นายหน้า

คดีนายหน้า #ทนายคดีนายหน้าThanuLaw

นายหน้า คือ สัญญาที่บุคคลผู้หนึ่งตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญา หรือจัดการให้ได้ทำสัญญากัน และบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าบำเหน็จ ก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น แต่ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้มีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อน ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว และนายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เสียไป ก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น และให้ใช้บังคับถึงแม้ว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. สัญญาว่าจ้าง/แต่งตั้งนายหน้า

2. โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด

3. สัญญาจะซื้อจะขาย / สัญญาซื้อขาย

4. หลักฐานการชำระเงิน ค่ามัดจำ

5. ภาพถ่ายการทำงานของนายหน้า เช่น ลงพื้นที่ , นัดประชุม , นัดเซ็นสัญญา , อำนวยความสะดวกวันโอน เป็นต้น

5. บัตรประจำตัวประชาชน บุคคลที่เกี่ยวข้อง

 

ค่าขึ้นศาล : 2 % ของทุนทรัพย์

 

อายุความ : 10 ปี ตาม ป.พ.พ. ม.193/30

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : นายหน้าเพียงแต่ชี้ช่อง พาไปดูทรัพย์สิน ติดต่อ จัดการให้ได้ซื้อขายกัน ถือว่าสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2536

   นายหน้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 นั้น ได้แก่ผู้ชี้ช่องให้ได้มีการเข้าทำสัญญากันหรือผู้ที่จัดการให้ได้ทำสัญญากัน และนายหน้ามีสิทธิได้รับบำเหน็จ ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันเสร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น การที่ ก. ได้พา ส. ผู้ซื้อไปพบจำเลยที่ 4 ผู้ขายและพากันไปดูที่ดิน และต่อมาได้มีการซื้อขายกันเนื่องมาจากการชี้ช่องดังกล่าว ก. จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จ โดยไม่จำเป็นที่ ก.จะต้องอยู่ด้วยในการเจรจาซื้อขายทุกๆ ครั้ง แต่อย่างใด

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2521

   จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดิน ค่านายหน้าร้อยละ 5 โจทก์เสนอขายให้ ส. ราคาตามที่จำเลยกำหนด จำเลยไม่ขาย บุตรของจำเลยติดต่อกับ ส. คราวนี้จำเลยขายในราคาเดียวกัน ดังนี้ เป็นการที่บุตรจำเลยกับจำเลยร่วมกันถือเอาประโยชน์จากการที่โจทก์ติดต่อกับ ส. ไว้ การซื้อขายสำเร็จเนื่องแต่การชี้ช่องของโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้ค่านายหน้าจากจำเลยส่วน ส. ไม่มีสัญญานายหน้า ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์

 

ประเด็น : ตกลงกันด้วยวาจา ก็สามารถฟ้องบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2545

   โจทก์ติดต่อกับจำเลยและเจ้าของที่ดินทั้ง 4 แปลง เรื่องการเช่าและซื้อขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจรจาติดต่อกันนั้นได้ใช้บ้าน ร. มารดาจำเลยเป็นสถานที่นัดพบเสมอทั้ง ร. ก็ร่วมเจรจาอยู่ด้วย แม้บางครั้งจำเลยไม่มาแต่ ร. ก็เป็นผู้จัดการแทนจำเลยเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาในที่สุด ดังนั้น ข้อตกลงใด ๆ ที่อยู่ในกรอบของการเช่าหรือซื้อขายที่ดินของจำเลยย่อมเห็นเป็นปริยายว่าจำเลยได้เชิด ร. เป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับโจทก์ ทำให้เจ้าของที่ดินอีก 4 แปลง ตกลงยินยอมให้เช่าและขายที่ดินเรื่องค่านายหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้วย แม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันจำเลยแล้ว ดังนั้น จำเลยต้องให้ค่านายหน้า และเงินค่าที่ดินที่ให้เช่าหรือขายเกินกว่าราคาที่กำหนดแก่โจทก์

 

ประเด็น : ตกลงให้นายหน้าได้รับค่าบำเหน็จในส่วนที่เกินจำนวนที่ผู้ขายได้กำหนดไว้ แม้ต่อมาจะขายได้ตรงตามจำนวนที่ผู้ขายกำหนด แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายหน้าอยู่

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2199/2535

   โจทก์ช่วยติดต่อขายที่ดินให้จำเลยสำเร็จ เป็นกิจการที่ทำให้แก่กันโดย พฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ ถือได้ว่าตกลงกันโดย ปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 846 วรรคแรก ส่วนข้อตกลงให้เงินส่วนที่เกินจากราคาที่ดินที่จำเลยกำหนดไว้ 2,000,000 บาทเป็นค่าบำเหน็จแก่โจทก์นั้นเป็นข้อตกลงพิเศษส่วนหนึ่งต่างหากแยกจากกัน แม้จำเลยจะขายที่ดินให้แก่ ฉ. ในราคา 2,000,000 บาทก็ตามโจทก์ก็ยังมีสิทธิได้ค่าบำเหน็จ และเมื่อไม่ได้ความว่าค่าบำเหน็จนั้นได้ตกลงกันเป็นจำนวนเท่าใดและไม่ปรากฏธรรมเนียมในการนี้โดยชัดแจ้ง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้เท่าที่กำหนดได้ตามสมควร

ป.ล. คดีนี้ศาลกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าบำเหน็จให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

 

ประเด็น : โอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินแล้ว เบี้ยวค่านายหน้า ไม่ผิดข้อหาฉ้อโกง แต่สัญญาทางแพ่ง ต้องไปฟ้องคดีกันทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2517

   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นนายหน้าหาคนซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ร้อยละ 10 โจทก์ชักนำให้จำเลยที่ 2 ไปซื้อ จำเลยที่ 2 พา บ. และ ก. ไปซื้อ โดยโจทก์เป็นผู้จัดการให้จำเลยที่ 2 นำไปซื้อ ต่อมาเมื่อโจทก์สอบถามจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทุจริตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงต่อโจทก์ โดยบอกว่ายังไม่ได้ขายที่ดินให้ใคร ซึ่งความจริงได้ขายให้ บ. และ ก. ไปแล้ว การแจ้งเท็จและปกปิดความจริง ทำให้จำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งค่านายหน้าอันเป็นสิทธิของโจทก์เป็นเงิน 3,500 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงหรือจากบุคคลที่สามแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยไม่ชำระให้เท่านั้นเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดตามฟ้อง

 

ประเด็น : ทำหน้าที่เป็นนายหน้าขายที่ดิน จนผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ขายไม่ชำระค่านายหน้า สามารถเรียกร้องได้ในอัตรา 5% ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3581/2526

   ค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษจะต้องกำหนด กันไว้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามบทบัญญัติมาตรา 846 วรรคสอง แห่งป.พ.พ. เมื่อทางพิจารณาไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนด ค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมซึ่งได้ความว่าจำนวนร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง

 

ประเด็น : จัดการไม่เสร็จภายในกำหนด ไม่มีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5419/2537

   สัญญานายหน้าระบุว่า มอบให้นายหน้าไปจัดการจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา แสดงว่าคู่สัญญามีเจตนากำหนดเวลาไว้แน่นอนว่าต้องจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาถือเป็นสาระสำคัญของสัญญานายหน้า เมื่อนายหน้าไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายภายในกำหนด โดยไม่ปรากฏว่ามีการผ่อนเวลาตามสัญญาออกไปอีก สัญญาจึงสิ้นสุดลงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา

 

ประเด็น : ชี้ช่วงไม่สำเร็จ ไม่มีสิทธิรับเงินค่านายหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7550/2550

