สิทธิเก็บกิน
สิทธิเก็บกิน
เป็นทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่เจ้าของยังคงมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อยู่ เพียงแต่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเข้ามามีสิทธิครอบครอง ใช้สอย และถือเอาซึ่งประโยชน์ต่างๆในทรัพย์สิน ตลอดจนมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ ติดตาม เอาคืน และขัดขวางการใช้สิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากบุคคลอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417
การจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน
1. ไม่ต้องเสียค่าตอบแทน
2. ระยะเวลา - สามารถจดทะเบียนให้สิทธิเก็บกินตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิได้ ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ กฎหมายให้สันนิษฐานว่ามีอยู่ตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิ ถ้ามีกำหนดเวลาไว้จะต้องไม่เกิน 30 ปี หากเกิน 30 ปี กฎหมายให้ลดลงมาเหลือ 30 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 ปี
3. ผู้ทรงสิทธิเก็บกินสามารถเอาทรัพย์ให้ผู้อื่นเช่าและเก็บค่าเช่าได้
4. ผู้ทรงสิทธิไม่ได้กรรมสิทธิ์ ถ้าผู้ทรงสิทธิตาย สิทธิเก็บกินระงับ จะโอนทางมรดกไม่ได้
5. เจ้าของทรัพย์อาจจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่บุคคล 2 คนในเวลาเดียวกันก็ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง
6. การได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดิน
บุคคลต่างด้าวกับสิทธิเก็บกิน
1. กฎหมายห้ามบุคคลต่างด้าวเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เนื่องจากการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น เจ้าของไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ทรงสิทธิด้วย ถึงแม้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะเป็นบุคคลต่างด้าว ผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงขอจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่บุคคลต่างด้าวเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย
2. ระยะเวลายาวนานกว่าการจดทะเบียนเช่า สำหรับการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนต่างด้าวที่ต้องการอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 30 ปี เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนเช่าซึ่งสามารถกำหนดระยะเวลาได้สูงสุดเพียง 30 ปีเท่านั้น
3. การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินว่าจะอนุญาตให้ โดยเจ้าหน้าที่กรมที่ดินอาจพิจารณาจากการสอบสวนคู่กรณีประกอบกับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพราะอาจมีกรณีที่ควรเชื่อว่าจะมีการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว หรือเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
4. กรณีที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินในป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหิน มีสิทธิทำการแสวงประโยชน์จากป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 วรรคสามนั้น ซึ่งอาจเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้กับคนไทยเป็นผู้ทรงสิทธิเท่านั้น จะจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้กับคนต่างด้าวไม่ได้เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวต้องห้ามไม่ให้คนต่างด้าวทำ ทั้งนี้ตามบัญชีท้าย แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
5. การที่คนต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น โดยคงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ซึ่งสิทธิครอบครองย่อมรวมถึงสิทธิในการอาศัยอยู่ในทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม หากคนต่างด้าวต้องการใช้สิทธิเก็บกินเพียงเพื่อมีสิทธิครอบครองหรืออาศัยอยู่ในทรัพย์สินเท่านั้น และไม่ได้ใช้เพื่อประกอบกิจกรรมทางการค้าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมที่ดินอาจจะพิจารณาและตัดสินโดยเชื่อว่าเป็นการใช้สิทธิเก็บกินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย และแนะนำให้คนต่างด้าวจดทะเบียนสิทธิอาศัยแทนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสอบสวนคู่กรณีและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ประเภทการจดทะเบียน
1. สิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินทั้งหมด
2. สิทธิเก็บกินเฉพาะส่วน หมายถึง กรณีที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์แต่ไม่ใช่ทุกคนก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนทั้งหมด
3. ปลอดสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปหรือที่ดินแปลงคงเหลือไม่มีสิทธิเก็บกินติดไปด้วย
4. ครอบสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปยังคงมีสิทธิเก็บกินต่อไปด้วย
5. เลิกสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมาคู่กรณีประสงค์จะเลิกสิทธิเก็บกินต่อกัน หรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มาขอจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินตามผลของกฎหมาย
สาระสำคัญอื่นๆ
1. ผู้ทรงสิทธิเก็บกินตาย สิทธิเก็บกินระงับ
2. ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน(ซึ่งได้จะทะเบียนสิทธิเก็บกินแล้ว) มีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น
3. ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน มีอำนาจจัดการทรัพย์สิน
4. เมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินเป็นทรัพยสิทธิตามกฎหมายแล้วผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนนั้น ในอันที่จะใช้สิทธิในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้
5. การจดทะเบียนทรัพยสิทธิ (สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน) สามารถจดทะเบียนให้แก่บุตรได้โดยไม่จำกัดอายุ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดอายุของบุตรที่จะจดทะเบียนสิทธิเก็บกินเอาไว้
6. สถานที่ทำการจดทะเบียนนั้น คือ สำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
7. วิธีการจดทะเบียน ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รับจดทะเบียน
8. เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินแล้วย่อมมีผลทำให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้แต่ต้องไม่เกินไปกว่าสิทธิที่ตนเองมีอยู่
9. สิ่งที่สามารถจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้ ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
10. ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 และอากรแสตมป์ ร้อยละ 0.5 จากจำนวนเงินค่าตอบแทน แต่หากไม่มีค่าตอบแทนให้แก่กันจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แปลงละ 50 บาท
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1417 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกิน อันเป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธินั้นมีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สิน
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินในป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหิน มีสิทธิทำการแสวงประโยชน์จากป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหินนั้น
มาตรา 1418 สิทธิเก็บกินนั้น จะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลา หรือตลอดชีวิตแห่งผู้ทรงสิทธิก็ได้
ถ้าไม่มีกำหนดเวลา ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิเก็บกินมีอยู่ตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิ
ถ้ามีกำหนดเวลา ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 1403 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ท่านว่าสิทธินั้นย่อมสิ้นไปเสมอ
มาตรา 1419 ถ้าทรัพย์สินสลายไปโดยไม่ได้ค่าทดแทนไซร้ ท่านว่าเจ้าของไม่จำต้องทำให้คืนดี แต่ถ้าเจ้าของทำให้ทรัพย์สินคืนดีขึ้นเพียงใด ท่านว่าสิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเพียงนั้น
ถ้าได้ค่าทดแทนไซร้ ท่านว่าเจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ต้องให้ทรัพย์สินคืนดีเพียงที่สามารถทำได้ตามจำนวนเงินค่าทดแทนที่ได้รับ และสิทธิเก็บกินกลับมีขึ้นเพียงที่ทรัพย์สินกลับคืนดี แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะทำให้กลับคืนดีได้ สิทธิเก็บกินก็เป็นอันสิ้นไป และค่าทดแทนนั้นต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของทรัพย์สิน และผู้ทรงสิทธิเก็บกินตามส่วนแห่งความเสียหายของตน
วิธีนี้ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมถึงกรณีซึ่งทรัพย์สินถูกบังคับซื้อ และกรณีซึ่งทรัพย์สินสลายไปแต่บางส่วน หรือการทำให้คืนดีนั้นพ้นวิสัยในบางส่วน
มาตรา 1420 เมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นลง ผู้ทรงสิทธิต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ
ถ้าทรัพย์สินสลายไป หรือเสื่อมราคาลง ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินใช้ทรัพย์สินสิ้นเปลืองไปโดยมิชอบ ท่านว่าต้องทำให้มีมาแทน
ถ้าทรัพย์สินเสื่อมราคาเพราะการใช้ตามควรไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินไม่จำต้องให้ค่าทดแทน
มาตรา 1421 ในการใช้สิทธิเก็บกินนั้น ผู้ทรงสิทธิต้องรักษาทรัพย์สินเสมอกับที่วิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตนเอง
มาตรา 1422 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธินั้นจะโอนการใช้สิทธิของตนให้บุคคลภายนอกก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินอาจฟ้องร้องผู้รับโอนโดยตรง
มาตรา 1423 เจ้าของทรัพย์สินจะคัดค้านมิให้ใช้ทรัพย์สินในทางอันมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมิสมควรก็ได้
ถ้าเจ้าของพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของตนตกอยู่ในภยันตราย ท่านว่าจะเรียกให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินหาประกันให้ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีซึ่งผู้ให้ทรัพย์สินสงวนสิทธิเก็บกินในทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตนเอง
ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินละเลยไม่หาประกันมาให้ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้เพื่อการนั้น หรือถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินมินำพาต่อคำคัดค้านแห่งเจ้าของ ยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นในทางอันมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมิควรไซร้ ท่านว่าศาลจะตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อจัดการทรัพย์สินแทนผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ได้ แต่เมื่อหาประกันมาให้แล้ว ศาลจะถอนผู้รักษาทรัพย์ที่ตั้งขึ้นไว้นั้นก็ได้
มาตรา 1424 ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจำต้องสงวนภาวะแห่งทรัพย์สินมิให้เปลี่ยนไปในสาระสำคัญ กับต้องบำรุงรักษาปกติและซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
ถ้าจำเป็นต้องซ่อมแซมใหญ่ หรือมีการสำคัญอันต้องทำเพื่อรักษาทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องแจ้งแก่เจ้าของทรัพย์สินโดยพลัน และต้องยอมให้จัดทำการนั้น ๆ ไป ถ้าเจ้าของทรัพย์สินละเลยเสีย ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะจัดทำการนั้นไปโดยให้เจ้าของทรัพย์สินออกค่าใช้จ่ายก็ได้
มาตรา 1425 ค่าใช้จ่ายอันเป็นการจรนั้น ท่านว่าเจ้าของต้องเป็นผู้ออก แต่เพื่อจะออกค่าใช้จ่ายเช่นว่านี้ หรือค่าใช้จ่ายตามความในมาตราก่อน เจ้าของจะจำหน่ายทรัพย์สินบางส่วนก็ได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะเต็มใจทดรองเงินตามที่จำเป็นโดยไม่คิดดอกเบี้ย
มาตรา 1426 ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังมีอยู่ ผู้ทรงสิทธิต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สินตลอดจนเสียภาษีอากร กับทั้งต้องใช้ดอกเบี้ยหนี้สินซึ่งติดพันทรัพย์สินนั้น
มาตรา 1427 ถ้าเจ้าของทรัพย์สินต้องการ ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจำต้องเอาทรัพย์สินประกันวินาศภัยเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์สิน และถ้าทรัพย์สินนั้นได้เอาประกันภัยไว้แล้ว ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องต่อสัญญาประกันนั้นเมื่อถึงคราวต่อ
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องเสียเบี้ยประกันภัยระหว่างที่สิทธิของตนยังมีอยู่
มาตรา 1428 คดีอันเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินในระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกิน หรือผู้รับโอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อเกินปีหนึ่งนับแต่วันสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง แต่ในคดีที่เจ้าของทรัพย์สินเป็นโจทก์นั้น ถ้าเจ้าของไม่อาจรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลงเมื่อใด ท่านให้นับอายุความปีหนึ่งนั้นตั้งแต่เวลาที่เจ้าของทรัพย์สินได้รู้ หรือควรรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง
ค่าบริการด้านสิทธิเก็บกิน |
|
รูปแบบงาน |
ราคา(เริ่มต้น) |
♦ ทำสัญญา |
-X- |
♦ ประสานการจดทะเบียนสิทธิ |
-X- |
รับว่าความทั่วประเทศ จดทะเบียนสิทธิเก็บกิน
ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย
ติดต่อทนายธนู โทร 083 4248098
LINE ID : @tn13
เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.
ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน
