คดีการค้าระหว่างประเทศ

คดีการค้าระหว่างประเทศ

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2551

   การรับขนของทางบกระหว่างประเทศเข้าลักษณะของการับขนตาม ป.พ.พ บรรพ 3 ลักษณะ 8 ว่าด้วยการรับขนและตามบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติเป็นการยกเว้นไว้ดังที่ป.พ.พ. มาตรา 609 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติให้การรับขนของทางทะเลระหว่างประเทศอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ดังนั้น จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาปรับใช้กับการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างประเทศได้

   การเอาประกันภัยหรือไม่เอาประกันภัยในสินค้าของโจทก์เป็นสิทธิของโจทก์ไม่เกี่ยวพันใดๆ กับการเกิดความเสียหายของสินค้าจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9541/2555

   ผู้ขายติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่ง แต่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ขนส่งอีกต่อหนึ่ง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ต่างรับจ้างขนส่งสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เงินส่วนต่างค่าขนส่งเป็นของตนเอง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติของตนอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และเมื่อจำเลยที่ 1 ว่าจ้างผู้ขนส่งคนอื่นคือ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่ผู้ขนส่งมอบหมายสินค้าให้ผู้ขนส่งอื่นขนส่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกันในความสูญหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และมาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย

   ส่วนที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไปร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น เป็นความผูกพันตามสัญญาประกันภัยที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาและผู้รับประโยชน์เท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประกันภัย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การสูญหายของสินค้าทำให้ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งต้องเสียหายมากกว่าราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าระวางการขนส่งแล้วแต่อย่างใด

   จำเลยที่ 5 ออกใบตราส่งและประทับชื่อจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ขนส่ง ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 7 ออกใบรับขนของ (WAYBILL) ระบุว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ส่งของโดยให้ตัวแทนของจำเลยที่ 5 รับสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง อันเป็นการทำหน้าที่ผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลทุกประการ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขนส่งโดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ขนส่งอื่น ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 7 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39, 43, 44 และ 45 สำหรับจำเลยที่ 6 แม้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 6 ไม่ได้ทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824

   ความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ถึง (4) คดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ซึ่งผู้ขนส่งไม่อาจจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 ได้ เมื่อการสูญหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 เป็นผู้ลักเอาสินค้าที่สูญหายไป หรือจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดที่มีเจตนาจะให้เกิดการสูญหาย หรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 ละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่ามีกรณีตามมาตรา 60 (1) ที่ทำให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมรับผิดเพียงจำนวนจำกัดตามมาตรา 58

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18407/2556 

   ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 มาตรา 44 และมาตรา 45 นั้น ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหายโดยเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่ของนั้นอยู่ในความดูแลของตน จึงไม่ใช่ต้องรับผิดเพียงเฉพาะมูลค่าสินค้าที่เสียหาย แต่ยังต้องรับผิดถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้รับตราส่งได้รับจากผลแห่งความเสียหายของสินค้าด้วย ค่าภาษีศุลกากรและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์จำเป็นต้องจ่ายในการนำเข้าสินค้า เมื่อสินค้าเสียหายทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ โจทก์ไม่อาจนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคิดเป็นต้นทุนในการขายสินค้าเพื่อให้ได้ทุนคืน และโจทก์เสียโอกาสในการขายให้ได้กำไร ดังนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมทั้งค่าขาดกำไรย่อมเป็นความเสียหายที่เป็นผลจากความเสียหายของสินค้าที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,708