สินสอด ของหมั้น

คดีสินสอด ของหมั้น #ทนายคดีสินสอดของหมั้นThanuLaw

ของหมั้น : กฎหมายไทย ไม่มีแบบแผน หรือขั้นตอนกำหนดอย่างชัดเจน จึงเป็นเพียงพิธีตามประเพณี

แต่กฎหมายกำหนดกรอบไว้ดังนี้

1. ชายและหญิง ต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หากฝ่าฝืนเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1435

2. ถ้าเป็นผู้เยาว์มีอายุ 17 - 20 ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้รับบุตรบุญธรรม ก่อน หากฝ่าฝืนเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1436

3. ชายต้องมอบของหมั้นให้แก่หญิง เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง ที่ดิน รถยนต์ พันธบัตร ใบหุ้น เป็นต้น ของหมั้นนั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันทีที่หมั้นกัน และตกเป็นส่วนตัวของหญิงเมื่อแต่งงานจดทะเบียนสมรสแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437

 

สินสอด : โบราณเรียกว่า "ค่าสินหัวบัวนาง" เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่พ่อแม่ ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง ของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนที่หญิงยอมสมรสด้วย ซึ่งจะตกเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการสมรสกันก่อน

   สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการหมั้น ชายและหญิงจะทำการหมั้นหรือสมรสกันโดยไม่มีสินสอดก็ได้ แต่เมื่อมีการตกลงว่าจะให้สินสอดกันแล้วฝ่ายหญิงย่อมสามารถที่จะฟ้องเรียกสินสอดได้

   ถ้าไม่มีการสมรสโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง มีพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรส หรือฝ่ายหญิงไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็ต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชาย

   แต่ถ้าแต่งงานกันแล้ว มาหย่าภายหลัง สินสอดก็ไม่ต้องคืน

 

ข้อสำคัญทางกฎหมาย

1. สินสอด ของหมั้น ชายหญิงต้องมีเจตนาไปจดทะเบียนตามกฎหมาย

2. หากชายหญิงไม่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าทรัพย์สินที่ให้ไปนั้นเป็นสินสอดของหมั้นตามกฎหมาย ฝ่ายชายเรียกคืนไม่ได้

 

การเลิกสัญญาหมั้น มี 3 กรณี ดังนี้

1. ทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกกัน จะด้วยวาจาก็ได้ โดยฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่ฝ่ายชาย

2. ถึงแก่ความตาย กรณีหญิงฆ่าตัวตาย ชายก็เรียกของหมั้นและสินสอดคืนไม่ได้

3. บอกเลิก เนื่องจากอีกฝ่ายมีเหตุสำคัญอันไม่สมควรสมรสด้วย

 

ผลของการผิดสัญญา

ฝ่ายชาย ผิดสัญญา ฝ่ายหญิงสามารถเลิกสัญญาหมั้นได้ โดยไม่ต้องคืนของหมั้น

ฝ่ายหญิง ผิดสัญญา ฝ่ายชายสามารถเลิกสัญญาหมั้นได้ และเรียกคืนของหมั้นจากฝ่ายหญิง

: ทั้งนี้ ฝ่ายที่ไม่ได้ผิดสัญญา สามารถเรียกค่าเสียหายต่อกายและชื่อเสียง ค่าเตรียมงานแต่ง ค่าจัดการทรัพย์สิน /อาชีพ เพราะคาดว่าจะได้แต่งงาน

 

ค่าทดแทน ที่เรียกได้ ตาม มาตรา 1440 ดังต่อไปนี้

1. ค่าทดแทนความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียง

2. ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดา ได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร เช่น ค่าชุดแต่งงาน ค่าอุปกรณ์งานแต่ง เป็นต้น

3. ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไป โดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เช่น ลาออกจากงานมาแต่งงาน เป็นต้น

4. ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมด หรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับ หรือศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้

 

วิธีการคืนของหมั้น ตามหลักเรื่องลาภมิควรได้ ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคท้าย

1. เงินตรา คืนเพียงส่วนที่เหลืออยู่ในขณะเรียกคืน แต่หากนำไปซื้อทรัพย์สินอื่น ต้องนำทรัพย์นั้นคืนให้ฝ่ายชาย เพราะเป็นการช่วงทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 ซึ่งจะเรียกได้เฉพาะต้นเงิน และหากจะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้อง

2. มิใช่เงินตรา คืนตามสภาพในขณะเรียกคืน ไม่มีดอกผล อีกทั้งไม่ต้องรับผิดชอบกรณีสูญหายด้วย

 

อายุความ

1. เรียกคืนของหมั้น : 6 เดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1447/2

2. เรียกคืนสินสอด : 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ให้สินสอด ของหมั้น แต่ไม่มีเจตนาไปจดทะเบียนสมรสกัน ฝ่ายชายเรียกคืนไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2535

   โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ฝ่ายหญิง จึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กันในขณะจำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2549

   มีข้อตกลงกันว่าเพียงให้ ว. เรียนจบและบวชเรียนแล้ว ว. และจำเลยที่ 3 จะแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากัน แสดงว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีเจตนาที่จะทำการสมรสตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 จึงถือไม่ได้ว่าทั้งสองฝ่ายทำสัญญาหมั้นต่อกัน ดังนั้น การที่โจทก์ให้เงินสด แหวน และสร้อยคอทองคำ ซึ่งโจทก์เรียกว่าสินสอดและของหมั้นแก่จำเลยทั้งสามนั้น โจทก์หาได้ให้ในฐานะเป็นสินสอดและของหมั้นไม่ เพราะสินสอดและของบ้านนั้น จะต้องให้โดยเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย โจทก์ที่ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสามได้

 

ประเด็น : พฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2538

   การที่หญิงหมั้นกับชายโดยชอบด้วยกฎหมายและเมื่อแต่งงานตามประเพณีแล้ว หญิงชวนชายไปจดทะเบียนสมรสหลายครั้งหญิงย่อมต้องการอยู่กินกับชายโดยชอบด้วยกฎหมายการที่บิดามารดาและพี่ของชายนั้นไล่หญิงออกจากบ้านหลังจากนั้นชายก็มิได้กระทำการใดเพื่อให้หญิงกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยาชายนั้นจึงผิดสัญญาหมั้น หญิงและชายต่างมีฐานะดีในการจัดงานเลี้ยงแต่งงานมีการเชิญแขกประมาณ 600 คน และเลี้ยงโต๊ะจีนการที่หญิงซื้อชุดแต่งงานเพื่อเข้าพิธีจำนวน 4 ชุดเป็นเงิน 28,000 บาท เป็นการใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสเรียกค่าทดแทนได้ หญิงซื้อผ้ารับไหว้เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายตามประเพณีมิใช่ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสอันจะเรียกค่าทดแทนได้

 

ประเด็น : การหมั้น ไม่จำเป็นต้องมีพิธีตามประเพณี ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2543

   พฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสรวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรส ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมา แม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยไปสมรสกับ น. โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น

 

ประเด็น : สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการสมรส ถ้าได้มีการตกลงว่าจะให้ แต่ไม่ยอมให้ บิดามารดาฝ่ายหญิงฟ้องเรียกค่าสินสอดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2237/2519

   ให้สินสอดโดยทำสัญญากู้ให้ แม้เงินที่ลงไว้ในสัญญากู้จะไม่ใช่สินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 เพราะเป็นการแต่งงานกันตามประเพณีโดยคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อจำเลยตกลงจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ในการที่บุตรสาวของโจทก์จะแต่งงานอยู่กินกับบุตรชายของจำเลยโดยทำสัญญากู้ให้ไว้ดังกล่าว เมื่อได้มีการแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันแล้วจำเลยก็ต้องชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้

 

ประเด็น : ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินสอด คือ บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2517

   ผู้ที่มิใช่บิดามารดาและไม่เป็นผู้ปกครองของหญิงย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินสินสอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 วรรคท้าย ได้

 

ประเด็น : ให้แก่บุคคลอื่น อันไม่ใช่ค่าสินสอด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3442/2526

   โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันและทำบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ที่ด้านหลังทะเบียนการสมรสว่า ฝ่ายชายยกที่ดินพิพาทเป็นสินสอดฝ่ายหญิง เมื่อปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ถึงแก่กรรมก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันและไม่ปรากฏว่าโจทก์มีผู้ปกครองในขณะจดทะเบียนสมรส การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ในลักษณะที่เป็นสินสอด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 แต่การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้ โจทก์ก็เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ยอมสมรสกับจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับจำเลยฉันสามีภริยาแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่ต้องโอนที่ดินให้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามบันทึกดังกล่าวได้

 

ประเด็น : วิธีการคืนตามหลักเรื่องลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2556

   ต. เป็นผู้ขอถอนหมั้น ป.ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ ต.เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น การที่จำเลยทั้งสองนำเงินที่เป็นของหมั้นไปซื้อรถให้แก่ ต. และจำเลยทั้งสองซึ่งรับเงินของหมั้นมาโดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนขณะเมื่อเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 412 และต้องนำเงินที่นำไปซื้อรถจำนวน 290,000 บาทมาหักออกจากเงินสดของหมั้นที่จำเลยทั้งสองรับไว้ 440,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่ได้จากการขายรถจำนวน 250,000 บาทคงเหลือเงินที่เป็นของของหมั้นเพียง 400,000 บาทจำเลยทั้งสองต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ ป.

