ไต่สวนโดยเปิดเผย
คำถาม : นัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ตอบ : การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ม.42 - 44
หลักเกณฑ์ คือ เมื่อประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ศาลจะต้องไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบ
1. กิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
2. เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
3. ความประพฤติของลูกหนี้ที่เป็นความผิด ต่อพ.ร.บ.ล้มละลาย และข้อบกพร่องอันเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข
การไต่สวน กฎหมายบังคับว่าต้องกระทำภายหลังประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว โดยจะกระทำก่อนหรือหลังพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้
แต่ในทางปฏิบัติ : จะนัดไต่สวน ภายหลังศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เพื่อทราบว่าลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว
ข้อแนะนำโจทก์หรือเจ้าหนี้ควรไปร่วมการไต่สวนและใช้สิทธิซักถามเพราะจะทำให้ทราบกิจการและรายการทรัพย์สินของลูกหนี้
โดยการวันนัดไต่สวนนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะส่งหนังสือประกาศแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน (หากปิดหมาย + 15 วัน) และโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ
***ที่สำคัญ ลูกหนี้จะต้องมาศาลด้วยตัวเอง จะให้ผู้รับมอบอำนาจหรือทนายความทำแทนไม่ได้ -ไม่ไปตามนัด จะถูกออกหมายจับ-
อ้างอิง พ.ร.บ.ล้มละลาย 2483
ส่วนที่ 5 การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย
มาตรา 42 เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่ศาลเห็นว่าการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยยังไม่มีความจำเป็น ศาลจะพิจารณางดการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยไว้ก่อนก็ได้
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศแจ้งความกำหนดวันเวลาที่ศาลนัดไต่สวนโดยเปิดเผยให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ
มาตรา 43 ในการไต่สวนโดยเปิดเผย ลูกหนี้ต้องสาบานตัวและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ได้กล่าวไว้ในมาตรา 42 วรรคแรก ซึ่งศาลได้อนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้แล้ว หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้นั้นถาม หรือศาลจะถามเองตามที่เห็นสมควร และให้ศาลจดถ้อยคำของลูกหนี้อ่านให้ลูกหนี้ฟังแล้วให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อไว้ และให้ใช้เป็นพยานหลักฐานยันแก่ลูกหนี้ได้ ในการนี้ลูกหนี้จะให้ทนายความเข้าทำการแทนไม่ได้
เมื่อศาลได้ไต่สวนลูกหนี้ได้ความเพียงพอแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งปิดการไต่สวนและส่งสำเนาการไต่สวนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หนึ่งฉบับ คำสั่งนี้ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะสั่งให้ไต่สวนลูกหนี้เพิ่มเติมอีกเมื่อมีเหตุอันสมควร
มาตรา 44 เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือกายพิการ ซึ่งศาลเห็นว่าไม่สามารถจะให้ศาลไต่สวนโดยเปิดเผยได้ ศาลมีอำนาจสั่งงดการไต่สวนโดยเปิดเผย หรือจะสั่งให้มีการไต่สวนโดยวิธีอื่นใด ณ ที่ใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร
ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย
ติดต่อทนายธนู โทร 083 4248098
LINE ID : @tn13
เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.
ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน