ผู้ให้เช่า ตัดน้ำ ตัดไฟ ปิดล็อคกุญแก

โดย: ทีมงานทนายThanulegal [IP: 110.169.10.xxx]
เมื่อ: 2017-06-01 01:03:01
กรณีผู้เช่า ไม่ชำระค่าเช่า และไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สิน ออกไป

ผู้ให้เช่าสามารถ ตัดน้ำ ตัดไฟ นำสิ่งกีดกั้นมาขว้าง หรือปิดล็อคกุญแจห้องได้หรือไม่?

แล้วจะมีข้อแนะนำแก่ผู้ให้เช่าอย่างไรบ้าง?
#1 โดย: ทีมงานทนายThanulegal [IP: 110.169.10.xxx]
เมื่อ: 2017-06-01 01:04:30
คำปรึกษา
1. ตัดน้ำ ตัดไฟ = ทำได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2535 และ 3921/2535
2. เอาสิ่งกีดกั้นมาขว้าง ไม่ให้เข้าใช้สถานที่ = ทำได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2507
3. ปิดประตูล็อคกุญแจ = ทำไม่ได้ เว้นแต่ระบุในสัญญายินยอมให้ทำได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2542

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. การกระทำทั้งหมดข้างต้น ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าอย่างถูกต้องก่อน
2. ร่างสัญญาควรระบุว่า "ยินยอมให้ผู้ให้เช่าล็อคกุญแจ ตัดน้ำ ตัดไฟ ขับไล่ รื้อถอนด้วยตนเอง และมีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่าได้ทันที เพื่อป้องกันการโดนผู้เช่าฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานทำละเมิด"
3. กรณีมีสิ่งของอยู่ภายในสถานที่เช่า ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิเคลื่อนย้ายหรือนำออกขาย ต้องคืนให้ผู้เช่าเท่านั้น เว้นแต่ในบางกรณีผู้ให้เช่าสามารถหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ได้จนกว่าจะมีการจ่ายค่าเช่าที่คงค้าง
#2 โดย: ทนายธนู [IP: 58.8.159.xxx]
เมื่อ: 2017-11-02 16:21:25
ประเด็น ตัดน้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2535
จำเลยไม่ชำระค่าเช่าตามสัญญาและเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยยังคงครอบครองอู่ที่เช่าโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ตามกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะตัดไม่ให้จำเลยใช้น้ำประปาเพื่อบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่ได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย

ประเด็น ตัดไฟฟ้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2535
โจทก์เช่าพื้นที่ในโรงแรมของจำเลยที่ 1 เปิดกิจการร้านเสริมสวยและตัดผม แต่ได้เปิดกิจการอาบ อบ นวด ขึ้นนอกเหนือข้อตกลงในสัญญาและโจทก์รู้เห็นยินยอมให้พนักงานนวดของโจทก์ค้าประเวณีกับแขกที่มาพักโรงแรม เป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติหรือการดังกำหนดไว้ในสัญญาเช่า เมื่อจำเลยบอกกล่าวแล้วโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 554 เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว สัญญาเช่าจึงเป็นอันสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าอีกต่อไป การที่จำเลยไม่จ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้โจทก์และต่อมาจำเลยได้ใส่กุญแจไม่ให้โจทก์เข้าไปใช้สถานที่เช่าเป็นการกระทำภายหลังสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงโดยได้กำหนดเวลาให้โจทก์พอสมควรแล้ว จึงไม่เป็นการละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ขาดรายได้จากกิจการของโจทก์และค่าชดเชยที่จ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์นับแต่วันที่สัญญาเช่าได้สิ้นสุดลง

ประเด็น เอาลวดหนามมาปิดกั้นทางขึ้นลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2507
จำเลยใช้สถานที่เช่าเพื่อประกอบการค้า ต่อมาจำเลยเปลี่ยนเจตนาใช้สถานที่เช่าเป็นที่อยู่อาศัย โดยโจทก์มิได้ยินยอมตกลงด้วยเช่นนี้ย่อมไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 552จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าฯ
สัญญาเช่าครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ผู้เช่าได้ไปติดต่อขอเช่าต่อกับผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าไม่ยินยอมให้เช่าแม้ผู้เช่าจะครอบครองสถานที่เช่าอยู่ต่อมา ก็ถือว่าสัญญาเช่าระงับแล้วตามมาตรา 564
การที่ผู้เช่าอยู่ในสถานที่เช่าต่อมา โดยตนไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะอยู่แล้ว ถือเป็นละเมิดต่อผู้ให้เช่า เมื่อผู้ให้เช่าเอาลวดหนามมาปิดกั้นทางขึ้นลงทางด้านแม่น้ำเพื่อไม่ให้ผู้เช่าใช้สถานที่เช่าทางด้านนั้นผู้เช่าจะเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุที่ไม่ได้ใช้สถานที่เช่าจากผู้ให้เช่าไม่ได้เพราะความเสียหายนี้เกิดจากผลที่ผู้เช่าละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2542
โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาตามคำขอของโจทก์ที่ว่าถ้าจำเลยไม่ดำเนินการรื้อถอนให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาจึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสองซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่มิใช่บทบัญญัติในการบังคับคดี มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,954