ครอบครองปรปักษ์

คดีครอบครองปรปักษ์ ที่ดิน #ทนายคดีที่ดินครอบครองปรปักษ์ThanuLaw

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

 

หลักสำคัญของการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

1. ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น ทรัพย์ที่ตนเป็นเจ้าของร่วมด้วย อ้างไม่ได้ อ้างอิง ฎ.9394/2557

2. โดยสงบ คือ ต้องไม่มีข้อพิพาท ข้อโต้แย้ง เป็นคดีความแพ่งหรือแจ้งความร้องทุกข์คดีอาญากันอยู่

3. เปิดเผย คือ บุคคลทั่วไปรับทราบ มิใช่ปกปิดเซ่นเร้นไว้

4. ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ยึดถือเพื่อตน แต่ต้องครอบครองเป็นเจ้าของด้วย

5. ทรัพย์สิน คือ ทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ที่ดินสิทธิครอบครอง(น.ส.3) ไม่เข้าหลักเกณฑ์ แม้ออกโฉนดได้ภายหลัง ก็ไม่นำระยะเวลาที่ครอบครองมารวมได้

6. ไม่ต้องครอบครองด้วยความสุจริต

7. ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี

8. ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าของ ตาม ป.พ.พ. ม.1373 ผู้ครอบครองปรปักษ์มีภาระพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่า

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. โฉนดที่ดิน

2. ภาพถ่ายการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เช่น รั้ว กำแพง สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น

3. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน

4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

5. นิติกรรมสัญญาเดิม (ถ้ามี)

 

เอกสารประกอบการยื่นคัดค้าน

1. ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีที่ดิน

2. เอกสารเกี่ยวกับการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี

 

เขตอำนาจศาล : ศาลที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

 

ค่าธรรมเนียมศาล : ยื่นเป็นคำร้องคดีละ 200 บาท หากมีผู้คัดค้านเข้ามาในคดีจะเป็นคดีมีข้อพิพาท โดยผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ และผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลย จึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ซึ่งผู้ร้องในฐานะโจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมวางศาล ในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมินจากสำนักงานที่ดิน

 

ตัวอย่าง คำพิพากษา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ทำสัญญาซื้อขาย ชำระเงินครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ถือว่าผู้ซื้อได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ อ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6536/2544

   กรณีที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอได้นั้น หมายถึงกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ แต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาล

   โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ โจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เพียงประการเดียวอันจะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ต้องเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(1) จึงเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบกับมาตรา 172 วรรคแรก

   เอกสารการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุชื่อว่า"หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ" แต่ไม่ได้ระบุข้อตกลงที่เป็นการแน่นอนว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันหรือไม่เมื่อใด ประกอบกับโจทก์ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาและจำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้จะตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก แต่โจทก์เข้าครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองตามมาตรา 1382

 

ประเด็น : ทำสัญญาจะซื้อจะขาย(ยังชำระเงินไม่ครบ) แม้จะส่งมอบการครอบครองตามสัญญา มิใช่เป็นการยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2520

   โจทก์ฟ้องว่า ในการซื้อขายที่พิพาท ได้ตกลงกันว่าจำเลยจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ด้วย โดยจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์หลังจากที่จำเลยแบ่งแยกที่พิพาทออกจากโฉนดแล้ว ดังนี้ การซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย

   การที่โจทก์และจำเลยตกลงจะซื้อจะขายที่พิพาทกันแล้วโจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทนั้น เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลยตามสัญญาจะซื้อขาย อันเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนจำเลย มิใช่เป็นการ ยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ทั้งไม่ปรากฏว่าต่อมาโจทก์เปลี่ยนแปลงลักษณะ แห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี โจทก์ ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

 

ประเด็น : ครอบครองที่ดิน โดยเชื่อว่าเป็นของตนเอง ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2562

   ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ย่อมได้รับข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ดังนั้น ผู้ร้องย่อมต้องมีภาระการพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 โดยจะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9788/2553

   การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่

   ที่ดินของโจทก์มีผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยจำนวนมากจนเป็นชุมชนแออัด สถาพบ้านที่ปลูกอยู่กันอย่างแออัด มีลักษณะไม่แน่นหนาถาวร ใช้สังกะสีและไม้เก่ามาปลูกสร้าง สามารถปลูกสร้างต่อเติมและรื้อถอนได้โดยง่าย สภาพบ้านของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่ในสภาพไม่แน่นหนาถาวร ฝากั้นด้วยไม้และสังกะสีเก่า หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า มีสภาพต้องซ่อมแซมบ่อย ลักษณะการปลูกสร้างอยู่เบียดเสียดแทรกอยู่กับบ้านหลังอื่น ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ตัวบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง การปลูกสร้างเข้าลักษณะเป็นการปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมที่จะรื้อถอน ซึ่งการเข้ามาปลูกบ้านในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยพลการ อาศัยโอกาสที่ผู้บุกรุกเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์จำนวนมาก จึงยากในการตรวจสอบว่าเป็นบ้านของใคร และแม้บ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท มีเลขที่บ้านและได้ขอติดตั้งน้ำประปาและไฟฟ้า และจำเลยแสดงแก่บุคคลทั่วไปว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยเพียงแต่นำบ้านเลขที่เดิมของบิดามารดาของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่าอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทและอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ ซึ่งบิดามารดของจำเลยรื้อถอนบ้านไปแล้วมาใช้เป็นเลขที่บ้านของจำเลยที่จำเลยและบิดามารดาของจำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกอาศัยในที่ดินพิพาทของโจทก์ พฤติกรรมของจำเลยที่ปิดบังอำพรางให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าบ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 809 ทั้งที่บ้านของจำเลยไม่มีเลขที่ประจำบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลงเชื่อมาติดตั้งประปาและไฟฟ้าให้แก่บ้านจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่เคยอ้างสิทธิในที่ดินพิพาท เพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือน และจำเลยไม่ได้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งที่จำเลยอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2514 แต่จำเลยเพิ่งมาฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อถูกฟ้องขับไล่คดีนี้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าก่อนหน้านี้จำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ย่อมไม่อาจยกข้ออ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนรับโอนมาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

 

ประเด็น : ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด โดยสุจริต มีสิทธิใครดีกว่า ผู้ครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2562

 

ประเด็น : หากมีการเปลี่ยนเจ้าของที่แท้จริง อายุความจะ Reset เริ่มต้นนับใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกา 6147/2554

   ถึงแม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงอื่นเมื่อวันที่  30 มีนาคม 2530 เป็นต้นมาก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม  2533 บริษัท ค. ซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงพิพาทจากเจ้าของเดิมโดยจดทะเบียนซื้อขายและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นขึ้นอ้างยันต่อบริษัท ค.ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ของจำเลยจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2533 เป็นต้นมา ซึ่งนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้คือวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่ครบระยะเวลา  10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

 

ประเด็น : ครอบครองปรปักษ์ทรัพย์มรดก 

ปกติในการครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์มรดก ถือว่าทายาทหรือผู้จัดการมรดกได้ครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน จึงไม่อาจอ้างเอาระยะเวลาเพื่อครอบครองปรปักษ์ได้ เว้นแต่ได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542

   ประเด็นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างในคำร้องขอมีเพียงว่าผู้ร้องครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องติดต่อกันมา 56 ปีเศษ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ไม่มีประเด็นเรื่องการได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จากบิดามารดาก่อนบิดามารดาถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้ได้ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรมนอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสัก เพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือ เพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

 

ประเด็น : กรณีขายฝาก ผู้ขายฝากยังอยู่ในที่ดิน แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังผู้รับซื้อฝาก อ้างการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2535

   ฝ่ายจำเลยเคยขอไถ่ถอนการขายฝากก่อนครบกำหนด แต่โจทก์ไม่ยอมให้ไถ่เป็นกรณีโจทก์ผิดสัญญา ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยจะเอาที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเองแต่อย่างใด

 

ประเด็น : เข้าใจว่าเป็นที่ดินหลวงหรือที่ดินสาธารณะ ถือว่ามิได้ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2547

   การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของกรมชลประทานและรับว่าหากกรมชลประทานจะเอาคืน จำเลยก็จะคืนให้เช่นนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเท่านั้น มิได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ อีกทั้งที่ดินที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นที่ดินซึ่งบุคคลอื่นมีกรรมสิทธิ์อยู่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 7107 ซึ่งทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัท ท. ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับเมื่อทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน แต่จำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังบริษัท ท. ว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมาบริษัท ท. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จำเลยกลับมีหนังสือขอซื้อที่ดินไปยังบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. พฤติการณ์ของจำเลยจึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลย จึงมีลักษณะเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของผู้อื่น ซึ่งตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง แม้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นเพียงสิทธิครอบครอง การแย่งสิทธิครอบครองใช้เวลาเกิน 1 ปี

 

ค่าบริการว่าความ คดีครอบครองปรปักษ์ที่ดิน

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นคำร้อง คัดค้าน

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.224.xxx]
เมื่อ: 2022-05-29 10:39:29
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: รินทร์ [IP: 118.172.101.xxx]
เมื่อ: 2023-03-24 12:36:10
ในกรณีที่สร้างสิ่งปลูกสร้างเกิน20ปี ไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ พอปีที่25มีนายทุนมาอ้างว่าเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินนี้แต่ก็ไม่เคยเห็นเอกสารโฉนดสักครั้งเราสามารถ ยื่นคำร้องขอครอบครองที่ดินปรปักษ์ได้ไหม

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,233