บริษัท / หจก. ร้าง

คดียื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้กลับจดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คืนสู่ทะเบียน

   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนใด ที่ถูกนายทะเบียนมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียน เนื่องจากมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบกิจการ และไม่ได้นำส่งงบการเงินต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทในทุก ๆ ปี ติดต่อกันเกิน 3 ปี จะถูกถอนทะเบียนกลายเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/1

   รวมทั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนเลิกแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นรายงานการชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/2

 

ผลกระทบทางกฎหมาย

1. สิ้นสภาพนิติบุคคล นับตั้งแต่นายทะเบียนมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตาม ป.พ.พ. 1273/3

2. ทำให้ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอีกต่อไป ไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญากับคู่ค้า จัดการจำหน่ายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย หรือชำระบัญชีจดทะเบียนเลิกบริษัท ได้

3. แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้ เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3

4. เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องได้อยู่

5. กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ที่ละเลย ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อประสงค์กลับคืนสู่ทะเบียน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องให้ทนายความจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน กลับคืนสู่ทะเบียน

 

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

1. ห้างหุ้นส่วนเอง ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ชำระบัญชี

2. บริษัทเอง กรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้ชำระบัญชี หรือผู้รับมอบอำนาจ

3. เจ้าหนี้ (กรมสรรพากร เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้รับโอนสิทธิในหนี้สิน)

 

เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตได้ ดังนี้

1. ในขณะที่ถูกขีดชื่อออก ยังทำการค้าขายหรือยังประกอบกิจการงานอยู่ ตามปกติ

2. เพื่อความยุติธรรม (เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลที่กว้าง) เช่น

   2.1. บริษัทมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินจำเป็นต้องบริหารจัดการหรือทำนิติกรรมตามกฎหมาย

   2.2. ต้องการจดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชี

   2.3. ตั้งผู้ชำระบัญชี

   2.4. เจ้าหนี้ต้องการฟ้องร้องบังคับคดีให้ชำระหนี้ หรือบังคับตามคำพิพากษาของศาล

3. ได้รับความเสียหาย เช่น ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือไม่สามารถเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายได้ เป็นต้น

 

เอกสารประกอบ

1. หนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท / ห้างหุ้นส่วน

2. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แบบ บอจ.5 (ฉบับยื่นไว้ล่าสุด)

3. รายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วน

4. คำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหรือจังหวัด เรื่อง ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทออกจากทะเบียน

5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการ / หุ้นส่วน

6. หนังสือให้ความยินยอมของกรรมการ / หุ้นส่วน / ผู้ถือหุ้น

7. เอกสารยืนยันการดำเนินกิจการ (ถ้ามี) เช่น ใบกำกับภาษีซื้อขาย ใบแจ้งหนี้ ใบส่งของ ใบเสร็จรับเงิน ใบสั่งจ้าง สัญญาว่าจ้าง แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เป็นต้น

8. รายการทรัพย์สินของนิติบุคคล (ถ้ามี) เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3ก ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ บัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นต้น

9. หลักฐานสิทธิเรียกร้องบุคคลภายนอก (ถ้ามี) เช่น เช็ค สัญญากู้ยืม สัญญารับสภาพหนี้ หนังสือค้ำประกันผลงาน สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ คำพิพากษาของศาล หมายบังคับคดี เป็นต้น

10. คำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.09 (ถ้ามี)

11. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

- แจ้งเพิ่มเติม -

รายการที่ 1. - 4. ทนายจัดเตรียมไว้ให้

รายการที่ 7. - 10. ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

รายการที่ 6. ทนายจัดทำให้

 

ค่าธรรมเนียมศาล 

1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าส่งหมายนัดไต่สวนและสำเนาคำร้องให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 470 บาท หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตามอัตราของศาล (500 - 700 บาท)

3. ค่าประกาศโดยวิธีลงโฆษณาผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ E-Notice system ฟรี

4. ค่าส่งหมายนัดไต่สวนและสำเนาคำร้องให้กรรมการผู้มีอำนาจของนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้น บุคคลที่ไม่ได้ให้ความยินยอม ตามอัตราของศาล (400 - 700 บาท)

5. ค่าคัดถ่ายเอกสารจาก DBD จำนวน 500 บาท

 

เขตอำนาจศาล

: ศาลจังหวัด ซึ่งที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัท ห้างหุ้นส่วน อยู่ในเขตอำนาจ

 

คำสั่งศาล เมื่อรับคำร้องไว้พิจารณาและนัดไต่สวน

"รับคำร้อง นัดไต่สวน ประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ สำเนาให้นายทะเบีนหุ้นส่วนบริษัท จะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านภายในกำหนดวันนัด มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน ให้ผู้ร้องนำส่งภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งคำร้อง"

 

ที่อยู่ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร

เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

 

ที่อยู่ นายทะเบียน สำนักงานพาณิชย์จังหวัด

ตรวจสอบได้ที่ ลิงค์ https://province.moc.go.th/center/

 

ขั้นตอนการนำส่งคำสั่งศาลให้แก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จดชื่อกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน 

เอกสารประกอบ จำนวนอย่างละ 1 ชุด

1. สำเนาคำสั่งศาล พร้อมเจ้าหน้าที่ศาลรับรอง

2. สำเนาหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด พร้อมเจ้าหน้าที่ศาลรับรอง

3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน

4. ข้อมูลบริษัท

5. หนังสือมอบอำนาจ

   ภายหลังการยื่นเรื่อง 1 สัปดาห์ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะแก้ไขสถานะนิติบุคคลให้ โดยจะระบุว่า "คืนสู่ทะเบียน"

 

สถานที่ยื่น

1. เขตพื้นที่ กทม. ต้องยื่นตามเขตพื้นที่ จำนวน 6 ที่ หรือกองทะเบียนธุรกิจ ชั้น 9 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

2. สำหรับต่างจังหวัด สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด

 

หลักเกณฑ์พิจารณาจากมูลเหตุหรือข้อสันนิษฐาน ว่ามิได้ทำการค้าขายหรือประกอบกิจการแล้ว

1. ไม่นำส่งงบการเงิน เพื่อแสดงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินกิจการ ย้อนหลังไป 3 ปีติดต่อกัน

2. ไม่มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ตามที่จดทะเบียนไว้ จึงไม่ได้รับหนังสือสอบถามจากนายทะเบียนผ่านไปรษณีย์ตอบรับ

3. จดทะเบียนเลิกแล้ว แต่ไม่ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : อายุความคดีร้องขอคืนสู่ทะเบียน มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน หากปล่อยระยะเวลาจนล่วงพ้น จึงหมดสิทธิร้องขอให้บริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5506/2561

   นายทะเบียนขีดชื่อบริษัท ต. ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตาม ป.พ.พ.มาตรา 1246 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 แต่ต่อมาบทบัญญัติมาตรา 1246 ถูกยกเลิก และมีการเพิ่มความเป็นหมวด 6 การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้าง นำมาใช้บังคับแทนตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 ซึ่งบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ภายหลังบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจึงต้องนำมาตรา 1273/4 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ซึ่งตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง บัญญัติว่า การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน แต่ตามมาตรา 1273/4 วรรคสองดังกล่าว กรณีใช้บังคับกับบริษัทที่ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้างตามบทบัญญัติมาตรา 1246 เดิม จะต้องเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่บทบัญญัติมาตรา 1273/4 มีผลใช้บังคับ มิใช่นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อตามมาตรา 1246 เดิม เพื่อให้เป็นคุณแก่ผู้ที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อนับระยะเวลาด้วยวันที่เริ่มต้นเช่นนี้จนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง

 

ประเด็น : 1. สมาคมการค้าร้าง เนื่องจากมีการเลิกหรือถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนไว้ ศาลสามารถใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยได้

2. การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานครออกใบอนุญาตสมาคมการค้า และกลับจดชื่อสมาคมผู้ผลิตภาชนะแผ่นเหล็กคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อสมาคมผู้ผลิตภาชนะแผ่นเหล็กออกจากทะเบียนแล้ว เป็นการต้องห้ามไม่ให้ร้องขอตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2564

   ตาม พ.ร.บ. สมาคมการค้า พ.ศ.2509 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีดำเนินการในกรณีสมาคมการค้าที่ร้างเนื่องจากมีการเลิกหรือถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนไว้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งจดชื่อสมาคมการค้าที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนให้กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมนำมาตรา 1273/4 ซึ่งอยู่ในหมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้างแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณชย์ อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีให้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ได้

   **แต่ตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง บัญญัติว่า การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน เช่นนี้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 จึงเป็นการร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อสมาคมผู้ผลิตภาชนะแผ่นเหล็กออกจากทะเบียนแล้ว เป็นการต้องห้ามไม่ให้ร้องขอตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล**

 

ประเด็น : เจ้าหนี้ที่รู้สึกเสียหาย เพราะบริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อออก มีสิทธิยื่นคำร้องขอกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียน ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550

   บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่

 

ประเด็น : เกิน 10 ปี เจ้าหนี้สามารถฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2097/2564

   จำเลยเป็นผู้ขอจดทะเบียนเลิกบริษัทและเป็นผู้ชำระบัญชี อันเป็นการเลิกบริษัทเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยชำระบัญชีให้แล้วเสร็จ แม้ต่อมาบริษัท ส. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (เดิม) ซึ่งมีผลให้บริษัทเป็นอันเลิกกันตามบทบัญญัติของกฎหมายในขณะที่ถูกขีดชื่อ ซึ่งเป็นการเลิกโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 ก็ยังกำหนดว่าแม้บริษัทจะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ซึ่งหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดใน ป.พ.พ. มาตรา 1250 ว่า “หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น” ซึ่งชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลที่จะเลิกกันนั้น ต้องมีการชำระบัญชี เพื่อให้ผู้ชำระบัญชีเข้ามาจัดการกิจการของบริษัท เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สิน เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อันเป็นการบังคับให้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ เพื่อจะส่งผลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับบริษัท ไม่เฉพาะจะเกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ของบริษัทเท่านั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัททุกคนอีกด้วย ซึ่งหากผู้ชำระบัญชีไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายก็มีความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 เมื่อการชำระบัญชียังไม่แล้วเสร็จ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีจัดการชำระบัญชีบริษัท ส. รวมทั้งจัดการแบ่งผลประโยชน์รายได้อันเกิดจากการลงทุนในกิจการของบริษัทตามสัดส่วนแก่โจทก์ทั้งสอง โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยนั้นเพิกเฉยไม่ยอมชำระบัญชีบริษัท ถือว่าสิทธิของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ถูกกระทบกระเทือน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลย ผู้ชำระบัญชีของบริษัททำการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

   โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระบัญชีของบริษัท ส. ซึ่งการชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีบริษัทจำกัดเลิกกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1247 ถึงมาตรา 1273 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องขอให้ชำระบัญชีเกินกว่า 10 ปี นับแต่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียนเนื่องจากเป็นบริษัทร้างซึ่งมีผลให้บริษัทเป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1246 (เดิม) แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีบริษัทดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะขอให้ดำเนินกระบวนการชำระบัญชีตามกฎหมายได้ กรณีหาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องหนี้สินที่บริษัทเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องจำเลยให้จัดการชำระบัญชีของบริษัท ส. ได้ เช่นนี้ กรณีต้องพิพากษาให้จำเลยชำระบัญชีบริษัทดังกล่าว

 

ประเด็น : โจทก์ฟ้องในขณะที่จำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง แม้ต่อมาภายหลังศาลจะอนุญาตให้จำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1810/2559

   จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกเสียจากทะเบียน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1273/3 ภายหลังบทบัญญัติ มาตรา 1273/3 มีผลใช้บังคับ ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกเสียจากทะเบียน เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลที่จะให้โจทก์ฟ้องได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเสียก่อนที่จะฟ้อง ตามมาตรา 1273 แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2559

ประเด็น : เจตนารมณ์ของกฎหมาย นิติบุคคลจะเลิกกันต้องเป็นการชำระบัญชี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553

   ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชี เพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกิน 80,000 บาท แก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง

   การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้

   โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1273/1 เมื่อใดนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดใด มิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เพื่อสอบถามว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการงานอยู่หรือไม่ และแจ้งว่าหากมิได้รับคำตอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือจะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน

   ถ้านายทะเบียนได้รับคำตอบจากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วหรือมิได้รับคำตอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวและส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่า เมื่อพ้นเวลา 90 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าวห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น

มาตรา 1273/2 ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเลิกกันแล้วและอยู่ระหว่างการชำระบัญชี หากนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ หรือการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ทำรายงานการชำระบัญชี หรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานสุดท้าย แจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี และแจ้งว่าหากมิได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 180 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือนั้นแล้ว จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน

   ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ชำระบัญชีว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น

มาตรา 1273/3 เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา 1273/1 หรือมาตรา 1273/2 แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล

มาตรา 1273/4 ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่าในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย

   การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 เบญจ คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. คำร้องในการเริ่มคดีอย่างไม่มีข้อพิพาท 

2. เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้อง ผู้ร้องต้องวางเงินค่านำหมายนัดสำเนาให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และกรรมการผู้มีอำนาจของนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้น เพื่อให้ทราบและใช้สิทธิคัดค้าน

3. ในทางไต่สวนต้องได้ความว่าผู้ร้องเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้น ซึ่งในระหว่างนายทะเบียนมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทนั้นยังคงประกอบการอยู่ตลอดมา เช่น สัญญาจ้างกำหนดช่วงระยะเวลาไว้ ใบเสร็จรับเงิน หลักฐานประกอบกิจการกับบริษัทคู่ค้า เป็นต้น

4. เมื่อศาลมีคำสั่งตามขอ หลังจากนั้น 1 เดือนจึงคัดคำสั่งศาล เพื่อนำไปให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายต่อไป บางคดีศาลอาจระบุในคำสั่งแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัททราบ โดยทางศาลจะดำเนินการส่งหนังสือให้เอง

5. บางคำสั่งศาลอาจวางข้อกำหนด "ให้ผู้ร้องชำระหนี้ค้างภาษีอากรของผู้ร้องที่ถึงกำหนดชำระตามกฎหมาย ให้ครบถ้วนก่อน"

6. นายทะเบียนเมื่อได้รับคำสั่งศาลแล้ว จะมีคำสั่งกลับจดทะเบียนคืนเข้าสู่ทะเบียน และแก้ไขข้อมูลรายการทะเบียนในหนังสือรับรอง พร้อมกับนำคำสั่งจดชื่อคืนสู่ทะเบียนส่งไปลงประกาศราชกิจจานุเบกษา

7. Link Website ประกาศถอนทะเบียนร้างและคืนสู่ทะเบียน https://www.dbd.go.th/more_news.php?cid=47

8. ระยะเวลาดำเนินการ 3 - 4 เดือน

9. หลังจากที่กลับคืนสู่ทะเบียนสำเร็จแล้ว DBD ไม่ได้บังคับให้นำส่งงบการเงินย้อนหลังในระหว่างถูกขีดชื่อออก สรรพากรก็ไม่ได้เรียกย้อนหลัง แต่ผู้ทำบัญชีส่วนใหญ่มักแนะนำให้ทำ

 

ค่าบริการว่าความ คดีจดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ยื่นคำร้องต่อศาล

-X-

 ♦ นำส่งคำสั่งแก่นายทะเบียน DBD

-X-

 

 ค่าบริการด้านทำบัญชี ร้าง เลิกบริษัท

รูปแบบงาน

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ งบเปล่า

-X-

 ♦ งบมีรายการเดิน ตามรายได้ / ภาษีค้าง

สอบถาม

 

รับว่าความทั่วประเทศ ทนายบริษัทร้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดร้าง สมาคมร้าง คืนสู่ทะเบียนตามปกติ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ทนายธนู Tel. 083 4248098

ทนายพิมพ์ Tel. 081 6653914

LINE ID : @tn13

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-12 07:43:12
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: 001 [IP: 49.230.196.xxx]
เมื่อ: 2022-08-02 17:42:55
เราต้องสำเนาคำร้องให้แค่นายทะเบียนใช่ไหมคะ
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.69.xxx]
เมื่อ: 2022-09-27 10:10:10
ตอบ #2 โดย: 001
ส่งครับ เพราะนายทะเบียนเป็นผู้ขีดชื่อ
#4 โดย: pitchawan [IP: 125.26.173.xxx]
เมื่อ: 2023-03-19 16:06:59
ใช้เวลาในการคืนสู่ทะเบียนตั้งแต่ยื่นคำร้องถึงศาลมีคำสั่งระยะเวลานานแค่ไหนค่ะ
#5 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.37.xxx]
เมื่อ: 2023-07-12 09:55:53
ตอบ #4 โดย: pitchawan

รวมๆทุกขั้นตอนจนถึงคืนสู่ทะเบียนปกติ ก็ประมาณ 4 เดือนกว่าครับ
#6 โดย: อธิวัฒน [IP: 49.228.226.xxx]
เมื่อ: 2024-04-20 18:38:51
บริษัทฯ เคยขอชำระบัญชีไว้ กรมฯ มีหนังสือให้ยื่นรายงานการชำระบัญชีหรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี หรือดำเนินการเพื่อให้มีตัวผู้ชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่ไม่ได้ดำเนินการในกำหนด จนเลย 90 วันอีก เลยถูกขีดชื่อออก ถ้าต้องการบริษัทกลับมาประกอบธุรกิจ แบบนี้ยื่นคำร้องได้ไหมครับ
#7 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.34.xxx]
เมื่อ: 2024-05-30 17:26:23
ตอบ #6 โดย: อธิวัฒน
ขอได้ครับ
#8 โดย: dd [IP: 184.22.107.xxx]
เมื่อ: 2024-07-11 13:56:46
ค่าใช้จ่ายดำเนินการอยู่ที่เท่าไหร่คะ
#9 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.32.xxx]
เมื่อ: 2024-08-14 13:12:43
ตอบ #8 โดย: dd
ค่าใช้จ่ายดำเนินการอยู่ที่เท่าไหร่คะ
-ประมาณ 25,000 - 30,000 ครับ
#10 โดย: Nam [IP: 183.88.233.xxx]
เมื่อ: 2025-02-11 16:01:05
อยากดูตัวอย่างเเนวทางการเขียนคำร้องขอจดชื่อกลับคืนสู่ทะเบียน พอมีตัวอย่างบ้างมั้ยคะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 278,323