ผู้ชำระบัญชีขอให้บริษัทล้มละลาย

คดีผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทล้มละลาย

พระราชบัญญัติล้มละลาย

มาตรา 88 ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น นอกจากเจ้าหนี้จะฟ้องขอให้ล้มละลายได้ตามความในหมวด 1 แล้ว ผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคลนั้น ๆ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้สั่งให้นิติบุคคลนั้นล้มละลายได้ ถ้าปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน

   เมื่อศาลได้รับคำร้องขอแล้ว ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นเด็ดขาดโดยทันที และให้ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งขึ้น ให้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1266 ถ้าผู้ชำระบัญชีมาพิจารณาเห็นว่า เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สินไซร้ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันที เพื่อให้ออกคำสั่งว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นล้มละลาย

ข้อสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1266 เป็นกรณีที่ เมื่อผู้ชำระบัญชีได้เรียกเก็บเงินลงหุ้นที่ค้างชำระจากผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น ตามมาตรา 1266 จนครบหมดสิ้นแล้ว แต่ปรากฎว่าสินทรัพย์ที่รวบรวมได้ทั้งหมดยังไม่พอใช้หนี้สินที่ค้างชำระ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องจอต่อศาลทันที เพื่อให้ศาลออกคำสั่งให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ล้มละลาย จะได้เฉลี่ยสินทรัพย์นั้นใช้หนี้สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ต่อไป

 

ทนายธนูกล่าว

นอกจากเจ้าหนี้ทั่วไปจะฟ้องล้มละลายลูกหนี้ที่นิติบุคคลได้แล้ว ผู้ชำระบัญชีก็ยังสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลสั่งให้บริษัทล้มละลายได้

เพราะหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้น รวมทั้งเรียกให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นส่งให้เงินลงทุ้นที่ค้างชำระ ถ้าปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน ผู้ชำระบัญชีต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นล้มละลาย โดยไม่จำกัดว่านิติบุคคลนั้นมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สินเป็นจำนวนเท่าใด อ้างอิง ฎ.1172/2521

ซึ่งตามปกติทั่วไปมาตรา 9 ได้กำหนดว่านิติบุคคลต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท (หนี้กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้อื่น)

 

หลักเกณฑ์การยื่นคำร้องฯ

1. บริษัทไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้นั้นได้ (อ้างอิงงบการเงิน)

2. เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งขึ้นให้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

3. เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือล้มละลายแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของบริษัท และการชำระบัญชี ตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 22 ผู้ชำระบัญชี มีหน้าให้ความร่วมมือในการสอบสวนกิจการและทรัพย์สิน รวบรวมทรัพย์สิน  / ส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

4. เมื่อศาลมีคำสั่งให้บริษัทล้มละลาย ถือว่าบริษัทนั้นเลิกกันตาม ป.พ.พ. 1236 (5)

 

การพิจารณาคดีคำร้องฯ

1. ต้องปรากฎชัดเจนว่า เงินลงทุน / ค่าหุ้นใช้เสร็จแล้ว สินทรัพย์ของบริษัทที่มีอยู่ยังไม่พอหนี้สิน ตามมาตรา 88

2. เมื่อยื่นคำร้องแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทันที โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานของผู้ชำระบัญชี

3. เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างหุ้นส่วนได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ตามมาตรา 89 (ต้องเป็นหุ้นส่วนอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้อง)

 

เอกสารประกอบคำร้อง

1. หนังสือรับรองบริษัท ไม่เกิน 1 เดือน

2. งบดุล

3. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ชำระบัญชี

 

ค่าขึ้นศาล

1. เงินกลาง (ค่าขึ้นศาลเริ่มต้นคดี) 5,000 บาท

2. ค่าส่งหมายตามที่อยู่บริษัท 500 - 800 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2521

   มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายแสดงให้เห็นชัดว่าในกรณีที่จะขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างหุ้นส่วนนั้น กฎหมายได้บัญญัติกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษ เมื่อปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างนั้นตามมาตรา 88 แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมจะขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างได้ และตามมาตรา 89 ให้พิจารณาต่อไปเพียงว่า ผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจริงหรือไม่ถ้าปรากฏว่าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดล้มละลายตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย และผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจริง ศาลก็มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ แล้วพิพากษาให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายไปตามห้างนั้นได้เลย เพราะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดในหนี้สินแทนห้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 โดยไม่จำกัดจำนวน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่มีอำนาจต่อสู้คดี หรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของห้าง หรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย

   การที่ผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนล้มละลายตามมาตรา 88 นั้น ไม่จำกัดว่าห้างหุ้นส่วนที่ล้มละลายมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สินเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด แม้จะไม่ถึง 30,000 บาท ก็ถือได้ว่าห้างนั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว จะนำมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะสั่งให้มีการล้มละลายมาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้

 

พระราชบัญญัติล้มละลาย ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 89 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่

มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

   (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป

   (2) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น

   (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

มาตรา 23 เมื่อลูกหนี้ได้รับทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนซึ่งอยู่ในความครอบครองให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1247 การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้

   รัฐมนตรีเจ้าหน้าที่จะออกกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนและบริษัท และกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมก็ออกได้

มาตรา 1236 อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

   (1) ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น

   (2) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น

   (3) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น

   (4) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก

   (5) เมื่อบริษัทล้มละลาย

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายธนู

1. อีกวิธีหนึ่ง คือ เจ้าหนี้ที่เป็นกรรมการ หรือ ผู้ถือหุ้น หรือ เจ้าหนี้รายอื่นทั่วไป เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่ง และเมื่อตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัทในชั้นบังคับคดีแล้ว ปรากฎว่าบริษัทไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถใช้วิธียื่นฟ้องคดีให้บริษัทให้ล้มละลายได้ ตามมาตรา 9 และ 10 ถือเป็นข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 8 (5)

 

ค่าบริการว่าความ ผู้ชำระบัญีขอให้บริษัทล้มละลาย

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

ยื่นคำร้องต่อศาล

50,000

 

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายฟรี

เปิดบริการทุกวัน 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,823