สัญญาระหว่างสมรส

สัญญาระหว่างสมรส #ทนายสัญญาระหว่างสมรสThanuLaw

สัญญานี้ได้ชื่อว่า คู่สัญญามักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลบางอย่าง ความกลัว ความหลง เป็นต้น เป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงกันในระหว่างจดทะเบียนสมรส ซึ่งจะต้องเกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น เช่นเดียวกันกับสัญญาก่อนสมรส

 

อธิบายข้อกฎหมาย

   ในระหว่างจดทะเบียนสมรส สามีภริยาย่อมทำสัญญาให้สินส่วนตัวหรือส่วนของสินสมรสต่อกันได้ เช่น สามียกคอนโดให้ภริยา หรือจะเป็นการขายรถยนต์ ให้เงินสด โอนหุ้น ให้เช่าที่ดิน เป็นต้น

   หากต่อมาเกิดเปลี่ยนใจอยากได้คืน กฎหมายก็ให้สิทธิในการบอกล้างสัญญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลใด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เพราะเป็นคนละส่วนกับการถอนคืนการให้ อ้างอิง ฎ.4744/2539 , ฎ.3714/2548

   เมื่อบอกเลิกหรือยกเลิกการให้แล้ว ถือว่าสัญญาสิ้นสุด

   แต่การบอกล้างสัญญาไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ผู้ทำการโดยสุจริต (แม้จะไม่เสียค่าตอบแทน) เช่น สามียกรถยนต์ให้ภริยา ต่อมาภริยายกให้น้องสาว แบบนี้เรียกรถยนต์คืนไม่ได้ อ้างอิง ฎ.3185/2552

   ข้อตกลงที่บอกให้สละสิทธิในการบอกล้าง เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. 150 ถือเป็นโมฆะ เช่น สามียกรถยนต์ให้ภริยา โดยระบุในสัญญาว่าห้ามบอกล้างสัญญา ไม่ว่ากรณีใดๆ อ้างอิง ฎ.8739/2551

 

ระยะเวลาบอกล้าง : ตลอดระยะเวลาที่เป็นสามีภริยากัน แต่ไม่เกิน 1 ปีนับแต่หย่าขาด

 

วิธีการบอกล้าง : วาจา หนังสือ ยื่นคำฟ้อง ยื่นคำให้การ

 

เขตอำนาจศาล : ศาลเยาวชนและครอบครัว

 

เพิ่มเติม

1. สัญญาระหว่างสมรส ใช้ได้เฉพาะทรัพย์สิน ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น ค่าเลี้ยงชีพหลังการหย่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างแยกกันอยู่ หรือเงินชดใช้เหตุทำร้ายร่างกาย ไม่ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรส จึงไม่มีสิทธิบอกล้าง

2. ข้อตกลงแบ่งสินสมรสในระหว่าง ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรส มีสิทธิบอกล้างได้ อ้างอิง ฎ.2039/2544

   ตราบใดที่ยังไม่มีการบอกล้าง ทรัพยสินดังกล่าวถือเป็นสินส่วนตัว ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์มีอำนาจจัดการได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1480 อ้างอิง ฎ.79/2529

3. สัญญาระหว่างสมรส ที่มีลักษณะเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก เมื่อบุคคลภายนอกเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว คู่สัญญาไม่อาจบอกล้างได้ อ้างอิง ฎ. 11692/2555

4. การบอกล้างเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ตกทอดแก่ทายาท อ้างอิง ฎ.890/2517

   แต่ถ้าบอกล้างก่อนตาย สิทธิตกทอดแก่ทายาท อ้างอิง ฎ.5485/2537

5. สัญญาระหว่างสมรส ไม่ใช่เรื่องการให้โดยเสน่หา

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : การบอกล้างไม่ต้องมีเหตุผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2548

   โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งยื่นคำขอเปิดระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่สมรส โดยโจทก์ตกลงยกเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ในบัญชีดังกล่าวจำนวน 7,500,000 บาท ให้แก่จำเลย จึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ให้สิทธิสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกล้างสัญญาได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินต่อจำเลย ซึ่งเป็นการกระทำในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม เหตุแห่งการบอกล้างนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมได้ ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

