ซื้อขายบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์

คดีผิดสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์ #ทนายคดีซื้อขายบ้านThanuLaw

ความหมายของเงินในสัญญา

1. เงินจอง คือ เงินที่จ่ายให้ ก่อนวันทำสัญญา เพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้จะขาย

2. เงินทำสัญญา คือ เงินที่จ่ายให้ ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย

3. เงินดาวน์ คือ เงินที่จ่ายให้เป็นงวดๆ หลังวันทำสัญญา เพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนก่อนถึงกำหนดวันซื้อขาย

: เงินจอง เงินทำสัญญา เป็นเงินที่มอบให้แก่กันไว้อันมีลักษณะเป็นมัดจำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 เว้นแต่สัญญาจะเขียนกำหนดไว้ว่า เป็นการวางเงินไว้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากผู้จะซื้อผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ ผู้จะขายย่อมมีสิทธิริบเงินเหล่านี้ได้ในฐานะที่เป็นมัดจำได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 378

   +++แต่หากว่าเงินมัดจำสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดให้เหลือเพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงได้ และต้องคืนบางส่วนแก่ผู้ให้มัดจำ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 โดยเงินมัดจำนี้ ผู้รับมัดจำไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา อ้างอิง ฎ. 1383/2563 , 2139/2565

 

: เงินดาวน์ ไม่ใช่มัดจำ เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่คู่สัญญาได้ให้ต่อกันไว้ในวันทำสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ผู้จะขายย่อมไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2547

   เว้นแต่ในกรณีสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อสัญญาระบุไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ระบุในสัญญาทำนองว่า "หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ให้ผู้จะขายมีสิทธิริบเงินดาวน์" กรณีดังกล่าว ย่อมทำให้เงินในส่วนนี้กลายเป็น "เบี้ยปรับ" ที่ผู้จะขายมีสิทธิริบได้หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แต่หากสูงเกินส่วนก็สามารถปรับลดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

 

แบบของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร

พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน มาตรา 34 กำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องทำตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด

หากฝ่าฝืน และข้อสัญญาส่วนนั้นไม่เป็นคุณต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ไม่มีผลใช้บังคับ และมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

โดยประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545

 

กรณี โครงการสร้างไม่เสร็จ หรือล่าช้ากว่าที่กำหนด ผู้จะซื้อสามารถเรียกค่าเสียหายได้ ดังนี้

1. ผู้จะซื้อมีสิทธิขอยกเลิกสัญญาและขอคืนเงินจอง เงินมัดจำ เงินดาวน์ พร้อมเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปี นับจากวันชำระเงินแต่ละงวด

2. ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษอีก 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง หรือ 5 เท่ากรณีค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน 50,000 บาท ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42

3. ตามกฎหมายกำหนดให้ในสัญญาจะซื้อจะขายจะต้องระบุเงื่อนไขให้ผู้ขายต้องจ่ายค่าปรับให้กับผู้ซื้อเป็นรายวัน ในอัตราวันละ 0.01% ของราคาซื้อขาย จนกว่าจะสร้างเสร็จและส่งมอบให้ลูกค้าหรือแล้วแต่ตกลงเป็นรายกรณีก็ได้

 

เอกสารประกอบการยื่นคำฟ้อง

1. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร

2. ใบเสร็จรับเงินจอง มัดจำ เงินทำสัญญา เงินผ่อนดาวน์

3. หลักฐานการโฆษณาของผู้จะขาย เช่น แผ่นพับโฆษณา โบรชัวร์ เว็บไซต์ เป็นต้น

4. ภาพถ่ายตัวบ้าน โครงการ

5. หนังสือบอกเลิกสัญญา

6. หนังสือรับรองบริษัท หนังสือมอบอำนาจ ผู้จะขาย

7. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ผู้จะซื้อ

8. บันทึกเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญา(ถ้ามี)

9. เอกสารยืนยันการไม่อนุมัติเงินจากธนาคาร(ถ้ามี)

10. หนังสือมอบอำนาจ(ถ้ามี)

 

เขตอำนาจศาล

1. ยื่นคำฟ้องตามที่ตั้งของบริษัท หรือสถานที่ทำสัญญา

2. ค่าเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ขึ้นศาลแขวง หากค่าเสียหายเกิน 300,000 บาท ขึ้นศาลจังหวัด

 

อายุความ : 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

เนื้อที่ : ถ้าขาดหรือล้ำ เกินกว่าร้อยละ 5 ของเนื้อที่ทั้งหมด ผู้ซื้อจะปฏิเสธ หรือรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 466

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ทำสัญญาจะซื้อจะขายตึกแถว ผู้ซื้อผ่อนดาวน์ไม่ไหว หรือขอสินเชื่อธนาคารไม่ผ่าน ผู้ขายริบได้เฉพาะเงินมัดจำ จะริบเงินดาวน์ด้วยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2545

   จำเลยสร้างตึกแถวที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมที่จะโอนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาทแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระแม้ในช่วงเวลานั้นต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่ไม่เป็นการแน่นอนว่าจะสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระแก่จำเลยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จเกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้เวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความแสดงเจตนาเลิกสัญญา และโจทก์ไม่ชำระเงินภายในเวลากำหนดสัญญาจะซื้อจะขายย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

   โจทก์ชำระเงินดาวน์ 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 1,200,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โดยมิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระล่วงหน้า มิใช่มัดจำที่จำเลยจะริบได้ เมื่อจำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์เพิกเฉย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตามมาตรา 215 การที่จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินล่วงหน้า 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน เนื่องจากจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะเหตุที่โจทก์ผิดนัดและต้องรับภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนปลูกสร้างอาคารพอแปลได้ว่าจำเลยเรียกเอาเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้

   การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลย เป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แต่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงมิได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดไม่ได้ อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังนั้น แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี

 

ประเด็น : แผ่นพับโฆษณา Brochure กำหนดระยะเวลาก่อสร้างเสร็จ แต่ไม่เสร็จภายในกำหนด ถือว่าผู้ขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2544

   แผ่นพับโฆษณาของจำเลยระบุว่าเริ่มก่อสร้างบ้านเดือนกันยายน 2537 จะแล้วเสร็จปลายปี 2539 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้พบแผ่นพับโฆษณาดังกล่าว ได้พิจารณารูปแบบบ้าน ทำเลที่ดินและเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุไว้และใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจที่จะซื้อ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องก่อสร้างบ้านให้เสร็จภายในวันดังกล่าว เมื่อมิได้ก่อสร้างให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2539 และได้ทำหนังสือถึงโจทก์ยืนยันว่าจะก่อสร้างให้เสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 แต่จำเลยก็ไม่เสร็จตามที่ขอขยายเวลาออกไป โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ชำระหนี้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตอบแทน โจทก์จึงไม่ผิดสัญญา การที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้ก่อสร้างบ้านเสร็จเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยขอขยายการก่อสร้างออกไป จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

   การที่โจทก์นำสืบแผ่นพับโฆษณาเสนอขายบ้านพร้อมที่ดินของจำเลยที่กำหนดเวลาเริ่มก่อสร้างไว้ และกำหนดเวลาแล้วเสร็จ เพื่อจะอธิบายให้เห็นชัดในสัญญาจะซื้อจะขายว่ากำหนดเวลาสร้างแล้วเสร็จจะเป็นวันเวลาใด มิใช่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

 

ประเด็น : สาธารณูปโภค ถือเป็นสาระสำคัญ เมื่อเจ้าของโครงการไม่ได้ก่อสร้าง ผู้จะซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552

   สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่ง รอบทะเลสาบและทะเลสาบซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้านซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

 

ประเด็น : ปล่อยเวลาล่วงเลย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ต้องคืนเงินมัดจำด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2536

   การที่โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยกำหนดวันที่จำเลยผู้จะขายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อไว้ แต่เมื่อถึงกำหนดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทวงถามให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยก็รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์เพิ่มขึ้นอีก โจทก์จำเลยปล่อยล่วงเวลามานานเช่นนี้แสดงว่าคู่กรณีไม่ถือเอาเวลาตามที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระราคาที่ดินที่ค้าง โดยกำหนดเวลาตามสมควรแล้วโจทก์ไม่ไปตามนัด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสัญญาเป็นอันเลิกกันตามที่จำเลยบอกกล่าว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโจทก์ต้องคืนที่ดินให้แก่จำเลย และจำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำแต่ต้องคืนค่าที่ดินที่ได้รับล่วงหน้าให้แก่โจทก์

 

ประเด็น : ตกลงกันให้ริบเงินได้ ฉะนั้นเมื่อผิดสัญญาจึงริบเงินที่ชำระไว้ได้ทั้งหมด ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจลดลงได้ ตามจำนวนที่พอสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9514/2544

   แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวด จำนวน 87,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้

   สัญญาจะซื้อจะขายข้อ 9 ระบุว่าหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุในสัญญา ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมด กับให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ ผลคือสัญญาเลิกกัน เงินที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แม้เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิมข้อตกลงให้ริบดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ส่วนที่ตกลงกันไว้ในตอนท้ายของสัญญาข้อ 9 อีกว่า หากโจทก์ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาอีกยอมชำระค่าปรับให้แก่จำเลยผู้จะขายต่างหากเป็นเงินครั้งละ 10,000บาท ก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน แต่ที่กำหนดไว้ในสัญญาให้เรียกได้อีกนั้นเป็นการซ้ำซ้อน จึงไม่กำหนดเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6759/2544

   โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันในปี 2536 แต่จำเลยเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2538 ดังนั้น ขณะจำเลยจัดสรรที่ดินในโครงการออกเสนอขายต่อโจทก์และบุคคลทั่วไป จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 10 ประกอบข้อ 35 แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐที่จะเข้าไปควบคุมให้จำเลยหรือผู้จะจัดสรรที่ดินได้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภคให้เป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อความสะดวกสบายของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทก็ไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งใดๆ ตามกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะทำให้เป็นโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทั้งจำเลยมิได้กระทำการใดอันเป็นกลฉ้อฉลทำให้โจทก์ต้องเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลย การที่จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันนั้น แม้จำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ไม่ถึงกับให้รับฟังว่าเป็นกลฉ้อฉลของจำเลยอันจะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

   แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกำหนดให้โจทก์ชำระเงินเป็นงวด งวดละเดือนรวม 20 งวด และชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันเป็นลักษณะผ่อนผันให้แก่กันเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาที่ต่างฝ่ายต่างต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มิได้เป็นสาระสำคัญที่จะให้ถือว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาทันทีตามกำหนดไว้แต่อย่างใด แต่การที่โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ 16 ให้แก่จำเลยแล้วไม่ชำระเงินค่างวดต่อไปให้แก่จำเลยให้ครบ 20 งวดอีกจนกระทั่งจำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระเงินที่เหลือภายใน 7 วันนับแต่วันรับหนังสือ โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและริบเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้โดยชอบ

 

ประเด็น : ผ่อนค่างวดหมดแล้ว บ้านยังไม่สร้างเสร็จสักที หรือยังไม่เริ่มก่อสร้าง ผู้ซื้อบอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2548

   แม้สัญญาจะซื้อจะขายจะไม่มีข้อตกลงว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดก็ตาม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน และโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่ปลูกสร้างบ้านและส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญา ทั้งไม่ใช่ว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้เสร็จเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ความพอใจของจำเลย คดีนี้โจทก์ชำระเงินเฉพาะค่างวดให้จำเลยไปแล้ว 630,000 บาท โดยงวดหลังสุดชำระเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 แต่นับจากวันทำสัญญาคือวันที่ 15 มิถุนายน 2539 เป็นต้นมา กระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญา และจนถึงปัจจุบันจำเลยก็ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างบ้านให้โจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ชี้แจงหรือโต้แย้งใดๆ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือว่าจำเลยผิดสัญญาและจำเลยไม่มีเจตนาชำระหนี้ให้โจทก์ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้โจทก์บอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการอีก ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบ

 

ประเด็น : กู้ธนาคารแล้วไม่อนุมัติตามจำนวนที่ขอ คู่สัญญาต้องคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ขายต้องคืนเงินให้ผู้ซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4380/2540

   สัญญาจะซื้อขายมีข้อความว่า ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อทางธนาคารอนุมัติให้ ไม่ได้กำหนดให้เห็นต่อไปว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้จะมีผลเป็นอย่างไร การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสารไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

   โจทก์ประกอบอาชีพเสริมสวย ไม่มีร้านเป็นของตนเอง เหตุที่ต้องการซื้อตึกแถวจากจำเลยก็เพราะร้านเสริมสวยที่ทำอยู่จะหมดสัญญาเช่า เงิน 150,000 บาท ที่วางมัดจำให้จำเลยไว้ก็เป็นเงินที่ยืมมาจากมารดา ในขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ติดต่อกับธนาคารยังไม่แน่ว่าธนาคารจะให้กู้หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด โดยปกติการทำสัญญาจะซื้อขายผู้ซื้อจะเอาเงินมาจากที่ใดเป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในสัญญา แต่สัญญาจะซื้อขายฉบับพิพาทนี้เขียนไว้ว่าเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อธนาคารอนุมัติให้แสดงว่าได้มีการพูดถึงเรื่องเงินที่จะนำมาจ่ายครั้งต่อไปกันไว้แล้วว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้กู้เงินจำนวนดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกัน ต่อมาธนาคารอนุมัติให้โจทก์กู้เงินได้เพียง 1,000,000 บาท ไม่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาโดยมิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายใด สัญญาจะซื้อขายจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนมัดจำที่ริบไว้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจะริบเสียมิได้

 

ประเด็น : ตกลงกันไว้ ในกรณีผู้ซื้อผิดนัด ฝ่ายผู้ขายสามารถยึดเงินมัดจำทั้งหมด มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เพื่อความเป็นธรรม ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2547

   โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน ดังนั้น เงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้

 

ประเด็น : เงินจองถือเป็นมัดจำ เงินดาวน์ถือเป็นเบี้ยปรับ แม้สัญญากำนหให้ริบ แต่ศาลให้คืนได้ โดยไม่มีดอกเบี้ยระหว่างสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3216/2554

   เงินที่โจทก์ทั้งสองมอบให้แก่จำเลยในวันจองซื้อที่ดินพร้อมบ้าน ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นการประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น ตามสัญญาดังกล่าวระบุว่าให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญามิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงไม่ใช่มัดจำ เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันยกเลิก จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำนั้นได้ ส่วนเงินค่าที่ดิน ค่าปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้วและค่าต่อเติมบ้านที่โจทก์ทั้งสองชำระให้จำเลย จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่ เพราะการที่จำเลยริบเงินดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ

 

ประเด็น : ผู้จะซื้อแจ้งให้ผู้จะขายแก้ไขความบกพร่องของตัวบ้าน แต่ผู้จะขายไม่ยอมแก้ไข ผู้จะซื้อมีสิทธิยึดหน่วงค่าบ้าน

ไว้ และผู้จะขายไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5569/2551

   โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารและส่งมอบทาวน์เฮ้าส์พิพาทคืนให้โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าออกไปจากทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247

   โจทก์มอบอำนาจให้ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น พร้อมที่ดินกับจำเลยในราคา 1,900,000 บาท จำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 6 งวด โดยจำเลยได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวและจำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นเวลา 5 งวด เมื่อทาวน์เฮ้าส์ที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีความชำรุดบกพร่องหลายแห่ง จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์แก้ไขความชำรุดบกพร่องและยึดหน่วงยังไม่ต้องชำระราคาค่าซื้อในงวดสุดท้ายได้ การที่จำเลยยังไม่ชำระราคาค่าซื้องวดสุดท้าย เพราะโจทก์ยังมิได้แก้ไขความชำรุดบกพร่องจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และมาตรา 488

 

ประเด็น : ใบจองก็ถือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2556

   การที่โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลย 2 แปลง คือ แปลงหมายเลข 1314 และ 1315 โดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จะมีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองดังกล่าวระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้ และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป กรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้น ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย

   ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีก ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

   สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อน จึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท

    สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป

 

ประเด็น : เพียงใบรับเงิน แต่ยังไม่ทำสัญญา ถ้าตกลงยกเลิก ต้องคืนเงินมัดจำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2553

   โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำ จึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม มาตรา 406

 

ประเด็น : อายุความ 10 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549

   โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน อันเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน ถือเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 จำเลยทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากโจทก์เป็นค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนน ตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ไปทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ อันเป็นการบ่งชี้ว่า จำเลยรับว่ายังมีหนี้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นถนนให้แก่โจทก์อยู่อีก จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้น ไม่นับเข้าในอายุความ เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 ที่โจทก์ฟ้อง คดียังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

   ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารยทรัพย์คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ

 

ประเด็น : เงินมัดจำ สูงไป ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม.7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2565

   ข้อตกลงในสัญญาจองที่จำเลยให้โจทก์วางเงินจองเป็นมัดจำและเงินทำสัญญาสำหรับบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงรวมเป็นเงินทั้งส้น 500,000 บาท แม้สูงกว่าที่ระบุไว้ในใบเสนอราคา แต่ยังไม่อาจกล่าวว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่ทำให้จำเลยผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร หรือมีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันต้องด้วยลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ม.4 เพราะย่อมเป็นไปตามการแสดงเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญที่จะตกลงให้มีการวางเงินจองและเงินทำสัญญาสูงกว่าเกณฑ์ที่ผู้จะขายกำหนดไว้ย่อมกระทำได้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาต่อจำเลยในส่วนของเงินมัดจำ 200,000 บาท จำเลยชอบที่จะริบได้ตาม ป.พ.พ. ม. 378(2)

   บ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขายกันเป็นบ้านตัวอย่างในโครงการที่ราคารวมกันเป็นเงินสูงถึง 16,300,000 บาท เงินจองซึ่งเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์และเป็นประกันความเสียหายให้แก่จำเลย อันเป็นมัดจำที่โจทก์ชำระรวม 200,000 บาท คิดคำนวณเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 2 ของราคาบ้านทั้งสองหลัง จึงมิได้สูงเกินส่วน ย่อนเป็นการชอบธรรมที่จำเลยจะริบเสียสั้งสิ้นโดยไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม.7

   เงินทำสัญญาบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขายเป็นเงินรวม 300,000 บาท มิใช่มัดจำ หากเป็นการชำระราคาบางส่วนซึ่งกำหนดให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ทั้งหมดได้ เงินในส่วนนี้ย่อมเป็นเบี้ยปรับ และหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. ม.383 วรรค 1

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ ที่เกี่ยวข้อง

หมวด 3 มัดจำและเบี้ยปรับ

มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้ จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือ ขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

มาตรา 377 เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย

มาตรา 378 มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ 

   (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้

   (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น

   (3) ให้ส่งคืนถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ

มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป

   นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย

มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

   ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

   ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

   การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

มาตรา 466 ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่ได้สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก 

   อนึ่ง ถ้าขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละ 5 แห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาและใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจจะเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญานั้น

มาตรา 457 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย

 

พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

มาตรา 34 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรระหว่างผู้จัดสรรที่ดินกับผู้ซื้อที่ดิน จัดสรรต้องทำตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด

   สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามวรรคหนึ่งส่วนใด หากมิได้ทำตามแบบที่ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนดและไม่เป็นคุณต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร สัญญาส่วนนั้น ไม่มีผลใช้บังคับ

มาตรา 63 ผู้จัดสรรที่ดินผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 34 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 (ต้องพิจารณาประกอบด้วย เพราะสัญญาจะซื้อจะขายที่เจ้าของโครงการให้ผู้จะซื้อลงนาม มีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ที่มีการระบุข้อความไว้อยู่แล้ว แก้ไขไม่ได้)

มาตรา 7 ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. การฟ้องผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการเป็นคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคไม่เสียค่าธรรมเนียมศาลใด ๆ ทั้งสิ้น หรือ

   สัญญาอาจระบุตกลงให้ระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ แทนการฟ้องศาลก็ได้

2. หนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ต้องติดอากรแสตมป์ ในการใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง อ้างอิงตามประมวลรัษฏากร มาตรา 118 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์

3. หลักฐานการโฆษณาของผู้จะขาย ไม่ว่าจะเป็น ประกาศ โฆษณา โบรชัวร์ เว็บไซต์ เก็บข้อมูลไว้ดีๆ เพราะมีประโยชน์กรณีขึ้นศาล

4. ภาพถ่ายสภาพบ้านที่ไม่เรียบร้อย เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เวลาขึ้นศาล

5. ต้องมีหนังสือบอกกล่าวเสมอ ก่อนที่จะยื่นคำฟ้องต่อศาล

6. กรณีโครงการล่าช้า ผู้จะซื้อควรมีหนังสือถึงผู้จะขาย เพื่อสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับเอาไว้

7. การคิดคำนวณดอกเบี้ย กรณีผู้ขายผิดสัญญา ให้คิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีนับแต่วันที่ชำระเงินไปแต่ละงวด

8. ค่าทนายความ ศาลจะกำหนดให้ใช้แทนโจทก์ ประมาณ 5,000 - 8,000 บาท

9. สัญญาที่ผู้ขายหรือผู้จัดสรร ร่างได้เพื่อประโยชน์ของตน กรณีมีคดีไปสู่ศาล จึงต้องตรวจสอบความเป็นธรรมด้วย ฝ่ายผู้ขายมีพนักงานที่ผ่านการเรียนการอบรมมีจิตวิทยา พูดจาชักจูงหว่านล้อม ศาลก็จะคำนึงถึงความเป็นธรรมในส่วนนี้ด้วย ซึงผู้ซื้อมีความประสงค์จะซื้อ จึงไม่ค่อยคำนึงถึงความเสมอภาคในการเข้าทำสัญญา ฉะนั้นเงินที่ชำระไป ถึงศาลเห็นสูงเกิน จึงมีอำนาจลดลงได้ตามสมควร

 

ค่าบริการว่าความ คดีซื้อขายบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นคำฟ้อง เจ้าของโครงการ

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-12 07:42:57
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,717