เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เลิกจ้างไม่เป็นธรรม Unfair Dismessal #ทนายคดีแรงงานThanuLaw #ทนายคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมThanuLaw

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522

มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทํางานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทํางานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกําหนดจํานวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคํานึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทํางานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา

 

เมื่อลูกจ้างเห็นว่าถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ฝ่ายลูกจ้างสามารถฟ้องให้นายจ้าง รับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่ไม่ต่ำกว่าเดิม แต่หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

การดำเนินคดี : ลูกจ้างไม่สามารถร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ ตาม ม.123 ต้องฟ้องศาลในพิจารณาคดี เท่านั้น

 

สาระสำคัญของการวินิจฉัยเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ คือ

1. นายจ้างสามารถเลิกจ้างตามกฎหมายได้ไหม มีสาเหตุเพียงพอหรือไม่ (สาเหตุอาจจะมาได้ทั้งนายจ้างหรือลูกจ้าง)

2. สาเหตุนั้นเป็นความจริงหรือมีลักษณะกลั่นแกล้งหรือไม่

3. ส่วนใหญ่นายจ้างจะต้องพิสูจน์ว่าสมควรเลิกจ้าง เช่น ทุจริต ยักยอกทรัพย์ของบริษัท (ถ้าไม่มีเหตุผล ก็ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม)

4. มีวิธีการแก้ไขเหตุเลิกจ้างไหม เช่น เตือนด้วยวาจา > เตือนเป็นหนังสือ > พักงาน > เจรจาลดผลประโยชน์สภาพการจ้าง > เลิกจ้าง

5. ความผิดเล็กน้อย จะเลิกจ้างทันทีไม่ได้ ควรมีหนังสือตักเตือนก่อน

 

หากพิจารณาแล้วปรากฎว่านายไม่มีสิทธิเลิกจ้าง วิธีการเยียวยา

1. นายจ้างจะต้องรับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม ค่าจ้างเดิม โดยนับอายุงานต่อเนื่อง

2. นายจ้างจะต้องรับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม

3. หรือ จ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

Trick

1. จำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แนวทางคำพิพากษากำหนดไว้สูงสุดไม่เกินปีละ 1 เดือน (+ - นิดหน่อย)

2. จำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนด อุทธรณ์/ฎีกา ไม่ได้ เพราะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้าม

3. เหตุที่ฟ้องมาเรียกค่าเสียหายกันมาเยอะ (ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท) เพราะว่า ศาลแรงงานไม่มีค่าขึ้นศาล ค่าส่งหมาย ฯลฯ ฟรีหมด

4. กรณีนายจ้างจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ตามกฎหมายแล้ว ศาลมักจะเห็นว่าเพียงพอแล้ว

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ยังมีกำไรอยู่แต่เพียงลดลง ถือว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2548

   การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้กิจการของจำเลยยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรลดลงในปีที่ล่วงมาจำนวนมาก ยังไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่กำไรของจำเลยลดลง ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันควร จึงถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

   การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มิใช่เป็นการที่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ที่มีอายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

***แต่ถ้าขาดทุนต้องลดจำนวนพนักงาน มีหลักเกณฑ์ในการคัดคนออกที่เป็นกลาง ไม่ลำเอียง (ขาด ลา มาสาย ผลงานดี) ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฎ.2226-2304/2561

 

เลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9009/2549

   ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่เคยประสบภาวะขาดทุนและไม่ปรากฏว่าแนวโน้มในการประกอบกิจการของจำเลยในปีต่อๆไป จะประสบภาวะวิกฤติจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต มิใช่ให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงอื่นนอกจากที่รับฟังไว้แล้ว จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

   ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกครบถ้วนแล้ว เมื่อคำนึงถึงอายุงานที่โจทก์ทั้งหกทำงานกับจำเลยมาคนละหลายปี แต่โจทก์ทั้งหกก็มีอายุไม่มากนักยังสามารถหางานทำใหม่ได้ และมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างมิได้เกิดจากการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้ว มิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายตามจำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

   โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 แต่เป็นกรณีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

เลิกจ้าง เพราะป่วยนาน มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14670/2558

   ลูกจ้างลาป่วยเป็นระยะเวลานานกว่า 9 เดือนติดต่อกัน ทำให้นายจ้างต้องประสบปัญหาด้านบุคลากรในการทำงาน ตามใบสำคัญความเห็นแพทย์ ไม่ได้ระบุว่า ลูกจ้างจะหายเมื่อใด ไม่อาจคาดหมายว่าลูกจ้างจะกลับมาทำงานให้แก่นายจ้างได้ เมื่อใด จึงถือว่าลูกจ้างเป็นผู้มีสุขภาพไม่สมบูรณ์และหย่อนความสามารถในการทำงาน การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2038/2533

   ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ระบุว่า การเลิกจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออก หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ตาม ข้อ 47 แห่งประกาศดังกล่าว โดยมิได้มีข้อยกเว้นว่าการให้ออกจากงาน เนื่องจากหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน มีวันลามากไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างสามีโจทก์เพราะเหตุหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน และลาหยุดงานมากนั้น จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศข้างต้นแล้ว จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง

 

 สูญเสียอวัยวะทางร่างกาย ฎ.4855/2530

 

 เจ็บป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องลาเกินกว่า 60 วันต่อปี ฎ.3634/2525

 

นายจ้างถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 48/2524

   เหตุที่ใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ด้วยเครื่องจักรของห้างจำเลยถูกสั่งพักใช้และถูกสั่งให้เพิกถอนก็เนื่องมาจากหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ มิใช่เป็นความผิดของทางราชการ ดังนั้น การที่คนงานทั้งหมดต้องออกจากงาน จึงเป็นการกระทำของจำเลยและถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างคนงานทั้งหมดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103

 

ลูกจ้างกระทำความผิดทางอาญาต่อลูกค้าของนายจ้าง มีเหตุผลเพียงพอในการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3738/2536

   การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้นย่อมหมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้างลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามก็เนื่องจากบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามกับพวกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ของบริษัทไป อีกทั้งในชั้นจับกุม โจทก์ทั้งสามก็ให้การรับสารภาพ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยมีความระแวงสงสัยและไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งสาม จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้ และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเป็นธรรม แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็หามีผลทำให้การเลิกจ้างของจำเลยกลับเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้เพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในข้อที่ว่า "ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท" "จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย"และ "ลูกจ้างต้องไม่ลักทรัพย์หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นลักทรัพย์ของบริษัท หรือของผู้อื่นภายในบริเวณบริษัท" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีที่โจทก์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์นั้น พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว กรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสามทันทีเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อไม่จ่ายก็ต้องถือว่าผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปีของเงินดังกล่าว จำนวนนับแต่วันเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

 

ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวเนื่องกับความสงบเรียบร้อย สามารถตกลงกันให้สละสิทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4635/2541

   ประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าหลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโจทก์ได้รับเงินต่าง ๆจากจำเลยและโจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงิน หรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยเมื่อเป็นข้อที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว แม้ศาลแรงงานมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นโดยตรงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือการที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามบันทึกดังกล่าวแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีกหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่หากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สมควรที่จะให้จำเลย รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใด ดังนั้น ประเด็นที่ว่าให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใดจึงเป็นประเด็น ซึ่งครอบคลุมถึงข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยไว้ด้วยแล้ว จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายซึ่งศาลแรงงานมิได้นำมาวินิจฉัย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานฟังมาพอแก่ การวินิจฉัย ปัญหาข้อกฎหมายแล้วศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานพิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานฟังมาเป็นยุติว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์และจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 7 เดือนเป็นเงิน 560,000 บาท เงินช่วยเหลือจำนวน 300,000 บาทและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 872,374 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้ทำหนังสือรับเงินชดเชย ค่าตอบแทนในการเลิกจ้างให้ไว้แก่จำเลยระบุว่า โจทก์ขอสละสิทธิ์ในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น เมื่อค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ มิใช่เป็นเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์ย่อมสละเงินดังกล่าวได้ การที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยอีก

 

ศาลพิพากษาให้กลับเข้าทำงาน (มีเพียงเรื่องเดียว)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5025/2548

   บทบัญญัติ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ที่ห้ามศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เป็นบทบัญญัติที่ใช้ในคดีแรงงานกรณีทั่วไป แต่บทบัญญัติในมาตรา 49 เป็นกรณีให้อำนาจศาลแรงงานเป็นพิเศษเฉพาะคดีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยหากศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมศาลแรงงานจะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานก็ได้ แต่หากเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานจะกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนก็ได้ โดยให้ศาลแรงงานพิพากษาไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางพิจารณาว่านายจ้างกับลูกจ้างจะทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ บทบัญญัติในมาตรานี้เห็นได้ว่า ศาลแรงงานไม่จำต้องมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ แม้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจะมิได้มีคำขอให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างรับโจทก์กลับเข้าทำงาน คงขอค่าเสียหายจากการเลิกจ้างมาเพียงอย่างเดียว ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าโจทก์กับจำเลยยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแทนได้ กรณีกลับกันแม้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจะมิได้มีคำขอให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ คงขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเพียงอย่างเดียว ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แทนได้เช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์มิได้กระทำผิดวินัยใด ๆ มาก่อน ทั้งจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเห็นสมควรให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไป แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอให้รับโจทก์เข้าทำงาน ก็เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยมาตรา 49 แล้ว

 

ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นายจ้างมีหน้าที่หักภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3353/2532

   จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ ก็เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมโดยอาศัยฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างและจำเลยเป็นนายจ้าง เงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากจำเลยจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน หาใช่เป็นค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด ตามมาตรา42(13) ไม่ จำเลยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50

 

ค่าบริการว่าความ คดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 7.00 - 18.00 น.

สอบถามได้ที่ ทนายณัฐวุฒิ โทร 096 2602711

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

#1 โดย: ธนัสถา ไทยแท้ [IP: 223.24.190.xxx]
เมื่อ: 2022-05-16 21:06:14
ในกรณีที่บริษัท ตกลงค่าจ้าง และ สวัสดิการ ไม่เป็นไปตามข้อตกลง และไม่ชี้แจ้งอัตราการจ้างก่อนเข้ามาทำงาน หลอกให้เข้ามาทำงาน ได้เกือบ 10 วัน ถึงจะเพิ่งมาคุยอัตราจ้าง ทำให้ลูกจ้างเกิดความไม่พอใจ จึงหยุดติการทำงาน ค่ะ และทำให้ลูกจ้างตกงาน ค่ะอยากจะรบกวนปรึกษาเรื่องนี้ค่ะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,032