ผู้จัดการมรดก

คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก #ทนายคดีตั้งผู้จัดการมรดกThanuLaw

มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิด รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย ซึ่งมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ถึงแก่ความตาย เว้นแต่ว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

ตัวอย่าง

กองมรดก เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ เงินฝากในธนาคาร อาวุธปืน เงินที่ให้กู้ยืม ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล สิทธิเช่าซื้อ เป็นต้น

หนี้สินเจ้ามรดก เช่น หนี้เงินกู้ หนี้ค่าเช่า เป็นต้น ซึ่งจะตกทอดมาสู่ทายาท แต่รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช่ส่วนตัว คือ ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน

 

ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์สิน ทำบัญชี และแบ่งมรดกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก โดยมีที่มาได้ 2 ทาง

1. ตามพินัยกรรมระบุไว้ ป.พ.พ. มาตรา 1712 หรือ

2. โดยคำสั่งศาล ป.พ.พ. มาตรา 1713

 

ทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ ม.1629

1. ผู้สืบสันดาน เช่น ลูก หลาน เหลน ลื่อ รวมทั้งบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์ และบุตรบุญธรรม

2. บิดามารดา (แต่บิดานอกกฎหมาย ไม่ถือเป็นทายาท ฎ.1854/2551)

3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4. พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน

5. ปู่ ย่า ตา ยาย

6. ลุง ป้า น้า อา

   สำหรับสามีภริยา ต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น และแม้ความจริงเป็นจะทิ้งร้าง เลิกกัน หรือแยกกันอยู่ นานเพียงใด ก็ยังถือเป็นสามีภริยาตามกฎหมายกันอยู่ ตาม ป.พ.พ. ม.1635

 

บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาล ป.พ.พ. มาตรา 1713

1. ทายาทโดยธรรม เฉพาะที่มีสิทธิได้รับมรดกจริง ๆ เท่านั้น หรือผู้รับพินัยกรรม

2. ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น

   สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฎ.1239/2554, 12734/2558, 5603/2534

   เจ้าของร่วมในทรัพย์สิน ฎ.616/2547

   ผู้ปกครองผู้เยาว์ที่เป็นทายาท ฎ.587/2523

   ผู้แทนโดยชอบธรรมของทายาทที่เป็นผู้เยาว์ ฎ.2731/2556

   ผู้สืบสิทธิหรือทายาทรับมรดกแทนที่ ฎ.850/2551 2733/2548

   ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ฎ.6301/2556 ฎ.7573/2561

   เจ้าหนี้ (เฉพาะที่ไม่มีทายาทหรือผู้รับพินัยกรรม) ฎ.5644/2545

   ทายาทของคู่สมรส ฎ.6612/2562

   ผู้จัดการมรดกของเจ้าของร่วม

   ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ตามคำสั่งศาล ของทายาทหรือผู้ตายเจ้ามรดก

3. พนักงานอัยการ

 

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

1. บรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีบริบูรณ์

2. ไม่เป็นคนวิกลจริต

3. ไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

เพิ่มเติม ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท แต่ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล ต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย โดยอาจขอให้ศาลตั้งใครก็ได้ เป็นผู้จัดการมรดก

ข้อสังเกตุ

1. ไม่เป็นบุคคลมีอารมณ์รุนแรง ขัดแย้งกับทายาทคนอื่น เพราะถือว่าเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกต่อทายาท อ้างอิง ฎ.6166-6167/2552

2. ผู้เยาว์โดยผู้แทนชอบธรรม เป็นไม่ได้ อ้างอิง ฎ.12704/2556 - เพราะผู้เยาว์ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. ม.1718(1) - ต้องตั้งผู้แทนโดยชอบธรรมในฐานะส่วนตัวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12704/2556

   เด็กหญิง ช. เป็นผู้เยาว์ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ต. แม้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมก็เป็นผู้จัดการมรดกแทนผู้เยาว์ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ เด็กหญิง ช. โดย ต. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายย่อมเป็นการไม่ชอบ

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย เช่น สูติบัตร ใบสำคัญการสมรส ทะเบียนรับรองบุตร ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น

2. มรณบัตรของผู้ตายเจ้ามรดก

3. หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสหรือโสด / จดทะเบียนรับรองบุตร / จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (กรณีพี่น้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก)

