ชาวต่างชาติกับมรดกที่ดิน
ชาวต่างชาติกับการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 93
ประมวลกฎหมายที่ดิน
หมวด 8 การกำหนดสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าว
มาตรา 87 จำนวนที่ดินที่จะพึงอนุญาตให้ตามความในมาตราก่อน มีกำหนดดังนี้
***(1) ที่อยู่อาศัย ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่
(2) ที่ใช้เพื่อพาณิชยกรรม ไม่เกิน 1 ไร่
(3) ที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรม ไม่เกิน 10 ไร่
(4) ที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม ครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่
(5) ที่ใช้เพื่อการศาสนา ไม่เกิน 1 ไร่
(6) ที่ใช้เพื่อการกุศลสาธารณ ไม่เกิน 5 ไร่
(7) ที่ใช้เพื่อการสุสาน ตระกูลละไม่เกิน 1/2 ไร่
คนต่างด้าวผู้ใดต้องการมีสิทธิในที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมเกินกว่าที่บัญญัติไว้ใน (3) ถ้าเห็นเป็นการสมควร คณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ โดยกำหนดเงื่อนไขก็ได้ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 89 เมื่อคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อกิจการใด ผู้รับอนุญาตต้องใช้ที่ดินเพื่อกิจการนั้น จะใช้เพื่อกิจการอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อกิจการอื่นใหม่ตามจำนวนที่ไม่เกินกำหนดในมาตรา 87 ถ้าจะไม่ใช้ที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตนั้นต้องแจ้งให้ทราบตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันไม่ใช้ที่ดินนั้น
คนต่างด้าวผู้ใดประสงค์จะใช้ที่ดินเพื่อกิจการอื่นใหม่ ให้ขออนุญาตใหม่ต่อรัฐมนตรีตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรก็ให้มีอำนาจอนุญาต
มาตรา 93 คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินโดยได้รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินนั้น แต่เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้วไม่เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตามความใน มาตรา 87 ก็ได้
มาตรา 94 บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่า 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
อธิบาย
ชาวต่างชาติมีสิทธิรับมรดกที่ดินในประเทศไทย ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 เช่น ลูก หรือคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 93 โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ตามอัตราที่กำหนดไว้ใน มาตรา 87 เช่น ที่อยู่อาศัย มีได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ ที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม ครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ดินที่ขอรับมรดก เมื่อรวมกับที่ดินซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว จะต้องไม่เกินสิทธิที่จะพึงมีได้ ตามมาตรา 87 ที่ดินส่วนที่เกินต้องจำหน่ายในเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ตาม มาตรา 94
และจะต้องใช้ให้ถูกตามประเภทนั้นๆด้วย จะใช้เพื่อกิจการอื่นไม่ได้ ตาม มาตรา 89
คนไทยต่อมาเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนต่างด้าว มีสิทธิครอบครองเท่าที่คนต่างด้าวมีสิทธิ ส่วนที่เกินจะถูกบังคับจำหน่ายภายในเวลาไม่น้อยกว่า 180 วันแต่ไม่เกิน 1 ปี ตามมาตรา 95
ขั้นตอนการจดทะเบียน ประเภทคนต่างด้าวขอรับมรดกที่ดิน ในฐานะทายาทโดยธรรม
1. ยื่นขอคำร้องขอตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกก่อน
2. นำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ในโฉนดที่ดิน
เอกสารประกอบคำขอ
1. หนังสือเดินทาง Passport
2. ทะเบียนสมรส
3. มรณบัตร
4. สูติบัตร
6. พินัยกรรม
7. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน
ระยะเวลาดำเนินการ : 28 - 68 วัน
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. ชาวต่างชาติไม่มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินในฐานะผู้รับพินัยกรรม ถ้าไม่ใช่ทายาทโดยธรรมด้วย จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขออนุญาตรับมรดกที่เป็นที่ดินได้ ตามมาตรา 93
2. การรับมรดกที่ดินของชาวต่างชาติ หากได้รับมามากกว่าเกณฑ์ จะต้องนำส่วนที่เกินจำหน่าย และนำเงินให้ชาวต่างชาติผู้รับมรดก ตาม มาตรา 94
3. การเข้ารับมรดกที่ดินของชาวต่างชาติ จะต้องดำเนินการขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments