รถชน

คดีรถชน ละเมิด เรียกค่าเสียหาย #ทนายคดีรถชนThanuLaw

กรณีไม่ถึงตาย สิทธิเรียกร้องได้ ป.พ.พ. มาตรา 444

1. ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่ากายภาพบำบัด ค่าศัลกรรมตกแต่งบาดแผล

   ค่าเจ็บปวดและทนทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บสาหัส ค่าเสื่อมสุขภาพ

   ค่าความเสียหายแก่ร่างกาย รอยแผลเป็น เสียโสม เสียบุคลิกภาพ ทุพลภาพ(พิการ)

   ข้อสังเกตุ แม้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ก็ยังสามารถเรียกได้อยู่ อ้างอิง ฎ.1145/2512

2. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างเจ็บป่วยหรือรักษาพยาบาล

3. ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต เช่น ถูกตัดมือแขนขา กลายเป็นคนพิการ ต้องใช้แขนเทียม ทำให้ทำงานได้ลำบาก

4. ค่าแรงงานในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอก

5. ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ค่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน ค่าเสื่อมสุขภาพ รอยแผลเสียโสมเสียบุคลิก

6. ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล สถานีตำรวจ

 

กรณีทำให้ตาย สิทธิเรียกร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443

1. ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็น เช่น ค่าส่งศพกลับภูมิลำเนา ค่าเจดีย์บรรจุอัฐิ ค่าเดินทางของญาติ ค่าทำหนังสือแจกงานศพ

   ข้อสังเกตุ แม้จะได้รับบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพหรือมีผู้อื่นออกค่าใชจ่ายให้ ก็ยังสามารถเรียกร้องได้อยู่ อ้างอิง ฎ.5309/2538

2. ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู บุคคลผู้มีสิทธิเรียก คือ บิดามารดา สามีภริยา และบุตร

   ข้อสังเกต บุตรเฉพาะที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น อ้างอิง ฎ.508/2519

3. ค่าขาดแรงงาน เป็นกรณีนายจ้างของผู้ตายฟ้องเพราะต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างรักษาตัวก่อนตาย

4. หากมิได้ตายทันที มีค่ารักษาพยาบาล และค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้

 

สิ่งที่เรียกร้องไม่ได้ เช่น ค่าความว้าเหว่จากเหตุสูญเสีย ค่าชอกช้ำระกำใจ

 

ฟ้องใครได้บ้าง

1. คนขับรถ

2. นายจ้าง (ผู้ใช้ จ้างวาน ซึ่งทำในทางการที่จ้างหรือทางอันมีผลประโยชน์ร่วม)

3. บริษัทประกันภัย (รับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย)

 

เอกสารประกอบคำฟ้อง

1. แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร / หนังสือรับรองบริษัท

2. รายการจดทะเบียนรถยนต์ กรมการขนส่งทางบก

3. กรมธรรม์ประกันภัย

4. ภาพถ่ายรถยนต์ สถานเกิดเหตุ

5. บันทึกการฟ้องคดีอาญา

6. สำเนาคำพิพากษาคดีอาญา

7. ใบแจ้งหนี้ผู้ป่วย ออกโดยโรงพยาบาล ใบแจ้งค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาล

8. ใบรับรองแพทย์

9. ภาพถ่ายบาดแผล

10. หนังสือรับรองการทำงาน

11. ใบสรุปประเมินราคารการรักษาพยาบาล

12. บันทึกข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนคดีจราจร

13. หนังสือบอกกล่าว จากทนายความ

 

อายุความ : 1 ปี นับแต่เกิดเหตุ

 

ค่าขึ้นศาล : 2% ของทุนทรัพย์

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ 

ประเด็น : เทศบาลว่าจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการเก็บขยะ เทศบาลถือเป็นนายจ้าง ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2561

   โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มี ช. เป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุ ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่เก็บขนถ่ายขยะตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า ที่ข้างรถบรรทุกคันเกิดเหตุมีข้อความว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 รับว่า ร. ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการเก็บขนขยะเป็นภารกิจของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของ ร. จึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่า ร. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของ ร. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองและกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกับ ร. รับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ร. กระทำด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

 

ประเด็น : ฟ้องบริษัทรับประกัน คดีมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ

   ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น 2 ปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ส. กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัท ส. นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
   การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่
   โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

   ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

   ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 444 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

   ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดี เป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีก็ได้

มาตรา 445 ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

มาตรา 446 ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

   อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด

   แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

มาตรา 882 ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 ปีนับแต่วันวินาศภัย

   ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลา 2 ปีนับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด

 

ค่าบริการว่าความ คดีรถชน ประกันภัย

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
 
 

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,876