ประกันชีวิต

คดีประกันชีวิต #ทนายคดีประกันชีวิตThanuLaw

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2563

   ผู้ตายเป็นโรคเบาหวานมาก่อน ทั้งเคยเข้ารับการรักษาโรคนี้ที่โรงพยาบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพตนเองไว้ โดยโจทก์อ้างว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงซึ่งในเรื่องสุขภาพนั้นผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องเปิดเผย ไม่แต่เฉพาะข้อความจริงที่อาจมีผลจูงใจผู้รับประกันภัยให้ถึงกับบอกปัดไม่ยอมรับประกันชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อความจริงที่อาจจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น แม้อาจไม่ถึงกับที่จะทำให้ผู้รับประกันภัยปฏิเสธไม่ยอมทำสัญญาด้วยก็ตาม ถือว่าโจทก์กับผู้ตายปกปิดข้อเท็จจริงในการทำสัญญาประกันชีวิต การปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวของผู้ตายทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้ตายกับจำเลยตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงมีสิทธิบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง

   เมื่อโจทก์แจ้งการตายของผู้ตายแก่จำเลยวันที่ 12 ธันวาคม 2558 จำเลยตรวจสอบประวัติการรักษาตัวของผู้ตายโดยได้รับเอกสารหลักฐานจากโรงพยาบาลวันที่ 19 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาไม่นานนักหลังจากทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้ปล่อยปละละเลยที่จะทราบถึงข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยทราบข้อมูลอันจะบอกล้างได้วันที่ 19 มกราคม 2558 ไม่ใช่วันที่ 12 ธันวาคม 2558 ดังนั้นเมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกล้างเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายทำไว้กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ แม้จะปรากฏว่าผู้ตายไม่ได้ตายด้วยโรคเบาหวานซึ่งเป็นข้อความที่ปกปิดไว้ แต่เมื่อสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆะแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

 

ประเด็น : การปกปิดต้องถึงขนาด โรคที่ปกปิดหมายถึงโรคที่เป็นอันตรายร้ายและมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3421/2563

   ป.พ.พ.มาตรา 865 วรรคหนึ่ง ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น สาระสำคัญอยู่ที่ว่าถ้าผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา สัญญาประกันชีวิตจึงจะเป็นโมฆียะซึ่งจำต้องพิจารณาความสำคัญของข้อความที่ละเว้นไม่เปิดเผยด้วยว่าเป็นการประการใด จะถือว่าถ้ามีการปกปิดความจริงไม่ว่าประการใดๆ แล้วจะทำให้สัญญาเป็นโมฆียะไปเสียทั้งหมดหาได้ไม่

   ก่อนทำสัญญา โจทก์เคยเข้ารับการรักษาพยาบาลและต่อมาภายหลังจากทำสัญญา โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลหลายครั้ง แต่เมื่อพิจารณาอาการของโรคตามประวัติการรักษาตัวของโจทก์ก่อนทำสัญญาแล้ว โจทก์มีอาการปัสสาวะแสบขัด ปวดเข่า และหลัง เนื่องจากลื่นล้ม ปวดศีรษะเนื่องจากลูกมะพร้าวตกใส่ ท้องเสีย กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบซึ่งไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรงหรือเป็นโรคเรื้อรัง การให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลเพื่อทำการรักษาตามที่ระบุไว้ในใบคำขอเอาประกันชีวิตนั้น น่าจะหมายถึงโรคที่เป็นอันตรายร้ายและมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น การที่โจทก์มิได้แจ้งเรื่องที่เคยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตามสำเนาประวัติการรักษาดังกล่าวให้จำเลยทราบก่อนทำสัญญา ยังไม่ถึงขนาดที่จะอนุมานเอาได้ว่า ถ้าได้แจ้งเช่นนั้นจะทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับประกันหรือเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้นอันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตที่ทำไว้เป็นโมฆียะ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างและต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 861 อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย

มาตรา 862 ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา 864 เมื่อคู่สัญญาประกันภัยยกเอาภัยใดโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อพิจารณาในการวางกำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัย และภัยเช่นนั้นสิ้นไปหามีไม่แล้ว ท่านว่าภายหน้าแต่นั้นไป ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดเบี้ยประกันภัยลงตามส่วน

มาตรา 865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

   ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา 866 ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดีหรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์

มาตรา 867 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

   ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง

   กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการ ดังต่อไปนี้

   (1) วัตถุที่เอาประกันภัย

   (2) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง

   (3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้

   (4) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย

   (5) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย

   (6) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย

   (7) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย

   (8) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย

   (9) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี

   (10) วันทำสัญญาประกันภัย

   (11) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย

 

ค่าบริการว่าความ คดีประกันชีวิต

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ฟ้องเรียกเงิน

-X-

 ♦ ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ทนายธนู Tel. 083-4248098

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,561