ฟ้องหย่า

คดีฟ้องหย่า

การสิ้นสุดการสมรส มี 3 ประการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501

1. ตาย

2. ศาลพิพากษาให้เพิกถอน (เนื่องจากการสมรสนั้น ตกเป็นโมฆียะ)

3. หย่า ซึ่งทำได้ 2 วิธี

   3.1. โดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย จดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต

   3.2. คำพิพากษาของศาล ต้องมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมาย

 

รวมเหตุฟ้องหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (พร้อมคำอธิบาย) มีดังนี้

(1) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่สมรส เป็นชู้หรือมีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ หรือกระทำกับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่น เพื่อสนองความใคร่ของตนหรือผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

   - การให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงผู้อื่น เช่น ให้เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ ในฐานะชู้

   - การยกย่องผู้อื่นในฐานะชู้ และแสดงตนโดยเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไป

   - การเป็นชู้ คือ การมีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรสของบุคคลอื่น

(2) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

   (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

   (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นคู่สมรสของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

   (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสมาคำนึงประกอบ

   อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

   - การประพฤติชั่ว คือ การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ไม่คำนึงว่าจะผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ และการประพฤติชั่วนั้น ทำให้อีกฝ่ายได้รับความอับอาย

(3) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

   - หมิ่นประมาทบุพการี ประกอบด้วย บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด

(4) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

   - การทิ้งร้าง คือ การหนีออกจากบ้านที่อาศัยอยู่ด้วยกันไป และไม่มีการติดต่อมาจนมาถึงวันฟ้องคดี

(4/1) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นคู่สมรสกันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

   - คดีนั้นจะต้องถึงที่สุด และมีโทษเกิน 1 ปี เพราะถือว่ามีความประพฤติที่ชั่ว

(4/2) คู่สมรสสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

   - การสมัครใจแยกกันอยู่ของทั้งสองฝ่าย คือ แยกกันอยู่อาศัย ห่างจากกัน และไม่มีการติดต่อใดๆ

   - กรณีไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ เช่น ทำร้าย ทุบตี ทะเลาะเบาะแว้งกัน

   - ระยะเวลาจะต้องติดต่อกัน 3 ปี จะนับรวมเป็นช่วงๆไม่ได้

   - การแยกกันอยู่ตามคำสั่งศาล เป็นกรณีที่เคยมีการร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งแยกกันอยู่มาก่อนแล้ว

(5) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(6) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นคู่สมรสอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสมาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

   - การไม่ให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่จำเป็น จนทำให้อีกฝ่ายได้รับความเดือดร้อน

   - การเป็นปฏิปักษ์ เช่น ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์

(7) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(8) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

   - ทัณฑ์บน คือ หนังสือที่ตกลงกันไว้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ประพฤติชั่วอีก หากฝ่าฝืนสัญญา อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้

(9) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

   - มีเฉพาะโรคเอดส์ เท่านั้น

(10) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณี หรือไม่อาจกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

   - อวัยวะเพศขายขาด

มาตรา 1517 เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ (2) ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

   เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (10) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

   ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตามมาตรา 1516 (8) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของคู่สมรสอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

มาตรา 1518 สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว

มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง
เหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น

 

ส่วนความสมบูรณ์ของการหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531

1. กรณีหย่าโดยความยินยอม มีผลนับแต่วันที่จดทะเบียนหย่า (ทำเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนและมีพยานจำนวน 2 คน)

2. กรณีหย่าโดยการฟ้องคดี มีผลนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดแล้ว

 

เอกสารประกอบการยื่นคำฟ้องหย่า

1. ใบสำคัญการสมรส

2. ทะเบียนบ้าน 

3. บัตรประจำตัวประชาชน

4. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น (ถ้ามี)

5. สูติบัตรบุตร (ถ้ามี)

6. ใบสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว - นามสกุล (ถ้ามี)

7. บันทึกข้อตกลงการหย่า (ถ้ามี)

8. ตารางสรุปค่าใช้จ่ายของบุตร เช่น ค่าเทอม ค่าประกันชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เป็นต้น (ถ้ามี)
 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล กรณีฟ้องหย่า อำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงชีพ คดีละ 200 บาท

2. ค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท

3. ค่านำส่งหมายเรียกจำเลย 300 - 700 บาท

4. คดีที่มีทุนทรัพย์ แบ่งสินสมรส ค่าทดแทน เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ไม่เกิน 300,000 บาท เสีย 1,000 บาท

 

เขตอำนาจศาล : ภูมิลำเนาจำเลย หรือมูลคดีเกิด กล่าวคือ สถานที่อยู่กินร่วมกัน

 

คำสั่งคำร้องที่ มาตรา 952/2531

   การหย่าโดยคำพิพากษาจะมีผลต่อเมื่อเวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 และเมื่อหย่ากันแล้วจึงให้มีการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาได้ตามมาตรา 1532 เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างฎีกา

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : เหตุหย่า เนื่องจากออกบ้านที่อยู่กินกัน ไม่ช่วยเหลือเลี้ยงดู ถือว่าเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2692/2524

   โจทก์จำเลยแต่งงานจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน จำเลยออกจากบ้านโจทก์ไปอยู่กับมารดา ไม่ยอมอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ เป็นการไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงสภาพฐานะความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์เดือดร้อนเกินควร เข้าเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(6) แล้ว

 

ประเด็น : ด่าทอเหยียดหยามด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นเวลานานหลายปี อาทิ อีดอกทอง กะหรี่ยังดีกว่ามึงเสียอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13082/2558

   โจทก์ประกอบอาชีพครู ต้องให้การศึกษาอบรมลูกศิษย์และได้รับการยกย่องว่าอาชีพดังกล่าวเป็นแม่พิมพ์ของชาติ แต่โจทก์กลับต้องอดทนต่อความประพฤติของจำเลย ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่กระทำต่อตนซึ่งเป็นภริยาและยังกระทำต่อบุตรสาวจำเลยเองอีกด้วย แม้จำเลยจะไม่มีความอ่อนหวานหรือไม่รู้จักการให้เกียรติภริยาของตนก็ตาม แต่จำเลยก็ควรรู้จักการทะนุถนอมน้ำใจของอีกฝ่ายเยี่ยงสามีที่ดีทั่วไปอันจะช่วยประคับประคองชีวิตสมรสให้ราบรื่น มิใช่ด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการเหยียดหยามโจทก์ การที่โจทก์อดทนอยู่กับจำเลยอีกหลายปีนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ให้อภัยตามที่จำเลยเข้าใจเอาเอง เพราะการให้อภัยเป็นเรื่องที่ผู้กระทำผิดสำนึกผิดแล้วอีกฝ่ายไม่เอาโทษ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยปรับปรุงตนเองเป็นเวลาหลายปี แต่จำเลยหาได้สำนึกและกลับตนไม่ จนกระทั่งโจทก์และบุตรสาวไม่สามารถอดทนอยู่กับจำเลยได้ จึงพากันย้ายหนีจำเลยไปอาศัยอยู่กับมารดาโจทก์ ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ค)

 

ประเด็น : มีหนังสือถึงหัวหน้าคู่สมรส ให้ตักเตือนเรื่องชู้สาว ขอให้ลงโทษทางวินัย ไม่ถือเป็นปฏิปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2552

   จำเลยมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ในการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่จะกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงอีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง โจทก์จะอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นกรณีจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

 

ประเด็น : ติดการพนัน ฟ้องหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2531

   จำเลยชอบเล่นการพนันมานาน โจทก์ห้ามปรามก็ไม่เชื่อ บางครั้งนำทรัพย์สินภายในบ้านไปจำนำเอาเงินไปเล่นการพนัน จำเลยเคยถูกจับฐานเล่นการพนันถูกดำเนินคดีจนศาลพิพากษาลงโทษก็ยังไม่เลิก โจทก์เป็นตำรวจต้องถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปเตือนว่า หากไม่ห้ามให้จำเลยเลิกเล่นจะย้ายโจทก์ โจทก์ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว เมื่อจำเลยเล่นการพนันเสียบางครั้งเงินไม่พอใช้จ่าย พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)(ก) และ (ค)

   การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

 

ประเด็น : เรียกแม่ผัวว่า "อีแก่" ไม่ถึงว่าเป็นคำเหยียดหยามอย่างร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2558

