ขอรับชำระหนี้จำนอง

ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ต่อศาล ก่อนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา #ขอรับชำระหนี้จำนองThanuLaw

   ภายหลังโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลย และศาลมีคำพิพากษาให้ชนะคดี โจทก์ดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินหรือคอนโดของลูกหนี้

   หากที่ดินหรือคอนโด ที่ยึดนั้นติดจำนอง เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสือแจ้งมายังผู้รับจำนอง เพื่อให้ส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินและสัญญาจำนอง และแถลงวิธีการขาย ซึ่งผู้รับจำนองสามารถเลือกได้ 2 วิธีคือ

1. หากต้องการขายโดยติดจำนองไป ให้แถลงยอดหนี้ปัจจุบัน

2. หากต้องการขายโดยปลอดจำนอง ต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของจำเลย มาชำระหนี้จำนองของผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่น

 

เขตอำนาจศาล : ศาลที่ออกหมายบังคับคดี หรือศาลที่บังคับคดีแทน

 

ประเภทคดี ขช. ขอชำระหนี้บุริมสิทธิ

 

ระยะเวลาในการยื่นคำร้อง

: ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด หรือจำหน่าย ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 324(1)

: ในกรณีอื่น ให้ยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันขาย หรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 324(4)

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. โฉนดที่ดิน / หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด / น.ส.3ก

2. สัญญาจำนอง

3. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน / หนังสือรับรองบริษัท

4. คำพิพากษา พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

5. รายการการยึดอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี

6. ตารางคำนวณดอกเบี้ย

7. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล 1% ของจำนวนที่ขอรับเงิน

2. ค่าขึ้นศาล ขอกันส่วน 200 บาท

3. ค่าส่งหมายให้แก่โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามระเบียบอัตราของศาล

 

ตัวอย่าง คำสั่งศาล : มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เป็นเงิน 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : แม้ไม่ได้ยื่นคำร้อง ก็ยังมีสิทธิบังคับจำนองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543

   แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่ เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย

 

ประเด็น : มีสิทธิได้รับชำระหนี้ เฉพาะส่วนได้ แม้ผู้จำนองจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2550

   ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้จำนองซึ่งถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ได้

   ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของผู้คัดค้านจึงขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เห็นได้ว่าผู้ร้องตั้งเรื่องมาในคำร้องและระบุท้ายคำร้องชัดเจนว่าเป็นการขอใช้สิทธิตามมาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งสิทธิของผู้ร้องในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามกำหนดเวลาของมาตรา 289 วรรคสอง

 

ประเด็น : การขอบังคับจำนอง ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 324 (1) ขอได้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัด โดยไม่ได้กำหนดให้ต้องฟ้องบังคับจำนองก่อน และไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนอง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 728 (ใช้เฉพาะกรณีผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนองเท่านั้น) แต่การใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 324 ไม่ใช่การฟ้องบังคับจำนองโดยตรง จึงไม่ต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551

   ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 ได้

   การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องอีกยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9075/2551

   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยขอให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองมาชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ซึ่งเป็นการร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้จะถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองซึ่งผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (ค) (เดิม) ท้าย ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการฟ้องบังคับจำนองโดยวิธีทั่วไป เพราะทรัพย์จำนองดังกล่าวได้ถูกโจทก์ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ไว้แล้ว และแม้โจทก์กับผู้ร้องจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่การที่ผู้ร้องร้องขอรับชำระหนี้จำนอง เป็นการร้องขอเข้ามาตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ในฐานะที่แตกต่างกัน เมื่อผู้ร้องมิได้ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ผู้ร้องจึงไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน

 

ประเด็น : หนี้จำนองต้องถึงกำหนดชำระแล้ว ผู้รับจำนองจึงจะยื่นคำร้องได้ หากหนี้จำนองยังไม่ถึงกำหนด ต้องใช้สิทธิขอกันส่วน ตามมาตรา 322

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559

   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม ปัจจุบัน คือมาตรา 322 ขอกันส่วน) บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่นๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้

   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)

 

ประเด็น : ช่วงเวลาที่ผู้รับจำนองต้องยื่นคำร้องตามมาตรา 289(ใหม่ 324) คือ ก่อนมีการเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7569/2549

   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอด เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนวันที่ประกาศขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนด

 

ประเด็น : การที่ผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนขายทอดตลาด การบังคับคดีก็ไม่กระทบกระทั่งสิทธิของผู้จำนอง ถ้าได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นไปโดยปลอดจำนอง ผู้รับจำนองก็มีสิทธิรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543

   แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่ เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย

 

ประเด็น : การใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289(ใหม่ 324) นี้ ให้ทำเป็นคำร้องขอโดยผู้รับจำนองไม่จำต้องส่งคำบอกกล่าว เพื่อบังคับจำนองก่อน แต่อย่างใด แม้ว่ายังไม่ได้ฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551

   ผู้รับจำนองมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 โดยหาจำต้องฟ้องร้องขอบังคับจำนองก่อนหรือต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่แล้วไม่ เพราะกฎหมายมิได้มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองดังกล่าว และการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ก็มิใช่การฟ้องบังคับจำนองโดยตรง ผู้รับจำนองจึงไม่ต้องมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองย่อมอาศัยอำนาจแห่งการจำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในทรัพย์จำนองที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นยึดไว้แล้วได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2537

   เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานถึงกำหนดหนี้ตามสัญญาจำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ว. และจำเลยทำไว้เป็นประกันหนี้ประธานดังกล่าว ย่อมถึงกำหนดเช่นกัน ทรัพย์ที่ว. และจำเลยสามีภริยามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ได้จำนองไว้แก่ผู้ร้องเป็นประกันหนี้ของ ว. นั้น โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ แม้ ว. มิได้ถูกฟ้องหรือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเติมจำนวนทั้งสองว.และจำเลยในฐานะเจ้าหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคหนึ่ง

 

ประเด็น : ฟ้องซ้ำ

1. ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองแล้ว มาฟ้องบังคับคดีอีก ถือเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5530/2539

   การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลในคดีแพ่งเรื่องอื่นให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นๆย่อมเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยบุริมสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วยวิธีการเป็นพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา289ดังนั้นคู่ความในคดีดังกล่าวกับคดีนี้จึงเป็นคู่ความรายเดียวกันและเมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่นนั้นถึงที่สุดแล้วและมูลหนี้กับหลักประกันคือสัญญาจำนองที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ก็เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำร้องขอของโจทก์ในคดีดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามมาตรา148

 

2. ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองแล้วไม่มาศาลในวันนัดไต่สวน มาอีกคำร้องอีกครั้ง ถือเป็นคำร้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2551

   การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 นั้น ก็คือการฟ้องขอบังคับจำนองนั่นเอง เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นยกคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องด้วยเหตุที่ผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบในวันนัดไต่สวนนั้น เท่ากับว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้ออ้างในประเด็นแห่งคดีของผู้ร้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีของผู้ร้องแล้ว หาใช่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาพยานหลักฐานหรือวินิจฉัยเนื้อหาในคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองไม่ เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงจะมายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในคดีนี้ซึ่งมีประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นคำร้องซ้ำ

 

ประเด็น : หนี้ภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2545

   แม้เจ้าหนี้บุริมสิทธิมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เอาเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้สามัญ และมีสิทธิยื่นคำร้องให้ตนเข้าเฉลี่ยในเงินดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้สามัญได้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 และ 290 แต่ทั้งสองกรณีนี้เป็นการใช้สิทธิคนละมาตรา คนละเรื่อง และคนละประเด็นกัน เมื่อได้ความว่าหนี้ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่ผู้ร้องเป็นเพียงหนี้สามัญมิใช่หนี้บุริมสิทธิ ฉะนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ตนก่อนนั้น ศาลจะสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแทนการอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์หาได้ไม่ เพราะเป็นการพิจารณาสั่งนอกฟ้องนอกประเด็นในคดี

 

ประเด็น : ใช้สิทธิได้เฉพาะแปลงที่ถูกยึดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2537

   ผู้ร้องรับจำนองที่ดิน 2 แปลง โฉนดเลขที่ 47398 และ 26695 จาก จ. เพื่อประกันหนี้เงินกู้ของ จ. เพียงรายเดียวโดยระบุจำนวนเงินจำนองสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 เป็นเงิน 600,000 บาท และโฉนดเลขที่ 26695 เป็นเงิน 1,900,000 บาท เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 เพียงแปลงเดียวเพื่อบังคับชำระหนี้ ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอรับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 เพียงเท่าจำนวนเงินจำนองของที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองตามส่วนเฉลี่ยของจำนวนเงินจำนองของที่ดินแปลงดังกล่าว แม้ผู้ร้องจะฟ้องบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงแล้วและอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถบังคับชำระหนี้จากที่ดินทั้งสองแปลงที่รับจำนองไว้ก็ตาม แต่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ก็มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะขอใช้สิทธิจำนองบังคับเอาจากทรัพย์จำนองเกินกว่าจำนวนเงินจำนองอันเป็นการกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้อื่นที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองส่วนที่อยู่นอกเหนือจากความรับผิดตามสัญญาจำนองนั้น ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ได้ฟ้องบังคับจำนองจนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว และยื่นคำร้องคดีนี้ขอรับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์จำนองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม การยื่นคำร้องตามจำนวนทุนทรัพย์แต่เสียเพียงค่าคำร้อง 20 บาท แม้ผู้ร้องมิได้ฎีกา ก็สมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่ผู้ร้อง

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 287 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ได้แก่

   (1) เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ลูกหนี้ตามคําพิพากษา และในกรณีที่มีการอายัดสิทธิเรียกร้องให้รวมถึงลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง ผู้ทรงสิทธิเรียกร้อง หรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นด้วย

   (2) บุคคลผู้มีทรัพยสิทธิหรือได้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี

   (3) บุคคลซึ่งได้ยื่นคําร้องขอตามมาตรา 323 มาตรา 324 มาตรา 326 และมาตรา 329 เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี

   (4) บุคคลผู้เป็นเจ้าของรวมหรือบุคคลผู้มีบุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นตามมาตรา 322 เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี

   (5) บุคคลอื่นใดซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุแห่งการดําเนินการบังคับคดีนั้น

มาตรา 289 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีในกรณีดังต่อไปนี้

   (1) เมื่อศาลได้มีคําสั่งให้งดการบังคับคดี เพราะเหตุมีการยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ และได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 199 เบญจ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 207 

   ในกรณีดังกล่าว ถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษายื่นคําร้องว่าตนอาจได้รับความเสียหายจากการยื่นคําขอดังกล่าวและมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคําขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี ศาลมีอํานาจสั่งให้ลูกหนี้ตามคําพิพากษาวางเงินหรือหาประกันตามที่ศาลเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่ศาลจะกําหนด เพื่อเป็นประกันการชําระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาสําหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคําขอนั้น หรือกําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองอย่างใดๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ ถ้าลูกหนี้ตามคําพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งศาล ให้ศาลสั่งเพิกถอนคําสั่งที่ให้งดการบังคับคดี

   (2) เมื่อศาลได้มีคําสั่งให้งดการบังคับคดี และได้ส่งคําสั่งนั้นไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขตามที่ศาลกําหนด

   (3) เมื่อเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กําหนดไว้หรือภายในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคําพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี

   (4) เมื่อเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 154

   ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคําบอกกล่าวงดการบังคับคดีให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียทราบโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้งดการบังคับคดีตามคําขอของบุคคลนั้นเอง

มาตรา 322 ภายใต้บังคับมาตรา 323 และมาตรา 324 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย

***มาตรา 324 บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ หรือได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลนั้นมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

   (1) ในกรณีที่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินหรือเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียนไว้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายหรือจำหน่าย ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

   (ก) ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ขอให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาต การยึดทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว

   (ข) ในกรณีอื่น ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น

   (2) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าทรัพย์สินซึ่งขายหรือจำหน่ายนั้นเป็นของเจ้าของรวมอันได้จดทะเบียนไว้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนของเจ้าของรวมอื่น นอกจากส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 340

   (3) ในกรณีที่เป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายหรือจำหน่าย บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายใน 15 วันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นขอให้นำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น 

   (4) ในกรณีอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) (2) และ (3) ผู้ทรงสิทธินั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ขอให้ตนได้รับส่วนแบ่งในเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายหรือขอให้นำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลในคดีเดิม

2. ทำสำเนาคำร้องและหมายนัดไต่สวนส่งให้แก่โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดี

3. ยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี กรณีที่ส่งไปให้ศาลอื่นบังคับคดีแทน ก็จะยื่นต่อศาลที่บังคับคดีแทนไม่ได้

4. แม้ผู้รับจำนองจะไม่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนขายทอดตลาด ตามมาตรา 298 นี้ ก็ไม่ทำให้จำนองระงับสิ้นไป เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองไม่ใช่เหตุทำให้การจำนองระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 744 การจำนองยังคงติดไปกับทรัพย์นั้น

5. การขอรับชำระหนี้จำนอง จะต้องเป็นหนี้จำนองที่ถึงกำหนดชำระแล้วเท่านั้น หากยังไม่ถึงกำหนด ก็ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะให้เจ้าหนี้จำนองบังคับจำนองได้ก่อนหนี้จำนองถึงกำหนดชำระ ทางออกคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยมีจำนองติดไปด้วย หรือยื่นคำร้องขอกันส่วน

6. ต้องคำนวณดอกเบี้ยระบุไปในคำร้องด้วย แต่เพียงแค่ 5 ปี

 

ค่าบริการว่าความ คดีขอรับชำระหนี้จำนอง

รูปแบบคดี

ราคา(บาท)

♦ ยื่นคำร้อง

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
ตัวอย่าง หนังสือแจ้งส่งโฉนดที่ดินติดจำนอง
 

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,578