4. มรณบัตรของทายาทที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า

5. พินัยกรรม (ถ้ามี)

6. บัญชีทรัพย์มรดก

7. บัญชีเครือญาติ

8. หนังสือยินยอมให้เป็นผู้จัดการมรดก จากทายาท พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน

9. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

10. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือสิทธิเรียกร้อง เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด น.ส. 3ก สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล รายการจดทะเบียนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน กรมธรรม์ประกันภัยหรือชีวิต สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สัญญาเช่าซื้อรถยนต์/จักรยานยนต์ เป็นต้น

11. หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว - สกุล (ถ้ามี)

 

แจ้งเพิ่มเติม

รายการที่ 1. - 4. ทนายตรวจสอบและจัดเตรียมไว้ให้

รายการที่ 6. - 8. ทนายจัดทำให้

รายการที่ 10. ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท

2. ค่าประกาศผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ E-Notice ฟรี

3. ค่าปิดประกาศแจ้ง ณ ภูมิลำเนาผู้ตายหรือที่ว่าการอำเภอ ตามอัตรานำหมายของศาล 500 - 700 บาท

4. ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท (ยกเลิกแล้ว)

 

ระยะเวลาดำเนินการ : ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องประมาณ 2 เดือนนับแต่วันยื่นคำร้อง และรอให้คดีถึงที่สุดเมื่อพ้นกำหนดอีก 1 เดือน (กรณีไม่มีการยื่นอุทธรณ์ฎีกา) รวม 3 เดือน (โดยประมาณ)

 

เขตอำนาจศาล

1. ศาลจังหวัดตามภูมิลำเนาของเจ้ามรดก ในขณะถึงแก่ความตาย

2. ถ้าเจ้ามรดกเป็นชาวต่างชาติ ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศ ให้ไปศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่หรือภูมิลำเนา กรณีเงินฝากใช้สาขาที่เปิดบัญชีซึ่งธนาคารนั้นตั้งอยู่

 

อำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

อำนาจหน้าที่ คือ มีสิทธิและอำนาจดำเนินการดุจตนเองเป็นเจ้าของทรัพย์สินของผู้ตาย

   มีหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดก และมีหน้าที่รวบรวม ติดตามทวงถามมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็น ปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้

   หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้

 

รวมรวบ > ทำบัญชี > ชำระหนี้ > แบ่ง

 

หน้าที่ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง ดังนี้

1. จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ภายใน 15 วัน และต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน หากไม่เสร็จก็สามารถขออนุญาตต่อศาลขยายระยะเวลาอีกได้

   บัญชีทรัพย์มรดก ต้องมีพยานรับรอง 2 คน โดยต้องเป็นทายาทที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกด้วย

   บัญชีทรัพย์มรดก ต้องประกอบด้วยรายการแสดงทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง เงินมูลค่า และแจ้งจำนวนเจ้าหนี้ เป็นเงินรวมเท่าใด

   ถ้ามิได้จัดทำให้เสร็จภายในกำหนดเวลา และตามแบบที่กำหนดหรือบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

2. ต้องจัดการทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการ และแบ่งปันมรดกแก่ทายาททั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งตั้ง โดยจำนวนเสียงข้างมากของทายาท หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ป.พ.พ. ม.1732

3. ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทจำนวนเสียงข้างมากจะได้กำหนดไว้

4. จะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล

5. ต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง - มอบอำนาจไม่ได้

6. ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อื่นใดอันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าให้เป็นลาภส่วนตัวย่อมไม่ผูกพันทายาท เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย

7. ต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสีย และแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร     

8. ทายาทจะต้องบอกทรัพย์สินมรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก

9. ผู้จัดการมรดกต้องจัดแบ่งสินมรดกและมอบโดยเร็ว โดยชำระหนี้กองมรดก (ถ้ามี) เสียก่อน

10. การโอนทรัพย์สินให้แก่บุคคลใด ผู้จัดการมรดกจะต้องบอกกล่าวให้ทายาททราบและยินยอมเสียก่อน หากกระทำโดยทายาทอื่นไม่ได้รู้เห็นและยินยอม จึงจะเป็นความผิดฐานะจัดการทรัพย์โดยทุจริตได้ ซึ่งจะมีโทษจำคุก ตาม ป.อ. ม. 353 และ 354

