สินสมรส สินส่วนตัว

สินสมรส สินส่วนตัว หนี้ร่วมของสามีภริยา และการจัดการร่วมกัน

สินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 ได้แก่

   (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส บำเหน็จ บำนาญ เงินชดเชยเลิกจ้าง(ฎ.93/2531) เป็นต้น

   (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

   (3) ที่เป็นดอกผลหรือกำไรสุทธิของสินส่วนตัว เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น

   ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

 

สินส่วนตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 ได้แก่

   (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น

   (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น เครื่องมือก่อสร้าง ชุดทำงาน ชุดออกงาน แหวน นาฬิกาSeiko เป็นต้น

   (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา

   (4) ที่เป็นของหมั้นของฝ่ายหญิง

 

การแบ่งสินสมรส และการชำระหนี้

1. ให้แบ่งกันตามจำนวนที่มีอยู่ในวันฟ้องหย่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาหลังวันฟ้องหย่าย่อมตกเป็นของฝ่ายนั้น โดยได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเท่าๆกัน

2. หากมีหนี้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ความรับผิดในหนี้ร่วมต้องแบ่งตามส่วนเท่ากัน โดยมิต้องคำนึงถึงกองสินส่วนตัว หรือส่วนแบ่งสินสมรสที่ชายหญิงนั้นได้รับไป

3. หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสฝ่ายที่จำหน่ายจะต้องชดใช้ให้แก่กองสินสมรสเท่ากับจำนวนที่จำหน่ายไป ทำให้จำนวนสินสมรสที่จะนำมาแบ่งคงมีจำนวนเท่าเดิมก่อนการจำหน่าย การชดใช้ดังกล่าวจะชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือจากสินส่วนตัวก็ได้

 

เหตุจำเป็นที่ขอให้ศาลอนุญาตให้เป็นผู้จัดการดกสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือขอให้แยกสินสมรส ตาม ป.พ.พ. ม. 1484

1. จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด

2. ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง

3. มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส

4. ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

5. มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : อายุความฟ้องแบ่งสินสมรส มีอายุความ 10 ปี นับแต่ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2500

   มีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง

   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 185 เป็นบทบัญญัติเรื่องการขยายอายุความที่จะสิ้นสุดลงในระหว่างเป็นสามีภริยากันอยู่ให้ขยายต่อไปอีก 1 ปี ไม่ใช่เป็นเรื่องว่าถ้าทรัพย์ระหว่างสามีภริยาตกอยู่แก่ฝ่ายใดเกิน 1 ปีแล้ว ฝ่ายนั้นจะได้กรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินระหว่างสามีที่จะต้องแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1512 นั้นไม่มีกำหนดเวลาระบุไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ม.164

 

ประเด็น : ซื้อเรือนหอมาก่อนสมรส เพื่อมาอยู่ด้วยกัน เป็นสินส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2549

   จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินเพื่อเป็นเรือนหอ อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินมาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 บ้านและที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1)

 

ประเด็น : ซื้อหวยก่อนสมรส แต่ถูกรางวัลหลังจดทะเบียนสมรส เป็นสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2537

   จำเลยใช้เงินของจำเลยซื้อสลากกินแบ่งฯก่อนสมรสกับโจทก์สลากกินแบ่งฯออกรางวัลหลังจากที่โจทก์จำเลยสมรสกันแล้ว และถูกรางวัล เงินรางวัลที่จำเลยได้รับมาจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างสมรสถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519 มาตรา 1474 (1)

 

ประเด็น : ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัว บ้านเป็นสินสมรส และเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

: สามีซื้อที่ดินมาก่อนสมรส แล้วนำไปจำนอง แม้ภริยาร่วมผ่อนชำระหนี้ด้วย ก็เป็นเพียงการช่วยชำระหนี้เงินกู้ให้สามีเท่านั้น ไม่ถือว่าภริยาเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินด้วย ยังเป็นสินส่วนตัวของสามี

   แต่เงินที่ช่วยกันสร้างบ้านภายหลังสมรส บนที่ดินสินส่วนตัวของสามี ด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน บ้านมิใช่ส่วนควบ จึงเป็นกรรมสิทธิรวม สามีไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ แต่ร้องขอกันส่วนเงินที่ขายบ้านได้

คําพิพากษาฎีกาที่ 3943/2561

   การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องกับจําเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรส และเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471(1) ส่วนการที่ต่อมาผู้ร้องน้ําที่ดินพิพาท ที่ซื้อได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของไปจดทะเบียนจํานองประกันหนี้เงินกู้ก็เป็นสิทธิที่ผู้ร้องสามารถทําได้ และการที่จําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจะร่วมผ่อนชําระด้วยก็เป็นเพียงการช่วยชําระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ร้อง เท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้องในที่ดินพิพาทเมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาทอันเป็นสินส่วนตัว ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้คือที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 3)

   บ้านพิพาทบนที่ดินพิพาทเป็นบ้านตึกสองชั้นที่ก่อสร้างขึ้นใหม่แทนบ้านหลังเดิมที่เป็น บ้านตึกชั้นเดียว แต่ยังคงใช้เลขที่บ้านตามเดิม และด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสของผู้ร้องกับ จําเลยที่ 1 และผู้ร้องกับจําเลยที่ 1 ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน พฤติการณ์แสดง ให้เห็นว่าบ้านพิพาทก่อสร้างขึ้นโดยได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 และไม่ถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบของที่ดินอันตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของผู้ร้องแต่ผู้เดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 หากแต่บ้านพิพาทเป็นสินสมรสไม่ใช่สินส่วนตัว จึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของจําเลยที่ 1 กับผู้ร้องเมื่อจําเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในบ้านพิพาทด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้ในส่วนบ้านพิพาทได้

 

ประเด็น : ตกลงแบ่งทรัพย์สินสมรสไว้ท้ายทะเบียนการหย่า แต่ไม่ได้ไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน หากบุคคลภายนอกยึดทรัพย์ดังกล่าว คู่สมรสทำได้เพียงขอกันส่วนเท่านั้น ไม่อาจขอให้เพิกถอนการยึดได้ อ้างอิง ฎ. 3349/2559

 

ประเด็น : ต่างฝ่ายต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ถือครอง เป็นเวลานาน ถือได้ว่าเป็นการแบ่งโดยปริยาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556

   ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่า แต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจา โดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ

 

ประเด็น : ผู้ให้ไม่ระบุชัดว่าเป็นสินสมรส ถือว่าเป็นสินส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12346/2558 

   ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน

 

ประเด็น : ขายที่ดินอันเป็นสินสมรส โดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม สามารถขอเพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1222/255

   คำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง เป็นคำให้การที่ไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบในเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องชัดเจนว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น

   จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่อาจนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 แต่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ได้

   ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต หมายความว่า บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต

 

ประเด็น : ที่ดินมีชื่อภริยาเพียงผู้เดียว นำไปขายฝากโดยสามีไม่ยินยอม สามีสามารถขอเพิกถอนได้ อ้างอิง ฎ. 678/2559

 

ประเด็น : สามีแอบยกที่ดินให้ลูก ที่เกิดจากเมียเก่า ถ้ายกให้โดยความเสมอภาคกัน แม้เมียปัจจุบันไม่ยินยอม ก็เพิกถอนไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10451/2558

   โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2520 อันเป็นเวลาภายหลังที่บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา

   พ. มีทรัพย์สินเป็นที่ดินราคาเป็นหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่จำเลยที่ 1 บุตรของ พ. กับภริยาคนก่อนซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้ง พ. ก็เคยยกที่ดินให้แก่บุตรทั้งสามคนที่เกิดกับโจทก์ การยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการยกให้แก่บุตรทุกคนอย่างเสมอกันตามกำลังทรัพย์ของผู้ยกให้ จึงเป็นการให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ตาม มาตรา 1476 (5) แม้โจทก์จะไม่ให้ความยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนการให้โดยเสน่หาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้

 

ประเด็น : สามีเซ็นค้ำประกัน ภริยาเซ็นเป็นพยาน ถือเป็นการให้สัตยาบัน ต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558

   คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295

 

ประเด็น : หนี้เงินกู้สหกรณ์ของสามี เพื่อนำเงินมาซื้อบ้านอยู่อาศัยร่วมกันในครอบครัว ถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11691/2555