 

ประเด็น : ข้อตกลงห้ามบอกล้างถือว่าขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2551

   แม้สัญญาระหว่างสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันระหว่างที่เป็นสามีภรรยากันจะมีข้อตกลงห้ามไม่ให้บอกล้างหรือยกเลิกสัญญามีกำหนดเวลา 20 ปี ก็ตามแต่ก็เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในระหว่างสมรสโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมและเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกัน ข้อตกลงจะไม่บอกล้างหรือบอกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรส จึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ การกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ได้ทำงานเพราะหลังสมรสโจทก์ลาออกจากงานมาช่วยดูแลคลินิกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำคลินิกดังกล่าวประกอบกับรายได้ของจำเลยที่ 1 ตลาดจนค่าครองชีพในปัจจุบันประกอบกัน

   การกำหนดค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา 1526 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่คำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันถึงที่สุด

 

ประเด็น : สัญญาระหว่างสมรส มิใช่เรื่องการให้โดยเสน่หา การบอกล้างจะต้องอยู่ในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2539

   การที่โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในระหว่างสมรส มีผลทำให้ที่ดินตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ซึ่งบันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ กรณีมิใช่การยกให้ซึ่งจะถอนคืนการให้ได้ต่อเมื่อมีเหตุเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามมาตรา 1469

 

ประเด็น : การบอกล้างเป็นสิทธิเฉพาะตัว หากตายไปแล้ว ทายาทไม่มีสิทธิบอกล้างแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2517

   กฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ได้บังคับว่า ถ้าคู่สมรสไม่หย่าขาดจากกันจะทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อสามีภริยาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกัน หลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้วย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะ สัญญาดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ตราบใดที่สามีภริยายังมิได้บอกล้าง ย่อมต้องถือว่าสัญญาดังกล่าวใช้บังคับได้อยู่เสมอซึ่งมีผลให้เป็นการแยกสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1487 ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายและต่างฝ่าย ต่างมีกรรมสิทธิ์มีอำนาจจัดการและจำหน่ายสินส่วนตัวนั้นได้โดยลำพังตามมาตรา 1486 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

   การบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสซึ่งมิใช่กรณีบอกล้างโมฆียะกรรม แต่เป็นการขอบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 นั้น โดยสภาพเป็นการเฉพาะตัวของสามีหรือภริยาเท่านั้น เมื่อฝ่ายใดถึงแก่กรรม สิทธิบอกล้างย่อมระงับสิ้นไป ไม่ตกทอดไปยังทายาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย ทายาทไม่มีสิทธิบอกล้างได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2517)

 

ประเด็น : ใส่ชื่อร่วมในโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นสินส่วนตัว ถือว่าเป็นการทำสัญญาระหว่างสมรส บอกล้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2562

   เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469

   การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม

 

ประเด็น : แม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส แต่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลรับรอง ไม่สามารถบอกล้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2558

   ในคดีก่อนโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 จะหย่ากันและในสัญญาข้อ 2 ตกลงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม โดยจำเลยที่ 4 จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ภายใน 15 วัน และข้อ 1 ในสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ยินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แม้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนหย่ากัน อันมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรส ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) บัญญัติว่าเป็นสินสมรสก็ตาม แต่ข้อตกลงในเรื่องสินสมรสอื่นได้แสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและมีข้อพิพาทกันได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้บุคคลภายนอกเพื่อระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก สัญญาดังกล่าวแม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส แต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว ไม่อาจบอกล้างได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีสิทธิจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายธนู

1. -

 

ค่าบริการว่าความ คดีสัญญาระหว่างสมรส

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

 ♦ ทำบันทึกสัญญาระหว่างสมรส

-X-

 ♦ ฟ้องคดี / ต่อสู้

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.64.xxx]
เมื่อ: 2022-10-01 15:00:43
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,467