ค่าเลี้ยงชีพ

หลักเกณฑ์การกำหนดเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัว ในคดีล้มละลาย

   นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ จนถึงวันปลดล้มละลาย

   ลูกหนี้ไม่สามารถกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนได้ (พูดง่ายๆ ไม่มีสิทธิได้รับเงิน) เมื่อมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้อื่นใด เข้ามาระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว จะต้องถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดหรืออายัดไว้ทั้งหมด

   หากลูกหนี้ต้องการขอรับค่าเลี้ยงชีพจากเงินที่ถูกอายัดไว้ จะต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว ซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ ฐานานุรูปของลูกหนี้และครอบครัว และสภาวะเศรษฐกิจ

   โดยยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าเลี้ยงชีพ ได้ที่กองล้มละลาย กรมบังคับคดี หรือ Online

 

มีหลักเกณฑ์ พิจารณาเบื้องต้นดังนี้

1. ปกติเบื้องต้นอยู่ที่ 70% ของเงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้สุทธิ (เป็นอัตราสูงสุดแล้ว ขอเกินได้หากลูกหนี้มีเหตุจำเป็น)

แต่ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ตามเกณฑ์ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 302 กำหนดไว้

ยกตัวอย่าง

เงินเดือน 50,000 บาท ขอรับที่ 35,000 บาท

เงินเดือน 22,000 บาท ขอรับที่ 20,000 บาท

เงินเดือน 19,000 บาท ขอรับที่ 19,000 บาท

2. เงินเบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา OT คิดคำนวณรวมกับข้อ 1. ได้รับไม่เกิน 50%ของเงิน เว้นแต่ได้รับเงินตามข้อ 1. เกิน 20,000 บาทแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับในส่วนนี้

3. เงินโบนัส เงินปันผล ถูกอายัดทั้งหมด 100% ลูกหนี้ไม่มีสิทธิขอรับ

4. ค่าตอบแทนจากการถูกออกจากงาน ถือตามเกณฑ์ข้อ 1.

   โดยวิธีการรับเงินค่าเลี้ยงชีพ จะโอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทยฯ เท่านั้น ซึ่งลูกหนี้จะต้องรับหนังสือจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำไปเปิดบัญชีใหม่ ชื่อบัญชี “บัญชีค่าเลี้ยงชีพของ....” โดยบัญชีดังกล่าวไม่สามารถทำบัตรกดเงินสด ATM  หรือ i-banking ได้

 

ค่าใช้จ่ายต้องแนบเอกสาร อาทิเช่น

1. ค่าเช่าบ้าน

2. ค่าน้ำมัน / ค่าเดินทาง

3. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ลูก

4. ค่าอาหาร

5. ค่ารักษาพยาบาล

6. ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์มือถือ)

7. ค่าเทอมลูก

8. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

 

กรณีลูกหนี้ได้รับเงินเดือนหรือรายได้ก่อนนำส่งกองทรัพย์สิน จะต้องถูกหักออกจากค่าเลี้ยงชีพที่มีสิทธิได้รับ นับแต่วันถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยใช้วิธีการหักคืนคราวเดียวกันหรือเฉลี่ยหักคืนในแต่ละเดือนตามความเหมาะสมจนกว่าจะครบ

ยกตัวอย่าง

พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด วันที่ 10 มิถุนายน 2560

ล้มละลาย เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2561

ลูกหนี้ได้รับเงินเดือนๆละ 30,000 บาท นับแต่วันถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจนถึงวันล้มละลาย เป็นระยะเวลา 10 เดือน เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท แต่ไม่ได้นำเงิน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าเลี้ยงชีพ เดือนละ 30,000 บาท

เงินที่ได้รับก่อนถูกอายัดจำนวน 300,000 บาท ถือว่าลูกหนี้จะต้องส่งให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพราะเงินจำนวนดังกล่าวลูกหนี้ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย

จึงถูกหักเดือนละ 10,000 บาทเป็นเวลา 30 เดือน

สรุปลูกหนี้ได้รับค่าเลี้ยงชีพหลังจากหักแล้วเป็นเงินเดือนละเพียง 20,000 บาท

 

หรือลูกหนี้จะใช้วิธีจ่ายเงินคราวเดียวจำนวน 300,000 บาท แล้วขอรับเงินเดือน 30,000 บาท เหมือนเดิม (คงไม่มั้ง....)

 

จำนวนค่าเลี้ยงชีพสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากมีค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป

 

***คำถามที่สำคัญ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะรู้ได้ยังว่าลูกหนี้ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร ได้รับเงินเดือน และรายได้อื่นฯลฯ เท่าไหร่

ตอบ : จากคำให้การสอบสวนกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ (ลูกหนี้บอกเอง) หรือเจ้าหนี้อาจจะสืบค้นได้แล้วแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ

 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2524

   เงินบำนาญของลูกหนี้ซึ่งกระทรวงการคลังส่งมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แม้จะเป็นเงินบำนาญที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่ก็เป็นเงินบำนาญที่ได้ส่งมาให้ภายหลังที่ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหน้าที่ต้องรับเงินบำนาญดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่ลูกหนี้ได้มาระหว่างล้มละลายรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ และพิจารณาจ่ายค่าเลี้ยงชีพของลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปต่อไปตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 กรณีมิใช่เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปก้าวล่วงจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

   จำนวนเงินค่าเลี้ยงชีพเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาสั่งจ่ายโดยพิเคราะห์ถึงความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในขณะที่พิจารณาสั่งจ่าย

 

อ้างอิงกฎหมาย พ.ร.บ.ล้มละลาย

มาตรา 67 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้หรือพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว และยังไม่ได้สั่งปลดจากล้มละลาย

   (1) ลูกหนี้จะต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้อนุญาตให้ลูกหนี้จ่ายจากเงินที่ลูกหนี้ได้มาในระหว่างล้มละลาย และลูกหนี้จะต้องส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดพร้อมด้วยบัญชีรับจ่าย

 

เรียบเรียงและเขียนโดย ธนู กุลอ่อน

 

ยินดีให้คำปรึกษา

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

โทร 0834248098

Line id: @kbv6958j

 

#1 โดย: จิรภัทร [IP: 27.145.218.xxx]
เมื่อ: 2023-08-17 11:26:01
การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพจะจ่ายทุกวันที่เท่าไหร่สามารถเบิกเงินได้เมื่อไหร่ครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,330