การขอรับชำระหนี้

การยื่นคำขอรับชำระหนี้ คดีล้มละลาย

ตามกฎหมายกำหนดเวลาไว้ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่ลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

เอกสาร

1. คำขอรับชำระหนี้ ล.29

2. หนังสือมอบอำนาจ ล.53 หรือมอบอำนาจทั่วไป ติดอากร 30 บาท (ตัวจริง)

3. หนังสือมอบฉันทะ ล.10 ตัวอากร 10 บาท (ตัวจริง)

4. หนังสือรับรองบริษัท (กรณีเจ้าหนี้นิติบุคคล) หรือหนังสือคำสั่งแต่งตั้ง (กรณีส่วนราชการ)

5. สำเนาบัตรผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

6. สำเนาเอกสารแสดงมูลหนี้ เช่น คำพิพากษา ใบแจ้งหนี้ สัญญา เช็ค เป็นต้น

 

ค่าธรรมเนียม

1. กรณีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ได้รับการยกเว้น ไม่เสีย

2. เจ้าหนี้รายอื่น เสีย 200 บาท เฉพาะวงเงินเกิน 50,000 บาทขึ้นไป

 

ยอดหนี้ : ดอกเบี้ยนับถึงวันที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เท่านั้น

 

ถาม : หากยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิน 2 เดือน มีวิธีแก้อย่างไร

ตอบ จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย(คดีสาขา) แบบ 4.4. ด้วยเหตุผลเช่น ประชุมกรรมการไม่เสร็จภายในกำหนด

 

ประเด็น : แม้นับถึงวันยื่นคำร้องขอชำระหนี้จะเกิน 10 ปี แต่คดีสะดุดหยุดลงเมื่อวันยื่นฟ้องคดีล้มละลายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2543

   การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ.บรรพ 1 ลักษณะ 6

   ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ.มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำเอาหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องได้ และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2) และทำให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความยังสะดุดหยุดลงจึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1)กรณีนี้มิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา จึงนำเอาระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้

   ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงใด แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน

   เจ้าหนี้ฎีกาเฉพาะมูลหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลฎีกาเพียง 25 บาท ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (2) วรรคท้าย

 

ถาม : หากเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นขอคำรับชำระหนี้ จะมีสิทธิเรียกร้องลูกหนี้อีกไหม

ตอบ เจ้าหนี้ที่มีหนี้เกิดก่อนลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หากไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ไม่มีเรียกร้องหนี้อีกต่อไป ถือว่าเป็นการเสียโอกาส

 

พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกิน 2 เดือน

   คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินและข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกัน หรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้  ทั้งนี้ ให้แนบเอกสารที่เกี่ยวกับหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้มาด้วย

มาตรา 91/1 ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง ให้เจ้าหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ และแสดงถึงเหตุสุดวิสัยที่ตนไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลา เมื่อศาลเห็นว่ากรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

   เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวรรคหนึ่ง ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เฉพาะทรัพย์สินที่มีอยู่ภายหลังการแบ่งทรัพย์สินก่อนที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้  ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงการใดที่ศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว

มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

   (1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

   (2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้

มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น

มาตรา 96 เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

   (1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน

   (2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

   (3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

   (4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้น และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ

   ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น

   บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

 

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ติดต่อทนายธนู โทร 083 4248098

LINE ID : @tn13

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai

 

ตัวอย่าง ใบนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้

 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 278,324