ขอพิจารณาคดีใหม่

คดีจำเลยขอพิจารณาคดีใหม่ #ทนายคดีขอพิจารณาคดีใหม่ThanuLaw

คือ กรณีศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี โดยขาดนัดพิจารณา (ไม่ได้ไปศาล) แล้วต่อมาจำเลยมาทราบ ภายหลังจากตัดสินคดีแล้ว

 

สิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลชั้นต้น ภายในกำหนดเวลา ดังนี้

1. กรณีปกติ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับส่งคำบังคับตามคำพิพากษา

2. กรณีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่พฤติการณ์สิ้นสุดลง

   » พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ เช่น จำเลยไปอยู่ต่างประเทศ หรือจำเลยปล่อยบ้านให้ผู้อื่นเช่า ไม่ทราบว่าตนถูกฟ้อง เป็นต้น

3. อย่างไรก็ตาม ห้ามยื่นคำขอต่อศาลเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษา หรือคำสั่งโดยวิธีอื่น แม้พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ยังไม่สิ้นสุดลง

 

คำขอ ต้องบรรยายโดยชัดแจ้ง ดังนี้

1. เหตุที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

2. ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล พร้อมเหตุผลหรือลักฐาน ห้ามกล่าวอ้างลอยๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าหากศาลให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ อ้างอิง ฎ. 8138/2544, 12436/2558, 7174/2556

3. ในกรณียื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการล่าช้านั้นโดยชัดแจ้งด้วย ว่าเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด อ้างอิง ฎ. 9452/2544

 

กรณีศาลไม่รับคำร้อง

» ผู้ร้องต้องอุทรณ์คำสั่งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งไม่รับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่

 

การไต่สวน

1. ถ้าโจทก์ไม่ค้านคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ศาลสั่งให้งดการไต่สวน และมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้

2. การไต่สวนคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไม่จำต้องไต่สวนถึงเนื้อหาของคดีว่า รูปคดีนั้น จำเลยจะชนะคดีหรือไม่

3. การงดการบังคับคดีไว้ก่อน เป็นดุลพินิจของศาล

 

ศาลจะมีคำสั่งอนุญาต เมื่อปรากฏว่า

1. มีเหตุควรเชื่อว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้น มิใช่เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และ

2. ศาลเห็นว่า เหตุผลที่อ้างมาในคำขอนั้น ผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้ และ

3. ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้านั้น ผู้ขอได้ยื่นภายในเวลาที่กำหนด

 

ผลของคำสั่งอนุญาต

   เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ มีผลทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่นๆ ของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ในคดีเดียวกันนั้น และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว แล้วให้ศาลพิจารณาคดีนั้นใหม่ ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยให้จำเลยยื่นคำให้การ ภายในกำหนดเวลาที่ศาลเห็นสมควร

   ดังนั้น ในคดีที่ได้มีการบังคับคดีไปแล้ว การบังคับคดีนั้น ก็ต้องเพิกถอนไปในตัว

» คำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ให้เป็นที่สุด

 

ผลของคำสั่งไม่อนุญาต

จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง และคำสั่งศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด

 

การอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องของศาลชั้นต้น

: ภายใน 1 เดือนนับแต่วันอ่านคำสั่ง โดยผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลและวางค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ อ้างอิง ฎ. 6302/2555

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. สัญญาเช่า

2. ตั๋วเดินทาง Passport VISA

3. ใบแจ้งหนี้ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เนต น้ำประปา ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต เป็นต้น

4. หนังสือแจ้ง จากหน่วยงานราชการ

5. หนังสือรับรองการทำงาน

 

ค่าธรรมเนียม

1. ค่าขึ้นศาล - ฟรี -

2. ค่าส่งหมายนัดให้โจทก์ กับเจ้าพนักงานบังคับคดี 500 - 1,000 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ย้ายที่อยู่ แต่ไม่ได้แก้ไขทะเบียนบ้าน เมื่อไม่ได้รับหมายเรียก ถือว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2544

   จำเลยเคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 213 จังหวัดชลบุรี ตามฟ้องและจำเลยมีที่อยู่ทางทะเบียน ณ บ้านดังกล่าวตลอดมา การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยรวมทั้งหมายนัดสืบพยานโจทก์ ส่งได้โดยวิธีปิดหมายไว้ ณ บ้านดังกล่าว แต่จำเลยไม่ได้อยู่อาศัยที่บ้านหลังนี้มากกว่า 10 ปีแล้ว โดยไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 518/136 กับ บ้านเลขที่ 81/6 และไปๆ มา ๆ ระหว่างบ้าน 2 หลังนี้โดยไม่ได้กลับไปที่บ้านเลขที่ 213 อีกเลย แต่ยังมิได้ย้ายทะเบียนออกจากบ้านหลังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่ง ดังนี้ แม้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยโดยการปิดหมายไว้ ณ บ้านเลขที่ 213 ดังกล่าว จะเป็นการส่งโดยชอบก็ตาม แต่ปัญหาว่าการส่งหมายเป็นไปโดยชอบหรือไม่กับปัญหาว่าจำเลยจงใจขาดนัดหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ และจำเลยไม่ทราบเรื่องที่ถูกฟ้องนี้ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามคำขอของจำเลย

 

ประเด็น : แจ้งย้ายทะเบียนบ้าน แต่ไม่ได้ย้ายที่อยู่จริง ถือว่าตามทะเบียนบ้านมิใช่ภูมิลำเนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2521

   การแจ้งทะเบียนสำมะโนครัวย้ายที่อยู่ยังไม่เป็นการย้ายภูมิลำเนาจนกว่าจะได้ย้ายถิ่นที่อยู่เปลี่ยนภูมิลำเนาจริง ก่อนครบ 1 ปี หลังจากย้ายภูมิลำเนา เจ้าหนี้ยังฟ้องคดีล้มละลายต่อศาลตามภูมิลำเนาเดิมของลูกหนี้ได้

 

ประเด็น : ปล่อยบ้านให้ผู้อื่นเช่า ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7331/2540

   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 กำหนดระยะเวลาในการขอให้พิจารณาใหม่ไว้เป็นลำดับ กล่าวคือในลำดับแรกจะต้องยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนด 15 วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามคำกำหนดนั้นแล้ว ลำดับที่สอง ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าวได้โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง ลำดับที่สาม กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น

   การที่โจทก์ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์และคำบังคับให้จำเลยที่บ้านซึ่งจำเลยและครอบครัวไม่ได้พักอาศัยอยู่ โดยจำเลยให้บุคคลอื่นเช่า จำเลยไม่ทราบถึงการถูกดำเนินคดี นับเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดที่ดินและบ้านของจำเลย จำเลยก็อยู่ด้วย เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แสดงหมายบังคับคดีให้จำเลยดูและบอกให้จำเลยไปดำเนินทางการศาลต่อไป กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ทราบแล้วว่าตนถูกฟ้องและทราบถึงการส่งคำบังคับแล้ว จึงถือได้ว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันนั้น การที่จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์ดังกล่าวนั้นได้สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่

 

ประเด็น : ไปค้าขายต่างจังหวัด ไม่ทราบว่าตนเองถูกต้อง ถือว่าไม่จงใจขาดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2536

   ระหว่างจำเลยถูกฟ้องจำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านตามฟ้องได้เดินทางไปค้าขายต่างจังหวัดไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง กลับจากต่างจังหวัดหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จึงทราบว่าถูกฟ้อง ดังนั้น การที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การและไม่ได้มาศาลในวันนัดพิจารณา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

 

ประเด็น : ปิดหมาย ไม่แน่นหนา หลุดและปลิวไปได้โดยง่าย มีเหตุขอพิจารณาคดีใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2545

   การปิดคำคู่ความหรือเอกสาร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ต้องกระทำให้มีลักษณะแน่นหนา ไม่หลุดออกไปโดยง่าย การที่เจ้าพนักงานศาลเพียงแต่นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง กับหมายนัดสืบพยานโจทก์ ไปเสียบไว้ที่เหล็กที่ใช้เป็นมือจับสำหรับปิดเปิดประตูเหล็กยืดที่บ้านจำเลย ซึ่งอาจหลุดและปลิวไปได้โดยง่าย ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปิดคำคู่ความหรือเอกสารโดยชอบ ดังนั้นเมื่อยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การและหมายกำหนดวันนัดสืบพยานโดยชอบ จำเลยจึงไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ชอบที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

 

ประเด็น : อยู่ชั้น 5 แต่เจ้าหน้าที่ศาลฝากไว้ Mailbox หรือ รปภ. ถือว่าส่งหมายไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2562

   การปิดหมาย เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งต้องปิดหมายไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย การที่ผู้ส่งหมายเพียงแต่วางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 5 จึงไม่ชอบ กระบวนพิจารณาตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

 

ประเด็น : ยื่นคำร้อง เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์สิ้นสุดลง ไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5546/2540

   แม้ในขณะถูกฟ้องและถูกบังคับคดี จำเลยจะไม่ทราบว่าจำเลยถูกฟ้องและถูกบังคับคดีเพราะขณะนั้นจำเลยเดินทางจากประเทศไทยไปทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ที่เกาะฮ่องกง และเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งหลังจากนั้นจำเลยไปอยู่ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่จังหวัดระยองโดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสำเนาคำฟ้องหมายเรียกให้ยื่นคำให้การและหมายบังคับคดีเลยก็ตาม แต่หลังจากจำเลยเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว จำเลยทราบว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้และจำเลยต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีตามที่จำเลยและทนายความของจำเลยได้ยื่นคำแถลงขอตรวจสำนวนและขอคัดสำเนาคำฟ้องคำพิพากษาและคำสั่งของศาล ดังนั้น แม้เหตุที่จำเลยต้องขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาสืบเนื่องมาจากพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา 208 วรรคหนึ่ง ก็ตามแต่เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังประเทศไทย และจำเลยทราบว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้องในวันที่ 27 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยขอตรวจสำนวนที่ศาลชั้นต้นนั้น ย่อมถือได้ว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เสียภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงคือนับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2538 เป็นต้นไป การที่จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ถือว่าจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่

 

ประเด็น : มาศาลเฉพาะครั้งแรก ครั้งต่อไปไม่มา ก็ไม่ถือว่าขาดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2535

   การขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคสอง มีความหมายว่า ในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานเป็นวันแรกในคดีนั้นไม่ว่าจะเป็นพยานฝ่ายใดและไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก่อน หากคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนั้นไม่ว่าตนจะมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบในวันนั้นหรือไม่ก็เป็นการขาดนัดพิจารณา ปรากฏว่าในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานโจทก์ครั้งแรก จำเลยที่ 1 มาศาล การที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยครั้งต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา คู่ความที่จะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ได้นั้น จะต้องปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งให้เป็นฝ่ายขาดนัดพิจารณาเสียก่อนเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ดังนี้สิทธิที่จะขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจเกิดขึ้นได้

 

ประเด็น : การส่งหมายเรียกของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ถือเสมือนคำบังคับในคดีแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15503/2558

   กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา บัญญัติให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งในคดีล้มละลายแม้จะไม่มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยดังเช่นในคดีแพ่งก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกไปยังจำเลยเพื่อไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถือเสมือนว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งจำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว

 

ประเด็น : ยื่นคำร้องล่าช้าเกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันยึดทรัพย์ ต้องห้าม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2536

   คำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยอ้างว่า จำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านในระหว่างถูกฟ้องเพราะเดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบีย แสดงว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ตามที่ระบุในฟ้อง เจ้าพนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตลอดจนคำบังคับให้จำเลยตามภูมิลำเนาดังกล่าว จึงเป็นการส่งโดยชอบแล้ว คำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยจะต้องยื่นภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209ทั้งนี้ แม้จะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่เมื่อมีการยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว ก็ไม่อาจยื่นคำขอล่าช้าเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันยึดทรัพย์ได้

 

ประเด็น : เฉพาะคดีที่มีข้อพิพาท เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2534

   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนคำร้องโดยระบุว่าผู้ใดประสงค์จะคัดค้านให้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวน ผู้คัดค้านไม่ยื่นคำร้องคัดค้านภายในกำหนด จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องคัดค้าน เพราะล่วงเลยเวลาที่จะยื่นคำร้องคัดค้าน ทั้งมิใช่กรณีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 อันจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

 

ประเด็น : เอกสารที่อ้างส่งในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ ไม่จำต้องระบุไว้ในบัญชีระบุพยาน และส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4276/2532

   ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88,90 การยื่นบัญชีระบุพยานและการส่งสำเนาเอกสารนั้นใช้บังคับเฉพาะการสืบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงในประเด็นแห่งคดีที่พิพาทไม่ใช้บังคับในการไต่สวนคำร้องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดี

   ก่อนฟ้องคดีโจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 1274/27 ดังนั้นเมื่อส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 1274/115อันเป็นสำนักทำการงานของจำเลยไม่ได้โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 1274/27อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบคำฟ้องและวันนัดสืบพยาน กรณีมีเหตุที่จะให้พิจารณาใหม่

 

ประเด็น : คดีหย่า เมื่อศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ถือว่าเพิกถอนการจดทะเบียนหย่า / การจดทะเบียนหย่าถือว่าเป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง จำเลยต้องยื่นคำร้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จดทะเบียนหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2538

   ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แล้วพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน โดยไม่มีการส่งคำบังคับให้จำเลย แต่โจทก์นำคำพิพากษาไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนสมรส เป็นการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่นแล้ว จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่มีการบังคับตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208

   เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้พิจารณาใหม่แล้ว คำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดของศาลชั้นต้นและวิธีการบังคับคดีที่ดำเนินไปแล้วนั้น ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 209 วรรคแรก การที่โจทก์ไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าตามคำพิพากษาในทะเบียนสมรส จึงถูกเพิกถอนไปด้วยสถานะบุคคลของโจทก์จำเลยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นสามีภริยากัน

 

ประเด็น : ทายาทจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1890/2536

   ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เป็นการพิจารณา โดยการขาดนัด หากจำเลยไม่มรณะก็ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 147 การขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตาม มาตรา 42 และ 43 นั้น แม้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ ส่วนที่มาตรา 42 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดีให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะจะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะนั้น เป็นกรณีที่ศาลให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไปถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดีหากคู่ความมรณะภายหลังศาลพิพากษาคดีแล้วก็ไม่มีกรณีที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา ในระหว่างนี้หากคดียังไม่ถึงที่สุดทายาทของผู้มรณะก็ยังคงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ มิใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะสิ้นไปด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกับจำเลย หากทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของจำเลย จึงเป็นกรณีสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ผู้ร้องอ้างว่าเป็นทายาทของจำเลยร้องขอเข้ามาแทนที่จำเลยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 199 จัตวา คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น

   คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย

มาตรา 199 เบญจ เมื่อศาลได้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่แล้ว หากเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ

   ในการพิจารณาคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลเห็นว่าเหตุผลที่อ้างมาในคำขอนั้นผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้ ทั้งในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้านั้นผู้ขอได้ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ ในกรณีเช่นนี้ ถ้ามีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดยื่นคำให้การแพ้คดี ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ทราบด้วย

   เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามวรรคสอง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่น ๆ ของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีเดียวกันนั้น และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว และให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นก่อนบังคับคดีได้ หรือเมื่อศาลเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะบังคับเช่นนั้น เพื่อประโยชน์แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอก ให้ศาลมีอำนาจสั่งอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควร แล้วให้ศาลพิจารณาคดีนั้นใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร

   คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

   ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเหตุให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมมากกว่าที่ควรจะต้องเสีย ค่าฤชาธรรมที่เพิ่มขึ้นนั้นให้ถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอันไม่จำเป็นตามความหมายแห่งมาตรา 166

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. จำเลยต้องส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์ และเจ้าพนักงานบังคับคดี

2. การส่งหมายโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตเกือบทั้งหมด

3. กรณียื่นคำร้องไม่ทัน สามารถขอขยายระยะเวลาได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 23

4. จำเลยมีฐานะเป็นผู้ร้อง เอกสารอ้างส่งศาล หมาย ร.

5. ในคดีผู้บริโภค จำเลยในฐานะผู้บริโภคต้องเสียค่านำหมายด้วย

6. กรณีทิ้งบ้านให้รกร้าง ควรถ่ายรูปสภาพพื้นที่บ้านไว้ด้วย

7. ใบแต่งทนาย ต้องมีอำนาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ด้วย

8. การบรรยายคำร้อง ควรคำนึงถึงภูมิลำเนาบุคคลธรรมดา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ด้วย

 

ค่าบริการว่าความ ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นคำร้อง / คำคัดค้าน

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
ตัวอย่างคำสั่งศาล อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
 
 
ตัวอย่าง คำสั่งศาล ชั้นรับคำร้อง
 
 
ตัวอย่าง รายงานกระบวนพิจารณาคดีขอพิจารณาคดีใหม่
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.243.xxx]
เมื่อ: 2019-06-13 01:33:32
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: tan [IP: 125.25.6.xxx]
เมื่อ: 2019-06-18 13:10:53
การขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตัวบทใช้คำขอแต่ทำไมทำเป็นคำร้องครับ
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 58.8.234.xxx]
เมื่อ: 2019-08-12 10:31:40
ตอบ #2 tan
ความเห็นทนาย คงเป็นเรื่องระเบียบของทางศาลครับ แต่การยื่นต้องทำเป็นคำร้อง
#4 โดย: Cho [IP: 119.76.33.xxx]
เมื่อ: 2021-01-11 21:18:00
คำพิพากษาศาลชั้นต้น ขัดแย้งกับคำพิพากษาฎีกาที่มีมาก่อนแล้ว ยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ได้มั้ย ตอนอุทธรณ์ ศาลไม่รับอุทธรณ์ ขณะนี้เพิ่งถูกบังคับคดี
#5 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.70.xxx]
เมื่อ: 2021-11-24 08:22:26
ตอบ #4 โดย: Cho
ไม่ได้ เพราะไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ต้องยื่นอุทธรณ์ เท่านั้น

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,126