หมิ่นประมาท

คดีหมิ่นประมาท #ทนายคดีหมิ่นประมาทThanuLaw

   ปัจจุบัน พบการหมิ่นประมาทในรูปแบบของสื่อโซเชียลมีเดีย ออนไลน์ กันมากขึ้น ทั้งโพสต์ข้อความ คลิปวีดีโอ Chat ตั้งกระทู้ หรือรูปภาพ ทางแอปพลิเคชันที่ไม่รับความนิยม เช่น facebook LINE หรือในระบบคอมพิวเตอร์อื่น ๆ โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้บุคคลนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ได้รับความอับอาย ต่อบุคคลที่สาม และความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ข้อความที่โพสต์จะต้องเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริงด้วย

   ผู้เสียหายสามารถฟ้องได้ทั้งคดีอาญา เพื่อลงโทษตามกฎหมาย และยังสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ในคดีแพ่ง อีกด้วย

 

"ถึงแม้จะเป็นความจริง แต่หากเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ถือว่าผิดกฎหมายอาญา"

ส่วนทางกฎหมายแพ่ง หากเป็นความจริง ไม่ต้องรับผิดค่าสินไหมทดแทน

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1. กฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 329

2. พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14, 16

3. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423

4. หมิ่นประมาท เป็นความผิดที่ยอมความได้ มาตรา 333

 

ตัวอย่าง ข้อความที่ "ผิด"

1. กล่าวหาเป็นชู้ แย่งสามีชาวบ้าน

2. โพสทวงหนี้ประจาน ลูกหนี้ไม่ยอมใช้หนี้ ออกเช็คเด้ง (ยังผิด พ.ร.บ.ทวงหนี้ อีกด้วย) 

3. รูปโป้ ลามก ภาพหลุด

4. รู้ว่าเท็จ แต่ก็ยังกดแชร์

5. ระบุตำแหน่ง ชัดเจน เช่น ผบ.ทบ. นายกอบจ.ปทุมธานี

6. เจ้าหน้าที่ทุจริตในหน้าที่ รับสินบน

7. โพสต์หมายจับ

8. ตัดต่อภาพในทางเสียหาย เช่น รูปโป้ หัวหมา

 

ตัวอย่าง ข้อความที่ "ไม่ผิด"

1. ติชม ด้วยความเป็นธรรม ตาม ป.อ. ม. 329 เช่น เป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ฏ.6624/2537

2. ถ้อยคำหยาบคาย เช่น ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ อีฝีปอบ ไอ่ชาติหมา อีโง่ อีแก่ เสือกโง่เอง เป็นต้น (ผิดข้อหาดูหมิ่น ตาม ป.อ. ม. 393)

3. เปรียบเทียบ เปรียบเปรย เลื่อนลอย ไม่เฉพาะเจาะจงและแน่ชัด เช่น ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง ฏ.4425/2545

4. คนโพสต์ไม่ชัด แต่เพราะคนอ่านไปสืบได้เอง ถึงได้ทราบ คนโพสต์ถือว่าไม่ผิด เช่น ครูชายในโรงเรียนสวนกุหลาบ

5. ตั้งคำถาม ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง เช่น เป็นชู้กันหรือป่าว? เป็นบ้าหรือป่าว?

6. ใส่ความในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ผีปอบ

7. พูดตัดพ้อน้อยใจ เช่น ไม่ได้รับความยุติธรรม

8. โพสต์ในกลุ่มปิด

 

โทษทางอาญา

มาตรา 326 : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 : จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

มาตรา 14 : จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 16 : จําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

 

***เหตุยกเว้นความผิด : เป็นไปตาม ป.อ. ม.329, 330, 331

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (ถูกกล่าวหาหรือพาดพิง จึงต้องชี้แจงความจริง)

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ (แจ้งข้อความตามหน้าที่ เช่น แถลงข่าวการสอบสวนการฉ้อโกงเงิน)

(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น วิเคราะห์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล) หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม (สรุปข่าวในการพิจารณาคดีของศาลหรือรายงานจากที่ประชุม)

   ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

   แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน (คุ้มครองเฉพาะเรื่องสาธารณะ หรือเรื่องส่วนตัวที่เป็นประโญชน์ต่อประชาชน)

มาตรา 331 คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (นำสืบหลักฐานเพื่อปรักปรำ ถามค้านทำลายน้ำหนัก)

 

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 : เป็นการหลอกหลวงโดยใส่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ ก็ได้ หรือแชร์ข่าวปลอม (Fake News) ภาพตัดต่อ

 

ตัวอย่าง ตัวอย่างคำพิพากษา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ด่าว่าเป็นเมียน้อย มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541

   จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหาย เมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูด นอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติจำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า "มึงเป็นเมียน้อยสารวัตร ส. อย่ามาทำใหญ่ให้กู้เห็นนะ" ต่อหน้า พ. ซึ่งมากับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

 

ประเด็น : คำว่า กระหรี่ พูดสั้น ๆ ก็เจ็บ และผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2371/2522

   จำเลยพูดถึงผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอว่ากระหรี่ที่ดิน คำว่า "กระหรี่" หมายความว่าหญิงนครโสเภณีหรือหญิงค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวรายละเอียดว่าค้าประเวณีกับใคร ประพฤติสำส่อนในทางเพศกับใครบ้าง ก็เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำหมิ่นประมาทแล้ว

   ผลของการใส่ความผู้อื่นน่าจะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่นั้น ศาลมีอำนาจวินิจฉัยเองได้ ไม่จำต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2518

   กล่าวว่าหญิงเป็นคนสำเพ็งคนไม่ดี 5 ผัว 6 ผัว แม้กล่าวด้วยความหึงหวงสามีมิให้คบกับหญิงนั้นก็เป็นหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326

 

ประเด็น : กล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554

   การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม แต่เมื่อ ป. เข้ามาร่วมรับฟังในภายหลังและจำเลยกล่าวต่อหน้า ป. ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. แม้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. ก็ตาม แต่ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้า ป. ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอายและเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

ประเด็น : เพียงคาดคะแน ไม่ถือว่าผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2518

   ที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สาม มิใช่เพียงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเน และการใส่ความดังกล่าวนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังด้วย

   จำเลยกล่าวต่อน้องชายของผู้เสียหายและบุคคลอื่นว่า "พี่สาวเองมีผัวหรือยังควยกูนี่ใหญ่นะพี่สาวมึงคงชอบ ขอเย็ดสักทีสองทีได้ไหม" คำกล่าวที่ว่า "ควยกูนี่ใหญ่นะพี่สาวมึงคงชอบ" เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังส่วนคำกล่าวที่ว่า"ขอเย็ดสักทีสองทีได้ไหม" ก็มิใช่ถ้อยคำที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

 

ประเด็น : ตีพิมพ์ว่าจ่ายเช็คเด้ง มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2523

   จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์มีข้อความสำคัญว่าโจทก์จ่ายเช็คจำนวน 1 ล้านบาทให้แก่ธนาคาร ถึงกำหนดปรากฏว่าเช็คไม่มีเงิน ธนาคารแจ้งตำรวจขอให้จับโจทก์ดำเนินคดี ตามข้อความดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์มีฐานะการเงินไม่ดีไม่น่าเชื่อถือการลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและประกอบการค้าโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ เสียชื่อเสียง ทั้งเรื่องที่โจทก์จ่ายเช็คไม่มีเงินและถูกธนาคารแจ้งความเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงานของโจทก์ในตำแหน่งนายกเทศมนตรีอันจะถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยจะอ้างว่าข่าวนั้นเป็นความจริงเพื่อมิให้ต้องรับผิดหาได้ไม่

 

ประเด็น : ต้องระบุตัวตนผู้เสียหายอย่างชัดเจน เข้าใจได้ว่าเป็นผู้ใด เพียงอักษรย่อ ไม่ระบุนามสกุล หากต้องการทราบต้องไปสืบค้นข้อมูลแหล่งอื่นเพิ่มเติม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551

   การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด

   ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

 

ประเด็น : นามปากกา คนทั่วไปไม่รู้ว่าคือใคร ไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2542

   การใช้นามปากกาแทนชื่อจริง บุคคลทั่วไปจะรู้จักแต่นามปากกาไม่สามารถรู้ชื่อจริงได้ แม้จะเป็นบุคคลหรือเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่นั้นก็ตาม เพราะการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่นั้นไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ขึ้นมา ได้ว่านามปากกาใดเป็นของผู้ใด คำเบิกความของ พันตำรวจโท อ. ไม่ได้แสดงเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่าตนรู้ได้อย่างไรว่าจำเลยที่ 2 ใช้นามปากกาว่าคมแฝก พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนัก คดีรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียนคอลัมน์สังคมบ้านเรา ในหนังสือพิมพ์ บ. โดยใช้นามปากกาว่าคมแฝก

 

ประเด็น : ฟังมาเล่าต่อ ก็ผิด เพราะถือว่ายืนยันข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503

   นางใยอาของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่าโจทก์(เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่านางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟังจำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟังนางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลย ถือได้ว่า จำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์

 

ประเด็น : เพียงตั้งคำถาม ตั้งประเด็น แต่ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 374/2562

   โจทก์และจำเลยต่างขายสินค้าเสริมความงาม เช่น ครีมบำรุงผิว สบู่ ทางอินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรม Facebook เมื่อเดือนเมษายน 2558 จำเลยพิมพ์ข้อความที่โจทก์อ้างว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อความที่จำเลยพิมพ์ใน Facebook ที่ว่า “...หรือว่ามึงเอาครีมเก่าเน่าๆ ไปขายให้ลูกค้าแล้วไม่มีใครซื้อของ ของมึงนัง พ. ...” ซึ่งอ่านแล้วข้อความดังกล่าวก็เป็นเพียงการตั้งคำถามถึงโจทย์ว่า โจทย์ขายครีมเก่าเน่าๆ หรือไม่ มิได้ยืนยันว่าโจทย์ขายครีมเก่าเน่าๆ อันจะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

อธิบายเพิ่มเติม การใส่ความ ตามความหมายของ ป.อ.มาตรา 326 คือ การแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยจะต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2531

   จำเลยถาม ป. ว่า มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จริงหรือไม่ถ้าจริงก็ให้เลิกเสีย ไม่ได้ยืนยันว่า ป. มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวเช่นนั้นต่อหน้าโจทก์จึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอีกเช่นกัน

 

ประเด็น : โพสต์ข้อความใน facebook / LINE Timeline หากตั้งค่าเป็น Public ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ด้วย แต่เพียงส่งกันในกลุ่ม(ปิด) ยังไม่ผิด

แต่หากมีการ Capture จากกลุ่มปิดนำออกเผยแพร่ ถือว่าผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5276/2562

   ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์ กลุ่มโพสต์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2562

   แม้ ป.พ.พ. มาตรา 423 ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คน คือ จำเลยทั้งสอง และ พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและ พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดย พ. เข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเอง ย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

 

ประเด็น : ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แต่ไม่ได้โพสต์เอง ถือว่าเป็นความผิดโดยเล็งเห็นผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557

   การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

 

ประเด็น : การโพสต์หมิ่นประมาทออนไลน์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เท่านั้น ไม่ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขใหม่ปี 2560 มาตรา 14 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2561

   พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า " (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน " โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า " (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา " กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

 

ประเด็น : นำหมายจับไปปิดประกาศตามสถานที่ต่าง ๆ ถือเป็นการทำลายชื่อเสียง มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6877/2552 

   แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะมีปัญหาพิพาทกับโจทก์ร่วมในเรื่องที่โจทก์ร่วมปิดอาคารไม่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปตกแต่งอาคารและไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์อาคารให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีอื่นที่ศาลออกหมายจับโจทก์ร่วมไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นน้องของ ฉ. เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วมนำประกาศจับซึ่งมีข้อความว่า ประกาศจับโจทก์ร่วม กับสำเนาหมายจับของศาลแขวงลพบุรีไปปิดประกาศคู่กันให้ประชาชนทั่วไปพบเห็นตามสถานที่ต่าง ๆ ถือเป็นการทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม เป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ตาม ป.อ. มาตรา 328

 

ประเด็น : โพสต์เฟซบุ๊กตำหนิศาล ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559

   ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาลงแสดงในเฟซบุ๊กมีข้อความที่ไม่เป็นความจริงกล่าวหาว่าศาลดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และไปถ่ายรูปในบริเวณศาลนำมาลงประกอบข้อความเท็จของตนในเฟซบุ๊กว่าศาลเรียกเงิน และมีข้อความลงข่มขู่ศาลว่าจะยิงทำร้าย ขอให้ผู้พิพากษาระวังตัว อันเป็นข้อความที่ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล และเป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่ถูกต้องและเป็นเท็จ แม้ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่เมื่อข้อความส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายรูปบุคคลในบริเวณศาล เพื่อนำไปประกอบข้อความเท็จที่ตนใช้แสดงต่อสาธารณชน ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงข้อความเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในศาล แสดงความเท็จว่าตนถูกศาลกลั่นแกล้งเป็นความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 32 (2) ด้วย อันเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างเจตนา และต่างบทกฎหมาย ชอบที่จะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทั้งสองกรรม

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

   (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

   (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

   (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

   (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

   ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

   แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 331 คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 332 ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง

   (1) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท

   (2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

มาตรา 333 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

   ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

   (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

   (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

   (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

   (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

   (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

   ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา 16 ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

   ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง

   ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริตอันเป็น การติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ผู้กระทําไม่มีความผิด

   ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

มาตรา 16/1 ในคดีความผิดตามมาตรา 14 หรือมาตรา 16 ซึ่งมีคําพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง

   (1) ให้ทําลายข้อมูลตามมาตราดังกล่าว

   (2) ให้โฆษณาหรือเผยแพร่คําพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้จําเลยเป็นผู้ชําระค่าโฆษณา หรือเผยแพร่

   (3) ให้ดําเนินการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทําความผิดนั้น

มาตรา 16/2 ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทําลาย ตามมาตรา 16/1 ผู้นั้นต้องทําลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

   ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

มาตรา 447 บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

มาตรา 124 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้

   เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

   ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าสมาชิกกล่าวถ้อยคำใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้นได้รับความเสียหาย ให้ประธานแห่งสภานั้นจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมของสภานั้น  ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล

   เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใดซึ่งได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้นด้วยโดยอนุโลม

 

ข้อแนะคำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. หากพิจารณาเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำคุก พร้อมค่าปรับ หากปรากฎว่าจำเลยยังไม่เคยถูกจำคุกมาก่อน ศาลมักจะมีคำพิพากษาให้รอลงอาญาไว้

2. เงินประกันตัว 50,000 บาท

3. ในทางการสืบสวน สอบสวน มักมีปัญหา เพราะบริษัท Facebook LINE ปกป้องข้อมูลลูกค้า

4. คำชี้ขาดความเห็นแย่งที่น่าสนใจ

   4.1. ด้วยการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต คือ ไม่มีการยืนยันได้ว่า ผู้โพสเป็นใคร เป็นเพียงการคาดคะแนนของผู้เสียหาย อ้างอิงตามคำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 348/2549 เมื่อไม่ปรากฏพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ส่งอีเมลทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ประกอบกับเจ้าพนักงานไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า อีเมลทั้ง 2 ฉบับมาจากที่ใดใครเป็นผู้ส่ง คดีจึงมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอพิสูจน์ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 

   4.2. ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ว่าเป็นชู้ ส่วนตัวกันระหว่างผู้ต้องหากับผู้เสียหาย โดยไม่ได้อยู๋ต่อหน้า ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 393 อ้างอิงคำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 409/2559

5. หน่วยงานที่ตรวจสอบ คือ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ (ศขส.) และศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี (ศตท.) เข้าใจเองว่าปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

6. การบรรยายคำฟ้อง ต้องระบุข้อความภาพรวมทั้งหมดด้วย ไม่ใช่แค่บางส่วนของข้อความ

7. ภาพลามกเป็นความผิด ตาม ป.อ. ม. 287

 

ค่าบริการว่าความ คดีหมิ่นประมาท

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี ไกล่เกลี่ย

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ 

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 122.155.46.xxx]
เมื่อ: 2021-01-18 14:08:03
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ทนานธนู [IP: 182.232.77.xxx]
เมื่อ: 2021-04-14 03:43:42
ถ้าเราโพสว่า วัด แต่ไม่ใช่ชื่อวัด เราจะมีความผิดไหม
#3 โดย: กัลยา [IP: 120.21.97.xxx]
เมื่อ: 2021-11-02 22:44:58
ถ้าเขาลงโพสต์เรื่องขายที่ดินและบ้านโดยระบุราคา แล้วเรามีความรู้สึกว่ามันแพงไป เราเลยคอมเม้นท์ว่า แพง แบบนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายมั้ยคะ เขาบอกว่าเขาจะฟ้องคำนี้ทำให้เขาเสียหายค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
#4 โดย: เปี๊ยก [IP: 182.232.234.xxx]
เมื่อ: 2022-03-16 16:59:38
มีบุคคลคนหนึ่งกล่าวหาว่าเราไปแย่งสามีคนอื่นต่อหน้าญาติและคนอื่นที่อยู่ในงานศพทำให้เราเสียหายหรือไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้หรือไม่
#5 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.18.xxx]
เมื่อ: 2022-09-14 14:02:01
ตอบ #3 โดย: กัลยา
ไม่ผิดครับ เป็นการแสดงความเห็น หรือความรู้สึก
#6 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.18.xxx]
เมื่อ: 2022-09-14 14:02:29
ตอบ#4 โดย: เปี๊ยก
แบบนี้ผิดครับ แจ้งความตำรวจได้เลย
#7 โดย: เมย่า [IP: 182.232.107.xxx]
เมื่อ: 2022-10-01 15:03:15
สวัสดีค่ะขอปรึกษาเบื้องต้นได้ไหมค่ะ
คดีหมิ่นประมาท
หนูคุยกับแฟนเก่ามีข้อความไม่สุภาพว่าหีกะหีสีหำกะหำสูแล้วแต่สูจะไปไหนแต่เขาเอาไปให้ผู้หญิงคนใหม่ดูผู้หญิงคนนั้นจะฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท​ ว่าหนูไปว่าดขานอนด้วยกันแต่ในข้อความไม่ได้ว่านอนด้วยกันนะค่ะ หนูต้องทำไงค่ะ
#8 โดย: คำถามจากเจี๊ยบ [IP: 124.122.233.xxx]
เมื่อ: 2022-10-04 15:24:23
มีเยาวชนอายุ14ปี ร่วมนินทาบุคคลหนึ่ง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และบุคคลที่ถูกนินทาจะแจ้งความ อยากทราบ น้องเยาวชนจะมีความผิดขนาดไหนคะ
#9 โดย: Pom88 [IP: 182.232.235.xxx]
เมื่อ: 2022-11-20 23:23:23
ขอคำปรึกษาคับ พอดีผมได้นำรรูปของบุคคลหนึ่งไปโพสต์ในคอมเม้นของเขา อยู่ในกลุ่มกลุ่มหนึ่งที่เขาอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการแซวกันขำๆ ของกลุ่มอยู่แล้ว
ซึ่งรูปภาพที่ผมโพสต์ลงไปเป็นรูปเขาแล้วผมก็พิมพ์ว่า(เตงอย่า) ผมมีสิทธิ์ถูกฟ้องหรือเปล่าครับ
#10 โดย: ซี [IP: 1.47.23.xxx]
เมื่อ: 2022-12-18 12:25:34
สวัสดีค่ะพี่ทนาย ขอสอบถามหน่อยค่ะ เรื่องมันเกิดมาจากว่ามีคนมาแท็กด่าหนูค่ะ ซึ่งหนูไม่ได้รู้จักกับเขามาก่อนเขามาโพสประจานว่าหนูเป็นเมียน้อยแล้วแท็กหนูเลยค่ะ หนูเลยไม่ไปแจ้งความแล้วโพสใบบันทึกประจำวันของหนูลงเฟซบุ๊ค ซึ่งในใบบันทึกหนูไม่ได้ระบุชื่อ นามสกุลของจำเลย ระบุเเค่เพียงชื่อแอคเคาว์ภาษาอังกฤษที่ที่ใช้มาด่าหนูค่ะและระบุว่าจะสืบหาตัวผู้กระทำความผิดใาลงโทษตามกฎหมายต่อไป หลังจากนั้นมีน.ส..... แจ้งความหนูว่าหนูหมิ่นประมาทเขา ว่าหนูโพสใบบันทึกประจำวันมีชื่อเขา ซึ่งจริงๆแล้วในใบบันทึกประจำวันของหนูไม่ได้ระบุตัวว่าเป็นใครแบบชัดเจนเจาะจง #แบบนี้หนูเข้าข่ายหมิ่นประมาทเขาไหมค่ะ ตอนนี้สำนวนอยู่ชั้นอัยการอยู่ค่ะ ทางอัยการส่งสอบสวนทางโจทย์เพิ่มเติมมา2ครัเงแล้วค่ะ แต่ยังไม่มีคำสั่งออกมา #เป็นไปได้ไหมค่ะที่อัยการจะไม่ส่งฟ้องค่ะ
#11 โดย: ทนาย [IP: 1.1.214.xxx]
เมื่อ: 2023-01-13 15:08:54
ภรรยาถามผู้หญิงคนหนึ่งโดยใช้คำพูดว่า"มึงเป็นอะไรกับผัวกู" มีความผิดหรือไม่ มาตราใด มากน้อยเพียงใด
#12 โดย: neena maven [IP: 124.122.20.xxx]
เมื่อ: 2023-02-02 11:27:30
สอบถามค่ะ คือทางเรามีอาชีพเย็บผ้า มีลูกค้าว่าจ้างให้เราผลิตให้ เรารับทำ ทีนี้เราขาดเงินทุนหมุนเวียน ทางเราเลยขอเงินทุนจากผู้ว่าจ้างมา10000บาท ครั้งแรกส่งงานแล้ว เทางเราให้หักเงินค่าทุนหมุนเวียนไป10000บาทแล้ว หลังจากนั้นใด้มีการว่าจ้างงานครั้งที่2ซึ่งทางเราก้อขอเงินทุนหมุนเวียนอีกครั้ง 10000บาท แต่ครั้งนี้งานไม่ผ่าน ทางผู้ว่าจ้างคืนงาน โดยให้ทางเราเอานำไปขาย แล้วส่งเงินคืนค่าผ้าให้เขา เราก้อนำเงินจากการคืนงาน คืนค่าผ้าให้เขาไป6000กว่าบาท โดยทางเราขาดทุนค่าแรงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงิน แล้วทีนี้ทางเราเลยไม่กล้าผลิตงานให้ต่อเพราะทางเขาไม่ระบุงานให้ช ติชมเอาตามใจ ไม่ถูกใจก้อขอคืนงาน คือจะเป็นภาระทางเราอีก ทีนี้เงิน10000บาทที่ทางเราใด้ขอเขามเป็นเงินหมุนเวียน จึงไม่ใด้หักจากการทำงาน แต่เขายังว่าจ้างให้ทางเราขึ้นงานตัวอย่างให้อยู่ เราก้อทำเพื่อให้เป็นจำนวนเงินชดใช้ค่าเงินทุนเขา แต่ว่ามันช้างานคงไม่ทันใจทางเขาจึงขอเงินจำนวน10000คืน ซึ่งทางเราไม่มีให้ในขณะนั้นเราจึงขอผ่อนผันเขาไป แต่บังเอินงานมีน้อยเราจึงหาใช้เขาไม่ใด้ตามเวลานัดหมาย หลังจากนั้นเราก้อไม่รับโทรศัพย์เขา เขาจึงให้อีกคนที่ไม่ใด้เกียวข้องในเรืองนี้โทมาประสานกับทางเรา มีการส่งข้อความด่าว่าเราจะโกงเงินเขาใช่ใหม ทางเราบอกไม่คิดโกงแค่ยังไม่พร้อมในเรื่องการเงินเท่านั้น หลังจากนั้นเราก้อใด้นัหมายอีกครั้งที่จะจ่ายตังให้เขา พอดีลูกค้าที่เราจะส่งของให้ใด้เลื่อนนัดเป็นอีกวัน เราจึงไม่มีเงินคืนให้เขาตามที่นัด หงังจากนั้นเขาใด้ทำงานให้มีคนโทรทวงเงินผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน เรามีความรู้สึกอับอาย ที่เขาใด้ทวงถามกับผู้ใหญ่บ้าน อยากทราบว่าเราจะแจ้งความหมิ่นประมาทใด้หรือเปล่าค่ะ ตอนนี้ทางเราใด้คืนเงให้เขาไปอยู4000บาทแล้ว แต่เป็นการคืนหลังจากที่เขาบอกเล่าให้ผู้ใหญ่บ้านฟังค่ะ แต่เราไม่มีเจตนาที่จะโกงเขานะค่ะ แค่ยังไม่พร้อม ขอคำชี้แนะค่ะ เสียหายมาก

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,886