ข้อควรรู้คดีอาญา

ข้อแนะนำเมื่อได้รับหมายเรียกคดีอาญา (ศาลแขวง)

1. ผู้ต้องหาโทรศัพท์ไปนัดพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ครั้งที่ 1 ณ สถานีตำรวจฯ

2. โทรศัพท์สอบถามขั้นตอนการประกันตัวชั่วคราว ณ ศาลแขวงฯ

 

ข้อควรรรู้เบื้องต้นสำหรับทนายความ ในการดำเนินคดีตามพรบ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธิพิจารณาความอาญาในศาลแขวง กรณีไม่มีการจับกุม

3. เมื่อผู้ต้องหาได้เข้าพบพนักงานสอบสวนและได้รับแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานอัยการ เพื่อส่งฟ้องต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง

4. หากไม่สามารถฟ้องทันเวลา 48 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนหรืออัยการ ต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอผัดฟ้องได้อีกคราวละไม่เกิน 6 วัน ไม่เกิน 3 คราว (หากอยู่ในระหว่างประกันตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาไม่ต้องมาศาล) ตามมาตรา 7

5. เมื่อศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องครบ 3 คราวข้างต้นแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรืออัยการ ขอผัดฟ้องอีก ต้องอ้างเหตุจำเป็น ศาลจึงจะอนุญาต ผัดฟ้องได้คราวละไม่เกิน 6 วัน อีก 2 คราว (อยู่ในระหว่างประกันตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาต้องมาศาลเซ็นรับทราบด้วย)

รวมทั้งสิ้น 32 วัน

หากเกิน 32 วันแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องต้องขออนุญาตจากอัยการสูงสุด ตามมาตรา 9

6. กรณีผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องพาผู้ต้องหาส่งให้พนักงานอัยการฟ้องต่อศาล โดยมิต้องทำการสอบสวนและให้ฟ้องด้วยวาจา เรียกว่า “ฟ้องใบแดง” หากผู้ต้องหาไม่ไปพบพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการขอหมายจับต่อศาล ตามมาตรา 20

 

ประเด็น : คดีอาญาราษฎรฟ้องเอง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ห้ามโจทก์ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2550

   ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2548

   ป.วิ.อ. มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ประเด็น : หลักการรับฟังคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6131/2558

   คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นคู่ความเดียวกัน คดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ของ อ. ผู้เอาประกันภัยกับโจทก์ พฤติการณ์ในคดีส่วนแพ่ง คือ พบชิ้นส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพิพาทในบริเวณอู่ซ่อมรถที่จำเลยดำเนินกิจการ จำเลยรับว่าซื้อรถยนต์พิพาทจาก ก. ราคา 200,000 บาท โดยโอนลอยทั้งที่ ก. เพิ่งซื้อมาจากบริษัท ห. ในราคา 650,000 บาท ดังนั้น จำเลยรับซื้อรถยนต์ทั้งคันไว้ในราคาต่ำผิดปกติ จึงฟังได้ว่า จำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาททั้งคันโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ลักมา แม้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ มิได้รับของโจรรถยนต์ทั้งคันก็ตาม แต่คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 เมื่อคดีส่วนแพ่งฟังว่า จำเลยรับรถยนต์ไว้ทั้งคันก็ให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งคันแก่โจทก์ได้


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,812