์เป็นบุตร เช่น การให้ผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของจำเลย และการที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตร จึงไม่ใช่เหตุที่กฎหมายรับรองทำให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์
ประเด็น : มารดาเด็กสามารถฟ้องให้บิดารับรองบุตร พร้อมเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในคดีเดียวกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533
ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ ขณะยื่นฟ้องเด็กซึ่งเป็นโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ส่วนฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วย
ประเด็น : พฤติการณ์รับรองบุตรของผู้ตาย เช่น แจ้งต่อนายทะเบียนให้ระบุในสูติบัตรว่าเป็นบิดา อุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา และยอมให้ใช้นามสกุล เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2533
การที่ ผู้ตาย เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้าน และระหว่างสงครามก็พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวไปด้วยกัน พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ผู้ตาย รับรองแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556
เอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชาย ว. ทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่าเด็กชาย ว.เป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชาย ว. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชาย ว.และยินยอมให้เด็กชาย ว. ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตรอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชาย ว. เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
ประเด็น : จัดงานเลี้ยงฉลองการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นพฤติการณ์รับรองบุตรของผู้ตายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2526
ชายไปอยู่กินกับหญิง และแสดงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาในที่ต่างๆ อย่างเปิดเผยเป็นการยอมรับว่าหญิงเป็นภริยา มีการจัดเลี้ยงฉลองการตั้งครรภ์ เป็นการแสดงออกถึงการรับรองว่าโจทก์ซึ่งเป็นทารกในครรภ์มารดาเป็นบุตรของตน โจทก์จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกตามมาตรา 1629(1)
ประเด็น : การฟ้องให้รับเด็กเป็นบุตร กรณีบิดามีชีวิตต้องทำเป็นคำฟ้อง กรณีบิดาเสียชีวิตต้องทำเป็นคำร้อง และส่งสำเนาให้ทายาทคัดค้าน มิใช่ฟ้องทายาทเป็นจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544 (เทียบเคียง ฎ. 5525/2537)
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท คือฟ้องบิดาโดยเสนอข้อหาทำเป็นคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 188 (1)
ผู้ตายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดย ยื่นคำร้องขอมิใช่เสนอคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1558 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร หาใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการให้ ถูกต้องตาม ป.พ.พ. ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว
ประเด็น : คดีฟ้องให้บิดารับรองบุตร มีอายุความ 1 ปีนับแต่บุตรบรรลุนิติภาวะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่
ประเด็น : ได้เสียกับมารดาเด็ก ในระยะเวลาซึ่งอาจตั้งครรภ์ได้ ถือเป็นข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555(6)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์จำเลยได้มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวและร่วมประเวณีกันหลายครั้ง ในระยะเวลาที่โจทก์สามารถตั้งครรภ์ได้และทำให้โจทก์ตั้งครรภ์ในเวลาต่อมาและจำเลยเขียนจดหมายถึงโจทก์ยอมรับว่าเด็กหญิงที่คลอดจากโจทก์ คือเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ตามเอกสารท้ายฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจแล้วส่วนจำเลยและโจทก์ร่วมประเวณีกัน เมื่อใด ที่ไหน ที่เป็นเหตุให้โจทก์ตั้งครรภ์ และจำเลยยอมรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรอย่างไรเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 และจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งพาโจทก์ไปหาแพทย์และเขียนจดหมายถึงโจทก์หลายฉบับมีข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมประเวณีกับชายอื่น ย่อมมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กหญิง บ. มิได้เป็นบุตรของชายอื่น โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลยได้ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) ดังนั้น ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะต้องกำหนดให้นับแต่วันดังกล่าวมิใช่นับแต่วันฟ้อง จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไร ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ชำระตามที่ศาลล่างกำหนด คือ เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โดยให้จำเลยชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียว
ประเด็น : บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาบุตร และไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551
ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป
ประเด็น : บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว เช่น ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดู แต่ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ถือว่าผู้สืบสันดานเช่นเดียวกันกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิได้รับมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2534
โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของ ส. และ ส. บิดาได้รับรองแล้วถือว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ส.และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของส.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627,1629(1) โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกในทันทีที่ ส. ถึงแก่ความตายตามมาตรา 1599 วรรคแรก หาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์ที่เป็นมรดกแก่โจทก์ได้ จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความโดยอ้างเพียงว่า จำเลยได้แสดงเหตุผลแจ้งชัดโดยละเอียดไว้ในอุทธรณ์ข้อ 2.4 แล้ว จึงถือเอาข้อความในอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วย ฎีกาของจำเลยมิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247