   หนี้ระหว่างสมรสที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมรับผิดคดีนี้เป็นหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว 3 ชั้น เมื่อปี 2532 เพื่อให้จำเลยและบุตรอยู่อาศัยซึ่งระหว่างนั้นโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ต่อมาเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ยืมเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ตราด จำกัด และเดือนตุลาคม 2546 ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ระยอง จำกัด เพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว ดังนั้น ที่ดินพร้อมตึกแถวจึงเป็นสินสมรสและหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสที่โจทก์และจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันและต้องรับผิดร่วมกัน ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมรับผิดในคดีก่อนได้อยู่แล้ว เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสในคดีก่อนที่โจทก์อาจดำเนินคดีได้ไปในคราวเดียวกัน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

 

ประเด็น : ร่วมกันซื้อทาวน์เฮ้าส์ มาก่อนจดทะเบียนสมรส แม้จะร่วมกันผ่อนชำระหนี้ แล้วไถ่ถอนหลังจดทะเบียนสมรส ก็ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558

   การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง

 

ประเด็น : คนต่างด้าวใส่ชื่อในโฉนดที่ดินไม่ได้ ใส่ชื่อภริยาคนไทยเพียงคนเดียว ถือเป็นสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7533/2560

   แม้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จะระบุชื่อของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างจำเลยกับโจทก์สมรสกัน จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาระหว่างสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) เงินที่ซื้อที่ดินพร้อมบ้านเป็นเงินของโจทก์ แต่การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็เพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยเวลามาพักที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดินทางมาเยี่ยมบิดามารดาของจำเลย แต่โจทก์ใส่ชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ได้เนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าว ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ พนักงานขายและเพื่อนโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินให้คำแนะนำว่าให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทน ดังนั้น ในการดำเนินการซื้อขายที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ย่อมต้องให้คำรับรองต่อ เจ้าพนักงานที่ดินว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลย แต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรสหรือทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มิฉะนั้น เจ้าพนักงานที่ดินคงไม่ดำเนินการให้ เมื่อได้โฉนดที่ดินมาแล้ว ต้นฉบับโฉนดที่ดินโจทก์เป็นคนเก็บรักษาไว้ หากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยเป็นสินส่วนตัว โจทก์ก็น่าจะมอบโฉนดที่ดินให้จำเลย การที่โจทก์เก็บโฉนดที่ดินไว้และโจทก์ต้องการซื้อบ้านเพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าโจทก์มิได้ยกให้เป็นสินส่วนตัวของจำเลย แต่โจทก์ต้องการให้ที่ดินและบ้านเป็นสินสมรส ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้ายบัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์กับจำเลยมีส่วนในที่ดินและบ้านพิพาทเท่ากัน

 

ประเด็น : ใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดิน และปลูกสร้างบ้าน แม้จะทำในระหว่างสมรส ก็เป็นสินส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2563

   โจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเล็ก ๆ มีแต่หลังคาแต่ไม่มีฝาบ้านมาในระหว่างสมรส และใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ในการก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้

 

ประเด็น : จัดการสินสมรสไปในทางเสียหาย อีกฝ่ายมีสิทธิขอแยกสินสมรสได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2548

   จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับโจทก์จึงยังมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เงินชดเชย เงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส

   การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง จำเลยหรือโจทก์ซึ่งเป็นสามีภริยาย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหายและต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามมาตรา 1476 วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) (5)

   จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย 186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง 1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน 

   (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

   (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

   (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

   (4) ที่เป็นของหมั้น

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

   (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

   (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

   (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

   ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

มาตรา 1484 ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส

   (1) จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด

   (2) ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง

   (3) มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส

   (4) ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

   (5) มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส

   อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้

   ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ

มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

มาตรา 1535 เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ทุนทรัพย์ต่ำกว่าที่พิพาท แม้จะต่ำกว่า 50,000 บาท ก็ไม่ต้องห้ามให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง ม. 224

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องหย่า

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ฟ้องแบ่งสินสมรส

-X-

 ♦ ฟ้องขอจัดการสินสมรส ฝ่ายเดียว

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: sutti [IP: 27.145.89.xxx]
เมื่อ: 2022-09-30 13:13:27
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2561 ที่ลงไว้ เลขฎีกาน่าจะผิดนะครับ ที่ถูกต้องเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3943/2561 นะครับ ตรวจสอบดูนะครับ
#2 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.33.xxx]
เมื่อ: 2022-11-10 07:31:27
ตอบ #1 โดย: sutti
ขอบคุณครับ แก้ไขให้ถูกต้องตามที่แนะนำมาครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,721