การถูกกำจัดมิให้รับมรดก
ทายาททุจริต ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก จะถูกตัดสิทธิอะไรบ้าง
ทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดก ได้ 2 กรณี คือ
1. เป็นผู้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605
2. เป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1606
คำอธิบาย
บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก หมายถึง เฉพาะ "ทายาทของเจ้ามรดก และผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป” เท่านั้น
หากเป็นผู้สืบสิทธิของทายาท แม้จะได้ยักย้ายหรือปิดปัง ก็ไม่ต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก
ผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป หมายถึง ผู้รับพินัยกรรมทั้งหมดของเจ้ามรดกหรือตามเศษส่วนหรือตามส่วนที่เหลือ
แตกต่างจาก ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ หมายถึง ผู้รับพินัยกรรมที่ได้รับทรัพย์เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่ระบุไว้อย่างชัดเจน (ไม่ใช่ทั้งหมด)
กรณีที่ 1 มาตรา 1605 จะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากที่เจ้ามรดกตายเท่านั้น
กรณีที่ 2 มาตรา 1606 อาจถูกกำจัดได้ทั้งก่อนและหลังเจ้ามรดกตาย
ทรัพย์สินที่ยักย้ายหรือปิดบัง ต้องเป็น "ทรัพย์มรดก" เท่านั้น ส่วนดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย
กรณีที่ถือว่ายักย้ายหรือปิดปังทรัพย์มรดก ตัวอย่างเช่น
1. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของผู้ตายโดยการครอบครองปรปักษ์
2. รับโอนมรดกไปแต่เพียงผู้เดียว หรือโอนให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก
3. แจ้งแก่ทายาทคนอื่นว่า ผู้ตายได้โอนทรัพย์มรดกไปแล้ว ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งความจริงไม่ได้โอน แล้วโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง
กรณีที่ยังไม่ถือว่าเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ตัวอย่างเช่น
1. ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก โดยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นทายาท หรือไม่ได้ระบุทรัพย์มรดกทั้งหมด
2. ผู้รับพินัยกรรมปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์ เฉพาะสิ่งตามพินัยกรรม
ผลการยักยอกหรือปิดบัง
1. เท่ากับหรือมากกว่า ส่วนที่ตนจะได้ --- ผลคือ ถูกกำจัดทั้งหมด เช่น ทรัพย์มรดกมีเงิน 100,000 บาท ทายาทผู้มีสิทธิได้รับ 5 คนๆละ 20,000 บาท ทายาทผู้ถูกกำจัดยักยอกเงินไปใช้จำนวน 35,000 บาท จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย สรุปกองมรดกนี้ หาร4 ทายาทที่เหลือได้คนละ 25,000 บาท
2. น้อยกว่า ส่วนที่ตนจะได้รับ --- ผลคือ ถูกกำจัดเท่ากับส่วนที่ตนยักย้ายหรือปิดบังไป เช่น ทรัพย์มรดกมีเงิน 100,000 บาท ทายาทผู้มีสิทธิได้รับ 5 คนๆละ 20,000 บาท ทายาทผู้ถูกกำจัดยักยอกเงินไปใช้จำนวน 10,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เหลืออีก 10,000 บาท
การถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานก็ยังรับมรดกแทนที่ต่อไปได้
กรณีทายาทถูกกำจัด “ก่อนเจ้ามรดกตาย” ผู้สืบสันดานของทายาท --- ย่อมเข้ารับมรดกแทนที่ได้
กรณีทายาทถูกกำจัด “หลังเจ้ามรดกตาย” ผู้สืบสันดานของทายาท เข้าสืบมรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2545
ทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะบุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม มีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก คือ พ. ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 จำเลย อ. และ ซ. มารดาของผู้ตาย แม้ว่าโจทก์ที่ 1 จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. แต่จะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายก็เพียงในฐานะผู้สืบสิทธิของ พ. โดยรับมรดกเฉพาะส่วนของ พ. เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5382/2539
จำเลยที่ 2 ไปรับโอนมรดกแต่ผู้เดียว และนำที่ดินทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสาม และ จ. ด้วยไปโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก จึงเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่าจำเลยที่ 2 จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1605 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 โดยทราบว่าโจทก์ทั้งสามและ จ. เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดก จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริตจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมโดยการยกให้โดยเสน่หาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนโจทก์ทั้งสาม จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 6 หลังจากโจทก์ที่ 3 ได้อายัดที่ดินไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยกรรมการของจำเลยที่ 6 ทราบเรื่องแล้วถือว่าจำเลยที่ 6 รับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิให้เพิกถอนการโอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้เช่นกัน ผู้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่บุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกทั้งจำเลยที่ 2 ถูกกำจัดมิให้รับมรดกจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะทายาท การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาท จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1823/2537
แม้ผู้จัดการมรดกได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกมาเป็นของตนก่อนถูกฟ้องคดีถึง 7 ปี เศษแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก หาใช่การจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วได้มีการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมดไว้แทนทายาทการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันตามส่วนสัดของทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทตามกฎหมาย เว้นแต่ทายาทจะตกลงยินยอมกันการที่ผู้จัดการทรัพย์มรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนทั้งหมด และภายหลังโอนยกให้โดยเสน่หาแก่บุตรของผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่ง โดยไม่ยอมแบ่งปันแก่บุตรต่างบิดาซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก ทั้งที่ผู้จัดการมรดกทราบดีว่าเจ้ามรดกมีบุตรกี่คนแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ จึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคแรก จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้จำเลยที่ 2 ได้ให้การไว้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่ในชั้นชี้สองสถานศาลมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทจึงถือว่าจำเลยที่ 2 สละประเด็นข้อต่อสู้ดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นอีกทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1605 ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น
มาตรา 1606 บุคคลดังต่อไปนี้ ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตาย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
(3) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments