เช่าทรัพย์

ผิดสัญญาเช่าที่ บ้าน คอนโด โกดัง #ทนายคดีเช่าทรัพย์ThanuLaw

    การเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาเช่า มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ โดยการเช่าที่มีระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี จะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ด้วย

 

กำหนดระยะเวลาการเช่า มี 2 รูปแบบ

1. สัญญามีกำหนดระยะเวลาเอาไว้ เมื่อครบกำหนดแล้ว ย่อมเป็นอันสิ้นสุด

2. สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการบอกเลิกสัญญาเช่า จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง ก่อนครบกำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าไม่น้อยกว่า 1 รอบระยะเวลาการชำระค่าเช่า

   ตัวอย่างเช่น กำหนดจ่ายค่าเช่าทุกวันที่ 5 ของเดือน ฉะนั้นจะต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อนวันที่ 5 ในรอบเดือนนี้ เพื่อให้มีผลในรอบเดือนถัดไป

 

สิทธิการเรียกร้อง ในกรณีบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด

1. ผู้เช่าบอกเลิก ถือว่าผู้เช่าเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับได้ กรณีที่สัญญากำหนดให้เรียกเบี้ยปรับได้ ถ้าเบี้ยปรับมีจำนวนที่สูงเกิน ศาลมีอำนาจปรับลดได้ตามสมควร กรณีไม่ได้กำหนดให้เรียกเบี้ยปรับ ผู้ให้เช่าก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ตามจริง อันเป็นค่าเสียโอกาสจากการที่ผู้เช่าได้บอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ทำให้ผู้ให้เช่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้รับค่าเช่าตามระยะเวลาในสัญญา

2. ผู้ให้เช่าบอกเลิก ผู้เช่ามีอำนาจตามกฎหมายที่จะฟ้องร้องบังคับคดี โดยให้เช่าอยู่ต่อไป จนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญาเช่า

   แม้จู่ ๆ ผู้ให้เช่าได้บอกเลิกสัญญาและขายบ้านเช่านั้นไปให้แก่บุคคลอื่น สัญญาเช่ามีกำหนดนั้นย่อมไม่ระงับ เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่า ซึ่งบุคคลภายนอกผู้รับโอน ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้น ผู้เช่าย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะฟ้องร้องบังคับคดี โดยให้เช่าอยู่ต่อไป จนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญาเช่า ได้เช่นเดียวกัน

   หากในระหว่างเช่าบ้านได้มีซ่อมแซมบ้านให้ด้วย กรณีถือว่าผู้ให้เช่าไม่ได้ทำการซ่อมแซมบ้านนั้น ก่อนที่จะให้เช่า ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ให้เช่ากระทำการผิดหน้าที่ตามสัญญาเช่า เพราะผู้ให้เช่ามีหน้าที่และความรับผิดต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว

   ผู้เช่ามีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการซ่อมแซมบ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ทางฝ่ายผู้ให้เช่าจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้เช่า

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ผู้ให้เช่ามีสิทธิริบเงินประกันบางส่วน ที่เหลือจะต้องคืนให้ผู้เช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4932/2541

   เงินประกันการเช่าตามสัญญาเช่าได้กำหนดให้โจทก์ผู้ให้เช่ามีสิทธินำค่าเช่าที่ค้างชำระหรือหนี้สินอื่นที่ค้างชำระมาหักเงินประกันค่าเช่าได้เมื่อจำเลยผู้เช่าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่เช่าเรียบร้อยแล้ว และให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันค่าเช่าได้ทั้งจำนวนในกรณีจำเลยมิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งแสดงว่าเงินประกันค่าเช่าเป็นเงินประกันความเสียหายเกี่ยวกับเรื่องหนี้ค่าเช่าค้างชำระ หนี้สินอื่นค้างชำระและเป็นเงินประกันความเสียหายการผิดสัญญาเช่าอีกด้วย เงินประกันการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับเพราะจำเลยสัญญาแก่โจทก์ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อจำเลยผิดนัดโดยจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน เงินประกันการเช่านี้จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ.มาตรา 379, 381 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินประกันการเช่าได้

   สำหรับเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่าได้ระบุไว้ว่าหากจำเลยเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดอายุสัญญา จำเลยจะต้องชำระค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมีมูลค่าเท่ากับค่าเช่า 4 เดือนเพิ่มขึ้นอีกต่างหากนั้น เป็นเรื่องจำเลยได้สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดจึงเป็นเบี้ยปรับตกอยู่ในบังคับมาตรา 379,381 โจทก์จึงมีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดได้เช่นกัน

   เงินประกันการเช่าและเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดดังกล่าวต่างก็เป็นเบี้ยปรับในกรณีที่จำเลยชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรแม้ตามสัญญาเช่าจะระบุเรียกชื่อของเงินทั้งสองกรณีที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาได้นั้นต่างกันโดยอาศัยเหตุการริบหรือเรียกเอาได้ต่างกัน แต่เหตุสำคัญที่เป็นเหตุเริ่มต้นให้โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาได้นั้นจะต้องเกิดจากการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด ในกรณีที่จำเลยบอกเลิกการเช่าโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิริบเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า ถือได้ว่าเงินประกันการเช่าเป็นเบี้ยปรับที่ซ้ำซ้อนกับเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด เพราะเบี้ยปรับทั้งสองกรณีต่างก็เป็นเงินประกันค่าเสียหายล่วงหน้าเมื่อผิดสัญญาเช่าเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรทั้งสิ้น ดังนั้น เบี้ยปรับที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาดังกล่าวนั้นเมื่อได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับความเสียหายที่จำเลยยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน มีเหตุลดเบี้ยปรับลงตามจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 คงให้ปรับเฉพาะเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดกรณีเดียว

   ค่าเสียหายในเชิงธุรกิจที่โจทก์เรียกร้องคือค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าตกแต่งอาคารชั้นล่างเพื่อให้จำเลยทำสำนักงานชั่วคราว และค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่บริษัท ป. อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ต้องให้จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นที่ 7 นั้น ล้วนแต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้ใช้จ่ายหรือจะต้องเสียไปก่อนที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลย เมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดค่าเสียหายเหล่านี้ไว้ในสัญญาเช่าในลักษณะเป็นมัดจำหรือเบี้ยปรับหรือกำหนดอัตราค่าเช่าให้สูงขึ้นได้ตามแต่โจทก์จะกำหนดให้จำเลยผู้เช่ารับผิด กรณีเช่นนี้จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแก่การไม่ชำระหนี้ หรือเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 222 เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกในกรณีจำเลยผิดสัญญาเช่าตามมาตรา 222 ดังกล่าวจะต้องเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยผิดสัญญาเช่าแล้ว และโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่านั้นด้วย ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้จากดอกเบี้ยของเงินมัดจำที่จำเลยต้องวางไว้ต่อโจทก์จำนวนเงิน 8,500,000 บาท ตามสัญญาเช่านั้น มาตรา 378 ได้บัญญัติความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บัญญัติให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินมัดจำที่จำเลยจะต้องวางต่อโจทก์ด้วยจึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 222 มาบังคับเพื่อให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์อีก

   แม้เงินจำนวน 1,700,000 บาท จะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของการเช่าอาคาร และในสัญญาเช่าจะได้ระบุว่าเป็นมัดจำ แต่ก็ไม่ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นมัดจำตามความหมายที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 377 เพราะมิใช่เงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เพื่อเข้าทำสัญญาเช่าเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาเช่าเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับมัดจำมาใช้บังคับได้ จะต้องถือปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าระบุไว้เมื่อตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีข้อใดระบุให้โจทก์ริบเงินส่วนนี้ของจำเลยไว้ แต่ได้ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่าจะคืนเงินมัดจำดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าทันทีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินค่าเช่าโทรศัพท์ครบถ้วนแล้ว หลังจากสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม อีกทั้งให้นำหลักการเรื่องเงินประกันค่าเช่ามาใช้โดยอนุโลมด้วย ดังนั้น แม้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ก็จะต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย โจทก์คงมีสิทธินำเงินค่าบำรุงการใช้โทรศัพท์มาหักออกจากเงินมัดจำดังกล่าวได้ และจะต้องคืนเงินที่เหลือให้จำเลย

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่า 3 ปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียง 3 ปี

มาตรา 546 ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว

มาตรา 547 ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเท่าใด ผู้ให้เช่าจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้เช่า เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย

มาตรา 564 อันสัญญาเช่านั้น ท่านว่าย่อมระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ มิพักต้องบอกกล่าวก่อน

มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

   ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

 

ค่าบริการว่าความ คดีผิดสัญญาเช่าทรัพย์

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

 ♦ ยื่นคำฟ้อง 

-X-

 ♦ ให้คำปรึกษา ตรวจร่างสัญญาเช่า

8,000

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ทนายธนู Tel. 083-4248098

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,287