สัญญาก่อนสมรส
คดีฟ้องบังคับตามสัญญา เปลี่ยนแปลงเพิกถอนข้อสัญญา บริการร่างสัญญาก่อนสมรส
: คู่สมรสสามารถทำสัญญาในเรื่องทรัพย์สินไว้เป็นพิเศษก่อนสมรส ให้แตกต่างจากที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
: เป็นเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น จะทำเรื่องอื่นไม่ได้
: หากข้อความใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สิน ข้อความนั้นตกเป็นโมฆะ
ตัวอย่าง สัญญาที่บังคับได้ เช่น
1. ค่าเช่าที่ดินของภริยาที่มีอยู่ก่อนสมรส ให้ตกเป็นของภริยาแต่เพียงผู้เดียว
2. บ้านและที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัว ให้ตกเป็นสินสมรส
3. เงินเดือนของสามี ให้ตกเป็นของสามีแต่เพียงผู้เดียว
ตัวอย่าง สัญญาที่บังคับไม่ได้ เช่น
1. สามีจะต้องไม่แบ่งเงินเดือนไปอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากภริยาเก่า หรือมารดาของสามี
2. ให้บุตรที่จะเกิดมาในอนาคต อยู่ใต้อำนาจปกครองของสามีแต่เพียงผู้เดียว
3. สามีไม่ต้องอุปการะเลี้ยงดูภริยา
4. ตกลงกันล่วงหน้าในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินหลังการหย่า
5. ข้อความระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นมาบังคับใช้
6. ห้ามฝ่ายหญิงเล่นการพนัน ห้ามฝ่ายชายมีชู้ หากฝ่าฝืน ยินยอมให้ปรับ 5,000 บาท
7. ให้ทรัพย์สินเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหนึ่ง แต่ให้อีกฝ่ายรับผิดในหนี้เพียงผู้เดียว
8. ฝ่ายชายตกลงจะให้ค่าตอบแทนหญิงเดือนละ 10,000 บาท
แบบของสัญญา มี 2 ประเภท
1. จดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือ
2. ทำเป็นหนังสือสัญญา ลงลายมือชื่อคู่สมรส พร้อมกับพยาน 2 คน แล้วแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส โดยต้องจดแจ้งในทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญาแนบไว้ด้วย
ผลผูกพัน : เฉพาะคู่สมรสเท่านั้น ไม่มีผลถึงบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
การแก้ไขเปลี่ยนแปลง : ต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น
การฟ้องขอให้บังคับตามสัญญา : กรณีคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ยอมปฏิบัติตามข้อสัญญา เช่นไม่ยอมแบ่งทรัพย์สินตามที่ตกลง
การขอให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนข้อสัญญา
: โดยคู่สมรสทั้งสองฝ่ายยินยอม ขั้นตอนจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลเท่านั้น เมื่อศาลมีคำสั่งให้แจ้งไปยังนายทะเบียน เพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
เอกสารประกอบ
1. ใบสำคัญการสมรส
2. สัญญาก่อนสมรส
3. หนังสือให้ความยินยอม
4. บัตรประจำตัวประชาชน
5. Passport แปลภาษาไทย
ค่าขึ้นศาล : 200 บาท
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น : ตกลงให้บ้านพร้อมที่ดิน ซึ่งเป็นสินส่วนตัว ตกเป็นสินสมรส บังคับใช้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกา 6711/2537
การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465 วรรคสอง
ประเด็น : สัญญาก่อนสมรส ไม่ได้จดแจ้งในทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญาแนบไว้ด้วย ถือว่าทำไม่ถูกแบบ ตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3346/2532
สัญญาก่อนสมรสที่ผู้ร้องและจำเลยทำขึ้นมีข้อความว่า ให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรสตกเป็นสินสมรสนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยมิได้จดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำสัญญาก่อนสมรสเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อย 2 คนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ สัญญาก่อนสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวถูกโจทก์ยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
ประเด็น : ต้องทำพร้อมกับจดทะเบียนสมรส ถ้าทำภายหลัง ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรส แต่เป็นสัญญาระหว่างสมรส ซึ่งมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะเป็นสามีภริยาหรือภายใน 1 ปีนับแต่หย่าขาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2552
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แม้ภายหลังในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงจะยกให้โจทก์ บันทึกครั้งหลังนี้ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันตามมาตรา 1469 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว จำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1465 ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้
ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้นๆเป็นโมฆะ
มาตรา 1466 สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็น สัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสหรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อย 2 คนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้
มาตรา 1467 เมื่อสมรสแล้ว จะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล
เมื่อได้มีคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสแล้ว ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนสมรสเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
มาตรา 1468 ข้อความในสัญญาก่อนสมรสไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ไม่ว่าจะได้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยคำสั่งของศาลหรือไม่ก็ตาม
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. เพื่อความสะดวก โดยส่วนใหญ่ ทางสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ มักจะให้ใช้ทำสัญญาแนบไว้พร้อมทะเบียนสมรส
2. ข้อความท้ายสัญญา ต้องระบุด้วยว่า "สัญญาอีกหนึ่งฉบับมอบไว้ให้สำนักงานทะเบียน"
ค่าบริการว่าความ คดีสัญญาก่อนสมรส |
|
รูปแบบคดี |
ราคา(เริ่มต้น) |
บริการร่างสัญญาก่อนสมรส พร้อมดำเนินการจดทะเบียน |
15,000 |
ฟ้องบังคับตามสัญญา |
25,000 |
แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญา |
20,000 |
รับว่าความทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ ฟรีค่าเดินทางทนาย
ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายฟรี
เปิดบริการทุกวัน 7.00 - 18.00 น.
ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments