ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกฟ้องคดีแพ่ง

ข้อควรปฏิบัติ เมื่อถูกฟ้องคดีแพ่ง

   เมื่อได้รับหมายเรียก ในฐานะจำเลย ควรปรึกษาทนายความ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินคดี หาทางแก้ไข ทั้งต่อสู้คดีหรือเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวจำเลย หากพึงพอใจในวิธีการ สามารถแต่งตั้งเพื่อว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทน โดยมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ยื่นคำให้การ ภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามคำสั่งศาล ตามประเภทของคดี (ดูข้อความที่ระบุในหมายเรียก)

   1.1. คดีแพ่งสามัญ จำเลยต้องยื่นคำให้การ

   : ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายด้วยตนเอง หรือมีผู้รับแทน (บุคคลอื่นที่อายุเกิน 20 ปี) หรือทางไปรษณีย์ตอบรับ

   : ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ศาลมาปิดหมายไว้หน้าบ้าน ที่ทำงาน ประกาศหนังสือพิมพ์ หรือปิดประกาศหน้าศาล

   1.2. คดีมโนสาเร่ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก หรือคดีผู้บริโภค จำเลยสามารถให้การด้วยวาจา หรือหนังสือ ในวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ หรือสืบพยาน ได้

 

ผลเสียของการไม่ยื่นคำให้การ : จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบหักล้างกับคำฟ้องโจทก์ มีสิทธิเพียงถามค้าน ซึ่งมีผลต่อการยื่นอุทธณณ์ฏีกาในอนาคต

 

ทางแก้ หากยื่นคำให้การไม่ทัน : เช่น มีเอกสารหลักฐานในการต่อสู้คดีจำนวนมาก หรือเพิ่งจัดหาทนายความได้ เป็นต้น ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้ ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การ โดยต้องระบุเหตุสุดวิสัย ที่ไม่สามารถยื่นคำให้การได้ การอนุญาตเป็นดุลพินิจของศาล

 

ทางแก้ หากขาดนัดยื่นคำให้การ

   : กรณี จำเลยมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี

   ให้แจ้งต่อศาลว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี และขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตยื่นคำให้การ หากศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือมีเหตุอันควร ศาลจะมีคำสั่งอนุญาต โดยสามารถแจ้งด้วยวาจา เป็นหนังสือ หรือมอบอำนาจก็ได้

   : กรณี จำเลยมาศาลภายหลังจากศาลตัดสินคดีแล้ว

   จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ ภายในกำหนดเวลา ดังนี้

1. กรณีปกติ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับส่งคำบังคับตามคำพิพากษา

2. กรณีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่พฤติการณ์สิ้นสุดลง

3. อย่างไรก็ตาม ห้ามยื่นคำขอต่อศาลเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษา หรือคำสั่งโดยวิธีอื่น แม้พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ยังไม่สิ้นสุดลง

 

การบังคับคดี

   เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตาม จะถูกยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ ถูกจับ หรือจำขัง แล้วแต่กรณี โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

 

เรียบเรียงและเขียนโดยนายธนู กุลอ่อน

#1 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.43.xxx]
เมื่อ: 2021-06-30 14:23:02
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: หนึ่ง [IP: 101.51.169.xxx]
เมื่อ: 2022-08-26 14:46:44
ในการยื่นคำให้การแก้คดีต้องเป็นทนายเท่านั้นใช่ไหมคะที่จะยื่นได้ จำเลยไม่สามารถพิมพ์หรือยื่นเองได้ใช่ไหมคะ
#3 โดย: ปิมปภา [IP: 49.229.205.xxx]
เมื่อ: 2023-11-13 12:08:57
ตัวจำเลยสามารถยื่นคำให้การเองได้ เว้นแต่ในชั้นสืบพยานต้องใช้ทนาย

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 244,959