ขอเลิกบริษัท หจก.

คดีขอเลิกบริษัท / ห้างหุ้นส่วน โดยคำสั่งศาล #ทนายฟ้องเลิกบริษัทThanuLaw

เหตุที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัท ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1237 ดังนี้

1. ทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท

2. บริษัทไม่เริ่มประกอบการภายใน 1 ปีนับแต่จดทะเบียน หรือหยุดทำการถึง 1 ปี

3. การค้ามีแต่ขาดทุนและไม่มีหวังกลับฟื้นคืน

4. จำนวนผู้ถือหุ้นเหลือไม่ถึง 3 คน

5. เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

 

เหตุที่ศาลจะสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 ดังนี้

(1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง

(2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก

(3) เมื่อมีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าส่งสำเนาให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 260 บาท

หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตามอัตราของศาล

3. ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

4. E-Notice system ฟรี

5. ค่าส่งสำเนาให้กรรมการผู้มีอำนาจของนิติบุคคล ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วน ตามอัตราค่าป่วยการของศาล

 

ที่อยู่ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร

เลขที่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

 

เขตอำนาจศาล : ศาลจังหวัด ซึ่งที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทอยู่ในเขตอำนาจ

 

เอกสารประกอบคำฟ้อง

1. หนังสือรับรองบริษัท

2. รายการงบดุล 3 ปีย้อนหลัง

3. รายการหนี้สิน

4. บัตรประจำตัวประชาชน ผู้ถือหุ้น

 

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนเลิก ประกอบด้วย

1. แบบคำขอจดทะเบียนเลิก (แบบ ลช.1)

2. รายการจดทะเบียนเลิก (แบบ ลช 2)

3. สำเนาคำสั่งศาลให้เลิกบริษัท (กรณีศาลมีคำสั่งให้เลิก)

4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

5. สำเนาใบอนุญาตทนายความ หรือบัตรสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาของผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)

6. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเลิก 500 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : กรรมการและผู้ถือหุ้นขัดแย้งกัน ประกอบหยุดดำเนินกิจการเกิน 1 ปี ศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัท และให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2558

   นอกจากบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันได้เพราะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1236 แล้ว ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดเมื่อปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1237 (1) ถึง (4) ซึ่งตาม (2) บัญญัติว่า ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม แม้การสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดกรณีนี้จะเป็นดุลพินิจของศาล แต่ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงในการหยุดทำการและพฤติการณ์อื่นๆ ในการดำเนินกิจการค้าขายของบริษัทที่พิจารณาได้ความมาประกอบ การพิจารณาได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้ความว่าหลังจากปี 2543 จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการจัดทำงบดุลและไม่เคยจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอีกเลย รวมทั้งได้หยุดดำเนินกิจการมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี เนื่องจากมีข้อขัดแย้งในระหว่างกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าทำการโดยไม่สุจริตในการร่วมลงทุนซื้อขายที่ดินอันเป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ถึงขั้นมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาลักษณะทำนองเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างผู้ถือหุ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้บริษัทจำเลยที่ 1 เลิกกันได้เพราะบริษัทหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็มตามมาตรา 1237 (2) ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1237 (2) และให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี เพราะเห็นว่าโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทมีเรื่องขัดแย้งกันจนไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกันได้นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8937/2560

   เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท ซ. หยุดทำการเนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายผู้ร้องที่ 1 กับฝ่ายผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เช่นนี้ หากแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดปัญหาในการชำระบัญชี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชี และไม่เกิดประโยชน์แก่บริษัท ซ. การที่ศาลล่างทั้งสองแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งถือว่าเป็นคนกลางเป็นผู้ชำระบัญชีได้ และเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีแทนผู้คัดค้านที่ 1

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2540

   การขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำกัดตาม ป.พ.พ.มาตรา 1237 นั้นมิได้กำหนดไว้ให้ต้องทำเป็นคำร้องขอ โจทก์จึงชอบที่จะขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1โดยทำเป็นคำฟ้องได้ และตามคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 มากกว่าโจทก์ได้บริหารบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนจนไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา 55 แล้ว

