ข้อแนะนำ สำหรับผู้ให้เช่า

ข้อแนะนำ สำหรับผู้ให้เช่าห้อง คอนโดฯ บ้าน ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ต่างๆ

เมื่อสัญญาเช่าเกิดขึ้น คู่สัญญาจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

หน้าที่ผู้เช่า คือ ชำระค่าเช่า ตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ หากผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

 

ประเด็น : การบอกเลิกสัญญา

สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา : ย่อมสิ้นสุดเมื่อครบกำหนดตามสัญญา โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2539

   สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่ 13 สิงหาคม2515 จึงสิ้นสุดในวันที่ 13 สิงหาคม 2535 โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อนตามป.พ.พ. มาตรา 564 การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วเพียง 4 วัน แสดงว่าโจทก์ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญากันอีก

 

สัญญาเช่าเกิน 3 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่า : มีผลทำให้ระยะเวลาลดเหลือเพียงแค่ 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538

 

สัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลา : คู่สัญญาสามารถบอกเลิกได้ทุกเมื่อ แต่ต้องให้อีกฝ่ายรู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่เกิน 2 เดือน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2011/2533

   สัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลา ตกลง ชำระค่าเช่าภายในวันที่ 5ของทุกเดือน โจทก์บอกเลิกการเช่า ให้จำเลยออกจากอาคารพิพาทภายในวันที่ 5 มีนาคม 2528 จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าวันที่ 31 มกราคม 2528 นับจากวันที่จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่า จนถึง วันเลิกสัญญา เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เป็นการบอกกล่าวแก่จำเลยให้รู้ตัวก่อนชั่ว กำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งแล้ว การบอกเลิกสัญญาเช่าจึงเป็นไปโดย ชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 566 ประกอบมาตรา 570 โจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายก่อนฟ้องจำนวน 120,000 บาทอัตราค่าทนายความชั้นสูงในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาตาม ตาราง 6ท้าย ป.วิ.พ. ไม่เกินจำนวนร้อยละ 3

 

กรณี สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง เช่น ยอมรับค่าเช่า เป็นต้น สัญญาเช่ามีกำหนด จะกลายเป็นสัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลา ทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2552

   ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้หรือไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท จากโจทก์เป็นเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี คือวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เท่านั้น แต่หลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จำเลยยังคงเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วง จึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ซึ่งโจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 ตามใบตอบรับไปรษณีย์ การบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมายแล้ว จำเลยต้องออกไปจากตึกแถวพิพาท หาใช่โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าไม่

 

สัญญาเช่ารายเดือน แต่ไม่ระบุวัน : ถือเอาวันสิ้นเดือนเป็นกำหนดเวลา อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6159/2551

 

ประเด็น : ซื้อขาย VS สัญญาเช่า

   สัญญาเช่าย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ (โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่า ในขณะที่สัญญาเช่าผูกพันอยู่) โดยสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายรองรับเฉพาะการเช่าที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เท่านั้น หากไม่มี ผู้รับโอนสามารถฟ้องขับไล่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว

 

ประเด็น : ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า

ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ชำระค่าเช่า ในระยะเวลาพอสมควรก่อน หากไม่ชำระ จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

   การที่จำเลย (ผู้เช่า) บอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ (ผู้ให้เช่า) ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึงมาตรา 389 กล่าวคือ โจทก์ต้องเป็นฝ่ายผิดนัดไม่สามารถส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ หรือการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนนั้นเป็นอันพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าอยู่อาศัย ตรงกันข้ามกลับได้ความว่า หลังจากที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์แล้ว โจทก์ได้มีหนังสือไปถึงจำเลย แจ้งให้จำเลยใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าต่อไปและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ด้วย อันเป็นการทักท้วงจำเลยแล้วว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าของจำเลยเป็นไปโดยมิชอบ ทั้งยังยืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าและชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยยังเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งหนังสือโต้แย้งของโจทก์ก็ยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้จากจำเลย

 

   การไม่จ่ายค่าเช่า ถือเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าสามารถใช้บอกเลิกสัญญาได้ แต่กฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 560 ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ไม่น้อยกว่า 15 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผู้เช่าไม่ยอมชำระค่าเช่า ถึงบอกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาเช่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องมีการให้ระยะเวลาผู้เช่าก่อน

   แต่ตามมาตรา 560 นั้น ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวเนื่องด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้ และถือเอาข้อตกลงของคู่สัญญาเป็นสำคัญ โดยหากมีข้อตกลงให้บอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีแล้ว ก็ต้องถือว่าสามารถใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2547

   สัญญาเช่าตึกแถวมีข้อกำหนดว่า ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใด ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่เช่าได้ และมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 560 วรรคสอง

 

ประเด็น : ตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า ล็อคห้อง สามารถทำได้หรือไม่

   หากเป็นเรื่องที่ระบุไว้ในสัญญาก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ ผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่กลับกัน หากไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้ว่ายินยอมให้กระทำดังกล่าว ก็ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2535

   จำเลยไม่ชำระค่าเช่าตามสัญญาและเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยยังคงครอบครองอู่ที่เช่าโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ตามกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะตัดไม่ให้จำเลยใช้น้ำประปาเพื่อบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่ได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2535

   โจทก์เช่าพื้นที่ในโรงแรมของจำเลยที่ 1 เปิดกิจการร้านเสริมสวยและตัดผม แต่ได้เปิดกิจการอาบ อบ นวด ขึ้นนอกเหนือข้อตกลงในสัญญาและโจทก์รู้เห็นยินยอมให้พนักงานนวดของโจทก์ค้าประเวณีกับแขกที่มาพักโรงแรม เป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติหรือการดังกำหนดไว้ในสัญญาเช่า เมื่อจำเลยบอกกล่าวแล้วโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 554 เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว สัญญาเช่าจึงเป็นอันสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าอีกต่อไป การที่จำเลยไม่จ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้โจทก์และต่อมาจำเลยได้ใส่กุญแจไม่ให้โจทก์เข้าไปใช้สถานที่เช่าเป็นการกระทำภายหลังสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงโดยได้กำหนดเวลาให้โจทก์พอสมควรแล้ว จึงไม่เป็นการละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ขาดรายได้จากกิจการของโจทก์และค่าชดเชยที่จ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์นับแต่วันที่สัญญาเช่าได้สิ้นสุดลง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2537

   ตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพัก ข้อ 3 ระบุว่า "ผู้เช่ายอมชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 30 ของเดือนทุก ๆ เดือน ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดเงินประกันของผู้เช่าได้ และใส่กุญแจห้องผู้เช่าก็ได้หรือผู้เช่ายินยอมอนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ" ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใด ยอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลันและมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที" และข้อ 10 ระบุว่า "เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดี หรือผู้เช่าผิดสัญญาเช่าก็ดีผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่า" ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงใช้บังคับได้ บ.ผู้เช่าและจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าต้องปฏิบัติตามสัญญานี้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาและจำเลยที่ 1ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่ บ.ด้วยแล้ว บ.และผู้เสียหายไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไป เมื่อ บ.ไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปในห้องพิพาทแล้วใช้คีมหนีบกุญแจลูกบิดประตูบานพับหน้าต่าง ถอดเอาสะพานไฟฟ้า และเครื่องรับโทรศัพท์ในห้องพิพาทออกไป จึงไม่มีมูลความผิดทางอาญา

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4486/2545

   โจทก์ทำสัญญาเช่าสถานที่ประกอบการค้ากับจำเลย โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องตบแต่งสถานที่ตามที่จำเลยอนุมัติ โจทก์มิได้ติดตั้งระบบไฟฟ้า ตามแบบที่จำเลยอนุมัติ เป็นการผิดสัญญาต่อจำเลย เมื่อสัญญากำหนดว่าหากโจทก์ผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิปิดกั้นหน้าร้าน ตัดน้ำและกระแสไฟฟ้าในสถานที่เช่าได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2609/2522

   โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเงื่อนไขข้อตกลงระบุไว้ในสัญญาเช่าความว่า หากผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดทรัพย์สินของผู้เช่าได้ และให้มีอำนาจใส่กุญแจอาคารวัตถุแห่งสัญญาเช่าได้ทันที เมื่อโจทก์ร่วมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่า และต่อมาได้นำอาโซ่ล่าม ใส่กุญแจบิดทางเข้าออกตึกแถวพิพาทที่ให้เช่า ดังนี้ การกระทำของจำเลยสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมกระทำผิดสัญญาเช่าดังกล่าวซึ่งให้อำนาจแก่จำเลยที่จะกระทำการตามข้อสัญญาและโดยความยินยอมของโจทก์ร่วมได้ จำเลยกระทำไปเพราะเชื่อโดยสุจริตว่า มีสิทธที่กระทำตามสัญญาได้การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาอันเป็นความผิดทางอาญา ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

Visitors: 191,924