ผู้จัดการมรดก สามารถมีหลายคนได้ไหม

โดย: ทีมงานทนายThanulegal [IP: 110.169.223.xxx]
เมื่อ: 2017-11-02 22:04:18
การร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

1 ขอตั้งหลายคนได้ไหม

2 การดำเนินการของผู้จัดการมรดกหลายคน มีวิธีการอย่างไร

3 หากคนใดคนหนึ่งตาย คนที่เหลือจะยังดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกต่อไปได้อยู่ไหม
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 110.169.223.xxx]
เมื่อ: 2017-11-02 22:06:54
1 ขอตั้งหลายคนได้ (จะกี่คนก็ได้)
2 ทุกคนจะดำเนินการโดยลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยมติเสียงข้างมาก หากเท่ากันให้ศาลชี้ขาด
3 คนที่เหลือ ถือว่าไม่มีอำนาจจัดการต่อไปได้ ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2525
ทายาทที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก หมายถึง ทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2542
โจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากตึกแถวพิพาทจนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายชนะคดีและได้มีการบังคับคดีในเวลาต่อมา โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ กรณีเป็นเรื่องมีผู้จัดการมรดกหลายคน โจทก์ทั้งสามแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2คัดค้านคำร้อง ของ โจทก์ที่ 3 ที่ขอให้งดการบังคับคดีกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1726 โจทก์ที่ 3 ไม่อาจกระทำได้โดยลำพัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพับ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
#2 โดย: แพรว [IP: 49.228.225.xxx]
เมื่อ: 2021-08-01 15:32:38
อย่างนี้คือ ถ้าผู้จัดการมรดกมี 2 คน หากคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต อีก 1 คนที่เหลือ สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ไม่ต้องมีการให้มีคำสั่งศาลใหม่แล้วถูกต้องมั้ยค่ะ
#3 โดย: Tony Neung Stark [IP: 27.55.79.xxx]
เมื่อ: 2022-02-20 19:22:25
อย่างนี้คือ ถ้าผู้จัดการมรดกมี 2 คน หากคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต อีก 1 คนที่เหลือ สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ไม่ต้องมีการให้มีคำสั่งศาลใหม่แล้วถูกต้องมั้ยค่ะ

ตอบกลับ ไม่ได้ ต้องร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,359