   จำเลยเรียกโจทก์ว่า บักหลอย บักหน้าส้นตีน เป็นเพียงคำไม่เหมาะสมที่ภริยาจะใช้เรียกสามีต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยจะต้องปรับปรุงตนไม่ใช้คำดังกล่าวกับสามีอีกต่อไป ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง ส่วนที่จำเลยเรียกมารดาโจทก์ว่าอีแก่นั้น คำว่า "อี" เป็นคำประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะต่ำกว่า หรือเป็นคำใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยาม สำหรับคำว่า "แก่" มีความหมายว่ามีอายุมาก คำว่า "อีแก่" จึงเป็นคำไม่สุภาพและไม่เหมาะสมที่จำเลยในฐานะบุตรสะใภ้จะใช้เรียกมารดาของสามี แต่ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง ยังไม่พอฟังว่า จำเลยเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3 )

 

ประเด็น : สามีภริยาแจ้งความดำเนินคดีกัน ถือเป็นกรณีไม่อยู่ในวิสัยที่จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันได้ดังเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2556

   แม้โทรสารที่โจทก์ส่งมายังจำเลยที่ 1 ข้อความบางตอนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหย่าว่าการหย่าครั้งนี้เป็นการหย่าที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการฟ้องหย่าเรื่องชู้สาวระหว่างจำเลยทั้งสอง แต่กรณีที่จะเป็นการกระทำอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลยทั้งสองและทำให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปนั้นต้องได้ความว่าคู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องมีเจตนาที่จะยกโทษให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับคืนสู่สถานะในทางครอบครัวดังเดิม คือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีเจตนากลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป การที่โจทก์ขอเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ออกจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิมต่อไปอีก นอกจากนี้โจทก์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามพฤติการณ์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันดังเดิมต่อไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยแก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518

 

ประเด็น : ข้อพิจารณาการสมัครใจแยกกันอยู่ ไม่ใช่ระยะเวลาเกิน 3 ปีเท่านั้น แต่ต้องมีองค์ประกอบคือ เจตนาตรงกัน ไม่ประสงค์อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยสิ้นเชิง ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4151/2560

   พฤติการณ์ที่จะถือว่าโจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่นั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยต่างมีเจตนาตรงกัน คือไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา มีลักษณะที่ขาดจากความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาโดยสิ้นเชิงและต่างฝ่ายต่างไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย

   โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านไปมีภริยาใหม่และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ไม่ปรากฎพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยมีความประสงค์แยกกันอยู่กับโจทก์โดยชัดแจ้ง ส่วนที่โจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะให้จำเลยเป็นผู้รับเงินเดือนของโจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนในเวลานั้น ถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยผู้เป็นภริยาและอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1565 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นข้อตกลงที่ถือว่าจำเลยตกลงแยกกันอยู่กับโจทก์โดยสมัครใจไม่

   องค์ประกอบอันเป็นเหตุหย่า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2) นอกจากการที่สามีภริยาสมัครใจแยกกันอยู่แล้ว ยังจะต้องได้ความต่อไปว่าการสมัครใจแยกกันอยู่นั้นเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี ด้วย จึงจะทำให้มีเหตุหย่าโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่รับฟังองค์ประกอบเรื่องระยะเวลาที่แยกกันอยู่แต่เพียงประการเดียว พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ฝ่ายเดียวสมัครใจแยกทางกันอยู่กับจำเลย จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์นั้น

 

ประเด็น : ต่างฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่ต้องแยกกันอยู่ ไม่ถือว่าสมัครใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2542

   จำเลยเป็นชาวต่างประเทศอยู่กินร่วมกับโจทก์ผู้เป็นสามี ต้องพึ่งพาอาศัยสามีเป็นสำคัญในการครองชีพ โดยอาศัยเงินที่โจทก์จ่ายให้เดือนละ 20,000 บาท เลี้ยงดูบุตร การที่โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลย และจำเลยตกลงจะยอมหย่าแต่เรียกร้องเงินเป็นจำนวนสูงถึง 40,000,000 บาท ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่าโจทก์คงไม่ตกลงด้วยก็น่าจะเป็น เพราะจำเลยไม่ประสงค์จะเลิกร้างไปจากโจทก์หรือสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์นั่นเอง ทั้งเหตุที่โจทก์จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลานานก็เนื่องจากโจทก์ได้แยกออกไปอยู่กับบิดามารดาโจทก์เอง และภายหลังที่จำเลยไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เนื่องจากต้องไปดูแลรักษาบุตรที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ดังนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1516 (4/2) อันเป็นเหตุฟ้องหย่า

 

ประเด็น : มาทีหลัง แต่จดทะเบียนสมรส คู่สมรสยังไม่เลิกกับคนก่อน ถือเป็นเหตุหย่าและฟ้องชู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2525

   จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 มาก่อนที่จะสมรสกับโจทก์ เมื่อจำเลยสมรสกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และยกย่องเป็นภรรยาอย่างออกหน้า ดังนี้ โจทก์ฟ้องหย่าได้ และเหตุหย่าในกรณีนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามป.พ.พ. ม.1523 วรรคแรก

 

ประเด็น : กลับไปอยู่บ้านเดิม 25 ปี ถือเป็นเหตุฟ้องหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2521

   ภริยาแยกไปอยู่บ้านเดิมได้ 25 ปี สามีไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดู เหตุที่แยกไปเพราะสามีบีบบังคับ เป็นการที่สามีจงใจทิ้งร้างภริยาและไม่เลี้ยงดูภริยา ภริยาหย่าได้

 

ประเด็น : ทิ้งร้างเกิน 1 ปี แม้ยังส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตร ก็ถือเป็นเหตุฟ้องหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1644/2537

   จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตลอดมาและได้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นแล้วก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องหย่าจำเลยสิ้นไปแต่อย่างใด

 

ประเด็น : คู่สมรสต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกิน 1 ปี หากฟ้องคดีเมื่อพ้นโทษแล้ว ถือไม่ได้ว่าได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555

   เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า "สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้" ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)

 

ประเด็น : ตัวอย่าง พฤติการณ์ในการอภัย ทำให้สิทธิใการฟ้องหย่าย่อมหมดไป ศาลไม่อาจพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10157/2559

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับหญิงอื่น ต่อมาเดือนสิงหาคม 2557 จำเลยถอนเรื่องร้องเรียนดังกล่าว แล้วโจทก์ยอมกลับมาอยู่กับจำเลยที่บ้าน จึงเห็นได้ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีการบรรยายระบุถึงพฤติการณ์ที่แสดงถึงการให้อภัยจำเลยโดยยอมกลับมาอยู่กับจำเลยภายหลังเกิดเหตุการณ์ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) อีกทั้งจำเลยได้ยื่นถอนเรื่องร้องเรียนความประพฤติด้านชู้สาวของโจทก์ต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ว่า จำเลยตกลงใจถอนเรื่องร้องเรียนโดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือให้โจทก์กลับเข้าบ้านและปฏิบัติตนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีดูแลบุตรภริยาตามเดิม ให้โจทก์ปฏิบัติตนในทางที่ดี ไม่ให้เป็นที่ดูถูก ดูหมิ่นเหยียดหยาม ซุบซิบนินทาของบุคคลทั่วไปในสังคมและให้โจทก์ให้เกียรติยกย่องบุคคลในครอบครัวอันได้แก่ บุตร ภริยา ตามกาลเทศะที่เหมาะสม โดยโจทก์ก็ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะกลับเข้าพักในบ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิม แม้ข้อตกลงจะไม่ได้ระบุว่าโจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลย แต่พฤติการณ์ที่โจทก์แสดงออกโดยกลับมาอยู่บ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิมเพื่ออยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงว่าโจทก์ได้ให้อภัยต่อการกระทำของจำเลยที่ส่งข้อความหมิ่นประมาทบิดาของโจทก์ สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ในเรื่องนี้จึงหมดไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2556

   แม้โทรสารที่โจทก์ส่งมายังจำเลยที่ 1 ข้อความบางตอนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหย่าว่าการหย่าครั้งนี้เป็นการหย่าที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการฟ้องหย่าเรื่องชู้สาวระหว่างจำเลยทั้งสอง แต่กรณีที่จะเป็นการกระทำอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลยทั้งสองและทำให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปนั้นต้องได้ความว่าคู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องมีเจตนาที่จะยกโทษให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับคืนสู่สถานะในทางครอบครัวดังเดิม คือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีเจตนากลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป การที่โจทก์ขอเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ออกจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิมต่อไปอีก นอกจากนี้โจทก์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามพฤติการณ์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันดังเดิมต่อไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยแก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518

 

ประเด็น : สถานที่จดทะเบียนสมรส ไม่ถือเป็นมูลคดีเกิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2546

   คำว่า "มูลคดีเกิด" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ต้นเหตุของคำฟ้องคือเหตุหย่า ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเหตุของความเป็นสามีภริยากัน สถานที่จดทะเบียนสมรสจึงมิใช่เป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด

 

ถาม - ตอบ คดีฟ้องหย่า By ThanuLaw

ถาม : สถานที่จดทะเบียนสมรส ถือเป็นสถานที่มูลคดีเกิดไหม

ตอบ - ไม่ถือว่าเป็นมูลคดีเกิด อ้างอิง ฎ.4443/2564 

 

ถาม : หากฟ้องหย่าไปแล้ว จำเลยไม่มาศาล โจทก์ต้องทำอย่างไร

ตอบ - หากจำเลยไม่มาศาล โจทก์จะต้องสืบพยานไปฝ่ายเดียว เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้หย่าแล้ว ให้นำคำพิพากษาของศาล พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไปจดแจ้งต่อนายทะเบียนให้ออกใบสำคัญการหย่าต่อไป

 

ถาม : ค่าจ้างทนายฟ้องหย่า แพงไหม

ตอบ - ค่าจ้างทนายนั้นขึ้นอยู่กับเหตุฟ้องหย่า พยานหลักฐาน เรียกร้องเงินค่าเลี้ยงชีพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร อำนาจปกครองบุตร และแบ่งสินสมรส ไม่สามารถแจ้งได้ ถือว่าผิดมรรยาททนายความ

 

ถาม : คู่สมรสมีฟ้องเรียกค่าทดแทน ได้อย่างไร

ตอบ : เป็นเงินที่จำเลยในคดีฟ้องหย่า จ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่คู่สมรสฝ่ายโจทก์ ได้แก่ กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุ ตามมาตรา 1516 (1) คู่สมรสมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากอีกฝ่ายและจากชู้ แล้วแต่กรณีได้ หากตนมิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการ ตามมาตรา 1516 (1)

   นอกจากนี้ ถ้าเหตุแห่งการหย่า ตามมาตรา 1516 (3) (4) หรือ (6) เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้ จึงต้องฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิด

   การกำหนดค่าทดแทนศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ ก็ได้

 

ค่าเลี้ยงชีพหลังการหย่า

   ค่าเลี้ยงชีพ เป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบ เมื่อมีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ได้แก่ การฟ้องหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรสที่ถูกฟ้อง หากการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส คู่สมรสที่เป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายผิดในคดีหย่าจะต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งค่าเลี้ยงชีพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนภายหลังได้แล้วแต่พฤติการณ์ ทั้งนี้ค่าเลี้ยงชีพมีลักษณะเฉพาะตัว สิทธิจะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

 

หลักเกณฑ์ 3 ประการ อ้างอิง ฎ.875/2561

1. เหตุแห่งการหย่าในคดีเป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว

2. การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่

3. โจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
   สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

มาตรา 1527 ถ้าหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา 1516(7) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516(9) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา 1526

มาตรา 1528 ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : เหตุฟ้องหย่า สมัครใจแยกกันอยู่ เรียกค่าเลี้ยงชีพ ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2539

   โจทก์ออกจากบ้านที่ปลูกสร้างและอยู่กินกับจำเลยเพราะต้องการพาบิดาซึ่งเป็นโรคหัวใจไปให้พ้นจากบิดาจำเลยซึ่งชอบดื่มสุราแล้วส่งเสียงดังโจทก์และจำเลยเคยตกลงจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแต่หย่าไม่ได้เพราะโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาและการแยกกันอยู่ดังกล่าวเป็นเวลานับถึงวันฟ้องเกินสามปีแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(4/2) การที่จำเลยจะ เรียกค่าเลี้ยงชีพได้จะต้องปรากฎว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวดังนี้เมื่อฟังได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีจำเลยจึงเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์มิได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8225/2540

   โจทก์ได้ ว.เป็นภริยาภายหลังจากจำเลยออกจากบ้านที่เคยอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาไปแล้ว ทั้งลักษณะของการที่จำเลยออกจากบ้านที่เคยอยู่ร่วมกับโจทก์ก็ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจของจำเลยเอง มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขับไล่จำเลยหรือโจทก์นำหญิงอื่นเข้ามาอยู่กินในบ้านฉันสามีภริยาอันเป็นการบีบบังคับให้จำเลยต้องออกจากบ้านแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ต่างหากจากโจทก์

   โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2) ได้

   ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง ย่อมสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้จำเลยสิ้นสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่จำเลยขอเพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2538

   จ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินก้อนก็ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2545

   หย่าเพราะความผิดสามีฝ่ายเดียว สามีฐานะการเงินดีกว่าภริยา ให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ภริยาเดือนละ 5,000 บาท

 

ประเด็น : สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจะมีได้เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ในคดีหย่านับแต่คดีถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2556

   สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจะมีได้เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง การหย่าโดยคำพิพากษาย่อมมีผลให้การสมรสสิ้นสุดนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง

   ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

 

ประเด็น : แยกกันอยู่เกิน 3 ปี แม้คู่สมรสอีกฝ่ายจะมีชู้ และถือเป็นเหตุฟ้องหย่าด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากคู่สมรสสมัครแยกกันอยู่ เป็นเหตุหย่าด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดฝ่ายเดียว ไม่สามารถเรียกค่าทดแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558

   เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

   โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

   โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

 

ประเด็น : ฟ้องหย่าแล้วทำสัญญาประนีประนอมอยมความในศาลว่าจะหย่า ไม่ถือว่าอีกฝ่ายมีความผิด ภายหลังจะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพ ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2561

   โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้

 

การใช้อำนาจปกครองบุตร ภายหลังจากหย่า

   ถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 ได้ให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรส หากมีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองได้ เช่น ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ เป็นต้น

 

หลักการพิจารณาของศาลเบื้องต้น

1. เด็กไร้เดียงสาควรให้มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง อ้างอิงฎีกาที่ 303/2548

2. พี่น้องควรอยู่ด้วยกัน อ้างอิงฎีกาที่ 9130/2539

3. ลูกอายุ ตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป ให้แสดงความประสงค์ว่าอยากอยู่กับฝ่ายไหน อ้างอิงฎีกาที่ 1454/2545

 

จำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

   ศาลมีอำนาจกำหนดว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยพิจารณาจากความสามารถทางการเงินของทั้งสองฝ่าย แม้บิดามารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

   ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะชำระเป็นเงินหรือชำระเป็นอย่างอื่นก็ได้โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนใหม่ภายหลังก็ได้หากพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู นั้นจะสละหรือถอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี

 

สิทธิในการติดต่อบุตร

คู่สมรสฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองหลังจากศาลมีคำพิพากษาให้หย่าย่อมมีสิทธิติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ฟ้องหย่าอย่างเดียว แต่ศาลสามารถใช้ดุลพินิจกำหนดอำนาจปกครองบุตรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548

   จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้คู่สมรสทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

มาตรา 1521 ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

มาตรา 1522 ถ้าคู่สมรสหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่าย หรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

   ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีผู้ฟ้องที่ยากจนลงหลังจากหย่า สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ และย่อมหมดลงเมื่อสมรสใหม่

2. การฟ้องหย่าในคดีที่มีบุตรผู้เยาว์ เมื่อยื่นฟ้องแล้วจะต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ประกอบด้วย โจทก์ บุตรผู้เยาว์ และพยาน 1 คน

3. การจดทะเบียนหย่าตามคำพิพากษา ไม่ต้องอาศัยคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว มาตรา 16 

4. ผลการหย่าต่อบุคคลภายนอก

   4.1. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยทั่วไปไม่ต้องไปจดทะเบียนหย่า แต่หากคู่หย่าต้องการใช้ยันบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็จะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าด้วย

   4.2. เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว บุคคลภายนอกจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ แม้ว่าจะทำนิติกรรมกับคู่หย่าโดยสุจริตก็ตาม กรณีมีสัญญาประนีประนอมยอมความให้บันทึกไว้ในท้ายทะเบียนการหย่าด้วย

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องหย่า

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ฟ้องหย่า

-X-

 ♦ หย่า แบ่งสินสมรส อำนาจปกครองบุตร

-X-

 ♦ ฟ้องหย่า คู่สมรสชาวต่างชาติ

-X-

 ♦ สัญญายินยอมหย่า

15,000

 

รับว่าความทั่วประเทศ คดีฟ้องหย่า อำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าเลี้ยงชีพ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ติดต่อทนายธนู โทร 083 4248098

LINE ID : @tn13

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
 
 
 
  

%MCEPASTEBIN%

#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-01 19:25:22
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 278,403