ก่อสร้าง

คดีก่อสร้างบ้าน #ทนายคดีก่อสร้างThanuLaw

การจ้างก่อสร้างบ้าน ถือเป็นสัญญาจ้างทำงานชนิดหนึ่ง ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ก่อสร้างผิดแบบ ผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือแม้เจ้าของบ้านไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง

 

ปัญหาทางกฎหมาย ที่สำคัญ

1. กรณีที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ แม้ผู้รับจ้างไม่ได้ผิดสัญญา แต่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 605

2. มีการก่อสร้างแล้วเสร็จบางงวดงาน ผู้รับเหมามีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างที่ค้างจ่ายได้ตามควรค่าแห่งงานนั้น ๆ

3. เมื่อมีการก่อสร้างชำรุดบกพร่อง ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีแก่ผู้รับเหมา ภายในอายุความ 1 ปีนับแต่วันก่อสร้างเสร็จหรือรับมอบงานแล้ว

 

ปัญหาในทางปฏิบัติ ที่สำคัญ

1. ความกังวลของทางผู้ว่าจ้าง คือ การทิ้งงาน ความล่าช้า คุณภาพของงาน

ทางแก้ : การทิ้งงาน = มีการแบ่งงวดงานที่เหมาะสม งานเสร็จแล้วค่อยจ่ายเงิน

   ความล่าช้า = กำหนดค่าปรับรายวัน

   คุณภาพงาน = การกำหนด BOQ ที่มีรายละเอียดสูง และการหักเงินประกันผลงาน หรือ Bank Guarantee

2. การแบ่งจ่ายเงิน

   2.1. งวดเเรก ประมาณ 10 % ของค่าจ้างทั้งหมด

   2.2. ส่วนงวดสุดท้าย ไว้เป็นค่าการประกันการทิ้งงานและรับประกันผลงาน (ภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบ) ซึ่งควรมีการหักประกันผลงานของเเต่ละงวดงานด้วย

3. การตรวจรับมอบงาน ควรให้ผู้มีความรู้ในการตรวจรับมอบ ป้องกันการปกปิดความชำรุดบกพร่องจากผู้รับเหมาะ

 

กรณี ผู้รับจ้างเรียกร้องค่าจ้าง 

1. ในการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ แต่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างตามส่วน

2. การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างนี้ ถือว่าผู้รับจ้างเป็นผู้ประกอบการการค้า จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปีนับแต่วันส่งมอบงานงวดสุดท้าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34(1)

3. หากคดีที่มีข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างสิ่งต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ผู้รับจ้างต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

4. ในส่วนเงินประกันผลงาน ผู้รับจ้างสามารถเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาประกันผลงาน

 

กรณี ผู้ว่าจ้างเรียกร้อง เหตุเนื่องจากงานบกพร่อง / ทิ้งงาน / ล่าช้า

1. หากสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ เพื่อการชำรุดบกพร่องที่ปรากฎภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฎภายใน 5 ปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างติดกับพื้นดิน นอกจากโรงเรือนทำด้วยไม้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะปิดบังความชำรุดบกพร่อง

   อย่างไรก็ตามผู้ว่าจ้างต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ความชำรุดปรากฎขึ้น ป.พ.พ. มาตรา 600

   ถ้าผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารส่งมอบอาคารซึ่งมีความชำรุดบกพร่อง ผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงค่าจ้างไว้จนกว่าผู้รับจ้างจะแก้ไขความบกพร่องนั้นให้ดีและเสร็จสิ้น เว้นแต่ผู้รับจ้างจะจัดหาประกันให้ตามสมควร แต่หากไม่ปรากฎความชำรุดบกพร่องแล้ว ผู้ว่าจ้างก็ต้องชำระค่าจ้างในส่วนนี้แก่ผู้รับจ้าง หากยึดหน่วงไว้ย่อมถือได้ว่าผิดนัดชำระหนี้ และต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด

   หากส่งมอบงานแล้ว ปรากฎความชำรุดบกพร่อง ผู้ว่าจ้างสามารถเรียก

2. ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าเงินจ้างคืน กรณีผู้รับจ้าง ทิ้งงาน

3. เรียกค่าปรับกรณีล่าช้า

4. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ เนื่องจากการผิดสัญญาของผู้รับจ้าง

5. ค่าขาดประโยชน์ทางการค้า (ก่อสร้างทางธุรกิจการค้า)

6. ค่าเสียหายจากผู้รับเหมารายใหม่ กรณีผู้รับเหมาเดิมละทิ้งงาน หรือไม่ก่อสร้างตามแบบ เพราะผู้รับเหมารายใหม่จะต้องแก้ไขซ่อมแซ่มรื้อถอน

 

ประเภทคดี / ค่าขึ้นศาล

: กรณีผู้ว่าจ้างฟ้องผู้รับเหมา เป็นคดีผู้บริโภค - ค่าขึ้นศาล ฟรี

: กรณีผู้รับเหมาฟ้องเรียกเงินค่าจ้าง เป็นคดีผู้บริโภค - ค่าขึ้นศาล 2%ของทุนทรัพย์

 

เอกสารประกอบคำฟ้อง

1. สัญญาจ้างก่อสร้าง

2. แบบรายการก่อสร้าง BOQ

3. หลักฐานการโอนเงิน

4. บันทึกการส่งมอบงาน

5. ภาพถ่ายความชำรุดบกพร่อง

6. หนังสือบอกกล่าว

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ส่งงานล่าช้า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิปรับตามเวลาที่ล่วงเลย โดยวิธีหักจากค่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2543

   แม้มีเหตุจะเป็นอุปสรรคในการทำการก่อสร้างของโจทก์อยู่บ้าง แต่โจทก์ยังสามารถทำการก่อสร้างในส่วนอื่นได้ และต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันโดยจำเลยผ่อนผันยืดเวลาทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จออกไปอีก และกำหนดไว้ในข้อ 3 ว่าความรับผิดชอบส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จเดิมเป็นต้นไป โจทก์ยอมให้จำเลยปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยจึงมีสิทธิปรับโจทก์ได้ตามสัญญา

   โจทก์ผิดสัญญาก่อสร้างอาคารโดยส่งมอบให้จำเลยล่าช้ากว่ากำหนดจำเลยจึงปรับโจทก์ตามสัญญา โดยหักเงินค่าปรับไว้จากค่าจ้าง เมื่อศาลพิพากษาลดค่าปรับลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้จำเลยคืนค่าปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับที่ได้รับคืนนั้น เพราะการที่จำเลยหักค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง

 

ประเด็น : สัญญาค้ำประกันผลงานของธนาคาร คือ เบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจสั่งลดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2549

   สัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุว่า ในขณะทำสัญญานี้ ผู้รับจ้างได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร น. จำนวนเงิน 167,324 บาท มามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันนี้ผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับจ้างพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว และข้อ 16 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควร ส่วนหนังสือค้ำประกันระบุว่า ธนาคารยอมผูกพันชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 167,324 บาท ในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจึงเป็นเงินประกันค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญา ทั้งตามหนังสือค้ำประกันก็จำกัดวงเงินสูงสุดไว้ มิใช่ว่าธนาคารจะต้องผูกพันชำระเงินเต็มจำนวนตามหนังสือค้ำประกันเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับความเสียหายหรือจำนวนค่าปรับรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ว่ามีเพียงใด จำนวนเงินที่ริบจึงไม่แน่นอนตายตัว การริบเงินดังกล่าวจึงมิใช่การริบในลักษณะที่เป็นมัดจำแต่เป็นการริบในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ โดยเฉพาะสัญญาข้อ 17 ก็ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับค่าปรับหรือค่าเสียหายเอาจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น แม้เงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจะเป็นการประกันรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาหรือสัญญาสิ้นสุดลงด้วยดังที่โจทก์ฎีกาก็ตามก็ต้องถือว่าเป็นการประกันในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับอันเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่นเดียวกับค่าปรับรายวัน

 

ประเด็น : ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านได้ แต่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับเหมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2545

   สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างต่อผู้รับจ้างได้โดยการแจ้งบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า 3 เดือน ไปยังผู้รับจ้างมีความหมายว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยพลันไม่ได้ ต้องให้เวลาโจทก์เตรียมตัวไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อหยุดการก่อสร้าง หยุดการจัดหาสัมภาระในการก่อสร้าง เตรียมรื้อถอนโรงเรือนและวัสดุอุปกรณ์และเลิกจ้างคนงานตลอดจนคำนวณค่าจ้างและค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น มิใช่ว่าโจทก์จำเลยยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญากันโดยโจทก์ต้องก่อสร้างและจำเลยต้องชำระเงินตามกำหนดกันอีกถึง 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่สัญญาต้องเลิกกันอยู่แล้ว จึงต้องถือว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเลิกกันตั้งแต่วันที่แจ้งบอกเลิกสัญญา

   สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโดยจำเลยเป็นผู้บอกเลิกสัญญาอาศัยสิทธิในฐานะผู้ว่าจ้างและโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญากรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 ที่จำเลยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นสำหรับเงินค่าเตรียมการก่อสร้าง เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วก็ไม่ต้องเตรียมการก่อสร้างต่อไปอีก ส่วนเงินค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 3 หลังโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโดยถือว่าสัญญายังไม่เลิกกันจึงไม่มีประเด็นเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 605 และโจทก์ย่อมไม่อาจนำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง

 

ประเด็น : ก่อสร้างแล้วเสร็จบางงวดงาน ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายตามงวดๆนั้น ตามที่ตกลงในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6133/2540

   จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลย รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 1,260,000 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าก่อสร้างเป็น 4 งวด งวดที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาทภายหลังมีการเลิกสัญญาก่อสร้างเมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารให้จำเลยจนครบงวดงานที่ 1 แล้ว โดยจำเลยชำระค่าวัสดุแทนโจทก์ ไปจำนวน 132,612 บาท และโจทก์เบิกเงินค่าแรงงานไปจากจำเลย จำนวน 82,832 บาท จำเลยคงค้างงานอยู่อีก 84,556 บาท เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมส่วนที่เป็นงานอันได้กระทำให้แก่กันแล้ว ให้ชดใช้กันด้วยเงินตามควรค่าแห่งงานนั้น ๆ ดังนี้ เมื่อขณะที่ยังมีข้อสัญญาที่ต้องปฏิบัติต่อกันโจทก์ได้ทำงานให้แก่จำเลยไปบ้างแล้ว ภายหลังเมื่อมีการเลิกสัญญา จำเลยย่อมต้อง ใช้ค่างานแก่โจทก์ตามที่ได้กระทำให้จำเลยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่างานที่เหลือจำนวน 84,556 บาทจากจำเลยได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

 

ประเด็น : อายุความเรียกร้องหรือฟ้องคดี ภายใน 1 ปีนับแต่วันก่อสร้างเสร็จหรือรับมอบงานแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5920/2533

   โจทก์รับมอบงานการก่อสร้างอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2525 ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2526 โจทก์ตรวจพบการชำรุดบกพร่องของอาคารพิพาท โจทก์ต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันการชำรุด บกพร่องได้ปรากฏขึ้น คือวันที่ 24 มีนาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยที่ 1 ส่งช่าง ไปซ่อมแซมอาคารพิพาท เมื่อวันที่ 22-25 เมษายน 2527 ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดในความชำรุด บกพร่อง และเป็นการยอมรับหลังจากอายุความครบบริบูรณ์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ละเสีย ซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ดังนี้ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้น ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา 592 ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น

มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย

มาตรา 594 ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญา เพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า 

มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย

มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร

มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

   แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น

มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น

มาตรา 602 อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ

   ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วน ๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ ไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น

มาตรา 605 ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

มาตรา 607 ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใด ๆ ของผู้รับจ้างช่วง

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. สัญญาหลัก และรายการแนบท้าย BOQ จะต้องมีข้อความที่ไม่ขัดแย้งกัน

2. สัญญาต้องกำหนดระยะเวลาในแต่ละงวดงานอย่างชัดเจน

 

ค่าบริการว่าความ คดีก่อสร้างบ้าน

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

  ♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี

-X-

  ♦ เจรจาไกล่เกลี่ย

-X-

  ♦ ตรวจสอบสัญญาก่อสร้าง

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ทนายธนู Tel. 083 4248098

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: รัน [IP: 171.4.236.xxx]
เมื่อ: 2022-08-22 10:53:24
กรณีที่ในสัญญาระบุไว้ว่า เจ้าของต้องแจ้งผู้รับเหมาให้ทราบว่างานที่ทำมีปัญหา แต่เจ้าของบ้านไม่แจ้งผู้รับเหมาเลย เอาช่างอื่นมาทำแทนแล้วมาเก็บเงินที่ผู้รับเหมาได้ไหมเราควรจ่ายไหมค่ะ
#2 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.248.xxx]
เมื่อ: 2022-11-25 09:27:34
ตอบ #1 โดย: รัน
ไม่ได้ครับ ต้องให้โอกาสผู้รับเหมาได้แก้ไข ก่อน แล้วหากไม่ทำ จึงสามารถนำเงินออกไปจ้างคนอื่นได้
#3 โดย: ปิติพัฒน์ [IP: 49.228.233.xxx]
เมื่อ: 2023-01-30 10:14:32
เมื่อผู้รับจ้างทำงานเสร็จสิ้นแล้ว และในสัญญารับเหมาระบุ " หากผู้ว่าจ้างครอบครองเข้าพักอาศัยแล้ว ให้ถือว่าผู้ว่าจ้างรับมอบงานทั้งหมดแล้ว " ในกรณีผู้ว่าจ้างได้เข้าไปพักอาศัยแล้ว และให้ผู้รับจ้างแกัไขงานจนเป็นที่พอใจแล้วครั้งที่ 1 แต่ผู้ว่าจ้างก็ยังไม่ลงนามเอกสารรับมอบ และยังไม่ชำระเงินงวดสุดท้าย กลับเอาผู้รับจ้างตรวจดีเฟกซ์งานรายอื่น เข้าไปตรวจซ้ำว่าผนังบางจุดไม่เรียบเต็มไปหมด และก็ยังไม่ชำระเงินงวดสุดท้ายอีก จะถือได้ว่าเจ้าของบ้านมีเจตนากลั่นแกล้งและจงใจจะไม่ชำระเงินหรือไม่ หากผู้รับจ้างฟ้อง โอกาสที่เราจะชนะคดีสูงหรือไม่ครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,117