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

   เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

   สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

   ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึง มาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

การบอกเลิกสัญญาหมั้น

มาตรา 1442 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา 1443 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลัง การหมั้นคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

 

การเรียกค่าทดแทนในกรณีผิดสัญญาหมั้น

มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

   (1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

   (2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

   (3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

   ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมด หรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับหรือศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้

 

การเรียกค่าจากบุคคลอื่นที่มาร่วมประเวณีกับคู่หมั้น หรือที่เรียกกันว่า "เป็นชู้เหนือขันหมาก"

มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น ของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้วตาม มาตรา 1442 หรือ มาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

มาตรา 1446 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น

อายุความ

มาตรา 1447/1 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1439 ให้มีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น

   สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1444 ให้มีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันกระทำการดังกล่าว

   สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1445 และมาตรา 1446 ให้มีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทนและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ผู้อื่นนั้นได้กระทำการดังกล่าว

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีชายหญิงสมัครใจอยู่ด้วยกัน โดยไม่ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรส จะอ้างว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาหมั้นไม่ได้

2. พฤติการณ์ที่ถือว่าผิดสัญญาหมั้น เช่น ชวนไปจดทะเบียนแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ไป มีพฤติกรรมชั่วร้าย เที่ยวเตร่ เล่นการพนัน ติดยา ติดคุก ไร้สมรรถภาพทางเพศ พฤติกรรมชู้สาว ไปร่วมประเวณีกับคนอื่น ทอดทิ้งอีกฝ่ายไปอยู่ที่ไหน หมิ่นประมาท เป็นโรคเอดส์ อัมพาต หรือ เป็นบ้า เป็นต้น

3. ทุนทรัพย์ในคดีต่ำกว่า 50,000 ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 อ้างอิง ฎ.755/2545

4. ฝ่ายชายผิดสัญญา ฝ่ายหญิงฟ้องเรียกค่าสินสอดได้ตามที่ตกลง ตาม ฎ.13672/2557

5. สัญญาหมั้นหรือสินสอด จะกำหนดค่าปรับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. 1438

6. ค่าทดแทนความเสียหายทางจิตใจ หรือทำให้บิดามารดาอับอาย เรียกไม่ได้

7. เขตอำนาจศาล ศาลเยาวชนและครอบครัว

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องเรียกสินสอด ของหมั้น

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ฟ้องเรียกคืน

-X-

 ♦ ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการจันทร์ถึงศุกร์ 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.26.xxx]
เมื่อ: 2021-06-17 15:57:05
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: กู่แก้ว [IP: 171.100.77.xxx]
เมื่อ: 2022-05-19 05:40:35
กรณีแต่งงานกันแล้วแต่ไม่อยู่กินกับฝ่ายชาย อยูกินแค่6เดือน ระยะที่อยู่ฝ่ายหญิงได้เอาเงินฝ่ายชายนำไปใช้หนี้ตนเองโดยที่ฝ่ายชายไม่ได้เปนหนี้ร่วมพึ่งแต่ง งานฝ่ายหญิงได้มาเอาจากฝ่ายชายเดือนละ5,000 ทุกเดือนเพื่อไปใช้หนี้ตนเองเปนเวลา6เดอยู่ แล้วฝ่ายหญิงได้ได้ไปทำงานที่ กทม.โดยไม่ได้บอกกล่าว แล้วได้ไปอยู่กับญาติ แล้วไม่ยอมกลับมายู่กินกับฝ่ายชายอีก แต่งไม่ถึงปี ค่าสินสอด 40,000+ค่าฝ่ายหญิงเอาเงินจากฝ่ายชายไปใช้หนี้ตนเองอีก30,000 แล้วไม่มาอยู่กินแบบสามีภรรยาแบบนี้สามารถเรียกร้องของคืนค่าสินสอดกับเงินที่เอา ขอคืนไดไหมคับถือว่าผิดคำสัณญาไหครับ เรียนถาม ให้คำปรึกษาด้วยครับผม

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,529