สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก

คดีฟ้องสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก #ทนายคดีผิดสัญญาบันทึกท้ายการหย่าThanuLaw

   กรณีสามีภริยาจดทะเบียนหย่า และบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตกลงยกทรัพย์สินสมรส เช่น ที่ดิน คอนโด หรือค่าอุปการะเลี้ยงดู ให้ลูก หรือคนในครอบครัว ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 และ 375

   หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา บิดาหรือมารดาอีกฝ่าย ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร มีสิทธิฟ้องบังคับให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ดิน

   หากพบว่าฝ่ายที่ผิดสัญญาได้แอบโอนทรัพย์สินไปให้แก่บุคคลอื่น อีกฝ่ายสามารถใช้สิทธิของเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อ้างอิง ฎ.1254/2521

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. ทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกท้ายการหย่า

2. รายการทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด เป็นต้น

3. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน พ่อ แม่ ลูก

4. สูติบัตรของลูก

5. ใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)

 

ค่าขึ้นศาล : คดีละ 200 บาท

 

เขตอำนาจศาล : ศาลเยาวชนและครอบครัว ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ตามทะเบียนบ้าน หรือสำนักงานทะเบียนที่จดทะเบียนหย่า

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : สัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ไม่มีอายุความ หากพบว่าลูกหนี้แอบโอนทรัพย์สินให้คนอื่นไปแล้ว ก็ยังสามารถขอเพิกถอนนิติกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2551

   บันทึกหลังทะเบียนการหย่า ที่ระบุว่าบ้านเลขที่ 11/1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง พร้อมกับที่ดินปลูกสร้างบ้านยกให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บุตรทั้ง 3 คน นั้น เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ ส. ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามได้และสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 193/30 แห่ง ป.พ.พ. มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ส. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 นับถึงวันฟ้องวันที่ 9 เมษายน 2542 เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ส. เป็นกรณีสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกซึ่งสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และสิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แสดงเจตนาต่อ ส. ผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาโดยให้โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญาให้ตนเมื่อต้นปี 2534 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ ส. โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญานับแต่เวลาที่แสดงเจตนาดังกล่าวซึ่งนับถึงวันฟ้องวันที่ 9 เมษยน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ขาดอายุความ ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในภายหลังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 375 ส. จึงไม่มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนให้โดยเสน่หาระหว่าง ส. กับจำเลยได้

 

ประเด็น : บุตรผู้ได้รับประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องแสดงเจตนารับ ก็มีผลสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6478/2541

   ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า กับบันทึกการหย่าซึ่งโจทก์จำเลยได้ทำขึ้นต่างหาก มีข้อความระบุว่าโจทก์จำเลยตกลงยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 7 แปลงให้แก่บุตรทั้งสอง โดยระบุหมายเลขที่ดินทุกแปลงไว้อย่างชัดแจ้ง การที่จำเลยทำข้อตกลงดังกล่าวโดยโจทก์เป็นคู่สัญญาจึงเป็นการทำสัญญาเพื่อชำระหนี้แก่บุตรทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่ง แม้จะไม่ได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายย่อมผูกพันจำเลยให้ปฏิบัติตาม ข้อตกลงนั้น กรณีหาใช่การให้หรือคำมั่นว่าจะให้ อสังหาริมทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525, 526 ไม่ ภายหลังที่โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าแล้ว จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุตรทั้งสอง โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุตรทั้งสอง ตามข้อสัญญาแต่จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ในฐานะคู่สัญญาและได้กระทำการแทนบุตรทั้งสองซึ่งเป็น ผู้เยาว์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่จะถือเอาประโยชน์ จากข้อตกลงในสัญญานั้นแล้วจำเลยจะยกเหตุว่า บุตรทั้งสองยังไม่ได้แสดงเจตนามายังจำเลยเพื่อให้ระงับสิทธินั้นหาได้ไม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375

 

ประเด็น : แอบโอนให้บุคคลอื่น ซึ่งได้รับทราบเรื่องถือว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เพิกถอนนิติกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2521

   โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ได้ทำสัญญาเป็นบันทึกข้อตกลงในเรื่องบุตรและทรัพย์สินมีใจความว่า บุตรอยู่ในความอุปการะทั้งสองฝ่าย โจทก์ที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ 3 แปลงยอมยกให้แก่บุตรทั้ง 7 คน จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ 2 แปลง ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นสวนยกให้แก่บุตรที่ชื่อ ร. ที่ดินที่เป็นที่นาพร้อมบ้าน 1 หลัง ยกให้แก่บุตรทั้ง 7 คน ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน ทั้งสองฝ่ายจะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรในวันที่ 22 มกราคม 2517 ดังนี้ เห็นได้ว่าบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 นั้น ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะเกิดมีขึ้นภายหน้าให้เสร็จสิ้นไป ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850

   จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา และได้โอนขายที่ดิน (ที่นา) ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียเปรียบ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

   จำเลยที่ 2 ทราบข้อตกลง ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ในการแบ่งทรัพย์สิน รวมทั้งการยกที่พิพาทให้บุตรตามบันทึกข้อตกลงแล้ว ยังรับซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำให้โจทก์ที่ 1 เสียเปรียบและเป็นการรับซื้อไว้โดยไม่สุจริต โจทก์ที่ 1 ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสียได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

 

ประเด็น : ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร มีอำนาจฟ้องในนามของตนเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2536

   แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์เป็นคู่สัญญาในบันทึกดังกล่าวโดยตรงกับจำเลยในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทรัพย์สินให้แก่บุตรได้ ตามบันทึกการหย่าเพียงให้จำเลยอุปการะบุตรเท่านั้น หาใช่ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียวไม่ อำนาจปกครองบุตรยังอยู่กับโจทก์ด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในนามตนเองได้ ไม่จำต้องให้บุตรเรียกชำระหนี้จากโจทก์เพราะบุตรจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่ เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี การที่จำเลยฎีกาว่า รถยนต์และบ้าน จำเลยไม่เคยตกลงยกให้แก่บุตร บันทึกข้อตกลงที่เจ้าพนักงานทำขึ้นไม่ชอบเพราะไม่ตรงตามความประสงค์ของจำเลยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

 

ประเด็น : คู่สมรสฟ้องในนามตัวเอง ไม่ใช่คดีอุทลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2534

   บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ มีลักษณะเป็นหนี้ร่วมกันแม้โจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกัน และศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง จ. บุตรผู้เยาว์ โดยไม่ได้กำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในนามตนเองได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จากจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นมารดาและผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่ใช่ฟ้องในนามของผู้เยาว์หรือในฐานะเป็นตัวแทนผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1565 ไม่เป็นคดีอุทลุม

 

ประเด็น : คู่สัญญาตาย ฟ้องทายาทให้โอนที่ดินได้ อายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2435/2536

   การที่โจทก์ที่ 1 กับ ฟ. หย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายทะเบียนหย่าว่ายกที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ที่ 2 นั้น บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.ซึ่งทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ฟ. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้ และโจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิเรียกให้ ฟ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ตนได้โดยตรงเช่นกัน เมื่อ ฟ. ตายหน้าที่และความรับผิดที่ ฟ. มีต่อโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาทย่อมตกทอดมายังจำเลยในฐานะทายาทของ ฟ. จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกดังกล่าว โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้คัดค้านการขอรับมรดกที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2530 และฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2531 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คดีของโจทก์ที่ 2 จึงยังไม่ขาดอายุความจำเลยต้องส่งมอบโฉนดที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ที่ 2

 

ประเด็น : ทำสัญญายกที่ดินให้แม่ยาย มีผลสมบูรณ์ ไม่ได้ยกเลิกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555

   โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว

   แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว ตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

   ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

มาตรา 376 ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดังกล่าวมาในมาตรา 374 นั้น ลูกหนี้อาจจะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้จะได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ก่อนฟ้อง โจทก์ต้องมีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติตามข้อตกลงก่อน

2. การฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ต้องบังคับให้ส่งมอบโฉนดที่ดิน ด้วย

 

ค่าบริการว่าความ คดีผิดสัญญาท้ายทะเบียนหย่า

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ฟ้องบังคับตามสัญญา / ข้อตกลง

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2021-06-22 14:36:47
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,889