เงินประกันเข้างาน

เงินประกันการทำงาน #ทนายคดีแรงงานThanuLaw

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้  ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

   ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

 

ลักษณะหรือสภาพของงานที่เรียกหรือรับหลักประกันได้

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551

ข้อ 4 กำหนดให้ลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างอาจเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานได้ มีดังนี้

   (1) งานสมุห์บัญชี

   (2) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน

   (3) งานควบคุมหือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก

   (4) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง

   (5) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

   (6) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

   (7) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

 

คำถาม : นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันการทำงานให้กับลูกจ้าง เมื่อใด

ตอบ : ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นนายจ้างมีความผิดต้องเสียดอกเบี้ย หรือเงินเพิ่มอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10

   หากระเบียบของบริษัทนายจ้างขัดต่อกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2550

   จำเลยหักเงินประกันการทำงานของโจทก์ไว้ 20,000 บาท โดยจำเลยมีประกาศเรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย และประกาศ เรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าว จึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานแก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก

   เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนพ้นกำหนด 7 วันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ หรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง

 

คำถาม : การเรียกเงินประกันการทำงานคืนจากนายจ้าง คดีมีอายุความกี่ปี

ตอบ : 10 ปี ตาม ป.พ.พ. ม.193/30

 

ถาม : การเก็บเงินประกัน มีวิธีการอย่างไร

ตอบ : นายจ้างจะต้องนำฝากธนาคารแยกบัญชีด้วย เมื่อคืนจะต้องคืนพร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับในบัญชีเงินฝากนั้น ๆ

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2549

   พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินตามบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน เพื่อคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างภายใน 7 วันโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการของพนักงานโดยจ่ายปันผลคืนแก่ลูกจ้างในรูปแบบสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 10 วรรคสอง และประกาศกระทรวงดังกล่าว

   ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เคยมีหนังสือภาคทัณฑ์ลูกจ้างเพราะบันทึกสต๊อกสินค้าบกพร่องมิได้กล่าวถึงเรื่องบันทึกสต๊อกสินค้ามีมูลค่าสูงเกินจริงแต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าลูกจ้างกระทำการยักยอกทรัพย์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และอุทธรณ์โจทก์ที่กล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางไม่ให้สืบพยานโจทก์ในระหว่างพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

 

เงินประกันสามารถหักจากค่าจ้างได้ ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือน ตาม ม.76 โดยข้อตกลงการหัก จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

   (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

   (2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

   (3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

   (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

   (5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

   การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

 

ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม

นายจ้างไม่คืนหลักประกัน ภายในกำหนดเวลา 7 วันนับแต่วันเลิกจ้าง

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

หากไม่คืน เป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 15 ของทุกระยะเวลา 7 วัน จนกว่าจะจ่ายครบ

อ้างอิง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงินตามมาตรา 10 วรรคสอง ไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17/1 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการตามมาตรา 75 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 188 ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 120/1 มาตรา 121 และมาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี

   ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลา 7 วันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน

   ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะคืนหรือจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายธนู

1. การเรียกหลักประกันเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด(60 เท่า) มีผลให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

 

#1 โดย: อานนท์ [IP: 1.46.150.xxx]
เมื่อ: 2023-03-02 10:18:53
ลงคำพิพากษาศาลฏีกาคดีแรงงานด้วยครับบ่อยๆ
#2 โดย: หน่อย [IP: 49.237.10.xxx]
เมื่อ: 2023-05-10 15:46:34
อยากถามว่าในสัญญาว่าจ้างนายเจ้าให้จ่ายเงินประกันงาน20000บาทในสัญญาระยุไว้ว่าเป็นค่าประกันสินค้าเสียหายแต่พอหมดสัญญานายจ้างบอกจะจ่ายเงินประกันคืนให้ภายใน6เดือนตอนนี้ครบ6เดือนนายจ้างแจ้งมาว่าเวินประกันงานโดนหักหมดซึ่งไม่เกี่ยวกับสินค้าเสียหายที่ระบุไส้ในสัญญาจ้างแล้วนายจ้างบอกว่าหักจากที่เราไม่มีเด็กรถบ้างเป็นบางเดือนแบบนี้มันเกี่ยวกันเงินประกันไมค่ะอยากทราบและต้องทำยังไงแบบนี้ฟ้องได้ไม
#3 โดย: กิ๊ฟ [IP: 1.46.143.xxx]
เมื่อ: 2023-05-24 11:45:18
จะยื่นฟ้องนายจ้างไม่คืนเงินประกันต้องทำยังไงบ้างค่ะ
#4 โดย: อัย [IP: 184.22.140.xxx]
เมื่อ: 2023-07-06 19:48:58
ฟ้องเลยคะ กรมแรงงานคะ เคยขุ่ว่าจะแจ้งกรมแรงงาน เค้าก้อ คืนเลย
#5 โดย: 12564856743496 [IP: 182.52.22.xxx]
เมื่อ: 2023-07-20 17:37:46
การที่นายจ้างหักเงินประกันงานลูกจ้างไว้ แต่พอกรมแรงงาน เข้าตรวจสอบ และมีพนักงานฟ้องร้องไปยังกรมแรงงาน ว่ามีการหักเงินประกันงาน และกรณีที่ลาออกไม่ได้คืน พอถึงเวลากำหนดให้ชำระ เงินคืนแก่ลูกจ้าง แต่นายจ้างไม่ยอมคืน เลื่อนคืนเงินแก่ลูกจ้างไปอีก 1 เดือน 15 วัน นับจากวันที่ทำข้อตกลงว่าจะขึ้น ภายในวันที่ 15/7 แต่ขอเลื่อนจ่ายไปอีก สิ้นเดือน สิงหาคม แบบนี้สามารถฟ้องร้องอะไรได้มั้ยคะ เหมือนนายจ้างเล่นแง่มากเลยค่ะ ไม่ยอมจ่าย ทั้งที่เงินก็หักของลูกจ้างไป แต่พอกำหนดจ่ายกลับไม่จ่าย ทำอะไรได้บ้างคะ
#6 โดย: MAR [IP: 49.237.9.xxx]
เมื่อ: 2023-08-13 00:20:50
จงใจไม่จ่ายภายใน 7 วันต้องเสียเงินเพื่มให้ลูกจ้าง 15% อาทิตย์ละ 15% จนกว่าจะจ่าย ครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,533