   จำเลยทั้งห้าตกลงมอบหมายให้โจทก์ไปติดต่อขายที่ดินทั้งห้าแปลง โจทก์จึงได้ไปติดต่อขายที่ดินให้แก่ ส. แต่ที่โจทก์นำสืบว่า ส. ไปตรวจดูที่ดินแล้วพอใจ ส. และจำเลยทั้งห้าจึงตกลงทำสัญญาซื้อขายกันที่บ้านของ ส. โดยโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขายด้วยนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานสัญญาซื้อขายที่กล่าวอ้างมาแสดง คงมีแต่คำเบิกความลอยๆ เท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ติดต่อกับ ส. และจำเลยทั้งห้าเกี่ยวกับเรื่องซื้อขายที่ดินนี้อีก ข้อเท็จจริงจึงเชื่อตามที่จำเลยทั้งห้านำสืบต่อมาโดยมีหลักฐานเป็นพยานเอกสารสนับสนุนว่า อ. บุตรเขยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับ ส. ต่อมา โดย ส. อ้างว่าไม่มีเงินมาซื้อที่ดินทั้งห้าแปลงของจำเลยทั้งห้า แต่ถ้าจะนำที่ดินมาร่วมลงทุนกันและหากำไรมาแบ่งกันก็สามารถทำได้ ข้อตกลงที่ว่าให้นำที่ดินมาร่วมลงทุนและหากำไรมาแบ่งกัน จึงเป็นข้อตกลงและวัตถุประสงค์ใหม่ซึ่งจำเลยทั้งห้าต้องนำไปปรึกษาหาหรือกันและตัดสินใจกันใหม่ว่าจะรับข้อเสนอใหม่นี้หรือไม่ แสดงว่าการชี้ช่องของโจทก์ที่ต้องการให้จำเลยทั้งห้าขายที่ดินให้แก่ ส. นั้นไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องจาก ส. ไม่มีเงินซื้อ การตกลงนำที่ดินเข้าร่วมลงทุนกับ ส. แล้วนำกำไรมาแบ่งกันภายหลัง จึงเป็นวัตถุประสงค์ใหม่ของจำเลยทั้งห้าไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์และไม่อยู่ในกรอบวัตถุประสงค์เดิม เพราะการเข้าร่วมลงทุนนั้นเป็นการนำเอาที่ดินของจำเลยทั้งห้ามาเข้าร่วมกับ ส. และให้ ส. เป็นผู้บริหารจัดการโดยจำเลยทั้งห้าได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของโดยรับหุ้นของบริษัท บ. ของ ส. ซึ่งเป็นข้อตกลงใหม่ การเข้าร่วมลงทุนกับ ส. ตามข้อตกลงใหม่ดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าขายที่ดินได้สำเร็จแล้วด้วยการชี้ช่องของโจทก์ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการขายที่ดินในรูปแบบใหม่ ซึ่งในที่สุดข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าทราบว่าถูก ส. หลอกลวง จำเลยทั้งห้าจึงได้ฟ้องเรียกที่ดินทั้งห้าแปลงคืนจากบริษัท บ. และ ส. กับพวก และศาลพิพากษาตามยอมให้คืนที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวแก่จำเลยทั้งห้าแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์สามารถชี้ช่องให้จำเลยทั้งห้าขายที่ดินตามฟ้องจนสำเร็จวัตถุประสงค์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยทั้งห้าตามที่ตกลงกัน

 

ประเด็น : หากผู้ซื้อผิดสัญญา ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2540

   ตามบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ป. ผู้ขายกับจำเลย ผู้ซื้อระบุว่า จำเลยต้องการให้โจทก์เป็นนายหน้า หรือตัวแทนในการขายที่ดินให้กับบริษัท ค. หากจำเลยขายให้กับทางบริษัท ค. ได้ จำเลยสัญญาว่าจะจัดค่านายหน้าให้กับโจทก์ 20,000 บาท ต่อไร่ของที่ดินทุกๆ แปลง ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้า 3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 20,000 บาท ต่อเมื่อโจทก์ดำเนินการให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าวได้จนเป็นผลสำเร็จ คือ ถ้าจำเลยขายที่ดินได้เงินมาในราคาไร่ละ 150,000 บาท ก็จะจัดให้โจทก์ได้ราคาส่วนเกินจากราคาที่จำเลยต้องการขาย ในราคาไร่ละ 130,000 บาท โดยโจทก์จะได้ค่าตอบแทนพิเศษไปในอัตรา 20,000 บาท ต่อไร่ ตามที่ขายได้เมื่อโจทก์เพียงแต่จัดให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับ พ.กรรมการบริษัท ค. แต่ต่อมา พ. ผู้จะซื้อผิดสัญญา จนมีการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไปแล้ว กรณีจึงหาได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันจะทำให้จำเลยได้รับเงินตามราคาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนเกินหรือค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ในท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินแก่โจทก์

 

ประเด็น : ตกลงจ่ายค่านายหน้า 2 ประเภท ได้แก่ ร้อยละ 5 ของราคาซื้อขาย กับส่วนเกินที่ผู้ขายกำหนด แม้ยกเลิกสัญญาซื้อขายกัน นายหน้ายังมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2522

   จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินให้ สัญญาจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์สองจำนวน คือ ถ้าโจทก์ขายได้ราคาเกินกว่า 3,500,000 บาท ส่วนที่เกินนั้นเป็นของโจทก์จำนวนหนึ่ง กับบำเหน็จร้อยละ 5 ของราคา 3,500,000 บาท อีกจำนวนหนึ่งโจทก์ได้ชี้ช่องให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับผู้ซื้อแล้ว ในราคา 5,000,000 บาท เช่นนี้ถือได้ว่าได้มีการทำสัญญากันเป็นผลสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการแล้ว แม้จำเลยจะตกลงเลิกสัญญากับผู้จะซื้อในภายหลัง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าอัตราร้อยละ 5 ของราคาที่ดิน 3,500,000 บาทจากจำเลย ส่วนเงิน 1,500,000 บาท อีกจำนวนหนึ่งเป็นข้อตกลงพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหากแยกจากกันได้กับข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละ 5 ค่าบำเหน็จส่วนนี้คู่สัญญาตกลงกันว่าถ้าโจทก์ขายได้สูงกว่านั้นก็ให้โจทก์รับไป ย่อมมีความหมายว่าหากมีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันเป็นผลจากที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการ กรณีนี้คู่กรณีตกลงเลิกสัญญากันหาได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไม่ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนเกินนั้นแก่โจทก์

 

ประเด็น : คดีนายหน้า อายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2539

   โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าบำเหน็จนายหน้าโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับนายหน้าไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใดจึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 845 บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

   นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

มาตรา 846 ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

   ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

มาตรา 847 ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่

มาตรา 848 ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 849 การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ก่อนฟ้องควรมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้ชำระค่านายหน้า ก่อนเสมอ

2. ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่านายหน้า นับตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์

3. สัญญานายหน้า จะทำเป็นหนังสือหรือวาจาก็ได้ แต่ควรทำเป็นหนังสือ เพื่อประโยชน์ในการฟ้องคดีเพราะผู้ว่าจ้างอาจปฏิเสธว่าไม่มีนิติสัมพันธ์ได้ ซึ่งจะทำให้ศาลพิพากษายกฟ้อง อ้างอิง ฎ.794/2557

4. นายหน้าสามารถเรียกค่าใช้จ่ายที่เสียไปล่วงหน้าได้ เช่น ค่าโฆษณาเว็บไซต์ ค่าป้ายประชาสัมพันธ์ ค่าเดินทาง เป็นต้น หากตกลงกันไว้ในสัญญา แม้ว่าการขายฝากจะไม่ได้สำเร็จลุล่วง

 

ค่าบริการว่าความ คดีนายหน้า

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง / ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.245.xxx]
เมื่อ: 2019-05-31 17:08:39
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: Ladar [IP: 182.53.43.xxx]
เมื่อ: 2019-09-23 15:48:20
ขอคำปรึกษาเรื่องนายหน้าแนะนำคนไปซื้อรถยนต์แต่โดนเบี้ยวค่านายหน้าจากเซลเป็นเงิน5000ตก
ลงค่านายหน้าด้วยวาจาและได้พาคนไปซื้อเป็นเงินสดรับรถไปเป็นที่เรียบร้อยแต่ยังไม่ได้ค่านายหน้าควรดำเนินการต่ออย่างไรกับเซลล์คะ
#3 โดย: palagorn [IP: 180.180.196.xxx]
เมื่อ: 2023-02-22 11:21:29
สงสัยครับ ถ้าเรารับนายหน้า 2 คนแบบปิดได้ไหมครับ คือรับนายหน้ารายที่ 1 ไปแล้ว 4 เดือน และมีนายหน้ารายที่ 2 ติดต่อมาเพื่อทำสัญญาแบบปิดอีก
- กรณีนี้หากรายใดรายหนึ่งขายสินทรัพย์ได้ เราต้องจ่ายค่านายหน้าอีกรายไหมครับ กล่าวคือต้องจ่ายทั้ง 2 ราย ไม่ว่ารายใดจะขายได้ก็ตาม
#4 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.68.xxx]
เมื่อ: 2023-12-02 09:35:13
ตอบ #2 โดย: Ladar

ตามกฎหมาย ก็ฟ้องร้องเรียกเงินค่าบำเหน็จได้ แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว จะไม่คุ้ม เพราะจำนวนเงินไม่ค่อยเยอะ
#5 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.68.xxx]
เมื่อ: 2023-12-02 09:36:37
ตอบ #3 โดย: palagorn

ความคิดเห็นส่วนได้ สามารถทำได้ทั้ง 2 รายเลยครับ เพราะยังไงก็จะต้องรายให้คนที่ชี้ช่องจริงๆ ส่วนรายที่ไม่ได้ชี้ช่องก็คงใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าบำเหน็จมา แล้วไปต่อสู้คดีกัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,397