หลักการทำสัญญา

การทำสัญญา มีประเด็นสำคัญหลายประการด้วยกัน คือ

1. วัตถุประสงค์ของสัญญาว่า ต้องการทำอะไร ควรระบุให้ชัดเจน

2. ชื่อที่อยู่ของคู่สัญญา เพื่อประโยชน์ในการติดตามบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญา

3. ความสามารถของคู่สัญญา หากเป็นผู้เยาว์ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บิดามารดาของผู้เยาว์ให้ความยินยอมก่อน เป็นต้น

4. ถูกต้องตามแบบหรือไม่ เช่น ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน กู้ยืมเงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น

5. ความยินยอมของคู่สมรส หากเป็นการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ขายฝาก เช่าซื้อ จำนอง ก่อให้เกิดภาระจำยอม สิทธิเก็บกิน หรือนำเงินสินสมรสไปให้กู้ ต้องให้คู่สมรสของคู่สัญญาให้ความยินยอมด้วย มิฉะนั้น คู่สมรสอาจฟ้องเพิกถอนสัญญาในภายหลังได้

6. ค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ เมื่อมีการผิดสัญญา ควรระบุให้ชัดเจน

7. ค่าธรรมเนียม ภาษี ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือให้รับผิดชอบร่วมกัน

8. ลายมือชื่อคู่สัญญา หากพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือต้องมีพยานรับรอง 2 คน จึงจะบังคับได้

9. พยานที่รู้เห็นการทำสัญญา แม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องมีพยาน แต่ก็ควรมีพยานไว้เพื่อเบิกความยืนยันการทำสัญญา เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น

 

***ข้อควรระวังในการทำสัญญามีดังนี้***

1. ควรมีหลักฐาน แม้กฎหมายจะให้ทำได้ด้วยวาจา ก็ควรทำเป็นหนังสือ เนื่องจากชัดเจนแน่นอนโต้แย้งได้ยาก

2. อย่าไว้วางใจ คือ อย่าเชื่อใจว่าเขาจะไม่โกง เพราะหากเขาโกงเราจะแก้ไม่ทัน ท่านอย่าเซ็นชื่อในกระดาษเปล่า หรือแบบพิมพ์ที่มิได้กรอกข้อความ ทุกครั้งที่มีการชำระหนี้การขอใบเสร็จหรือหลักฐานการรับชำระหนี้ หรือขอหลักฐานแห่งหนี้คืนมา หรือขีดฆ่าทำลายหลักฐานแห่งหนี้เสีย

3. อย่าเห็นแก่ได้ ประโยชน์ที่มากผิดปกติ ทรัพย์ที่ราคาต่ำผิดปกติ ผู้ที่ทำสัญญามาน่าจะมีทรัพย์เช่นนั้น หรือทำในเวลาผิดปกติ เช่น กลางคืน หรือในวันหยุด ท่านอาจมีความผิดฐานรับของโจร

4. ข้อความในสัญญาควรระบุให้ชัดเจน ไม่ใช้คำที่คลุมเครือหรือแปลได้หลายนัย

5. ควรมีคู่ฉบับ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตรงกัน ป้องกันมิให้ฝ่ายใดแก้ไขสัญญาเพียงฝ่ายเดียว

6. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาภายหลัง อย่าตกลงด้วยวาจา ควรให้คู่สัญญาบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายอาจอ้างได้ว่าไม่มีการตกลงแก้ไข

อ้างอิง จาก ท่าน รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

เพิ่มเติมจากทนายความ เกี่ยวกับ การกู้ยืมเงิน

DO

1. ทำสัญญากู้เงินถูกต้องตามกฎหมาย

2. เขียนตัวหนังสือกำกับตัวเลขเงินกู้

3. มีพยานน่าเชื่อถือลงชื่อในสัญญาอย่างน้อย 1 คน

4. ทำสัญญาเก็บไว้คนละ 1 ชุด

5. ควรมีหลักประกันการชำระหนี้ (คนค้ำประกัน / จดทะเบียนจำนองที่ดิน)

6. ก่อนลงชื่อในสัญญาอ่านให้เข้าใจและตรวจสอบให้ถูกต้อง

7. เก็บหลักฐานรับเงินและหลักฐานการใช้หนี้ไว้ทุกครั้ง

 

DON'T

1. อย่าเสียดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี

2. อย่ารับเงินน้อยกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา

3. อย่าลงชื่อในกระดาษเปล่าและหนังสือที่เว้นบรรทัดไว้

4. อย่านำโฉนดที่ดิน นส3 ให้เจ้าหนี้ถือไว้เป็นประกันการกู้เงิน

5. อย่าเขียนจำนวนเงินในสัญญามากกว่าที่กู้


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,207