ฟ้องหย่าคู่สมรสชาวต่างชาติ

 

ข้อแนะนำ คดีฟ้องหย่าคู่สมรสชาวต่างชาติ #ทนายคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติThanuLaw

การฟ้องหย่าชาวต่างชาติ นอกจากจะต้องพิจารณากฎหมายเหตุฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 ของไทยแล้ว ยังต้องพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งมีหลักเกณฑ์

มาตรา 27 ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้

   เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า

 

ข้อพิจารณาและวิธีทางปฏิบัติ ดังนี้

1. การฟ้องหย่า จะต้องมีการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือ สามีภริยาจะทำการสมรสตามแบบของกฎหมายในประเทศใด หรือตามหลักศาสนาใด ก็ได้ ดังนั้น คู่สมรสจะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ หรือจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย ก็ตาม ถือว่ามีการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอันอยู่ในเงื่อนไขที่จะฟ้องหย่าได้

2. เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดยื่นฟ้องต่อศาลไทย เป็นหน้าที่ของฝ่ายนั้นต้องมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติของอีกฝ่าย (ซึ่งมิใช่ประเทศไทย) เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสแล้ว คู่สมรสสามารถฟ้องหย่าได้ กล่าวคือ มีเหตุในการที่จะฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งวิธีการพิสูจน์ต้องคัดลอกกฎหมายแห่งสัญชาติอีกฝ่ายพร้อมคำแปลภาษาไทย เสนอศาลไทย 

   ลิงค์ ตัวอย่างข้อกฎหมายเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายต่างประเทศ

3. หากผู้ยื่นฟ้องไม่สามารถพิสูจน์ ตาม ข้อ 2. ได้ ศาลไทยต้องพิพากษายกฟ้อง เพราะปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องของอำนาจฟ้อง และหลักกฎหมายของมาตรา 27 เป็นบทตัดอำนาจของศาลไทย

4. ศาลไทยจะอ้างหลักของมาตรา 8 ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับในเรื่องฟ้องหย่าไม่ได้ เพราะหลักของมาตรา 8 เป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างกฎหมายของต่างประเทศขึ้น เพื่อประโยชน์ของตน ผู้กล่าวอ้างต้องพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของกฎหมายต่างประเทศ มิฉะนั้นแล้วต้องใช้กฎหมายไทยใช้บังคับในเรื่องนั้น ๆ เช่น กล่าวอ้างว่า ตนมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามหลักกฎหมายประเทศอังกฤษ ผู้กล่าวอ้างต้องพิสูจน์ถึงหลักกฎหมายดังกล่าวหากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลไทยจะใช้หลัก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713 ขึ้นพิจารณา

5. การฟ้องหย่าคู่สมรสต่างชาติ ต้องมีการอ้างกฎหมายของประเทศที่อีกฝ่ายมีสัญชาตินั้น ๆ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้หย่าได้ ไม่สามารถพิจารณาแค่กฎหมายของไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 27 หากไม่นำสืบศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

   หรือจำเลยอาจยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 24 (มีตัวอย่าง)

6. การฟ้องหย่าคู่สมรสที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย : โจทก์สามารถส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปตามที่อยู่ในไทย ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานยืนยันที่อยู่ เช่น สัญญาเช่า สถานที่ทำงาน เป็นต้น

7. กรณีคู่สมรสไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือเดินทางต่างประเทศของตนไปแล้ว : โจทก์ต้องมาการแปลคำฟ้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีเป็นภาษาท้องถิ่นของคู่สมรสต่างชาติ

 

ค่าใช้จ่ายในการส่งหมายไปต่างประเทศ 2 วิธี (ตามขั้นตอนหรือระเบียบของศาลว่าด้วยการส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักการงานของจำเลยนอกราชอาณาจักร)

1. ไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ เฉพาะ 2 บริษัท FedEX Express กับ DHL Express ค่าบริการ 3,000 บาท 

ระยะเวลาการจัดส่ง : ปกติไม่เกิน 1 สัปดาห์

2. สำนักงานศาลยุติธรรม ผ่านวิธีทางการทูต เฉพาะประเทศที่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เช่น USA Japan China เป็นต้น ค่าบริการ 5,000 บาท

 

ระยะเวลานัดวันพิจารณาคดี

1. ส่งโดยวิธีไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ : นัดแรก 6 เดือน

2. ส่งโดยวิธีทางการทูต : นัดแรก 8 เดือน

 

วิธีการนับระยะเวลาส่งหมายไปต่างประเทศ : เป็นไปตาม มาตรา 83 เบญจ คือ มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันที่ส่ง สรุปง่ายๆคือ จำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายใน 75 วันนับแต่วันส่ง

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. สำเนา Passport พร้อมแปลภาษาไทย

3. ทะเบียนสมรส (พร้อมแปลภาษาไทย ถ้าจดทะเบียนต่างประเทศ)

4. บันทึกฐานะแห่งครอบครัว คร.22 (ถ้ามี)

5. ผลการสืบค้นข้อมูลการเดินทางเข้า-ออก ราชอาณาจักรไทย (ออกหมายเรียกไปยัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู เขตสาทร กทม.)

6. ข้อมูลที่อยู่ของจำเลยในต่างประเทศ พร้อมแปลภาษาไทย (คัดถ่ายได้ที่สำนักงานทะเบียนที่จดทะเบียนสมรส ถ้าเป็นทนายจะต้องได้รับมอบอำนาจก่อน กฎหมายPDPA)

 

เขตอำนาจศาล : สถานที่มูลคดีเกิด

 

ค่าใช้จ่าย

1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าแปลเอกสาร ไม่เกิน 10,000 บาท

3. ค่าส่งหมาย 3,000 - 5,000 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : โจทก์ไม่นำสืบกฎหมายต่างประเทศของคู่สมรส ศาลยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557

   เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลสัญชาติแอลจีเรีย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" ดังนั้นในเบื้องต้นต้องได้ความว่า กฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณาคดีเสียก่อนและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบกฎหมายเรื่องการหย่าของประเทศแอลจีเรีย ศาลชั้นต้นยกฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ประเด็น : ฟ้องคดีในไทยสาเหตุฟ้องหย่าต้องใช้กฎหมายไทย ป.พ.พ.มาตรา 1516 l สาเหตุฟ้องหย่าต่างชาติส่วนใหญ่ คือ ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549

   ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้

   สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทยไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

 

ประเด็น : การพิจารณาความสมบูรณ์ของทะเบียนสมรส จะต้องดูกฎหมายไทย ฉะนั้น หญิงสมรสกับหญิง แม้จะสมบูรณ์ที่ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ถือเป็นสามีภริยาตามกฎหมายไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563

   โจทก์ร่วมและจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษ แม้การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้นย่อมเป็นอันสมบูรณ์ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 19 บัญญัติให้เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย

   ดังนั้น การพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วม จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติให้การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์แล้ว แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง

   เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างเป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วม จึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71

 

ประเด็น : คนต่างด้าวใส่ชื่อในโฉนดที่ดินไม่ได้ ใส่ชื่อภริยาคนไทยเพียงคนเดียว ถือเป็นสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7533/2560

   แม้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จะระบุชื่อของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างจำเลยกับโจทก์สมรสกัน จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาระหว่างสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) เงินที่ซื้อที่ดินพร้อมบ้านเป็นเงินของโจทก์ แต่การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็เพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยเวลามาพักที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดินทางมาเยี่ยมบิดามารดาของจำเลย แต่โจทก์ใส่ชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ได้ เนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าว ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ พนักงานขายและเพื่อนโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินให้คำแนะนำว่าให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทน ดังนั้น ในการดำเนินการซื้อขายที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ย่อมต้องให้คำรับรองต่อ เจ้าพนักงานที่ดินว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลย แต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรสหรือทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มิฉะนั้น เจ้าพนักงานที่ดินคงไม่ดำเนินการให้ เมื่อได้โฉนดที่ดินมาแล้ว ต้นฉบับโฉนดที่ดินโจทก์เป็นคนเก็บรักษาไว้ หากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยเป็นสินส่วนตัว โจทก์ก็น่าจะมอบโฉนดที่ดินให้จำเลย การที่โจทก์เก็บโฉนดที่ดินไว้และโจทก์ต้องการซื้อบ้านเพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าโจทก์มิได้ยกให้เป็นสินส่วนตัวของจำเลย แต่โจทก์ต้องการให้ที่ดินและบ้านเป็นสินสมรส ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้ายบัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์กับจำเลยมีส่วนในที่ดินและบ้านพิพาทเท่ากัน

 

ประเด็น : โจทก์มีหน้าที่นำสืบกฎหมายหย่าของต่างประเทศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2566 - รอปรับปรุงเนื้อหา -

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481

ภาค 5 ครอบครัว

มาตรา 26 การหย่าโดยความยินยอมย่อมสมบูรณ์ ถ้ากฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้

มาตรา 27 ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้

   เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า

มาตรา 28 การเพิกถอนการสมรส ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่เงื่อนไขแห่งการสมรส

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 83 ทวิ ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีที่จำเลยประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนหรือในกรณีที่มีการตกลงเป็นหนังสือว่าคำคู่ความและเอกสารที่จะต้องส่งให้แก่จำเลยนั้น ให้ส่งแก่ตัวแทนซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรที่จำเลยได้แต่งตั้งไว้เพื่อการนี้ให้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยหรือตัวแทนในการประกอบกิจการหรือตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสาร ณ สถานที่ที่จำเลยหรือตัวแทนใช้ประกอบกิจการหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนในการประกอบกิจการหรือของตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสาร ซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี

   ในกรณีที่มีการเรียกบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (3) ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 83 จัตวา ในกรณีที่จะต้องส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีตามมาตรา 83 ทวิ แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยนอกราชอาณาจักรให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง เพื่อให้ศาลจัดส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลย ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียก คำฟ้องตั้งต้นคดีและเอกสารอื่นใดที่จะส่งไปยังประเทศที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ เป็นภาษาราชการของประเทศนั้นหรือเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องยื่นต่อศาลพร้อมกับคำร้องดังกล่าว และวางเงินค่าใช้จ่ายไว้ต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

   ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์จัดทำเอกสารอื่นเพิ่มเติมยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้

   ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ตามมาตรา 174

   ในกรณีที่มีการเรียกบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรเข้ามาเป็นคู่ความ ตามมาตรา 57 (3) ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 83 เบญจ การส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีตามมาตรา 83 ทวิแก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักร ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลา 60 วันนับแต่วันที่ได้มีการส่ง และในกรณีส่งโดยวิธีอื่นแทนการส่งให้แก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลา 75 วันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่น

มาตรา 83 สัตต เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามมาตรา 83 จัตวา แล้ว ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ศาลดำเนินการส่งให้แก่จำเลยหรือบุคคลภายนอกโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศหรือโดยผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อข้อกำหนดนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

ตัวอย่าง คำร้อง ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น

   ข้อ 1. คดีนี้ศาลได้นัดไกล่เกลี่ย ให้การ หรือสืบพยานโจทก์ ในวันนี้

   ข้อ 2. โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลไทย โจทก์มีหน้าที่ภาระการพิสูจน์ให้ได้ว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติญี่ปุ่นของโจทก์ ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทย เมื่อมีการจดทะเบียนสมรแล้ว คู่สมรสสามารถฟ้องหย่าได้ กล่าวคือเหตุในการที่ฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งโจทก์ต้องคัดลอกกฎหมายแห่งสัญชาติญี่ปุ่น พร้อมคำแปลเสนอศาลไทย แต่ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ตามกฎหมายแห่งสัญชาติญี่ปุ่นได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า”

   ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงพอที่จะทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นได้ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้ ซึ่งหากศาลได้โปรดวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นปัญหาข้อกฎหมาย ก็จะเป็นคุณแก่จำเลย จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก อันจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง

  จำเลยจึงขอประทานกราบเรียนต่อศาล ขอศาลได้โปรดมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย ดังกล่าวก่อนการดำเนินการพิจารณาคดีนี้ ตามระมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต

          ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

   ลงชื่อ   ธนู กุลอ่อน    ทนายจำเลย

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์

   ลงชื่อ   ธนู กุลอ่อน    ผู้เรียงและพิมพ์

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. สาเหตุการฟ้องหย่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่พบ เป็นเรื่องการสมัครใจแยกกันอยู่ หรือทิ้งร้าง โดยมีปัญหามาจากแนวคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และเมื่อชาวต่างชาติทิ้งร้างเดินทางกลับประเทศของตนไปแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายหรือยากลำบากต่อคู่สมรสที่ต้องจะได้ทำนิติกรรมตามกฎหมาย ที่กำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากคู่มรส

2. ปัญหาที่พบบ่อย คือ ส่งหมายเรียกให้แก่จำเลย ที่อยู่ต่างประเทศไม่ได้

   ทางแก้ ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งโดยวิธีประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หน้าศาล หรือผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ตาม ป.วิ.แพ่ง ม. 83 อัฎฐ

3. ที่อยู่ของจำเลย เป็นส่วนสำคัญในคดี การสอบถามสถานทูตมักจะปฏิเสธการให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่

   ทางแก้ อ้างอิงจากข้อมูลบันทึกแนบท้ายทะเบียนการสมรส 

4. เอกสารประกอบการจดทะเบียนหย่าชาวต่างชาติ (ตัวจริง + สำเนา 1 ชุด)

   4.1. ใบสำคัญการสมรส

   4.2. บัตรประจำตัวประชาชน

   4.3. หนังสือเดินทาง Passport : Step รับรองสำเนาถูกต้องที่สถานทูต > แปลภาษาไทยทั้งชุด > รับรองกรมการกงสุล

   4.4. ใบเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล

   4.5. สัญญายินยอมหย่า (ถ้ามี)

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

   ♦ ค่าจ้างทนายฟ้องหย่าต่างชาติ

-X-

   ♦ ค่าแปลเอกสาร

 -X-

   ♦ บริการจัดหาล่าม

3,000

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ทนายธนู Tel. 083 4248098

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาล คดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ

 

 

 

ตัวอย่าง คำสั่งศาลรับฟ้อง คดีฟ้องหย่าต่างชาติ

ตัวอย่าง ข้อมูลที่อยู่ชาวต่างชาติเมื่อครั้งจดทะเบียนสมรส

 

ตัวอย่าง รายงานกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับการส่งหมายทางไปรษณีย์ด่วนระหว่างประเทศ

 

ตัวอย่าง รายงานกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับการส่งหมายต่างประเทศไม่ได้ ศาลอนุญาตให้ปิดประกาศหน้าศาล

 

ตัวอย่าง คำแถลงขอส่งเอกสารฉบับแปลภาษา

#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.225.xxx]
เมื่อ: 2022-12-09 08:02:44
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: นิชา [IP: 27.145.179.xxx]
เมื่อ: 2023-03-04 15:43:41
พอดีประเด็นนี้เป็นเรื่องของเจ้านายดิฉันเป็นชาวอเมริกัน​เขาแต่งงานกับผู้หญิงไทยอยู่กินกันมาไม่นานเธอขอเงินกับเจ้านายของดิฉันหนักบ่อยเข้าและครอบครับของเธอด้วยต้องการให้เขาซื้อบ้านซึ่งเจ้านายของดิฉันรู้กฎหมายในไทยว่าต่างชาติไม่สามารถครอบครองบ้านในไทยได้แต่คุณเธออยากได้บ้านคุณเธอหาทางจนซื้อบ้านได้แบบผ่อนธนาคารเพราะเธอทำงานรัฐบาลไทย เธออยากได้นั่นนี้จนเจ้านายคิดว่านี่มันไม่ใช่ความรักและเจ้านายฉันขอแยกมาอยู่คนเดียว​และคุณเธอบอกเจ้านายฉันว่าคุณมีผู้หญิงใหม่ได้แต่ต้องจ่ายฉัน30%ของเงินเกษียณ​คุณ​ เธอบอกแบบนี้ทำให้เจ้านายฉันบอกขอหย่าเธอเธอไม่ยอมเธอบอกว่าถ้าอยากหย่ากับเธอจ่าย​2ล้านค่าจดทะเบียนหย่า​ตอนนี้เจ้านายดิฉันได้แยกกันอยู่มานาน5ปีแล้ว เธอก้อไม่ยอมทั้งๆที่เจ้านายต้องการอิสระภาพของเขาเขาไม่มีเงิน2ล้านตามที่เธอต้องการ​ทุกวันนี้เจ้านายต้องทนทรมานไม่รู้จะไปปรึกษาใคร​ปรึกษา​ทนายหลายคนก้อบอกว่าไม่มีเหตุให้ฟ้องหย่าเธอได้​ เขาให้ฉันถามเขาต้องทำอย่างไรติดต่ออัยการสูงสุด​พิเศษเพื่อปรึกษาหรือจะต้องทำไงได้บ้างเพื่อหย่าจากคนบ้าเงินคนนี้เออเจ้านายจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทยจ.ต่างจังหวัดในอีสาน​แต่ที่อเมริกาไม่ได้จด​เลยส่งมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเขามีสิทธิ๋​บางไหมทึ่จะขอหย่าเธอเพื่ออิสรภาพของชาวอเมริกันคนหนึ่ง​ขอบพระคุณอย่างสูงถ้าตอบคำถามข้อความนี้

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,365