 

ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก

1. ตาย

2. ลาออก ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากศาล แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างทำหน้าที่ ก็ต้องรับผิดชอบ

3. ศาลมีคำสั่งถอน

4. ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น

5. การจัดการมรดกสิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี กรณีทายาทได้รับความเสียหาย

 

ผู้จัดการมรดกตาย โดยที่ยังจัดการมรดกไม่เสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะต้องทำอย่างไร

1. กรณีมีผู้จัดการมรดกคนเดียว - ให้ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก เป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีเดิม

2. กรณีมีผู้จัดการมรดกหลายคน - เมื่อคนหนึ่งคนใดเสียชีวิต คนที่เหลือจะจัดการมรดกต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจและถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งศาล - ให้ต้องยื่นคำร้องเข้าไปในคดีเดิม เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมก่อน ฎ.6857/2553

 

เหตุในการยื่นคำร้องขอถอดผู้จัดการมรดก และขอตั้งผู้จัดการมรดกแทน

: ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ เช่น มิได้จัดทำบัญชีทรัพย์ให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด หรือไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทในเวลาที่สมควร (1 ปี)

: เพราะเหตุอย่างอื่น เช่น ปกปิดทายาทต่อศาล ไม่ติดตามหาทายาทของเจ้ามรดก ยักยอกทรัพย์มรดก ผู้จัดการมรดกคิดค่าจ้างในการจัดการมรดกเป็นจำนวนมากอันส่อไปในทางทุจริต หรือประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์มรดกเสียหาย เป็นต้น

: ต้องยื่นคำร้องขอถอดก่อนการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก เสร็จสิ้นเท่านั้น อ้างอิง ฎ.2150/2561

 

ข้อแตกต่าง ผู้จัดการมรดกหลายคน

โดยพินัยกรรม : ต้องจัดการร่วมกัน ถ้าเหลือแค่บางคน คนที่เหลือสามารถจัดการต่อไปได้ (มาตรา 1715 ว.2 ) เว้นแต่คำสั่งในพินัยกรรมจะปรากฏเป็นอย่างอื่น

โดยคำสั่งศาล : ต้องจัดการร่วมกัน และต้องถือเอาเสียงข้างมาก (มาตรา 1726) ถ้าเหลือแค่บางคน คนที่เหลือจัดการต่อไปโดยลำพังไม่ได้ ต้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่ง

 

การจัดการ ของผู้จัดการมรดกหลายคน

: ต้องถือเอาเสียงข้างมาก ถ้าเสียงเท่ากัน ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด (ม.1726)

: หากตั้งโดยคำสั่งศาล ถ้าผู้จัดการคนใดคนหนึ่งตาย ที่เหลือไม่สามารถจัดการได้ แต่ถ้าตั้งผู้จัดการโดยพินัยกรรม ที่เหลือจัดการต่อได้ ฎ.10569/2556

 

การสละมรดก ป.พ.พ. ม.1612

1. ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกสามารถแสดงเจตนาในการสละมรดกได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทผู้มีสิทธิคนอื่น

2. ต้องกระทำภายหลังเจ้ามรดกตายเท่านั้น จะกระทำก่อนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. ม.1619

3. การสละมรดกต้องสละทั้งหมด จะสละเพียงบางส่วน บางอย่าง ไม่ได้

4. การสละ จะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. ม.1615 ว.1

5. การสละมีผลทำให้ผู้สืบสันสานเข้าแทนที่ทายาทผู้สละมรดก ป.พ.พ. ม.1615 ว.2

6. ผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต จะสละต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ป.พ.พ. ม.1611

7. ผู้รับพินัยกรรมบอกสละ ถือว่าพินัยกรรมนั้นสิ้นผลไป ต้องนำทรัพย์มรดกกลับมาในกองมรดกเพื่อแบ่งแก่ทายาทโดยธรรม

8. การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างทายาทโดยธรรมทุกคน สิทธิต่างๆที่มีก่อนย่อมสิ้นไป เกิดเป็นสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฟ้องบังคับให้แบ่งตามสัญญาฯ ได้เท่านั้น

 

#ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมโอน ค่าเบ็ดเตล็ด ฯลฯ ถือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก สามารถนำไปหักจากกองมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. ม.1739 (1)

 

อายุความแพ่ง คดีจัดการมรดก : ห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกิน 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด ตาม มาตรา 1733 วรรค 2

อายุความอาญา คดีโกงมรดก : 10 ปีนับแต่วันกระทำความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 354 อ้างอิง ฎ.3635/2562

 

ความรับผิดของผู้จัดการมรดก

ทางอาญา : ข้อหายักยอกทรัพย์มรดก มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ป.อ. ม. 354

ทางแพ่ง : ชดใช้ค่าเสียหาย หากกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ป.พ.พ. ม.812

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ทายาทที่จะขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ต้องมีสิทธิได้รับมรดก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2525

   ทายาทที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก หมายถึง ทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

 

ประเด็น : แม้ไม่ได้เป็นทายาทผู้ตาย แต่พินัยกรรมกำหนดให้เป็นผู้จัดการมรดก ย่อมมีสิทธิขอตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6301/2556

   แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกย่อมทำให้ผู้ร้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และอาจต้องรับผิดต่อทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 จึงถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

 

ประเด็น : บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรอง ถือเป็นทายาท หาจำเป็นต้องให้ศาลสั่งให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2537

   ผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่า เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 หาจำต้องไปฟ้องคดีขอให้รับเป็นบุตรหรือต้องมีคำสั่งศาลว่าผู้ร้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนไม่ ผู้คัดค้านเป็นเพียงพี่ชายร่วมบิดามารดากับผู้ตาย ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกหรือร่วมกับผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายตามมาตรา 1713

   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

 

ประเด็น : แต่บิดานอกกฎหมาย ไม่ถือเป็นทายาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551

   ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตาย จึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

 

ประเด็น : ทายาทลำดับที่ 3 - 6 ถือตามความเป็นจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005/2555

   ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630

 

ประเด็น : แม้ไม่เป็นบุคคลต้องห้าม แต่มีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรค ถือว่าไม่เหมาะสมจะเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6166/2552

   บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่นๆ ประกอบด้วยที่ผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ตายจำนวน 8,000,000 บาท โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืม ตามหนังสือรับรองว่าเป็นหนี้และสัญญากู้เงิน ซึ่งการที่ผู้จัดการมรดกเป็นเจ้าหนี้กองมรดกอยู่เป็นจำนวนมากจึงอยู่สองสถานะ คือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกอาจมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนได้เสียของทายาทอื่นโดยตรงทั้งก่อนผู้ตายจะถึงแก่กรรมประมาณ 10 วัน ผู้ตายได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.8 ถึง ร.12 หายไป แต่กลับปรากฏว่าโฉนดที่ดินทั้ง 5 ฉบับ อยู่ที่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ตายมอบให้ผู้ร้องเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งถ้าผู้ตายมอบให้จริงก็ไม่น่าหลงลืมจนไปแจ้งความ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นผู้มีอารมณ์รุนแรง มีสาเหตุกับบุตรและหลานของตนเองจนกระทั่งผู้คัดค้านที่ 1 และ ส. ซึ่งเป็นหลานไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่าถ้าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจะมีอุปสรรคและมีข้อโต้แย้งกับเครือญาติ ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

 

ประเด็น : สามีภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์มรดก สามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2520

   ผู้ร้องเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม แต่มีส่วนได้ในทรัพย์สินร่วมกัน ศาลตั้งผู้ร้องกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาเจ้ามรดกเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน

 

ประเด็น : บุคคลล้มละลายยื่นคำร้องขอตั้งผู้อื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2547

   การยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องที่ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจกระทำ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก มิใช่เรื่องการจัดการทรัพย์สิน การฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดอันเกี่ยวกับทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย จึงไม่เป็นการกระทำของคนล้มละลายที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 24 และ 25 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้

 

ประเด็น : ทายาทที่ถูกตัดออกจากกองมรดก ไม่ถือเป็นทายาทของเจ้ามรดก ที่จะยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2536

   เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และในพินัยกรรมได้ระบุตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดกไว้ด้วย ถือว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนาชัดแจ้งตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดก ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ แม้ผู้ร้องและผู้คัดค้านจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เพื่อให้ผู้คัดค้านได้รับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกบางส่วน และยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนผู้ร้องก็ตาม ก็หาใช่เป็นการสละมรดกหรือสละพินัยกรรมไม่ เพราะการสละมรดกเพียงบางส่วนหรือสละพินัยกรรม เพื่อไม่รับมรดกตามพินัยกรรมเพียงบางส่วนกระทำไม่ได้ เมื่อพินัยกรรมระบุตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ไม่ชอบที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกอันเป็นการฝืนเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก

 

ประเด็น : เจ้าหนี้ขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ ต่อเมื่อเจ้ามรดกไม่มีทายาทโดยธรรม เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2545

   เจ้าหนี้กองมรดกที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาทและผู้จัดการมรดก เพราะหากไม่มีทายาทหรือผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้เลย แต่เมื่อกองมรดกมีทายาทร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ก็มีตัวทายาทที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกให้แก่เจ้าหนี้ได้ ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว จึงมีผู้รับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ไม่กระทบถึงส่วนได้เสียของผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

 

ประเด็น : ผู้จัดการมรดกละเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดก ทายาทมีสิทธิร้องขอถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2537

   หน้าที่สำคัญของผู้จัดการมรดกคือ รวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ หากผู้ร้องเห็นว่า ตนมีสิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวเพียงผู้เดียวก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์ดังกล่าวจากฝ่ายที่โต้แย้งโดยตรงอย่างคดีมีข้อพิพาท เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องไม่ยินยอมแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นๆ เป็นเวลาประมาณ 2 ปี นับแต่ศาลมีคำสั่งให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน จึงถือได้ว่าผู้ร้องละเลยมิได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก หากให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมจะล่าช้า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาทได้ จึงมีเหตุสมควรให้ศาลถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคแรก

 

ประเด็น : ชาวต่างชาติสามารถยื่นคำร้องขอตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจเกิดข้อยุ่งยากในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2541

   แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลต่างด้าว แต่ผู้ร้องก็ไม่เป็นบุคคลต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ที่จะจัดการมรดกของผู้ตาย การเป็นบุคคลต่างด้าวหาเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกของผู้ตายแต่อย่างใดไม่ เมื่อผู้ร้องเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายได้

 

ประเด็น : นิติบุคคล เช่น มูลนิธิ สามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3166/2529

   การที่สภากาชาดไทยมอบอำนาจให้เลขาธิการยื่นคำร้องคดีนี้โดยอาศัยใบมอบอำนาจทั่วไป ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีได้ด้วย เป็นเพียงเรื่องการมอบอำนาจบกพร่องเท่านั้น ไม่เป็นผลถึงกับทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ก่อนสืบพยานผู้ร้องก็ได้ส่งใบมอบอำนาจให้เลขาธิการฟ้องคดีได้ ซึ่งถือว่าเป็นการให้สัตยาบันการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่ได้กระทำไปแล้ว การมอบอำนาจให้เลขาธิการยื่นคำร้อง คดีนี้ จึงสมบูรณ์ ผู้ร้องมีอำนาจร้องคดีนี้ได้

   เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง แม้การจัดการมรดกจะล่วงเลยมาเกินกว่า 5 ปีแล้ว คดีของผู้ร้องก็ยังไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733

   สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยสภาพไม่ใช่จะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะบุคคลธรรมดา เมื่อการจัดการมรดกไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งของผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้ร้องก็ไม่อยู่ในฐานะต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718

 

ประเด็น : เพียงแค่ทายาทตกลงกันให้เป็นผู้จัดการมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทางแก้คือให้ทายาทเป็นผู้ร้องขอตั้งบุคคลนั้นเป็นผู้จัดการมรดกได้ (มอบอำนาจ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2518

   ผู้ร้องมิได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกเพียงแต่ทายาททั้งหลายพร้อมใจกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียอันจะพึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1713 และจะถือว่าทายาทโดยธรรมทั้งหมดเป็นผู้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเอง ให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ไม่ได้ เพราะตามเนื้อความแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว มิได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องร้องขอแทนทายาท เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะร้องขอเช่นนี้ จึงใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาได้ไม่

 

ประเด็น : เบี้ยประกันชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ต้องมีการแสดงเจตนารับเอาประโยชน์ก่อน มิฉะนั้น ยังไม่มีสิทธิได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559

   โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

 

