ขอทำนิติกรรมแทนผู้ไร้ความสามารถ

คดีขายทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถ

   บุคคลไร้ความสามารถ ไม่อาจแสดงเจตนาเพื่อทำนิติกรรมโดยลำพังได้ มิฉะนั้น นิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ ตามกฎหมาย ผู้อนุบาลจะต้องยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมแทน

   ผู้ไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่ศาลได้มีคำสั่ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

   การขายทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน บ้าน ห้องชุด ของบุคคลไร้ความสามารถ นั้น หากมีความจำเป็นต้องขาย ต้องได้รับอนุญาตจากศาล จึงจะสามารถทำนิติกรรมการขายได้ เพื่อการเล็งถึงประโยชน์ของคนไร้ความสามารถเป็นสำคัญ

   หากในขณะที่ร้องขอศาลเพื่อตั้งผู้อนุบาล มิได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งขายที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ด้วย ผู้อนุบาลต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตเสียก่อน เมื่อศาลอนุญาตแล้วสามารถนำคำสั่งศาลดังกล่าวพร้อมเอกสารฐานมายื่นคำขอต่อเจ้าพนักงงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินได้

   เมื่อหาผู้จะซื้อที่ดินได้แล้ว สามารถทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ก่อนได้ และนำไปเป็นหลักฐานในการยื่นประกอบคำร้องต่อศาล

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง 

1. ทะเบียนบ้าน

2. บัตรประจำตัวประชาชน

3. สำเนาคำสั่งศาลเป็นผู้ไร้ความสามารถและแต่งตั้งผู้อนุบาล พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

4. โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด พร้อมหนังสือรับรองราคาประเมินทั้งที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ไม่เกิน 3 เดือน

5. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล / ตารางสรุปค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน

6. สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน (ถ้ามี) ควรระบุเงื่อนไขในสัญญาว่าจะทำการโอนได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน

7. หนังสือให้ความยินยอมจากทายาทผู้ไร้ความสามารถ (ถ้ามี)

 

ค่าขึ้นศาล : 200 บาท

ค่าส่งหมายประกาศแจ้ง : ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ, ภูมิลำเนาผู้ไร้ความสามารถ และที่ตั้งทรัพย์ (ตามระยะทาง)

 

เขตอำนาจศาล

1. ตามที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่

2. ท้องที่ที่ทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาล

 

ประกาศศาล ติดที่ไหนบ้าง

1. หน้าศาล

2. ที่ตั้งทรัพย์

3. ภูมิลำเนาผู้ไร้ความสามารถ

4. ภูมิลำเนาผู้มีส่วนได้เสีย

 

***การจัดการทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถ

1. ผู้ร้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่ง เป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาล พร้อมทั้งขออนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมขายทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถไปในคดีเดียวกันได้

2. แม้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกล่าวถึงอำนาจการจัดการหรือขอบอำนาจกระทำการแทนของผู้อนุบาล แต่การทำนิติกรรมก็ต้องขออนุญาตศาลก่อนทุกกรณีไป เหมือนกรณีของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1574

3. บัญชีธนาคาร ต้องให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ชัดเจนว่าสามารถ "ทำธุรกรรมหรือนิติกรรมทางการเงินในการเบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 111-2-22333-4 เพื่อใช้ในการดูแล... คนไร้ความสามารถได้"

4. ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์

   4.1. ประสงค์จะขายทรัพย์สินให้ผู้ใด ในราคาเท่าใด ปกติต้องตามราคาท้องตลาด ซึ่งไม่ต่ำกว่าราคาประเมิน ซึ่งคำสั่งศาลจะกำหนดให้ขายไม่ต่ำกว่าราคา - บาท โดยควรซื้อขายในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน เพื่อจะนำเงินที่ได้จากการขายมาเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและค่ารักษาพยาบาล

   4.2. ต้องบรรยายในคำร้องว่า ปัจจุบันผู้ไร้ความสามารถรักษาพยาบาลอยู่ที่ใด มีค่าใช้จ่ายเท่าใด ซึ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะชำระ

   4.3. สถานะในปัจจุบันของผู้อนุบาลไม่มีรายได้เพียงพอที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายได้

   4.4. กรณีผู้ไร้ความสามารถ เป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกับบุคคลอื่น ในฐานะกรรมสิทธิ์ร่วมหรือสินสมรส คำร้องจะต้องให้เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสเซ็นยินยอมและไม่คัดค้านด้วย

   4.5. ศาลอาจจะมีคำสั่งให้อนุญาตขายได้ และต้องดำเนินการให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 1 ปี หรือ 2 ปี เป็นต้น

5. ผู้เสมือนไร้ความสามารถ สามารถขายทรัพย์สินของตนเองได้เช่นเดียวกันคนปกติ ยกเว้นนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ มิใช่โดยคำสั่งอนุญาตจากศาล

 

วิธีดำเนินการยื่นคำขอขายทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ได้ภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาต

1. ศาลจะใช้ดุลพินิจ สั่งให้ผอ. สถานพินิจ ฯ เป็นผู้กำกับดูแลบัญชีเงินฝากที่ได้รับจากการขาย โดยผู้ร้องสามารถไปขอเบิกใช้เป็นรายเดือน

   กรณี ศาลไม่ได้แต่งผู้กำกับดูแล ผู็ร้องจะต้องเป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย เอง (ชอบ)

2. ในวันขาย ศาลมีคำสั่งให้ เจ้าหน้าที่สถานพินิจ ฯ ไปขาย ณ สำนักงานที่ดิน พร้อมกันกับผู้ร้อง และผู้ซื้อ

3. ในวันขาย ผู้ร้องต้องยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำสั่งศาล  

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ผู้ไร้ความสามารถทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้ ก่อนศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2541

   แม้ ส. ผู้จะขายได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้ง 8 แปลงในขณะที่ ส. เป็นปกติอยู่ก็ตาม แต่ในช่วงระยะเวลาที่ ส. จะต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้แก่ผู้จะซื้อ ตามสัญญาจะซื้อขายปรากฏว่า ส. ได้ถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้องแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลประสงค์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง ขายให้ผู้จะซื้อ ผู้ร้องจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสอง และ 1574(1) ประกอบมาตรา 1598/18 วรรคสอง แม้สัญญาจะซื้อขายที่ ส. ทำขึ้นเป็นโมฆียะกรรมก็ตาม แต่ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาล ซึ่งมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ มิได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อ ทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทน ส. ซึ่งถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้อง โดยผู้ร้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน และยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อขอทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายแทน ส. พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาจะซื้อขาย ซึ่งเป็นโมฆียะกรรม โดยการแสดงเจตนาแก่ผู้จะซื้อ ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ตามมาตรา 177 ซึ่งมีผลผูกพันที่ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามสัญญา โดยผู้ร้องจะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ ส. ขายให้แก่ผู้จะซื้อ เป็นเหตุให้ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตาม ข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย อีกทั้งบุตรของ ส. อีก 2 คน ที่แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าทราบรายละเอียดในคดีนี้แล้วไม่ค้าน ตลอดจนศาลได้คำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม และเมื่อพิจารณาถึงการจะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขายที่ดินของ ส. ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียหายต่อ ส. เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายได้ ดังนั้น การขายที่ดินของ ส. ให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายถือได้ว่า มีเหตุจำเป็นและสมควร อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อ ส. จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของ ส. คนไร้ความสามารถขายที่ดินของ ส. ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2541)

 

ประเด็น : จะต้องยื่นขอตั้งเป็นผู้อนุบาลก่อน แล้วจะค่อยยื่นขอจัดการเป็นคดีถัดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2566

   ที่ผู้ร้องอ้างว่าจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 เพื่อจัดการทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถนั้นที่จะยื่นคำร้องขอได้ เมื่อปรากฏว่าในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ศาลยังไม่มีคำสั่งว่า ม. เป็นคนไร้ความสามารถ และมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของ ม. ผู้ร้องซึ่งยังไม่อยู่ในฐานะผู้อนุบาล จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมแทน ม. ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 28 บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

   บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

   คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 29 การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 30 การใดๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็น คนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้ กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้ว ด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา 33 ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ ความสามารถเพราะวิกลจริต ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้น ไม่วิกลจริต แต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อมีคำขอของคู่ความ หรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ หรือในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เพราะมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นวิกลจริต เมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

มาตรา 34 คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

   (1) นำทรัพย์สินไปลงทุน

   (2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

   (3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

   (4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

   (5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี

   (6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศลการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

   (7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

   (8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

   (9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

   (10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องของตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

   (11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลังศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้

   ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

   คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

   การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 1574 นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

   (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

   (2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

   (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์

   (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจาก ทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น

   (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี

   (6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)

   (7) ให้กู้ยืมเงิน

   (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อ การกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

   (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่ รับการให้โดยเสน่หา

   (10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับ ชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น

   (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)

   (12) ประนีประนอมยอมความ

   (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

มาตรา 1598/17 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล และตั้งบิดาหรือมารดาหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาล ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

   อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกรณีดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรสได้

มาตรา 1598/15 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและภริยาหรือสามีเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3)

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ผู้ร้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาล พร้อมทั้งขออนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมขายทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถไปในคดีเดียวกันได้

   แต่บางกรณี ศาลจะต้องให้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้อนุบาล มาก่อนแล้ว

2. แม้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกล่าวถึงอำนาจการจัดการหรือขอบอำนาจกระทำการแทนของผู้อนุบาล แต่การทำนิติกรรมก็ต้องขออนุญาตศาลก่อนทุกกรณีไป เหมือนกรณีของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574

3. ศาลจะมีคำสั่งให้อนุญาตขายได้ และต้องดำเนินการให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 1 ปี หรือ 2 ปี เป็นต้น แต่ยังสามารถขอขยายระยะเวลาได้อีก โดยต้องทำเป็นคำร้องและไต่สวน

4. ประสงค์จะขายทรัพย์สินให้ผู้ใด ในราคาเท่าใด ปกติต้องตามราคาท้องตลาด ซึ่งไม่ต่ำกว่าราคาประเมิน ซึ่งคำสั่งศาลจะกำหนดให้ขายไม่ต่ำกว่าราคา - บาท หรือราคาประเมินของทางราชการ โดยควรซื้อขายในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน เพื่อจะนำเงินที่ได้จากการขายมาเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดู ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายประจำวัน

5. ต้องบรรยายในคำร้องว่า ปัจจุบันผู้ไร้ความสามารถรักษาพยาบาลอยู่ที่ใด มีค่าใช้จ่ายเท่าใด ซึ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะชำระ

6. สถานะในปัจจุบันของผู้อนุบาล ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายได้

7. กรณีผู้ไร้ความสามารถ เป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกับบุคคลอื่น ในฐานะกรรมสิทธิ์ร่วมหรือสินสมรส คำร้องจะต้องให้เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสเซ็นยินยอมและไม่คัดค้าน ด้วย

8. ควรพาผู้จะซื้อ มาเบิกความต่อศาลด้วย

9. ผู้เสมือนไร้ความสามารถ สามารถขายทรัพย์สินของตนเองได้เช่นเดียวกันคนปกติ ยกเว้นนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ มิใช่โดยคำสั่งอนุญาตจากศาล

10. เหตุจำเป็นในการขาย มีผลต่อการอนุญาตของศาลเป็นอย่างมาก ผู้ร้องควรบรรยายเหตุจำเป็นให้รอบคอบ

 

ค่าบริการ คดีขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้ไร้ความสามารถ

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ยื่นคำร้อง ทายาทยินยอม

-X-

 ♦ ยื่นคำร้อง ทายาทไม่ยินยอม

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ ขอขายทรัพย์สินคนไร้ความสามารถ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ติดต่อทนายธนู โทร 083 4248098

LINE ID : @tn13

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
 
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.241.xxx]
เมื่อ: 2019-12-14 19:39:08
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ทนายความ [IP: 171.7.233.xxx]
เมื่อ: 2021-11-06 05:51:05
ผู้อนุบาลเข้าจัดการคดีความแทนคนไร้ความสามารถตามมาตราใด ป.พ.พ.
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.19.xxx]
เมื่อ: 2022-08-02 19:14:33
ตาม # โดย : ทนายความ
ป.วิ.พ. มาตรา 56
#4 โดย: satapron2523@gmail.com [IP: 49.237.22.xxx]
เมื่อ: 2022-09-01 17:07:20
มีข้อสอบถามค่ะกรณีขายฝากที่ดินกรรมสิทร่วมของร้องชายศาลตัดสินให้ข้าพเจ้าผู้เป็นผู้อนุบาลพร้อมขายโอนกรรมสิทในส่วนของผู้ไร้ความสามารถได้แต่ว่าให้ยุ่ในความดูแลของสถานพินิจ
แล้วส่วนหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายกับผู้รับซื้อล้ะคะในส่วนของน้องทางสถานพินิจต้องร่วมใช้หนี้กับเราคนละครึ่งด้วยมั้ยคะ
#5 โดย: เดชา [IP: 1.47.20.xxx]
เมื่อ: 2022-09-04 12:20:17
มีตัวอย่างการเขียนคำร้องขอโอนอสังสาริมทรัพย์ของผู้ไร้ความสามารถมาเป็นของผู้อนุบาลไหมครับ
ขอบคุณครับ
#6 โดย: นายศักดิ์ [IP: 49.48.216.xxx]
เมื่อ: 2023-07-12 13:10:07
ได้ความรู้มากเลยครับ ขอบพระคุณมากเลย สุดยอดของผู้มีน้ำใจ ขอให้เจริญๆด้วยเถิด
#7 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.33.xxx]
เมื่อ: 2024-11-03 00:28:39
ตอบ #4 โดย: satapron2523@gmail.com
ถาม : มีข้อสอบถามค่ะกรณีขายฝากที่ดินกรรมสิทร่วมของร้องชายศาลตัดสินให้ข้าพเจ้าผู้เป็นผู้อนุบาลพร้อมขายโอนกรรมสิทในส่วนของผู้ไร้ความสามารถได้แต่ว่าให้ยุ่ในความดูแลของสถานพินิจ
แล้วส่วนหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายกับผู้รับซื้อล้ะคะในส่วนของน้องทางสถานพินิจต้องร่วมใช้หนี้กับเราคนละครึ่งด้วยมั้ยคะ

ตอบ - เงินที่ได้มา หากต้องการนำไปใช้จ่ายที่จำเป็น ก็จะยื่นคำร้องขอจากสถานพินิจ ซึ่งเงินค่าไถ่ ถือว่าจำเป็นครับ
แต่หากสถานพินิจไม่ชัวร์ เขาจะทำหนังสือแจ้งศาลต่อศาล เพื่ออนุญาตให้ใช้เงิน
#8 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.33.xxx]
เมื่อ: 2024-11-03 00:29:24
ตอบ #5 โดย: เดชา
ถาม : มีตัวอย่างการเขียนคำร้องขอโอนอสังสาริมทรัพย์ของผู้ไร้ความสามารถมาเป็นของผู้อนุบาลไหมครับ
ขอบคุณครับ

ตอบ - ไม่เคยเจอนะครับ และก็คิดว่าไม่น่าได้ ยังไงอัพเดทกันด้วยนะครับ
#9 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.33.xxx]
เมื่อ: 2024-11-03 00:29:49
ตอบ #6 โดย: นายศักดิ์

ได้ความรู้มากเลยครับ ขอบพระคุณมากเลย สุดยอดของผู้มีน้ำใจ ขอให้เจริญๆด้วยเถิด

--- ด้วยความยินดีครับ ----

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 278,402