การสละมรดก ตัวอย่างหนังสือสละมรดก

ตัวอย่าง หนังสือการสละมรดก

หนังสือการสละมรดกของ นายขอไข่ ในเล้า

เขียนที่ ที่ว่าการอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

   ข้าพเจ้า นายขอไข่ ในเล้า อายุ 50 ปี เลขประจำตัวประชาชน 1 1111 11111 11 1 อยู่บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 1 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

   ขอทำหนังสือสละมรดกต่อหน้านายอำเภอที่ว่าการอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และพยานไว้ดังต่อไปนี้

   ข้อ 1. ข้าพเจ้า นายขอไข่ ในเล้า ในฐานะทายาทโดยธรรม(หรือผู้รับพินัยกรรม) ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายกอไก่ ในเล้า อายุ 50 ปี เลขประจำตัวประชาชน 0 0000 00000 00 0 อยู่บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 1 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

   ข้อ 2. ข้าพเจ้าขอแสดงเจตนาสละสิทธิในการรับมรดกของนายกอไก่ ในเล้า โดยสิ้นเชิง นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

   ข้อ 3. ข้อความที่กล่าวในข้อ 1. และข้อ 2. แห่งหนังสือการสละมรดกนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านและเข้าใจโดยตลอดแล้ว เป็นการถูกต้องตรงตามความเจตนาของข้าพเจ้าที่ได้แจ้งต่อนายอำเภอจดลงไว้ ในขณะทำหนังสือนี้ข้าพเจ้ามีสติสมบูรณ์ดี จึงได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้านายอำเภอ และพยานเป็นสำคัญ

   ลงชื่อ…………………………ผู้ทำหนังสือ

          นายขอไข่ ในเล้า

   ลงชื่อ…………………………พยาน

          นายคอควาย เข้านา

   ลงชื่อ…………………………พยาน

          นางงองู ใจกล้า

 

ข้าพเจ้า นายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ขอรับรองว่า นายขอไข่ ในเล้า ได้มาแสดงความประสงค์ให้ทำหนังสือการสละมรดกฉบับนี้ จึงจัดทำให้ดังความประสงค์

          วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

     ลงชื่อ…………………………นายอำเภอ

     ประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ

 

ข้อกฎหมาย ควรรู้เกี่ยวกับการสละมรดก ป.พ.พ. ม.1610 - 1619

1. สละได้ทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดก และผู้รับพินัยกรรม

2. วิธีการแสดงเจตนาในการสละมรดก มี 2 วิธี (1612)

2.1. ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่(เฉพาะผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ แล้วแต่กรณี)

2.2. ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทผู้มีสิทธิคนอื่น

3. ต้องกระทำภายหลังเจ้ามรดกตายเท่านั้น จะกระทำก่อนตายไม่ได้ (1619)

--- ข้อห้าม ---

4. การสละมรดก ต้องสละทั้งหมด จะสละเพียงบางส่วนบางอย่างหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา ไม่ได้ (1613)

ตัวอย่างเช่น ได้รับ 100,000 ขอสละแค่ 30,000

- จะสละต่อเมื่อ ถูกหวยรางวัลที่ 1 ก่อน

- สละเมื่อข้าฯอายุครบ 55 ปี

- สละส่วนของตน เพื่อคนใดคนหนึ่ง ก็ไม่ได้ “ขอสละส่วนของข้าฯ ให้พี่ใหญ่”

- ไม่เจาะจงทรัพย์ “ที่ดิน 5 ไร่นั้น ไม่ขอรับแล้ว” - ต้องสละทั้งหมดไง

5. การสละมรดก จะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบไม่ได้ เจ้าหนี้มีสิทธิขอเพิกถอนการสละได้ (1614) แต่หากสละแล้วไม่ได้ทำให้เสียเปรียบ เพราะผู้สละยังมีทรัพย์สินอื่นอยู่ เจ้าหนี้ก็ขอเพิกถอนการสละไม่ได้ เมื่อเพิกถอนได้ ยังสามารถร้องขอให้ตนรับมรดกแทนที่ได้ด้วย (1614 วรรค2)

6. ผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต จะสละต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ผู้อนุบาล และศาล เสียก่อน (1611)

--- ผลของการสละ ---

7. สละแล้วสละเลย จะเปลี่ยนใจ ยกเลิกการสละไม่ได้ (1613 วรรค2)

8. การสละมีผลไปถึงวันที่เจ้ามรดกตาย (1615 วรรค1)

9. ทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก มีผลทำให้ผู้สืบสันดานคนนั้นเข้าแทนที่ทายาทผู้สละมรดกตามสิทธิ (1615 ว.2) เช่น พ่อสละมรดกปู่ ลูกเข้ารับมรดกของปู่แทนพ่อ

   ถ้าไม่มีทายาท จะถูกนำเข้าสู่กองมรดกแบ่งปันแก่ทายาทอื่น (1618)

10. ผู้รับพินัยกรรมบอกสละ ถือว่าพินัยกรรมนั้นสิ้นผลไป ผู้สืบสันดานของผู้รับพินัยกรรม ไม่มีสิทธิรับมรดกที่สละ(แทนที่)ได้ 1617 ต้องนำทรัพย์มรดกกลับมาในกองมรดกเพื่อแบ่งแก่ทายาทโดยธรรม (1618)

11. หากเป็นทั้งสองสถานะ(ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม) ก็ต้องสละทั้ง 2 สถานะ

   บอกสละในฐานะผู้รับพินัยกรรม --- เข้าสู่กองมรดก

   บอกสละในฐานะทายาทโดยธรรม --- ผู้สืบสันดานเข้าแทนที่

12. การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างทายาทโดยธรรมทุกคน สิทธิต่างๆที่มีก่อนย่อมสิ้นไป เกิดเป็นสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฟ้องบังคับให้แบ่งตามสัญญาฯ ได้เท่านั้น

13. สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ต้องทำทุกคน เพียงให้ไว้แค่บางคนก็บังคับใช้ได้ (851)

14. ส่วนการแบ่งมรดก จะต้องทำร่วมกันทุกคน

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 4 การสละมรดกและอื่น ๆ

มาตรา 1610 ถ้ามรดกตกทอดแก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ก็ให้ศาลตั้งผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี

มาตรา 1611 ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะทำการดังต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติจากศาลแล้วคือ

   (1) สละมรดก

   (2) รับมรดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไข

มาตรา 1612 การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา 1613 การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
   การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้

มาตรา 1614 ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่สละมรดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมรดกโดยเสน่หา เพียงแต่ทายาทผู้สละมรดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ที่จะขอเพิกถอนได้
   เมื่อได้เพิกถอนการสละมรดกแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลสั่ง เพื่อให้ตนรับมรดกแทนที่ทายาทและในสิทธิของทายาทนั้นก็ได้
   ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ชำระหนี้ของทายาทนั้นให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ถ้าส่วนของทายาทนั้นยังมีเหลืออยู่อีก ก็ให้ได้แก่ผู้สืบสันดานของทายาทนั้น หรือทายาทอื่นของเจ้ามรดก แล้วแต่กรณี

มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
   เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น

มาตรา 1616 ถ้าผู้สืบสันดานของผู้สละมรดกได้มรดกมาดังกล่าวไว้ในมาตรา 1615 แล้ว ผู้ที่ได้สละมรดกนั้นไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมรดกมา ในอันที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และให้ใช้มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1617 ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา 1618 ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้น ๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป

มาตรา 1619 ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 278,396