ฟอกเงิน

คดีฟอกเงิน

ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

 

ความผิดมูลฐาน ในมาตรา 3 มีทั้งหมด 21 มูลฐาน โดยสรุป ดังนี้

1. ยาเสพติด

2. ค้ามนุษย์ เกี่ยวกับเพศ ค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา

3. การฉ้อโกงประชาชนหรือตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

4. ยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

5. ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

6. กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจร

7. ลักลอบหนีศุลกากร

8. ก่อการร้าย

9. การพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ 5,000,000 บาทขึ้นไป หรือเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

10. เป็นสมาชิกอั้งยี่ หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม

11. รับของโจร เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้

12. ปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋ว อันมีลักษณะเป็นการค้า

13. ปลอม หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อันมีลักษณะเป็นการค้า

14. ปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทางตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า

15. ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า

16. ประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน

17. หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น เฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือเพื่อต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์

18. ลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

19. โจรสลัด

20. ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่มีผลกระทบต่อราคาการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

21. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะที่เป็นการค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เฉพาะที่เป็นการค้ายุทธภัณฑ์ เพื่อนำไปใช้ในการก่อการร้าย การรบ หรือการสงคราม

 

ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

1. เงินหรือทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการกระทำ หรือสนับสนุน หรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้

2. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ตาม 1 หรือ

3. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สิน ตาม 1 หรือ 2

   ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม 1, 2 หรือ 3 จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด

 

มาตรา 5

ผู้โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือ ถือว่ากระทำความผิดฐานฟอกเงิน

 

มาตรา 50

เจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่ง โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า

1. ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ

2. ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ

  และอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง ได้

 

มาตรา 51/1

   ในกรณีที่ศาลเห็นว่าทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าไม่มีผู้ใดขอรับคืนทรัพย์สินภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว ให้สำนักงานนำทรัพย์สินนั้นส่งเข้ากองทุน

   ในกรณีที่มีผู้มาขอรับคืนโดยใช้สิทธิขอรับคืนตามกฎหมายอื่นซึ่งสามารถทำได้ ถึงแม้จะเกินกว่ากำหนด 2 ปี ตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้มาขอรับคืน หากไม่อาจส่งคืนทรัพย์สินได้ให้คืนเป็นเงินจากกองทุนแทน หากยังไม่มีผู้มารับคืนเมื่อล่วงพ้นห้าปีให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของกองทุน  ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินหรือเงินในระหว่างที่ยังไม่มีผู้มารับคืนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6602/2550

   พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้คำจำกัดความคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ไว้แล้ว ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจึงมิได้หมายความว่า ต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำผิดและถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หรือเป็นทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากกการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าวหรือเป็นดอกผลของทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว

   ทรัพย์สินรายการที่ (1) ถึง (13) และ (17) ถึง (23) เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อนต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคสอง คือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้

   ทรัพย์สินรายการที่ (14) ถึง (16) และ (24) ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งมิได้เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อน เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงโดยรับโอนมาจากผู้คัดค้านที่ 2 และมีอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น ปลูกอยู่บนที่ดินต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 (2) คือ ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้รับโอนที่ดินทั้งสามแปลงโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนและเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าว

   พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46

   พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาจึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้

   พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง บัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ก็ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบเพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการจันทร์ถึงศุกร์ 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,068