ตัวอย่าง สัญญาประนีประนอมยอมความ

ตัวอย่าง คดีกู้ยืม

เรื่อง ผิดสัญญากู้ยืมเงิน

ข้าพเจ้า โจทก์และจำเลย

ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลมีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้

   ข้อ 1. จำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) โดยผ่อนชำระเป็นรายงวดๆละเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท(ห้าพันบาทถ้วน) ให้เสร็จสิ้นภายใน 48 งวด โดยเริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 งวดต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะชำระให้เสร็จสิ้นแก่โจทก์ โดยชำระผ่านบัญชีธนาคารหมายเลข 123-456-7890 ธนาคารกรุงเทพ ประเภทสะสมทรัพย์ ชื่อบัญชี นายใจดี มีทวง หรือช่องทางการชำระเงินที่โจทก์กำหนด

   ข้อ 2. หากจำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดหนี้ตามทุนทรัพย์ หักด้วยจำนวนเงินที่จำเลยชำระมาภายหลัง พร้อมทั้งยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระ แต่ต้องไม่เกินต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท(หนึ่งล้านบาทถ้วน) นับแต่วันที่ผิดนัดชำระเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้เสร็จสิ้นแก่โจทก์

   ข้อ 3. ค่าทนายความ และค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนให้เป็นพับ

   ข้อ 4. โจทก์ และจำเลยตกลงตามข้อ 1-3 ทุกประการ ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก

 

ตัวอย่าง คดีหย่า

เรื่อง หย่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

ข้าพเจ้า โจทก์และจำเลย

ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลมีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้

   ข้อ 1. โจทก์และจำเลยตกลงไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลได้โปรดมีคำพิพากษา ณ สำนักงานทะเบียนเขตดอนเมือง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

   ข้อ 2. โจทก์และจำเลยตกลงจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร คือ เด็กหญิงน่ารัก น่าชัง ร่วมกัน โดยให้บุตรดังกล่าวอยู่อาศัยกับมารดาหรือโจทก์ และจำเลยมีสิทธิพบบุตรได้ตามเวลาและเหตุผลอันสมควร       

   ข้อ 3. จำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์ เดือนละ 3,000 บาท โดยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกวันที่ 1 ของทุกๆ เดือน เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2555 ไปจนกว่าบุตรจะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ โดยชำระผ่านบัญชีธนาคารหมายเลข 123-456-7890 ธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองทองธานี ประเภทสะสมทรัพย์ ชื่อบัญชีโจทก์

   ข้อ 4. ค่าทนายความ และค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนให้เป็นพับ

   ข้อ 5. โจทก์ และจำเลยตกลงตามข้อ 1-4 ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก

 

ตัวอย่าง คดีรับรองบุตร อำนาจปกครองบุตร

เรื่อง รับรองบุตร อำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

ข้าพเจ้า โจทก์และจำเลย

ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลมีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้

   ข้อ 1. จำเลยยอมว่าเด็กหญิงน่ารัก น่าชัง เป็นบุตรของตน และตกลงไปดำเนินการจดทะเบียนรับรองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ณ สำนักงานทะเบียน ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2564 หากไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

   ข้อ 2. โจทก์และจำเลย ตกลงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรเด็กหญิงน่ารัก น่าชัง ร่วมกัน แต่ในการกำหนดถิ่นที่อยู่และการศึกษาของบุตร ทั้งสองฝ่ายตกลงให้เป็นสิทธิของโจทก์

   ข้อ 3. จำเลยมีสิทธิเยี่ยมเยียนบุตรสัปดาห์ละ 1 วัน ณ ภูมิลำเนาของบุตรผู้เยาว์ และหากผู้เยาว์มีอายุครบ 7 ปีขึ้นไป จำเลยสามารถพาบุตรผู้เยาว์มานอนค้างคืนได้ เดือนละ 1 ครั้ง

