ทางภาระจำยอม
คดีทางภาระจำยอม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอม อันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
การได้มาซึ่งสิทธิภาระจำยอม 3 วิธี คือ
1. นิติกรรมสัญญา โดยการตกลงกันทำสัญญาซึ่งต้องอยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 คือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงจะสมบูรณ์ ส่วนค่าทดแทนแล้วแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน
2. อายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 คือ การครอบครองปรปักษ์โดยความสงบ และเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ และได้ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี ไม่ว่าที่ดินมีโฉนด หรือ น.ส.3 ก็ตาม และไม่ต้องเสียค่าทดแทน
3. โดยผลแห่งกฎหมายกำหนด ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1312 ให้ผู้ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริตมีสิทธิจดทะเบียนภาระจำยอมเหนือที่ดินที่รุกล้ำนั้น
การใช้ทางภาระจำยอมโดยถือวิสาสะ / เจ้าของยินยอม / ได้รับอนุญาต / ขออาศัย / เสียค่าตอบแทน ผลคือไม่ได้ภาระจำยอม
การได้ทางภาระจำยอม จะต้องใช้ทางเดินโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้โดยพลการ แต่ถือเป็นการใช้ทางเดินโดย "ถือวิสาสะ" อาศัยความเกี่ยวพันในเครือญาติ หรือความสนิทสนมคุ้มเคยถือว่าเป็นกันเอง เท่ากับยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า ถือไม่ได้ว่าได้ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แม้จะใช้มากกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมตามมาตรา 1401
ประเด็น : ขนาดความกว้างของที่ดินที่จะขอภาระจำยอม : แล้วแต่เจ้าของที่ดินจะตกลงกัน หรือ สภาพการใช้งานจริง (รอค้นหาเลขคำพิพากษาศาลฏีกา)
ผู้มีสิทธิฟ้องขอทางภาระจำยอม
1. เจ้าของที่ดิน
2. เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน โรงเรือน เป็นต้น
ประเด็นข้อต่อสู้ และฟ้องแย้งของจำเลย
1. ใช้ทางพิพาทไม่เกิน 10 ปี
2. ถือวิสาสะ / เจ้าของยินยอม / ได้รับอนุญาต / ขออาศัย
3. รื้อถอน หากโจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยขอดำเนินการเองโดยให้โจทก์ออกค่าใช้จ่าย
4. ค่าเสียหายกรณีละเมิด
5. ค่าเสียหายรายเดือน
6. ครอบครองโดยไม่สงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ
ทางภาระจำยอมสิ้นไป ด้วยเหตุ 5 ประการ
1. เมื่อภารยทรัพย์ และสามยทรัพย์ ตกเป็นเจ้าของคนเดียวกัน โดยเจ้าของสามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมได้ ป.พ.พ. มาตรา 1398
2. ทางภาระจำยอมไม่ได้ใช้ 10 ปี ติดต่อกัน ป.พ.พ. มาตรา 1399
3. เมื่อภาระจำยอมนั้นยังประโยชน์ให้แก่สามยทรัพย์นั้นน้อยมาก เจ้าของภารยทรัพย์ขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน ป.พ.พ. มาตรา 1400
4. ทางภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 1400
5. ภารยทรัพย์ หรือสามยทรัพย์ สลายไปทั้งหมด ป.พ.พ. มาตรา 1397
เขตอำนาจศาล : ที่ดินตั้งอยู่
ค่าธรรมเนียมศาล : คดีละ 200 บาท
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนภาระจำยอม
1. ค่าธรรมเนียม
- ไม่มีค่าตอบแทน เสียแปลงละ 50 บาท
- มีค่าตอบแทน เสียร้อยละ 1 จากราคาค่าตอบแทน
2. อากรแสตมป์
- ไม่มีค่าตอบแทน ไม่เสีย
- มีค่าตอบแทน เสียร้อยละ 0.5 จากจำนวนเงินค่าตอบแทน
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น : เดินในที่ดินที่ตนเองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ไม่เป็นภาระจำยอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2196/2514
เจ้าของรวมใช้ทางเดินผ่านที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของรวม เป็นการใช้ตามอำนาจกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ แม้จะใช้ทางนั้นมาช้านานเท่าใด ก็ไม่ได้ภาระจำยอม
ประเด็น : ระยะเวลา 10 ปี สามารถนับต่อเนื่อง หรือรวมกันได้ไม่ขาดตอน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนเจ้าของภารยทรัพย์ เช่น โอนขาย ให้ หรือรับมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10002/2551
โจทก์ ญาติของโจทก์และผู้เช่าที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ ต่างได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะ โดยสงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอม แม้ที่ดินของจำเลยทั้งสองจะมีการโอนต่อกันมาหลายครั้งจนมาถึงจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และบริวารได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาโดยเจ้าของที่ดินที่รับโอนต่อกันมาจนถึงจำเลยทั้งสอง ต่างก็ทราบดีและไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน สิทธิในอันที่จะใช้ในทางพิพาทและระยะเวลาในการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาถูกกระทบหรือสะดุดหรือหยุดลงไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทติดต่อกันตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาในปี 2530 จนถึงปี 2542 ที่จำเลยทั้งสองทำการถมดินและล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการใช้เกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว
โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั่น และโดยสภาพของทางพิพาทก็ไม่อาจใช้เป็นทางให้ยานพาหนะผ่านได้ นอกจากนี้ โจทก์และบุคคลที่เช่าบ้านของโจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองออกสู่ทางสาธารณะโดยต้องเดินเลียบข้างเสาซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้เพื่อปลูกบ้าน ซึ่งมีความกว้างไม่ถึง 2 เมตร ประกอบกับทางพิพาทส่วนที่ความกว้างที่สุดประมาณ 150 เซนติเมตร และส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 120 เซนติเมตร จึงเห็นควรกำหนดให้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองกว้าง 120 เซนติเมตร เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์
ประเด็น : การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ แม้จะมิได้จดทะเบียน ก็สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกผู้รับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2503
จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไป เพราะเหตุมิได้จดทะเบียนภารจำยอมหาได้ไม่ (อ้างฎีกาที่ 800/2502 ซึ่งตัดสินโดยที่ประชุมใหญ่)
ประเด็น : เข้าใจว่าเดินในที่ทางสาธารณะ ไม่เป็นภาระจำยอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2558
โจทก์ทั้งห้าและโจทก์ร่วมทั้งสิบสองใช้ทางพิพาทโดยเข้าใจว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิผ่านทางพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 แม้โจทก์ทั้งห้าและโจทก์ร่วมทั้งสิบสองจะใช้ทางพิพาทเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่เป็นภาระจำยอมเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งห้าและโจทก์ร่วมทั้งสิบสอง
ประเด็น : เลือกฟ้องได้เฉพาะภาระจำยอม หรือฟ้องทั้งภาระจำยอมและทางจำเป็นไป ให้ศาลวินิจฉัยก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2605/2562
การที่โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นทางภาระจำยอม จึงไม่วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ทั้งที่ทางพิพาทอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกัน แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอมและข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยในเรื่องทางจำเป็น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องทางพิพาทว่าเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ได้ หาเป็นการนอกฟ้องหรือนอกประเด็นไม่ เพราะโจทก์มีคำขอมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
การที่บิดาโจทก์ โจทก์ และ ส. น้องสาวโจทก์ ใช้ทางพิพาทด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยและถือว่าเป็นญาติกับ ย. และ ร. เจ้าของที่ดินอันเป็นการใช้ทางโดยถือวิสาสะ หาใช่เป็นการใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้สิทธิในภาระจำยอมไม่ ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
แม้โจทก์ไม่ได้เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย และจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนจากโจทก์ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบเพียงพอที่จะพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยกำหนดค่าทดแทนที่โจทก์ต้องใช้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย ไปเสียทีเดียว
ประเด็น : นิยามการถือวิสาสะ ฉันท์ญาติพี่น้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2501
คำว่า วิสาสะ พจนานุกรมวิเคราะห์ศัพท์ว่า ความคุ้นเคย สนิทสนม การถือว่าเป็นกันเอง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังโจทก์ได้ถือวิสาสะใช้ทางเดินผ่านที่จำเลยทางพิพาท ก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2529
โจทก์ใช้ทางพิพาทเดินผ่านที่ดินซึ่งเป็นของบิดามารดาแล้ว เป็นมรดกได้แก่พี่ชายโจทก์ตลอดมาโดยถือวิสาสะ แม้ต่อมาจะโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของบุคคลอื่น แต่เมื่อโจทก์ยังคงใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะเช่นเดิมแม้จะเดินนานเท่าใดก็หาได้สิทธิในภาระจำยอมไม่ และถึงแม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทอย่างไม่ใช่การถือวิสาสะตั้งแต่ที่ดินตกเป็นของจำเลยก็ยังไม่ถึง10ปี ทางพิพาทจึงยังไม่เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2544
คลองบางไผ่น้อยบริเวณพิพาท แม้ใช้เรือสัญจรเข้าออกได้ แต่ก็ ขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะได้ตามปกติ จึงยังไม่พอ ที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 โจทก์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินพิพาทผ่านเข้าออกเป็นทางจำเป็นได้
โจทก์ได้ใช้ทางเดินพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะสืบทอดมาตั้งแต่ ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์และจำเลยที่เป็นญาติใกล้ชิดมาแต่เดิม จนกระทั่ง ปลายปี 2528 น้ำท่วมทางพิพาท ทางฝ่ายโจทก์จึงได้จัดสรรสร้างสะพานไม้ ข้ามคูน้ำในทางเดินพิพาท โดยบิดาจำเลยยินยอมให้ดำเนินการในลักษณะ ของความอะลุ่มอล่วยฉันเครือญาติ จึงเป็นการแสดงออกโดยแจ้งชัดว่า โจทก์ได้ใช้ทางเดินพิพาทด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย โดยถือว่าเป็นกันเอง อย่างเช่น เครือญาติที่ผูกพันกันมานานสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ อันเป็นการใช้ทางเดินพิพาทโดยถือวิสาสะ และเอื้อเฟื้อต่อกัน ทางเดินพิพาท จึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401
ประเด็น : ภาระจำยอมย่อมสิ้นไป เมือไม่ได้ใช้ประโยชน์เกิน 10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2546
ที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นสามยทรัพย์มีภารจำยอมเกี่ยวกับทางเดินในที่ดินของจำเลย ถูกปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่าไม่มีการหาผลประโยชน์บนที่ดิน ความจำเป็นที่จะต้องเดินผ่านทางภารจำยอมไปสู่ที่ดินของโจทก์จึงไม่มีตามไปด้วย เมื่อโจทก์มิได้ใช้ทางภารจำยอม 10 ปี แล้ว ภารจำยอมจึงสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399
ประเด็น : สร้างบ้านรุกล้ำโดยสุจริต ขอจดทะเบียนภาระจำยอมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 634/2515
การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต หมายความว่า ผู้สร้างต้องรู้ในขณะสร้างว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของผู้อื่น หากเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนและสร้างโรงเรือนรุกล้ำไปครั้นภายหลังจึงทราบความจริง ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต
ครัวเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน การสร้างครัวรุกล้ำที่ดินของผู้อื่น ย่อมเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นตามกฎหมาย การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ผู้สร้างย่อมเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้นตามกฎหมาย เจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำไม่อาจฟ้องบังคับให้ผู้สร้างรื้อถอนโรงเรือนได้ แม้ผู้สร้างจะมิได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับเจ้าของที่ดินนั้นให้จดทะเบียนภารจำยอมก็ตาม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 เฉพาะโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นเท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครองสิ่งอื่น ๆ ที่มิใช่โรงเรือน หาได้รับความคุ้มครองด้วยไม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1385 ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้น รวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้ ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้ ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอม อันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1391 เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์
เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์ด้วยไซร้ ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ
มาตรา 1398 ถ้าภารยทรัพย์และสามยทรัพย์ตกเป็นของเจ้าของคนเดียวกัน ท่านว่าเจ้าของจะให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมก็ได้ แต่ถ้ายังมิได้เพิกถอนทะเบียนไซร้ ภาระจำยอมยังคงมีอยู่ในส่วนบุคคลภายนอก
มาตรา 1399 ภาระจำยอมนั้น ถ้ามิได้ใช้ 10 ปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. ภาระจำยอม ไม่จําเป็นต้องเป็นที่ดินที่ถูกล้อมหรือที่ดินที่อยู่ติดกัน แม้ที่ดินไม่ได้อยู่ติดกันก็สามารถใช้ทางภาระจํายอมได้
2. ไม่จําเป็นต้องเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ภาระจํายอมไปสู่ที่ใดก็ได้
3. ภาระจำยอมโดยนิติกรรม กฎหมายไม่ได้กําหนดว่าจะต้องเสียค่าทดแทน แล้วแต่เจ้าของที่ดินจะตกลงกันว่าจะมีการเสียค่าทดแทนหรือไม่
4. ภาระจํายอมไม่จดทะเบียนไม่สมบรูณ์ (ป.พ.พ. มาตรา 1299 ว.1 / ว.2) หากไม่ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียน การได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะใช้บังคับได้เพียงระหว่างคู่สัญญาในฐานะเป็นบุคคลสิทธิเท่านั้น
5. ทางจําเป็นหมดความจําเป็นก็สิ้นไป ภาระจํายอมไม่ใช้ 10 ปี หรือ จดทะเบียนยกเลิก
6. เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ สามารถนับระยะเวลารวมกับเจ้าของเดิมได้ เช่น กรณีได้รับมาโดยมรดก เป็นต้น
7. การซื้อขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิในทางภาระจำยอมติดไปด้วย จนกว่าจะมีการปลอดภาระจำยอม
ค่าบริการว่าความ คดีทางภาระจำยอม |
|
รูปแบบคดี |
ราคา(เริ่มต้น) |
♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี |
-X- |
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร
ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย
ทนายธนู Tel. 083 4248098
LINE ID : @tn13
เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.
ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน
สัญญา ไม่มีผลทางกฎหมายครับ
ซึ่งเราเพิ่งทราบเรื่องเงื่อนไขนี้หลังจากการซื้อขายเรียบร้อยแล้ว เราสามารถ ทำอะไรได้บ้างครับ ฟ้องขอภาระจำยอมต่อได้ไหม
(ในซอยมีบ้านอยู่ 4-5 หลัง ซึ่งเข้าออกทางนี้อยู่ ไม่่สามารถปิดทางได่อยู่แล้ว ไม่ได้ขยายอะไรเพิ่มเติม)
โจทก์ทั้งห้าและโจทก์ร่วมทั้งสิบสองใช้ทางพิพาทโดยเข้าใจว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิผ่านทางพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 แม้โจทก์ทั้งห้าและโจทก์ร่วมทั้งสิบสองจะใช้ทางพิพาทเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่เป็นภาระจำยอมเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งห้าและโจทก์ร่วมทั้งสิบสอง #มีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็มมั้ยครับ