ประเด็น : ภาระการพิสูจน์ คัดค้านความสมบูรณ์ของพินัยกรรม เป็นของฝ่ายที่กล่าวอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561

   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ก. ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรมและแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์มาเป็นพยาน เมื่อได้ความว่าผู้ตายแจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดต่อหน้าพยานสองคน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จึงทำพินัยกรรมให้ ฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบกับผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง เมื่อพินัยกรรมมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ตามพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ ก. และข้อ 3 ระบุว่า ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713

 

ประเด็น : เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามที่พินัยกรรมกำหนดไว้ ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2563

   การที่ผู้ตายที่ 2 เคยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองร่วมกับผู้ตายที่ 1 มาก่อน โดยมีข้อที่ 3 ระบุว่า พินัยกรรมฉบับนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผู้ทำพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดจะถอนพินัยกรรมฉบับนี้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะต้องกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองคนและต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ถ้าผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้คนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ถอนพินัยกรรมส่วนของตน หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ไม่ได้ หากทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมฉบับนี้ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด นั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันในส่วนของผู้ตายที่ 2 เพราะถือเป็นข้อกำหนดของผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นคือผู้ตายที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายภายหลัง ทั้งผู้ตายที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมฉบับแรกก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลัง ยกทรัพย์สินแก่บุตร 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของผู้ตายที่ 2 นอกพินัยกรรม จึงเป็นกรณีที่พินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกเฉพาะส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1693 และ 1694 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

 

ประเด็น : สละมรดก ไม่ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2513

   โจทก์กับจำเลยถูก ต. ฟ้องขอแบ่งมรดก แล้วโจทก์ทำหนังสือมอบให้จำเลยไว้ มีใจความว่า โจทก์ขอสละสิทธิรับมรดกเพราะโจทก์ไม่ต้องการไปศาลเพราะสุขภาพไม่ดีและไม่มีจิตใจเงินทองในการสู้คดีให้จำเลยออกเงินและสู้คดีไปโดยลำพัง ดังนี้ ไม่มีผลเป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 เพราะโจทก์มิได้มอบหนังสือนั้นไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และหนังสือนั้นเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียว ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

 

ประเด็น : ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเข้าครอบครอง ถือเป็นการสละมรดกแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2530

   หนังสือซึ่งบิดาโจทก์ในฐานะทายาททำให้ผู้จัดการมรดกไว้มีข้อความว่าผู้จัดการมรดกตกลงยกปั๊มน้ำมันซึ่งลงทุนก่อสร้างด้วยทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้เป็นสิทธิดำเนินการของบิดาโจทก์และจะได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินที่ตั้งปั๊มน้ำมันให้แก่บิดาโจทก์ด้วยบิดาโจทก์พอใจทรัพย์สินที่ได้รับส่วนแบ่ง และไม่ติดใจจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไปขอสละสิทธิส่วนของมรดกทุกอย่าง ดังนี้ เมื่อบิดาโจทก์เข้าดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันแล้ว แม้จะไม่มีการโอนสิทธิการเช่าที่ดินก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสาระสำคัญข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันคู่สัญญา และเป็นการประนีประนอมยอมความในการแบ่งปันทรัพย์มรดกย่อมมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 852 และ 1750 โจทก์ผู้เป็นทายาทของบิดาโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก

 

ประเด็น : ผู้จัดการมรดก ไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน ถูกถอดถอนจากหน้าที่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2541

   ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน เมื่อผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงถึงที่สุดแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและยกคำร้องของผู้คัดค้านนั้น ไม่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิพากษาคดีไปในทางใดก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงมิใช่กรณีที่ยังไม่ทราบว่าใครจะได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันที่ยังไม่ถึงที่สุดเพราะผู้ร้องอุทธรณ์นั้น คำสั่งดังกล่าวก็ผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความจนกว่าคำสั่งนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ตามป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นและทราบคำสั่งแล้ว ถือว่าหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้เริ่มขึ้นแล้วในวันดังกล่าว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1716 ดังนั้นผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1728 ทั้งนี้ต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน 1 เดือนตามมาตรา 1729และหากผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในกำหนดเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ มาตรา 1731 ก็บัญญัติให้ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกได้

 

ประเด็น : การถอนผู้จัดการมรดกหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2509

   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1731 ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุที่สมควรจะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรก็สั่งถอนได้ หรือถ้าศาลเห็นว่ายังไม่มีเหตุสมควรศาลจะยังไม่สั่งถอนก็ได้

   พฤติการณ์เท่าที่ปรากฏยังไม่สมควรจะถอนผู้จัดการมรดก

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล

มาตรา 1712 ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้

   (1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง

   (2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

มาตรา 1713 ทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

   (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์

   (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

   (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

   การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

   เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

มาตรา 1716 หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว

มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

   (1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

   (2) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

   (3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

 

เกี่ยวกับทรัพย์มรดก

มาตรา 665 ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น

   แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท

 

พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

ภาค 6 มรดก

มาตรา 37 มรดกเท่าที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่

มาตรา 38 ในส่วนที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ มรดกโดยสิทธิโดยธรรม หรือโดยพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

มาตรา 39 ความสามารถของบุคคลที่จะทำพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติในขณะที่ทำพินัยกรรม

มาตรา 40 บุคคลจะทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ก็ได้ หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ก็ได้

มาตรา 41 ผลและการตีความพินัยกรรมก็ดี ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรม หรือข้อกำหนดพินัยกรรมก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย

มาตรา 42 การเพิกถอนพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่เพิกถอนพินัยกรรม

   การตกไปแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ถึงแก่ความตาย

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 จัตวา คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย

   ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง (กรณีผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์มรดก)

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. เงื่อนไข ในคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ต้องแถลงว่ามีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง และมีเหตุขัดข้องในการจัดการ

2. ผู้เหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดก จะเป็นใครก็ได้

   แต่ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย ทายาทอาจขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นก็ได้ ถ้าหากมีการคัดค้านคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยส่วนมากแล้วศาลจะมีคำสั่งให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน

3. ผู้จัดการมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้

4. ผู้จัดการมรดก ที่ระบุไว้ตามพินัยกรรม ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทายาทอีก

5. ทายาทต้องมีสภาพบุคคลในขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หากตายพร้อมกันจึงไม่ถือเป็นทายาท ผู้สืบสันดานของบุตรจะรับมรดกแทนที่ไม่ได้ อ้างอิง ฎ.13129/2556

 

ค่าบริการว่าความ คดีขอตั้งผู้จัดการมรดก

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ขอตั้งผู้จัดการมรดก มี / ไม่มี พินัยกรรม ทายาทให้ความยินยอม 

-X-

♦ ขอตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทคัดค้าน

-X-

♦ คัดค้านขอตั้งผู้จัดการมรดก   

-X-

♦ ถอดถอนผู้จัดการมรดก ตั้งตนเป็นแทน ผู้จัดการมรดกขอลาออกเอง  

-X-

♦ ผู้ตายเจ้ามรดก เป็นชาวต่างชาติ

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ทนายธนู Tel. 083-4248098

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
  
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-12 07:43:26
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: @www.phytontikok.com [IP: 182.53.63.xxx]
เมื่อ: 2022-10-04 16:57:40
ได้ใบความแพ่งแล้วแต่ยังไม่ได้ใบคำสั่งศาลสูงสุดควรทำอย่างไรดีครับ พอไปขอรับก็ศาลบอกว่ามีคนรับไปแล้วแต่ขอดูว่าใครเซ็นต์รับก็ไม่ยอมให้ดู เราควรทำอย่างไรดีครับ
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.39.xxx]
เมื่อ: 2022-10-11 08:46:24
ตอบ #2 โดย: @www.phytontikok.com

ขอใหม่ได้ครับ unlimit
#4 โดย: สอบถาม [IP: 103.216.96.xxx]
เมื่อ: 2022-11-17 14:14:51
ขอสอบถามกรณีในหนังสือแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ระบุเพียงเงินฝากของธนาคารแห่งหนึ่ง สามารถที่จะนำไปใช้กับธนาคารอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ระบุในหนังสือแต่งตั้งฯ ได้หรือเปล่าครับ
#5 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.72.xxx]
เมื่อ: 2022-11-30 21:10:58
ตอบ #4 โดย: สอบถาม

นำไปใช้กับธนาคารอื่นได้ครับ ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำร้องหรือบัญชีทรัพย์

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,664