ประเด็น : การให้ความยินยอมเป็นสิทธิเฉพาะตัว มารดาไม่อาจให้ความยินยอมแทนบุตรที่ไร้เดียงสา ได้ ต้องนำคดีเข้ามาสู่ศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1177/2540
ป.พ.พ.มาตรา 1548 วรรคแรก บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 32 โดยข้อความเดิมได้บัญญัติถึงการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะกระทำได้ต่อเมื่อเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ประสงค์วางหลักเกณฑ์ไว้เข้มงวดกว่าเดิมว่าการที่บิดาจะจดเบียนบุตรนอกกฎหมายให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะกระทำได้ต่อเมื่อทั้งเด็กและมารดาเด็กให้ความยินยอม มิใช่เพียงแต่เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาดังบัญญัติไว้เดิม นอกจากนี้ ป.พ.พ.มาตรา 1548 ได้บัญญัติถึงทางแก้ในกรณีที่เด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ไว้ในวรรคสามและวรรคสี่ โดยวรรคสามว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ไช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" และวรรคสี่ว่า "เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้" อันเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นชัดเจนว่า ตามมาตรา 1548 วรรคแรก ประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว จึงได้บัญญัติทางแก้ไขในกรณีเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ดังกล่าวมาแล้ว โจทก์ที่ 2 ซึ่งแม้เป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ที่ 3 จึงไม่อาจให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3 ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติให้โจทก์ที่ 2 ทำการแทนโจทก์ที่ 3 ในกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้น กรณีที่โจทก์ที่ 3 ต้องให้ความยินยอมในการที่โจทก์ที่ 1 จะจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1548 วรรคแรก จึงเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 3 ต้องกระทำด้วยตนเอง
ประเด็น : บุตรตายแล้ว บิดาขอรับรองไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2559
การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 วรรคสาม และในกรณีที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งต่อนายทะเบียนว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1549 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรตั้งแต่วันที่เด็กเกิด กรณีเช่นนี้แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสามและวรรคสี่ และแม้เด็กหรือบิดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว ก็ให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานของเด็กหรือเด็กที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับมรดกระหว่างกันอันมีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 1556 วรรคสี่ และมาตรา 1558 สำหรับคดีนี้เป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่าให้ผู้อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย โดยมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1552 ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก...ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" คำว่า "ไม่อาจให้ความยินยอม" ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)
ประเด็น : ขอให้ศาลสั่งว่าเป็นบุตรของผู้ตาย หรือรับรองบุตรผู้ตาย นั้น หากผู้ร้องปกปิดทายาทคนอื่น ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถูกเพิกถอนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้
ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ประเด็น : บิดาจดทะเบียนรับบุตรโดยสำคัญผิด จึงขอเพิกถอนในภายหลัง แต่เกิน 10 ปีนับแต่วันจดทะเบียน ไม่สามารถทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11274/2553
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิใช่บิดาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แต่ที่จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเพราะสำคัญผิด หากเป็นจริงตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1554 ที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร เพราะเหตุว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนนั้นมิใช่บิดา แต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดระยะเวลาให้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้การจดทะเบียน และห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องอันเป็นอายุความที่ศาลจะยกมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตร และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ได้ตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
ประเด็น : บิดาสามารถยื่นคำร้องขอรับรองบุตร และขอถอนอำนาจปกครองมารดาไปในคดีเดียวกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540
ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอด การให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อ เมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก
ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็น 180 วัน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร ต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้
มาตรา 1549 เมื่อนายทะเบียนได้แจ้งการขอจดทะเบียนขอรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไปยังเด็กและมารดาเด็กตามมาตรา 1548 แล้ว ไม่ว่าเด็กหรือมารดาเด็กจะคัดค้านการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1548 หรือไม่ ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 90 วันนับแต่วันแจ้งการขอจดทะเบียนถึงเด็กหรือมารดาเด็ก เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งให้นายทะเบียนจดบันทึกไว้ได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด
เมื่อได้มีคำแจ้งของเด็กหรือมารดาเด็กดังกล่าวในวรรคหนึ่งแล้ว แม้จะได้มีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1548 บิดาของเด็กก็ยังใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดตามที่เด็กหรือมารดาเด็กแจ้งว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นไม่ได้ จนกว่าศาลจะพิพากษาให้บิดาของเด็กใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด หรือกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่เด็กหรือมารดาเด็กแจ้งต่อนายทะเบียนว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้นได้ล่วงพ้นไปโดยเด็กหรือมารดาเด็กมิได้ร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด
ในคดีที่ศาลพิพากษาว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ศาลจะพิพากษาในคดีเดียวกันนั้นให้ผู้ใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือเป็นผู้ปกครองเพื่อการปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
มาตรา 1551 ในกรณีที่มีการคัดค้านว่าผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรมิใช่บิดาของเด็ก เมื่อผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนำคดีไปสู่ศาลขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเป็นบิดาของเด็ก เด็กหรือมารดาเด็กจะขอให้ศาลพิพากษาในคดีเดียวกันนั้นก็ได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแม้จะเป็นบิดาของเด็ก ก็เป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำความในวรรคสามของมาตรา 1549 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1552 ในกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมีมารดาแต่มารดาถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดและศาลได้ตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดไว้ก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ปกครองและให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบิดาอาจใช้อำนาจปกครองเพื่อความผาสุกและประโยชน์ของเด็กได้ดียิ่งกว่าผู้ปกครอง ศาลจะมีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ปกครองและให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้
มาตรา 1554 ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนเด็กรับเป็นบุตร เพราะเหตุว่าผู้ขอให้จดทะเบียนนั้นมิใช่บิดาก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้การจดทะเบียนนั้น อนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันจดทะเบียน
มาตรา 1555 ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น
ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย
มาตรา 1556 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดี เพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้
เมื่อเด็กมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ
ในกรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้น 10 ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่ผู้สืบสันดานของเด็กเป็นผู้เยาว์ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1557 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้
มาตรา 1558 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก ถ้าศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
ในกรณีที่ได้มีการแบ่งมรดกไปแล้ว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1559 เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 127 เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และเอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. กรณีมารดาเด็กและเด็ก ไม่ให้ความยินยอม บิดาต้องขอศาลให้ส่งหมายนัดไต่สวนและสำเนาคำร้องให้มารดาเด็กทราบ เพื่อใช้สิทธิคัดค้านตามกฎหมาย
2. กรณีมารดาเสียชีวิตแล้ว ส่วนใหญ่ศาลมักจะมีคำสั่งให้บิดากับบุตรไปตรวจ DNA แล้วนำผลมาแสดงต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวน
3. การให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ บิดามารดาต้องแสดงหลักฐานตัวจริงต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ต้องใช้ในชั้นศาล
4. กรณีพ่อหรือแม่เป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ ต้องใช้ล่ามช่วยแปลภาษา สำหรับในการให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจ ฯ และในชั้นศาล
5. หากต้องการให้คำพิพากษามีผลบังคับใช้ในประเทศของบิดาต่างชาติ ต้องแสดงข้อกฎหมายของประเทศนั้นๆต่อศาล
6. กรณีบิดาตาย บุตรสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งรับรองว่าตนเป็นบุตรของผู้ตายได้ เพื่อใช้ขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ เงินสงเคราะห์กรณีตาย จากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา
กรณีบิดาเป็นผู้ประกันตน และเสียชีวิตจากการทำงาน บุตรแม้ไม่ได้จดทะเบียนรับรองไว้ สามารถขอรับเงินทดแทน ซึ่งประกันสังคมจะจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 70 ของเงินเดือน (สูงสุด 15,000) เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะต้องหารแบ่งกับทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย หากทายาททุกคนยินยอม ไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หากทายาทไม่ยินยอมทางสำนักงานประกันสังคมจะระงับการจ่ายเงิน และแนะนำให้ไปยื่นคำร้องต่อศาล
7. กรณีมารดาไม่ให้ความยินยอม บิดาควรให้ทนายความมีหนังสือแจ้งมารดาเด็กก่อนยื่นคำร้อง
8. กรณีมีชื่อผู้อื่นในสูติบัตรขอบุตร จะต้องฟ้องบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยเพื่อขอเพิกถอนความเป็นบิดาด้วย (จำเลยที่ 3)
9. คดีฟ้องรับรองบุตร ตาม พ.ร.บ. จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 20 ให้โจทก์ยื่นสำเนาคำพิพากษาพร้อมรับรอง ต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการบันทึกในทะเบียนได้เลย
10. การจดทะเบียนรับรองบุตร เป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 23 บิดาหรือมารดาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่(อายุไม่ถึง 20 ปี) จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ก่อนยื่นคำร้องต่อศาล
11. ก่อนยื่นคำร้องรับรองบุตรต่อศาล ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียน คร.1 ต่อนายทะเบียน ก่อนเสมอ
ค่าบริการว่าความ คดีรับรองบุตร |
|
รูปแบบคดี |
ราคา(เริ่มต้น) |
♦ มารดาบุตร ให้ความยินยอม |
-X- |
♦ มารดาบุตร ไม่ให้ความยินยอม |
-X- |
♦ ฟ้องบิดาให้รับรองบุตร เรียกค่าเลี้ยงดู |
-X- |
♦ บิดา/มารดา เสียชีวิต |
-X- |
♦ บิดา/มารดา ชาวต่างชาติ |
-X- |
♦ บริการล่าม |
3,000 |
รับว่าความทั่วประเทศ คดีรับรองบุตร อำนาจปกครอง ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย
ติดต่อทนายธนู โทร 083 4248098
LINE ID : @kbv6958j
เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.
ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน
ต้องไปยื่นที่ศาลเยาวชนฯที่คุณมีภูมิลำเนาตามทะเบียนอยู่ ตั้งอยู่ครับ
เรื่อง "ขอรับรองบุตรผู้ตาย"
เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตันถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ถือเป็นทรัพย์มรดกนะครับ อ้างอิงตามฎ.3656/2557
เพื่อความรวดเร็วจะไปเลยก็ได้ หรือจะรอหมายเรียกจากศาล ก็ได้เช่นเดียวกัน