สินสมรส สินส่วนตัว
สินสมรส สินส่วนตัว หนี้ร่วมของสามีภริยา และการจัดการร่วมกัน
สินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 ได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส -- เช่น เงินเดือน โบนัส บำเหน็จ บำนาญ เงินชดเชยเลิกจ้าง(ฎ.93/2531) เป็นต้น
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส -- ถ้าไม่ระบุ จะถือเป็นส่วนตัว
(3) ที่เป็นดอกผลหรือกำไรสุทธิของสินส่วนตัว -- เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
อธิบายเพิ่มเติม : สินสมรส ถือว่าสามีภริยาเป็นเจ้าของร่วมกัน ฉะนั้นจึงมีอำนาจจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือจะต้องได้รับความยินยอม
สินส่วนตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 ได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส -- เช่น บ้าน ที่ดิน หุ้น ทองคำ นาฬิกา Rolex ฺBitcoin เป็นต้น
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง -- เช่น ชุดเครื่องมือก่อสร้าง ชุดออกงาน แหวน นาฬิกา Casio เป็นต้น
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา -- เช่น สามีได้รับที่ดินโดยการยกให้จากพี่สาว โดยเสน่หา เมื่อไม่มีหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัว แต่ในกรณีได้มาจากการให้รางวัล จะถือเป็นสินสมรส
(4) ที่เป็นของหมั้นของฝ่ายหญิง -- ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายหญิงนับตั้งแต่วันที่ฝ่ายชายได้มอบให้แก่ฝ่ายหญิงแล้ว
อธิบายเพิ่มเติม
: สินสวนตัว ถือว่าเป็นของใครของมัน ฉะนั้นจึงมีอำนาจจัดการได้เพียงลำพัง
: การแลกเปลี่ยนของจากสินส่วนตัว ยังถือเป็นสินส่วนตัวอยู่ -- เช่น นำที่ดินเดิมออกขาย แล้วซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่ง โดยใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินแปลงเดิม เป็นต้น
การแบ่งสินสมรส และการชำระหนี้
1. ให้แบ่งกันตามจำนวนที่มีอยู่ในวันฟ้องหย่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาหลังวันฟ้องหย่าย่อมตกเป็นของฝ่ายนั้น โดยได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเท่าๆกัน
2. หากมีหนี้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ความรับผิดในหนี้ร่วมต้องแบ่งตามส่วนเท่ากัน โดยมิต้องคำนึงถึงกองสินส่วนตัว หรือส่วนแบ่งสินสมรสที่ชายหญิงนั้นได้รับไป
3. หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสฝ่ายที่จำหน่ายจะต้องชดใช้ให้แก่กองสินสมรสเท่ากับจำนวนที่จำหน่ายไป ทำให้จำนวนสินสมรสที่จะนำมาแบ่งคงมีจำนวนเท่าเดิมก่อนการจำหน่าย การชดใช้ดังกล่าวจะชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือจากสินส่วนตัวก็ได้
เหตุจำเป็นที่ขอให้ศาลอนุญาตให้เป็นผู้จัดการดกสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือขอให้แยกสินสมรส ตาม ป.พ.พ. ม. 1484
1. จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
2. ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
3. มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
4. ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
5. มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น : อายุความฟ้องแบ่งสินสมรส มีอายุความ 10 ปี นับแต่ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2500
มีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 185 เป็นบทบัญญัติเรื่องการขยายอายุความที่จะสิ้นสุดลงในระหว่างเป็นสามีภริยากันอยู่ให้ขยายต่อไปอีก 1 ปี ไม่ใช่เป็นเรื่องว่าถ้าทรัพย์ระหว่างสามีภริยาตกอยู่แก่ฝ่ายใดเกิน 1 ปีแล้ว ฝ่ายนั้นจะได้กรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินระหว่างสามีที่จะต้องแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1512 นั้นไม่มีกำหนดเวลาระบุไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ม.164
ประเด็น : ซื้อเรือนหอมาก่อนสมรส เพื่อมาอยู่ด้วยกัน เป็นสินส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2549
จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินเพื่อเป็นเรือนหอ อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินมาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 บ้านและที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1)
ประเด็น : ซื้อหวยก่อนสมรส แต่ถูกรางวัลหลังจดทะเบียนสมรส เป็นสินสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2537
จำเลยใช้เงินของจำเลยซื้อสลากกินแบ่งฯก่อนสมรสกับโจทก์สลากกินแบ่งฯออกรางวัลหลังจากที่โจทก์จำเลยสมรสกันแล้ว และถูกรางวัล เงินรางวัลที่จำเลยได้รับมาจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างสมรสถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519 มาตรา 1474 (1)
ประเด็น : ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัว บ้านเป็นสินสมรส และเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
: สามีซื้อที่ดินมาก่อนสมรส แล้วนำไปจำนอง แม้ภริยาร่วมผ่อนชำระหนี้ด้วย ก็เป็นเพียงการช่วยชำระหนี้เงินกู้ให้สามีเท่านั้น ไม่ถือว่าภริยาเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินด้วย ยังเป็นสินส่วนตัวของสามี
แต่เงินที่ช่วยกันสร้างบ้านภายหลังสมรส บนที่ดินสินส่วนตัวของสามี ด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน บ้านมิใช่ส่วนควบ จึงเป็นกรรมสิทธิรวม สามีไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ แต่ร้องขอกันส่วนเงินที่ขายบ้านได้
คําพิพากษาฎีกาที่ 3943/2561
การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องกับจําเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรส และเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471(1) ส่วนการที่ต่อมาผู้ร้องน้ําที่ดินพิพาท ที่ซื้อได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของไปจดทะเบียนจํานองประกันหนี้เงินกู้ก็เป็นสิทธิที่ผู้ร้องสามารถทําได้ และการที่จําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจะร่วมผ่อนชําระด้วยก็เป็นเพียงการช่วยชําระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ร้อง เท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้องในที่ดินพิพาทเมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาทอันเป็นสินส่วนตัว ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้คือที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 3)
บ้านพิพาทบนที่ดินพิพาทเป็นบ้านตึกสองชั้นที่ก่อสร้างขึ้นใหม่แทนบ้านหลังเดิมที่เป็น บ้านตึกชั้นเดียว แต่ยังคงใช้เลขที่บ้านตามเดิม และด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสของผู้ร้องกับ จําเลยที่ 1 และผู้ร้องกับจําเลยที่ 1 ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน พฤติการณ์แสดง ให้เห็นว่าบ้านพิพาทก่อสร้างขึ้นโดยได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 และไม่ถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบของที่ดินอันตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของผู้ร้องแต่ผู้เดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 หากแต่บ้านพิพาทเป็นสินสมรสไม่ใช่สินส่วนตัว จึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของจําเลยที่ 1 กับผู้ร้องเมื่อจําเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในบ้านพิพาทด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้ในส่วนบ้านพิพาทได้
ประเด็น : ตกลงแบ่งทรัพย์สินสมรสไว้ท้ายทะเบียนการหย่า แต่ไม่ได้ไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน หากบุคคลภายนอกยึดทรัพย์ดังกล่าว คู่สมรสทำได้เพียงขอกันส่วนเท่านั้น ไม่อาจขอให้เพิกถอนการยึดได้ อ้างอิง ฎ. 3349/2559
ประเด็น : ต่างฝ่ายต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ถือครอง เป็นเวลานาน ถือได้ว่าเป็นการแบ่งโดยปริยาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556
ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่า แต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจา โดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ
ประเด็น : ผู้ให้ไม่ระบุชัดว่าเป็นสินสมรส ถือว่าเป็นสินส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12346/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน
ประเด็น : ขายที่ดินอันเป็นสินสมรส โดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม สามารถขอเพิกถอนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1222/255
คำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง เป็นคำให้การที่ไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบในเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องชัดเจนว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่อาจนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 แต่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ได้
ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต หมายความว่า บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต
ประเด็น : ที่ดินมีชื่อภริยาเพียงผู้เดียว นำไปขายฝากโดยสามีไม่ยินยอม สามีสามารถขอเพิกถอนได้ อ้างอิง ฎ. 678/2559
ประเด็น : สามีแอบยกที่ดินให้ลูก ที่เกิดจากเมียเก่า ถ้ายกให้โดยความเสมอภาคกัน แม้เมียปัจจุบันไม่ยินยอม ก็เพิกถอนไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10451/2558
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2520 อันเป็นเวลาภายหลังที่บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา
พ. มีทรัพย์สินเป็นที่ดินราคาเป็นหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่จำเลยที่ 1 บุตรของ พ. กับภริยาคนก่อนซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้ง พ. ก็เคยยกที่ดินให้แก่บุตรทั้งสามคนที่เกิดกับโจทก์ การยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการยกให้แก่บุตรทุกคนอย่างเสมอกันตามกำลังทรัพย์ของผู้ยกให้ จึงเป็นการให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ตาม มาตรา 1476 (5) แม้โจทก์จะไม่ให้ความยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนการให้โดยเสน่หาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ประเด็น : สามีเซ็นค้ำประกัน ภริยาเซ็นเป็นพยาน ถือเป็นการให้สัตยาบัน ต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295
ประเด็น : หนี้เงินกู้สหกรณ์ของสามี เพื่อนำเงินมาซื้อบ้านอยู่อาศัยร่วมกันในครอบครัว ถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11691/2555
หนี้ระหว่างสมรสที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมรับผิดคดีนี้เป็นหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว 3 ชั้น เมื่อปี 2532 เพื่อให้จำเลยและบุตรอยู่อาศัยซึ่งระหว่างนั้นโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ต่อมาเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ยืมเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ตราด จำกัด และเดือนตุลาคม 2546 ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ระยอง จำกัด เพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว ดังนั้น ที่ดินพร้อมตึกแถวจึงเป็นสินสมรสและหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสที่โจทก์และจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันและต้องรับผิดร่วมกัน ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมรับผิดในคดีก่อนได้อยู่แล้ว เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสในคดีก่อนที่โจทก์อาจดำเนินคดีได้ไปในคราวเดียวกัน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ประเด็น : ร่วมกันซื้อทาวน์เฮ้าส์ มาก่อนจดทะเบียนสมรส แม้จะร่วมกันผ่อนชำระหนี้ แล้วไถ่ถอนหลังจดทะเบียนสมรส ก็ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ประเด็น : คนต่างด้าวใส่ชื่อในโฉนดที่ดินไม่ได้ ใส่ชื่อภริยาคนไทยเพียงคนเดียว ถือเป็นสินสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7533/2560
แม้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จะระบุชื่อของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างจำเลยกับโจทก์สมรสกัน จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาระหว่างสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) เงินที่ซื้อที่ดินพร้อมบ้านเป็นเงินของโจทก์ แต่การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็เพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยเวลามาพักที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดินทางมาเยี่ยมบิดามารดาของจำเลย แต่โจทก์ใส่ชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ได้เนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าว ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ พนักงานขายและเพื่อนโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินให้คำแนะนำว่าให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทน ดังนั้น ในการดำเนินการซื้อขายที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ย่อมต้องให้คำรับรองต่อ เจ้าพนักงานที่ดินว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลย แต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรสหรือทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มิฉะนั้น เจ้าพนักงานที่ดินคงไม่ดำเนินการให้ เมื่อได้โฉนดที่ดินมาแล้ว ต้นฉบับโฉนดที่ดินโจทก์เป็นคนเก็บรักษาไว้ หากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยเป็นสินส่วนตัว โจทก์ก็น่าจะมอบโฉนดที่ดินให้จำเลย การที่โจทก์เก็บโฉนดที่ดินไว้และโจทก์ต้องการซื้อบ้านเพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าโจทก์มิได้ยกให้เป็นสินส่วนตัวของจำเลย แต่โจทก์ต้องการให้ที่ดินและบ้านเป็นสินสมรส ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้ายบัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์กับจำเลยมีส่วนในที่ดินและบ้านพิพาทเท่ากัน
ประเด็น : ใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดิน และปลูกสร้างบ้าน แม้จะทำในระหว่างสมรส ก็เป็นสินส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2563
โจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเล็ก ๆ มีแต่หลังคาแต่ไม่มีฝาบ้านมาในระหว่างสมรส และใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ในการก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้
ประเด็น : จัดการสินสมรสไปในทางเสียหาย อีกฝ่ายมีสิทธิขอแยกสินสมรสได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2548
จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับโจทก์จึงยังมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เงินชดเชย เงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง จำเลยหรือโจทก์ซึ่งเป็นสามีภริยาย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหายและต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามมาตรา 1476 วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) (5)
จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย 186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง 1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น
มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
มาตรา 1472 สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
มาตรา 1476/1 สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476
มาตรา 1484 ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส
(1) จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
(2) ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
(3) มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
(4) ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(5) มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ
มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน
มาตรา 1535 เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. ทุนทรัพย์ต่ำกว่าที่พิพาท แม้จะต่ำกว่า 50,000 บาท ก็ไม่ต้องห้ามให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง ม. 224
ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องหย่า |
|
รูปแบบคดี |
ราคา(เริ่มต้น) |
♦ ฟ้องแบ่งสินสมรส |
-X- |
♦ ฟ้องขอจัดการสินสมรส ฝ่ายเดียว |
-X- |
รับว่าความทั่วประเทศ คดีฟ้องหย่า แบ่งสินสมรส
ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย
ติดต่อทนายธนู โทร 083 4248098
LINE ID : @tn13
เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.
ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน
ขอบคุณครับ แก้ไขให้ถูกต้องตามที่แนะนำมาครับ