การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
การเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามมาตรา 44/1
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้
ผู้เสียหาย คือ
ผู้ที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของจำเลย รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ เช่น ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาในความผิดซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ และผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลในความผิดซึ่งได้กระทำลงแก่นิติบุคคล
ค่าสินไหมทดแทน ที่เรียกได้ มีดังนี้
1. ค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน เช่น ค่าชดใช้ราคาทรัพย์ที่สูญหายหรือเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ค่าขาดประโยชน์ เพราะไม่สามารถประกอบการงานแต่บางส่วนหรือโดยสิ้นเชิง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย
2. ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน เช่น ความเสียหายที่ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ความเสียหายต่ออนามัย ค่าเสื่อมสุขภาพ ความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ
3. การกระทำเพื่อให้ผู้เสียหายกลับคืนสู่สถานะเดิม เช่น การขอใช้คืนทรัพย์ การขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์ การประกาศหนังสือพิมพ์เพื่อแก้ไข
หลักเกณฑ์การขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
1. ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ผู้เสียหายถึงจะยื่นคำร้องได้
หากเป็นคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลด้วยตนเอง ตามอำนาจที่ตนมีอยู่ใน มาตรา 28(2) ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องนี้ได้
2. ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้
3. ต้องเป็นสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุที่ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายหรือชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน
4. อันตราย ความเสื่อมเสีย และความเสียหายต้องเกิดขึ้น เนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย
เอกสารประกอบคำร้อง
1. สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เสียหาย
2. ถ้าผู้ร้องเป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายให้แสดงหลักฐานที่แสดงความเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายด้วย ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ในสูติบัตร ในสำคัญการสมรส ใบมรณบัตร หรือคำสั่งศาล เป็นต้น
3. ถ้าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ต้องให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้จัดการแทน
4. หลักฐานเกี่ยวกับความเสียหาย เช่น ภาพถ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้น ใบเสร็จรับเงินที่ต้องจ่าย อันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลย หลักฐานเกี่ยวกับราคาทรัพย์ เป็นต้น
ขั้นตอนการยื่นคำร้อง
1. ศาลที่ยื่น : ศาลที่พิจารณาคดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง
2. ต้องยื่นคำร้องเข้ามาก่อนศาลเริ่มทำการสืบพยาน หรือในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน เช่น จำเลยให้การรับสารภาพ ต้องยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี
หากศาลสืบพยานไปแล้ว ย่อมพ้นกำหนดเวลาที่จะยื่นได้
3. คำร้องจะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง
4. ผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ยื่นได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าคำร้องในคดีแพ่งของผู้เสียหาย จะมีทุนทรัพย์สูงเพียงใด
5. กรณีที่ผู้เสียหายเป็นคนยากจน ไม่สามารถจัดหาทนายความดำเนินคดีได้เอง ศาลมีอำนาจตั้งทนายความให้แก่ผู้เสียหาย
6. ผู้เสียหายต้องมาศาลตามกำหนดนัด ซึ่งอาจเป็นนัดเพื่อประนอมข้อพิพาทหรือนัดสืบพยาน
7. กรณีศาลสั่งให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ข้อห้าม
1. ห้ามมิให้มีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญา
2. ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์
"ผู้เสียหายสามารถติดต่อ เพื่อยื่นคำร้องเพื่อเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ที่งานประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีบริการเขียนคำร้องให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น"
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น : แม้ไม่เป็นผู้เสียหายในทางอาญา แต่เป็นผู้เสียหายในทางแพ่ง ก็สามารถยื่น ตาม มาตรา 44/1 ได้
ผู้เสียหายที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วย แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายในทางนิตินัยคดีอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นผู้เสียหายในทางแพ่ง
ส่วนการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ให้พิจารณาว่า ฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมากน้อยเพียงใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 ประกอบด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ต่อเนื่องไปได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ใน มาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตาม มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่า ผู้เสียหาย ตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)
ตัวอย่าง คำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน (ป.วิ.อ มาตรา 44/1)
ข้อ 1. คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 1 มีนาคม 2560
ข้อ 2. ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในคดีนี้โดยตรง ผู้ร้องมีความประสงค์จะขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดของจำเลยอัน เป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายดังนี้
2.1. ค่าผ่าตัดและทำศัลยกรรมในชั้นแรก เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
2.2. ค่าทำศัลยกรรมจากแพทย์ผู้ชำนาญ 10 ครั้ง เป็นจำนานเงิน 50,000 บาท
2.3. ค่าสินไหมทดแทนกรณีดวงตาข้างซ้ายบอดสนิทและต้องเสียโฉมอย่างติดตัวไปตลอดชีวิต เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
2.4. ระหว่างที่ผู้ร้องรักษาตัว ทำให้ผู้ร้องไม่ได้ประกอบการงานไม่ได้เป็นเวลา 60 วัน ผู้ร้องขอคิดค่าเสียหายในการขาดประโยชน์วันละ 500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท
รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 280,000 บาท
ดังนั้น ผู้ร้องจึงขอประทานกราบเรียนต่อศาลขอศาลได้โปรดบังคับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเสร็จสิ้นครบถ้วน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายผู้ร้อง เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments