ค่าตกใจ

ค่าตกใจคดีแรงงาน #ฟ้องเรียกค่าบอกเลิกล่วงหน้าThanuLaw #ทนายคดีแรงงานThanuLaw

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่รู้จักกันว่า ค่าตกใจ...!!!

เป็นกรณี เมื่อมีการเลิกจ้างอันเนื่องจากสัญญาจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ หากนายจ้างต้องการเลิกจ้างลูกจ้าง จึงต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนถึงหรือในวันจ่ายค่าจ้าง(กำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่ง) เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า มิฉะนั้นต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

หากนายจ้างไม่อยากให้ลูกจ้างอยู่ จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ก็ถือว่าได้ทำตามกฎหมายแรงงานแล้ว

 

นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สาเหตุตาม มาตรา 119 ดังต่อไปนี้

1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับใช้ได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร

6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นนักโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา 17 , 17/1

7. สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา

 

กรณี นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา หรือ ค่าชดเชย ภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

1. หากการไม่จ่ายเงินดังกล่าว เป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร

2. นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 15 ของทุกระยะ 7 วัน จนกว่าจะจ่ายครบ

3. และมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : การทดลองงาน Probation ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลา ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2550

   ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานตามสัญญาจ้างทดลองงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

   ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานหรือตามสัญญาจ้างทดลองงานจึงต้องนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจนถึงวันเลิกจ้างเป็นระยะเวลาทำงานเพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชย

 

ประเด็น : ระยะเวลาการบอกกล่าวหากเป็นคุณแก่ลูกจ้าง ถือตามสัญญาจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13244/2558

   พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ต้องการให้มีการบอกเลิกสัญญาจ้างกันล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบของการกำหนดจ่ายค่าจ้าง เมื่อนายจ้างลูกจ้างตกลงกันให้มีการบอกกล่าวล่วงหน้านานกว่ากำหนดดังกล่าวก็ย่อมทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
   ข้อตกลงว่าหากมีการเลิกจ้างจำเลยที่ 8 ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 3 เดือน แต่จำเลยที่ 8 บอกเลิกจ้างในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างเพียง 2 วัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 2 เดือน 28 วัน
   แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าเสียหายการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินที่เรียกจากมูลกฎหมายที่แตกต่างกันมาในคราวเดียวกันได้ก็ตามแต่เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นมูลเหตุเดียวกันกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันย่อมเป็นการไม่ชอบ
การคำนวณจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอาศัยค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็คำนึงถึงค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับประกอบการพิจารณาด้วย ราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินโจทก์ก็นำสืบว่ามีราคาเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง เพื่อป้องกันการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว

 

ประเด็น : วิธีการบอกกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2536

   จำเลยจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน การที่จำเลยแจ้งโจทก์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2534 ให้โจทก์ออกจากงานในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างประจำเดือนตุลาคม 2534 เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดการจ่ายสินจ้างครั้งถัดไปคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534เป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 แล้ว เมื่อคำบรรยายฟ้องของโจทก์ระบุเพียงว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยให้โจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 3 สัปดาห์ และขอให้จำเลยรับผิดชอบเงินเดือนในส่วนที่ชดเชยการไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 16,650 บาท โดยมิได้บรรยายเลยว่าโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีในปีใดบ้าง ปีละกี่วัน ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่แจ้งชัด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31,35 เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ จึงไม่ชอบ จำเลยจ้างโจทก์มาจากประเทศอิตาลีโดยออกค่าเดินทางจากประเทศอิตาลีมายังกรุงเทพมหานคร จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างถึงโจทก์โดยเสนอจะให้เงินค่าตั๋วเครื่องบินกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกหรือประเทศยุโรป โจทก์ไม่ตกลงตามเงื่อนไขในข้อเสนอดังกล่าว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าตั๋วเดินทางกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกหรือประเทศยุโรปจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องค่าเดินทางกลับถิ่นที่จำเลยจ้างโจทก์มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 586

 

หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

   ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

   ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

   การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

   การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 17/1 ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

   (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

   (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย     

   (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

   (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

   หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

   (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

   (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

ป.พ.พ. มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. การบอกกล่าวต้องทำเป็นหนังสือ

2. ระยะเวลาการบอกกล่างจะต้องดูตามสัญญาจ้าง หากเป็นคุณแก่ลูกจ้างถือตามสัญญา หากเป็นผลเสียแก่ลูกจ้าง(ขัดต่อกฎหมาย) ถือเป็นโมฆะ

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการจันทร์ - ศุกร์ เวลา 7.00 - 18.00

สอบถามได้ที่ทนายณัฐวุฒิ โทร 096 2602711 (Click to call)

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,677