โยกย้ายงาน

การโยกย้ายงาน

หลักการ

1. มีเหตุจำเป็นและสมควร

2. เป็นการบริการที่เหมาะสม

3. ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง

4. ตำแหน่ง ค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ ไม่ตำกว่าเดิม เว้นลูกจ้างยินยอม

5. ต้องไม่ระบุตำแหน่งไว้โดยเฉพาะ หรือสัญญาสภาพการจ้าง ห้ามโยกย้ายสับเปลี่ยน

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2530

   จำเลยไม่ได้บรรจุโจทก์เป็นพนักงานคุมเครื่องทำความเย็นโดยเฉพาะ และไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างห้ามมิให้จำเลยโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่โจทก์ ดังนั้นเมื่อโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยไม่เติมน้ำเครื่องทำความเย็นทำให้เครื่องทำความเย็นดับ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีสิทธิสั่งสับเปลี่ยนโยกย้ายโจทก์ไปทำหน้าที่พนักงานทั่วไปซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นตำแหน่งต่ำกว่าเดิมหรือทำให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ลดลงโดยโจทก์ยังคงได้ค่าจ้างเท่าเดิม การกระทำของจำเลยไม่เป็นการผิดสภาพการจ้างและไม่เป็นการลงโทษหรือเป็นผลให้โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ อันจะต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2548

   วันที่ 2 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2546 และวันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยงานผู้จัดการทั่วไปในการบริหารงานพนักงานฝ่ายขายที่โรงแรมดังกล่าว โดยให้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิม แม้จะไม่ได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์แต่ก็ไม่ได้ตัดค่าจ้าง เพราะเป็นเงินสวัสดิการที่พนักงานฝ่ายขายเท่านั้นมีสิทธิที่จะได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานอยู่ในฝ่ายขาย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ ส่วนอำนาจบังคับบัญชาสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชานั้นจะมีหรือไม่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำ แม้จะมีอำนาจบังคับบัญชาลดน้อยลงก็มิใช่ข้อที่จะถือว่าเป็นการลดตำแหน่งเสมอไป การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานดังกล่าว จึงเป็นอำนาจบริหารของจำเลยที่จะกระทำได้คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย

   จำเลยออกคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก ในช่วงสงกรานต์ซึ่งมีลูกค้ามาก จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งดังกล่าวจำเลยจึงออกหนังสือเตือนโจทก์ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยทำงานผู้จัดการทั่วไป ในการบริหารงานฝ่ายขายที่โรงแรมดังกล่าว โดยให้สวัสดิการด้านที่พักและอาหารตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วยซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ก็ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยอีก เมื่อการฝ่าฝืนในครั้งหลังมีลักษณะเดียวกันกับการฝ่าฝืนตามหนังสือเตือนครั้งแรก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่โจทก์กระทำผิดครั้งแรก จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย

   จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2548

   แม้นายจ้างจะมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้างเพื่อให้เหมาะสมแก่งาน เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยย้ายโจทก์ในตำแหน่งเลขานุการประสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อซึ่งทำงานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 ของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมสินค้าและชั่งผลไม้ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณสถานที่ซึ่งมีลักษณะงานที่ด้อยกว่าเดิม ทั้งเป็นการย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการซึ่งเป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง จำเลยไม่อาจออกหนังสือเตือนในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

การโยกย้ายสถานประกอบกิจการ (หน้าที่เดิม)

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2562

มาตรา 120 นายจ้างซึ่งประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแห่งใดไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือย้ายไปยังสถานที่อื่นของนายจ้าง ให้นายจ้างปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า โดยให้ปิดประกาศไว้ ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ ที่ลูกจ้างสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ติดต่อกันเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ และประกาศนั้นอย่างน้อยต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด

   ในกรณีที่นายจ้างไม่ปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   หากลูกจ้างคนใดเห็นว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิต ตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างคนนั้น และไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วันนับแต่วันที่ปิดประกาศ หรือ นับแต่วันที่ย้ายสถานประกอบกิจการในกรณีที่นายจ้างมิได้ปิดประกาศตามวรรคหนึ่ง และให้ถือว่า สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา  118

   ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองหรือค่าชดเชยพิเศษ ตามวรรคสามให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด

   ในกรณีที่นายจ้างไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของลูกจ้างตามวรรคสาม ให้นายจ้างยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13550/2558

   พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หมายถึง ผู้ประกอบกิจการย้ายสถานที่ผลิตสินค้า ขายสินค้าหรือสถานที่ให้บริการซึ่งมีอยู่เดิมจากแห่งหนึ่งไปยังสถานที่แห่งใหม่ เดิมปี 2536 โจทก์ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์มีสำนักงานเทพลีลาเป็นสถานที่ประกอบกิจการแห่งเดียว ต่อมาปี 2549 โจทก์เปิดสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งแล้วจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสถานประกอบกิจการแห่งใหม่เป็นสำนักงานใหญ่และสำนักงานเดิมเป็นสำนักงานสาขา โจทก์ทยอยปิดสำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ โดยย้ายลูกจ้างไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 เมษายน 2552 โจทก์ย้ายลูกจ้างในแผนกที่เหลืออยู่ที่สำนักงานเดิมทั้งหมด ถือว่าเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว

   เมื่อโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ทำการสำนักงานใหญ่แล้วทยอยปิดส่วนงานที่สำนักงานเดิมเป็นแผนกๆ ไปโดยโยกย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ทันที และในที่สุดโจทก์ประกาศปิดการดำเนินกิจการที่สำนักงานเดิมอย่างถาวร แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่าต้องการย้ายสถานประกอบกิจการจากสำนักงานเดิมไปยังสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียวตั้งแต่ปี 2549 เพียงแต่ทยอยย้ายแผนกงานและลูกจ้างเท่านั้นไม่ได้ย้ายไปทั้งหมดในทันที การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้สำนักงานเดิมเป็นสาขาเป็นวิธีการหรือกระบวนการของการย้ายสถานประกอบกิจการของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้เวลาถึง 2 ปีเศษ ก็หาใช่โจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปยังสถานที่อื่นซึ่งโจทก์มีอยู่ก่อนแล้วไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545

   จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานครและย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต โดยขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ จึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,331