พ่อฟ้องไม่รับเด็กเป็นบุตร

คดีพ่อฟ้องไม่รับเด็กเป็นบุตร #ฟ้องเพิกถอนความเป็นบิดาThanuLaw

ชาย ผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามี มีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับเด็กเป็นบุตรได้ ตามข้อสันนิษฐาน ดังนี้

1. เด็กที่เกิดระหว่างสมรสหรือภายใน 310 วันนับแต่วันที่สมรสสิ้นสุดลง

2. เด็กที่เกิดจากการสมรสของหญิงหม้ายที่สมรสใหม่ก่อนครบ 310 วันนับแต่วันจดทะเบียนหย่า

3. เด็กที่เกิดจากการสมรที่เป็นโมฆะ

 

ผู้มีสิทธิฟ้อง

1. ชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดา

2. ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก เป็นต้น

 

บุคคลที่ถูกฟ้อง

1. ถ้าเด็กและมารดาเด็กมีชีวิตอยู่ ต้องฟ้องทั้งคู่เป็นจำเลยร่วมกัน

2. ถ้ามารดาเด็กเสียชีวิต ต้องฟ้องเด็กแต่เพียงผู้เดียว

3. ถ้าเด็กเสียชีวิต ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาล

 

การนำสืบ

1. แสดงให้เห็นว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระหว่างตั้งครรภ์ คือ 180 ถึง 310 วันก่อนเด็กเกิด หรือ

2. ตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น เช่น เป็นหมัน เป็นต้น

3. ผลตรวจ DNA

 

ข้อห้ามในการฟ้องคดี : หากชายเป็นผู้แจ้งเองหรือยินยอมให้แจ้งในสูติบัตรของเด็กว่าเป็นบุตรของตน

 

อายุความ : 1 ปีนับแต่รู้ แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่เด็กเกิด

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : นำสืบลอยๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์ คือ ระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิด หรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอยๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์

 

ประเด็น : สมอ้างไปแจ้งเกิดแทน ว่าเป็นบิดา ถือว่ามิใช่บุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2542

   บทบัญญัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 หมายถึงชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ซึ่งเป็นกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 และ 1537 หรือมาตรา 1538 โจทก์เป็นบุตรของ ร. และ อ. ซึ่งมีตัวตนแน่นอน ส. และ สค. ไม่ใช่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์โดยแท้จริง การที่ ส. ไปแจ้งการเกิดลงในสูติบัตรของโจทก์ว่า บิดาโจทก์เป็นคนไทย มารดาเป็นคนกัมพูชาเมื่อมีบุตรขึ้นมาก็แจ้งเกิดไม่ได้ ส. จึงรับสมอ้างไปแจ้งเกิดแทน โดยระบุว่าเป็นบิดาดังนี้ เป็นคนละเรื่องกับกรณีการแจ้งเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของ ส. จึงไม่ใช่บุตรนอกกฎหมายตามความเป็นจริงที่บิดาได้รับรองแล้ว ทั้งไม่ใช่ ผู้สืบสันดานและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และ 1629(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตาย และไม่มีอำนาจฟ้อง

 

ประเด็น : ทายาทชายผู้ถูกอ้างเป็นบิดาฟ้องเกินอายุความ ศาลยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2559

   การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีมีสิทธิโต้แย้งว่า เด็กมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้ แต่ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. 1542 แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สงวนไว้ใช้เฉพาะชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเด็กเท่านั้น เมื่อ ด. ผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาของจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อนที่มีการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. 1545 ได้เปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ อันได้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็ก หรือผู้ที่จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก เมื่อโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร แต่ทั้งนี้ก็มีกำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 1544 (1) คือ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นสามีจะพึงฟ้อง ซึ่งมาตรา 1542 กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก ดังนั้นเมื่อ ด. เป็นผู้ไปแจ้งเกิดว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2512 เท่ากับอย่างน้อย ด. ต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันเกิดของจำเลย คืออย่างช้าในวันที่ 30 เมษายน 2522 การที่ ด. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544 ด. จึงไม่ได้ตายก่อนพ้นระยะเวลาที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 1544 (1) เมื่อ ด. ซึ่งเป็นบิดายังไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ด. แม้เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยมิใช่บุตรของ ด. เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

 

ประเด็น : เคยฟ้องกันมาแล้วและคดีถึงที่สุด แม้คดีใหม่จะอ้างผลตรวจ DNA ก็ถือเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2541 

   คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลังได้เสียกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์อีก แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอน.เอ.เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นซึ่งคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าว ก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในคดีนี้จึงชอบแล้ว

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1536 เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายใน 310 วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี

   ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่บุตรที่เกิดจากหญิงก่อนที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือภายในระยะเวลา 310 วันนับแต่วันนั้น

มาตรา 1537 ในกรณีที่หญิงทำการสมรสใหม่นั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1453 และคลอดบุตรภายใน 310 นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดแต่หญิงนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา 1536 ที่ว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่นั้น

มาตรา 1538 ในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1452 เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง

   ในกรณีที่หญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1452 ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง ให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา 1536 มาใช้บังคับ

   ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่เด็กที่เกิดภายใน 310 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ด้วย

มาตรา 1539 ในกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 มาตรา 1537 หรือมาตรา 1538 ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์คือระหว่าง 180 วันถึง 310 วันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น

   แต่ถ้าในขณะยื่นฟ้องมารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่ จะฟ้องเด็กแต่ผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้ ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่ไม่ว่ามารดาของเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กนั้นไม่เป็นบุตรก็ได้ ในกรณีที่มารดาของเด็กหรือทายาทของเด็กยังมีชีวิตอยู่ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องนี้ไปให้ด้วย และถ้าศาลเห็นสมควร จะส่งสำเนาคำร้องไปให้อัยการพิจารณาเพื่อดำเนินคดีแทนเด็กด้วยก็ได้

มาตรา 1541 ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว

มาตรา 1542 การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 นับแต่วันเกิดของเด็ก

   ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา 1537 หรือชายผู้เป็นสามีในการสมรสครั้งหลังตามมาตรา 1538 ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา 1536 ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา 1544 การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดก เพราะการเกิดของเด็กอาจฟ้องได้ในกรณีดังต่อไปนี้

   (1) ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้

   (2) เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี

   การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (1) ต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (2) ต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

   ให้นำมาตรา 1539 มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

 

ค่าบริการว่าความ คดีพ่อฟ้องไม่รับเป็นบุตร

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง / ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: มะลิวัลย์ [IP: 49.237.18.xxx]
เมื่อ: 2023-01-24 09:51:32
ลูกคนนี้เป็นลูกของชายคนนั้นจริงๆแต่ชายคนนั้นเคยสัญญาไว้ว่าถ้าลูกยังไม่คลอดห้ามมีคนใหม่ แต่ถ้าลูกยังไม่คลอดแล้วหญิงคนนี้ไปมีแฟนใหม่ชายคนนี้จะไม่รับเด็กคนนี้เป็นลูก..แล้วไม่รับผิดชอบอะไรทั้งนั้น แล้วหญิงคนนี้มีสิทธิ์ฟ้องชายคนนั้นที่เป็นพ่อของเด็กจริงๆได้ไหมช
#2 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.69.xxx]
เมื่อ: 2023-04-29 07:13:39
ตอบ #1 โดย: มะลิวัลย์
ฟ้องได้ครับ ข้อตกลงดังกล่าวตกไป

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,687