อนุญาโตตุลาการ / Arbitration

ข้อพิพาทชั้นอนุญาโตตุลาการ

เงื่อนไขการเสนอข้อพิพาท

: ต้องมีข้อกำหนดไว้ในสัญญาระหว่างคู่กรณีอย่างชัดเจนว่า "หากเกิดข้อพิพาทต้องระงับด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เท่านั้น" คู่สัญญาจึงสามารถนำเรื่องมายื่นข้อเรียกร้องต่อทางสถาบันอนุญาโตตุลาการได้

แต่หากมีข้อกำหนดให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ แต่คู่สัญญากลับนำคดีไปยื่นต่อศาล อีกฝ่ายมีสิทธิยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดี ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรค 1 ได้ โดยวิธี

1. ต้องยื่นคำร้องภายในระยะเวลายื่นคำให้การจำเลย

2. หากยื่นล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าว ถือว่ายอมรับที่จะให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาชี้ขาดข้อพิพาท

 

ขั้นตอนและระบบของทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ

: ใช้เวลาสั้นกว่ากระบวนพิจารณาของศาล ไม่มีอุทธรณ์ ฏีกา อีกทั้งการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการจะตรวจเอกสารเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ เพราะคู่สัญญาสามารถตกลงกันให้ใช้กฎหมายต่างประเทศ หรือใช้ภาษาต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องแปลภาษาหรือผ่านล่าม ตลอดจนภาษาที่ใช้ในการทำคำชี้ขาด

 

สถาบันอนุญาโตตุลาการ ในประเทศไทย มี 5 แห่ง ได้แก่

1. สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม TAI

2. สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม THAC

3. สำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการ หอการค้าแห่งประเทศไทย

4. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ กลต

5. สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ

 

ถาม-ตอบ

ถาม : การประนีประนอมยอมความในชั้นอนุญาโตตุลาการ ทำได้ไหม

ตอบ : ทำได้ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 36 โดยคณะอนุญาโตตุลาการจะตรวจดูหากเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาดไปตามข้อตกลงประนีประนอมอยมความนั้น

 

ถาม : เมื่อได้รับสำเนาคำเสนอข้อพิพาท ต้องทำอย่างไร

ตอบ : ยื่นคัดค้าน และข้อเรียกร้องแย้ง(ถ้ามี) โดยทำเป็นหนังสือภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำเสนอข้อพิพาท โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย

   1. ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อพิพาท ตลอดจนเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้าง

   2. ข้อคัดค้านเกี่ยวกับข้อเรียกร้องและคำขอบังคับ

   3. ข้อเท็จจริงอันเป็นฐานแห่งข้อเรียกร้องแย้ง ตลอดจนข้อเรียกร้องแย้ง จำนวนเงินที่เรียกร้องแย้ง และคำบอบังคับ (ถ้ามี)

 

ถาม : หากไม่ได้ทำตามภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะมีผลอย่างไร

ตอบ : สามารถขอยื่นคำคัดค้านได้ในวันนัดประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาคดี (นัดแรก) แต่หากผู้เรียกร้องคัดค้าน คณะอนุญาโตตุลาการ จะต้องมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการ

 

ถาม : คำชี้ขาด มีผลบังคับคู่พิพาทเมื่อใด

ตอบ : ตั้งแต่วันที่สำเนาคำชี้ขาดได้ส่งไปถึงคู่พิพาทฝ่ายนั้น

 

ถาม : ข้อพิพาทที่เสนอต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ หากคณะอนุญาโตฯ มีคำชี้ขาดแล้ว แต่คู่พิพาทไม่ยอมปฏิบัติตาม ฝ่ายที่ชนะต้องดำเนินการต่ออย่างไร

ตอบ : ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (ยึด อายัด ทรัพย์สิน) ภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่คำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ

   แต่หากไม่ยื่นภายในกำหนด คำชี้ขาดไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย

อ้างอิง พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

มาตรา 42 เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องดังกล่าวให้รีบทำการไต่สวน และมีคำพิพากษาโดยพลัน

   ผู้ร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้ มาแสดงต่อศาล

   (1) ต้นฉบับคำชี้ขาด หรือสำเนาที่รับรองถูกต้อง

   (2) ต้นฉบับสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือสำเนาที่รับรองถูกต้อง

   (3) คำแปลเป็นภาษาไทยของคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมีผู้แปลซึ่งได้สาบานตัวแล้วหรือปฏิญาณตนต่อหน้าศาลหรือต่อหน้าเจ้าพนักงานหรือบุคคลที่มีอำนาจในการรับคำสาบาน หรือปฏิญาณหรือรับรองโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการรับรองคำแปล หรือผู้แทนทางการทูตหรือกงสุลไทยในประเทศที่มีการทำคำชี้ขาดหรือสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้น

 

ถาม : การยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดมีค่าขึ้นศาล เท่าใด

ตอบ : สำหรับคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 

แบ่งเป็น

อนุญาโตตุลาการในประเทศ : คิดร้อยละ 0.5 ของจำนวนที่ร้องขอให้ศาลบังคับแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ในส่วนทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท คิดร้อยละ 0.1

อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ : คิดร้อยละ 1 ของจำนวนที่ร้องขอให้ศาลบังคับแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในส่วนทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท คิดร้อยละ 0.1

 

ถาม : Small Claims ตามข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทที่มีทุนทรัพย์ขนาดย่อม สถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2563 เริ่มประกาศใช้ 17 สิงหาคม 2563 มีหลักเกณฑ์ อย่างไร

ตอบ :

   1. ข้อพิพาทมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 2 ล้านบาท

   2. เงินวางค่าใช้จ่ายเบื้องต้น 2,000 บาท (จากปกติ 15,000 บาท)

   3. ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ 2,000 – 20,000

   4. อนุญาโตตุลาการ 1 คน แต่งตั้งโดยสถาบันฯ

   5. ระบบ Video Conference

   6. สืบพยานให้เอกสารเป็นหลัก เว้นแต่ไม่ชัดเจน จะสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม

   7. รวมระยะเวลาไม่เกิน 45 วันนับแต่วันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ

 

ถาม : ในส่วน Small Cliam ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สังกัดกระทรวงยุติธรรม THAC มีรูปแบบอย่างไร

ตอบ : ทุนทรัพย์พิพาท ไม่เกิน 35 ล้าน มีบริการให้เลือกอยู่ 2 แบบ

   1. แบบคำเสนอข้อพิพาท (Statement of Claim) โดยสัญญาต้องกำหนดไว้ให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ ตามระเบียบและพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ เสียค่าธรรมเนียมเริ่มต้นคดี 5,000 บาท

   2. แบบคำเสนอระงับข้อพิพาทด้วยการประนอม (Request for Mediation) สัญญาไม่ได้กำหนดเหมือนแบบแรก แต่ผู้เสนอต้องการจะใช้วิธีนี้ แต่หากอีกฝ่ายไม่ยินยอม ก็จบ ถ้ายินยอมเพื่อให้มีผลบังคับได้ คู่สัญญาจะได้ทำสัญญากันฉบับใหม่ ให้ระงับด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

 

ถาม : กรอบระยะเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ นานเท่าใด

ตอบ : ประมาณ 6 เดือนหรือ 180 วัน นับตั้งแต่วันนัดประชุมครั้งแรก

 

ถาม : ชั้นอนุญาโตตุลาการ สามารถขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว ได้หรือไม่

ตอบ : ได้ โดยมี 2 วิธี

   1. ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลการ พ.ศ.2545 มาตรา 16

   2. ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้มีคำสั่งหรือคำชี้ขาดกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา

 

ถาม : คู่พิพาท สามารถหยิบยกพยานหลักฐานขึ้นใหม่ต่อศาล ภายหลังอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาด ได้หรือไม่

ตอบ : ไม่ได้ เพราะการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการ อีกทั้งยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ตามพ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ด้วย อ้างอิง ฎ.3119/2562

 

ถาม : การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร

ตอบ : ตามพรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคท้าย ในกรณีที่คู่พิพาทนำข้อพิพาทมาขอบังคับหรือเพิกถอนคำชี้ขาด ต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี

 

ถาม : คู่พิพาทสามารถคัดค้านอนุญาโตตุลาการ ได้หรือไม่

ตอบ : ได้ ตามเหตุแห่ง พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคสาม

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ศาลให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6292/2561

   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ผู้คัดค้านในฐานะผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดจึงอาจยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 43 ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุตามมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่จะไม่บังคับตามคำชี้ขาดหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

   สัญญาซื้อขายหุ้นกำหนดว่า ความสมบูรณ์ การตีความ และการดำเนินการตามสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการขัดกันของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายหุ้นของอนุญาโตตุลาการจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นรายวัน ซึ่งก็คือให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยได้นั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคสอง และเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ของอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงคงรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น

 

ประเด็น : ศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2560

   พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้" ดังนี้ ศาลใดศาลหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ คดีนี้แม้ขณะทำสัญญาผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ที่เกาะสมุยซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง แต่เมื่อผู้คัดค้านมีสำนักงานแห่งใหญ่อันเป็นภูมิลำเนาตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

   แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน มิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 ได้ คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ทั้งนี้ โดยหาจำเป็นต้องระบุในสัญญาถึงเงื่อนไขหรือวิธีการตลอดจนเจตนาที่จะไปดำเนินการขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสัญญาไม่ ดังนี้ สัญญาที่ผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับผู้คัดค้านเพื่อซื้อที่ดินจึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย

 

ประเด็น : การยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดี เหตุตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2551 

   แม้ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายจะมีเพียง อ. กรรมการคนหนึ่งของจำเลยลงลายมือชื่อท้ายสัญญาโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับของบริษัท ซึ่งปกติจะไม่มีผลผูกพันจำเลยแต่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์เองว่า หลังจากทำสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญากับจำเลยอย่างถูกต้องครบถ้วนตลอดมา นอกจากนี้ จำเลยรวมทั้งโจทก์ต่างถือเอาสัญญานี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของตน ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ อ. กรรมการผู้มีอำนาจของตนแล้ว สัญญานี้จึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญา สัญญาตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวจึงใช้บังคับได้

   ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายมีข้อความระบุว่า ข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจากข้อสัญญานี้จะต้องตัดสินชี้ขาดภายใต้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับข้อสัญญาในเรื่องข้อมูลการค้าของโจทก์ จึงต้องตัดสินชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการด้วย ไม่ชอบที่โจทก์จะนำมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้ต่อศาล

   ก่อนหน้าการใช้บังคับ พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ สิทธิในความลับทางการค้าก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยสัญญาระหว่างคู่สัญญา และโดยหลักละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ 421 อยู่แล้ว จึงเป็นสิทธิทางแพ่งอย่างหนึ่งที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ โจทก์กับจำเลยจึงสามารถตกลงกันในเรื่องข้อมูลความลับทางการค้าลงในสัญญาดังกล่าวได้

   เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าเกี่ยวกับข้อมูลการค้าบุหรี่ของโจทก์ จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้ว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดตามข้อตกลงดังกล่าวก่อน เป็นการผิดสัญญาและกฎหมายอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำให้การดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยประสงค์จะขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะฟ้องคดีต่อศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ย่อมเป็นการยืนยันความต้องการดังกล่าวของจำเลย แม้จำเลยจะยื่นคำร้องช้ากว่าวันยื่นคำให้การ ก็ไม่เป็นเหตุทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ศาลได้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเสียก่อนที่จะได้มีการพิจารณาคดีตามประเด็นข้อพิพาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว

 

ประเด็น : การยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดต้องเสียค่าขึ้นศาล ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล ท้าย ป.วิ.แพ่ง ข้อ (1) (ข) 

ประเด็น : หากอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6025/2561

   แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาในคำคัดค้านโดยชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 50,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ผู้คัดค้านยื่นคำค้านมา ชอบด้วยตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) (ข) ถือได้ว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดนั้นชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิพากษาให้บังคับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้

   เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อมิให้ดำเนินคดีอาญาแก่แรงงานต่างด้าวในข้อหาทำงานในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายมีลักษณะเป็นเงินสินบนที่ให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ไม่กระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้ร้องตกลงให้ผู้คัดค้านหักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ผู้คัดค้านว่าจ้างผู้ร้องให้ทำการก่อสร้างอาคารในคดีนี้ได้ ข้อตกลงที่ให้หักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงนั้นจึงตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้องนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 150 แห่ง ป.พ.พ. การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. สิ่งที่สัญญาควรมีเพิ่มเติม คือ ภาษาและกฎหมายที่ใช้ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

 

ค่าบริการว่าความ ข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการ

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

 ♦ ยื่นคำเสนอข้อพิพาท ข้อเรียกร้อง

   คำคัดค้าน

-X-

 ♦ ยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาด

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น. 

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

 
ตัวอย่าง คำชี้ขาด
 
 

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 191,935