   ข้อ 4. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบุตร อันประกอบด้วย ค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ค่ากิจกรรมเรียนเสริม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โจทก์และจำเลยตกลงจ่ายคนละครึ่ง ตามที่จ่ายจริง โดยโจทก์ชำระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ไม่เกินปีละ 60,000 บาท ส่วนที่เกิน 60,000 บาท จำเลยเป็นฝ่ายรับผิดชอบเองทั้งหมด

   ข้อ 5. จำเลยตกลงยินยอมชำระค่าใช้จ่ายที่ผ่านมานับตั้งแต่บุตรเกิด อันประกอบด้วย ค่าฝากครรภ์ ค่าผ่าตัดคลอด ค่าใช้จ่ายของเด็กแรกเกิด ค่าวัคซีน และค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้แก่โจทก์ เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ภายใน 7 นับแต่วันนี้ หากผิดนัดยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 500,000 บาท และยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที

   ข้อ 6. จำเลยตกลงชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ดังนี้

   เดือนละ 15,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 1 เมษายน 2564 และชำระทุกวันที่ 1 ของแต่ละเดือน ไปจนกว่าบุตรจะมีเวลาครบ 12 ปีบริบูรณ์

   เดือนละ 20,000 บาท นับตั้งแต่บุตรมีอายุ 12 ปี 1 เดือน ไปจนกว่าบุตรมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์

   เดือนละ 25,000 บาท นับตั้งแต่บุตรมีอายุ 18 ปี 1 เดือนไปจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี

   โดยชำระผ่านบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 123-456-7890 ชื่อบัญชีโจทก์

   ข้อ 7. โจทก์มีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่บุตรนับตั้งแต่วันทำสัญญานี้ ไปจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ ค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือการการคุ้มครองของประกัน โจทก์จำเลยตกลงชำระคนละครึ่ง

   ข้อ 8. ค่าทนายความ และค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนให้เป็นพับ

   ข้อ 9. โจทก์ และจำเลยตกลงตามข้อ 1-8 ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 138 ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น

   ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

   (1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

   (2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

   (3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

   ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับ

 

มาตรา 274 ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ได้รับชําระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้ หรือได้ดําเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดําเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้

ถ้าคําพิพากษาหรือคําสั่งกําหนดให้ชําระหนี้เป็นงวด เป็นรายเดือน หรือเป็นรายปี หรือกําหนดให้ชําระหนี้อย่างใดในอนาคต ให้นับระยะเวลาสิบปีตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันที่หนี้ตามคําพิพากษา หรือคํา   สั่งนั้นอาจบังคับให้ชําระได้

   ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นมีอํานาจบังคับคดีตามความในหมวด 2 การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด 3 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไป

 

ประเด็น ข้อกฎหมายที่น่าสนใจ

ประเด็น : คู่ความสามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลสามารถมีคำพิพากษาตามยอม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 เกินกว่าคำขอท้ายฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2559

   ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง ก. และ น. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมี ก. และ น. เข้าร่วมตกลงด้วย

   การที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง ก. และ น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อ ก. ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่ ก. โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ ก. เป็นคดีต่างหาก แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11 ระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับ ก. ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง

 

ประเด็น : คู่ความสามารถทำยอมในศาลสูงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6841/2540

   ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่โจทก์และโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดนอกจากนี้อีก และโจทก์จำเลยยอมให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลฎีกาและเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมตึกแถวแก่โจทก์และไม่ต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นและค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อใช้แทนโจทก์เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์

 

ประเด็น : ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว คู่ความสามารถขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่ต้องเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือบ้อผิดหลงเล็กน้อย ตาม มาตรา 143

 

ประเด็น : กำหนดระยะเวลาบังคับคดี ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 กรณีศาลมีคำพิพากษาตามยอม เริ่มนับ 10 ปี ตั้งแต่วันที่หนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง อาจบังคับให้ชำระได้ (วันผิดนัดสัญญายอม)

 

ประเด็น : เพียงสัญญาเพียงเล็กน้อย ถือว่าไม่มีเจตนาผิดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2538
   จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์เป็นงวด ๆ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมตลอดมาโดยวางเงินต่อศาลจึงถึงงวดสุดท้ายจำเลยก็ได้ชำระเงินภายในกำหนดเวลาจำเลยจึงหาได้กำหนดเวลาจำเลยจึงหาได้ผิดนัดชำระหนี้ไม่เพียงแต่งวดสุดท้ายชำระหนี้ขาดไป 40,000 บาทซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนหนี้ทั้งหมด 2,150,000 บาทแล้วนับว่าเป็นส่วนน้อยมากและเกิดขึ้นเพราะความเผอเรออีกทั้งเมื่อจำเลยทราบเหตุก็ได้นำเงินมาวางต่อศาลเพื่อให้โจทก์รับไปทันทีแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะบิดพลิ้วในการชำระหนี้ให้แก่โจทก์และต่อมาโจทก์ก็ขอรับเงินดังกล่าวไม่มีเจตนาที่จะบิดพลิ้วในการชำระหนี้ให้แก่โจทก์และต่อมาโจทก์ก็ขอรับเงินดังกล่าวไปโดยมิได้อิดเอื้อนจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดอันจะเป็นเหตุให้โจทก์บังคับคดีได้เต็มตามฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2559

   โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยตกลงกันว่าจำเลยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งน้อยกว่ายอดเงินเต็มตามฟ้องแก่โจทก์ โดยแบ่งชำระ 6 งวด ตามกำหนด และจะชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ การตีความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระยอดเงินเต็มตามฟ้องจะต้องเป็นไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่า "จำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง" จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์

   จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ครบทั้ง 6 งวด ตามสัญญาประนีประนอมความที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยการชำระเงินงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ตรงตามกำหนด การชำระเงินงวดที่ 5 ถึงกำหนดวันอาทิตย์ จำเลยจึงชำระเงินแก่โจทก์โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันจันทร์ และการชำระเงิน งวดสุดท้ายถึงกำหนดสิ้นเดือนเมษายน 2556 วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นวันแรงงานแห่งชาติอันเป็นวันหยุดของสถานประกอบการของจำเลย จำเลยจึงโอนเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 อันเป็นโอกาสแรกที่ทำได้ ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดมาเพียง 2 วัน ดังนี้เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยโดยตลอดแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง

#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-01 19:23:26
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: รัตนาภรณ์ [IP: 223.24.162.xxx]
เมื่อ: 2023-03-04 20:06:17
คือทำสัญญาเสร็จสิ้นแร้ว พ่อชำระไปงวดแรก มีเจ้าหน้าที่โทรมาเปลี่ยนให้จ่ายสด ไม่เอาแบบชำระทั้งๆที่ทำสัญญากันแร้ว
#3 โดย: เน [IP: 27.145.177.xxx]
เมื่อ: 2023-12-06 16:26:39
รบกวนค่ะ อยากให้อธิบายสิทธิ ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม ข้อ2 ที่ว่า
ข้อ 2. หากจำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดหนี้ตามทุนทรัพย์ หักด้วยจำนวนเงินที่จำเลยชำระมาภายหลัง
หากจำเลยผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่1 เจ้าหนี้ยื่นขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคือได้ตั้งแต่วัันถัดจากวันผิดนัดได้เต็มยอดหนี้ตามทุนทรัพย์ได้เลยหรือว่า บังคับได้แค่ยอดชำระงวดที่1 คะ
#4 โดย: 0632531247 [IP: 49.229.164.xxx]
เมื่อ: 2024-03-07 15:16:52
ทำสัญญาประนีประนอมตกลงยอมความแล้ว แต่โจทก์ทำผิดสํญญา คือไม่ถอนฟ้องจำเลย จำาเลยจึงถูกสั่งฟ้อง ต้องประกันตัวมาสู้คดี ถือว่าผิดสัญญาประนีประนอมมั้ย และ คู่สัญญาที่เป็นจำเลย สามารถ ฟ้องโจทก์ได้มั้ย เมื่อโจทก์ผิดคำสัญญา

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 223,509