   โจทก์บรรยายฟ้องไว้แจ้งชัดว่าเหตุแห่งการขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 เนื่องจากบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2531 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 21,273,670.10 บาท และไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้ประเด็นในคดีจึงมีว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการขาดทุนติดต่อกันเกินกว่า 1 ปีและไม่มีทางหวังจะฟื้นตัวได้หรือไม่ ส่วนที่อ้างมาในคำฟ้องตอนแรกว่า เป็นเพราะกรรมการฝ่ายจำเลยบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 ปราศจากความระมัดระวังไม่รอบคอบและไม่สุจริตนั้น เป็นเพียงเหตุผลประกอบเท่านั้น ไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรง ดังนี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า น่าเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมกับฝ่ายจำเลย กิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 คงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จึงทำให้กิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีเศษนั้น จึงไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกฟ้องและนอกประเด็น

   จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า บริษัทจำเลยที่ 1มีทรัพย์สินเป็นที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท การที่บริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนอยู่เป็นเงินเพียง 26 ล้านบาทเศษ น่าจะแก้ไขได้หากได้รับความร่วมมือจากกรรมการฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ แต่กรรมการและผู้ถือหุ้นฝ่ายโจทก์นอกจากจะไม่ยอมใช้ความรู้ความสามารถเข้าช่วยเหลือบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว ยังพยายามขัดขวางมิให้ฝ่ายจำเลยแก้ไขปัญหาได้ และกลับปล่อยให้บริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนตลอดเวลานั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้เสนอหนทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาขาดทุนของจำเลยที่ 1 แล้ว กลับเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีทางที่จะกลับฟื้นตัวให้มีกำไรหรือระงับการขาดทุนต่อไปได้ ดังนี้จึงสมควรให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1

   ป.พ.พ.มาตรา 1251 มิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้ที่เป็นกรรมการของบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทเสมอไปไม่ เพราะมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าหากมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ชำระบัญชีของบริษัทก็จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับนั้น ๆ และถ้าหากกรรมการของบริษัทไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ และข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ กรณีย่อมต้องด้วยวรรคสองของมาตรา 1251 นี้คือไม่มีผู้ชำระบัญชี ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้ มิฉะนั้นบทบัญญัติของมาตรา 1251 ย่อมไร้ผลไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่กรณีใด ๆ ได้

   กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีเหตุไม่ลงรอยกัน ไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้ และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและผู้จัดการมรดกของผู้ถือหุ้นจึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1251 วรรคสอง ได้

 

ประเด็น : หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด มีอำนาจฟ้องให้เลิกห้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2561

   โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 6 คน คือ โจทก์ทั้งสี่ อ. สามีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 บริหารกิจการห้างฯ จำเลยที่ 1 ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อมามีมติเสียงข้างมากให้โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการในการลงมติแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการของบริษัท ผ. และบริษัท ท. ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ต่างฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญาจากมูลเหตุการบริหารงานของห้างฯ จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556 บอกเลิกห้างฯ เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ก่อนสิ้นรอบปีชำระบัญชีขอให้เลิกห้างและจัดการชำระบัญชีนั้น ตามคำฟ้องจึงเป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้กระทำล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยจงใจ มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา 1080 บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา 1057 (3) ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีได้

 

ประเด็น : เหตุในการยื่นคำร้องขอเลิกห้างหุ้นส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2559

   ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยเหตุกิจการของห้างที่จะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้อีก และผู้เป็นหุ้นส่วนดำเนินคดีฟ้องร้องกันหลายเรื่องจนไม่สามารถจะร่วมทำกิจการต่อไปได้ ทั้งผู้ร้องยกเลิกสัมปทานค้าขายน้ำมัน รื้อถอนถังบรรจุน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมันคืนแก่บริษัท อ. ไปแล้ว อันเป็นเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (2) และ (3) หาได้อ้างเหตุผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 1057 (1) ไม่ เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้

 

ประเด็น : ทำเป็นคำร้อง หรือคำฟ้อง ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2528

   การขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 นั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้ หรือจะเริ่มต้นด้วยการร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ได้ และในกรณีหลังนี้หากมีหุ้นส่วนอื่นไม่เห็นพ้องด้วย ย่อมมี สิทธิร้องคัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้อง ในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 และศาลต้องดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีมีข้อพิพาท

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1236 อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

   (1) ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น

   (2) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น

   (3) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น

   (4) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก

   (5) เมื่อบริษัทล้มละลาย

มาตรา 1237 นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ

   (1) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท

   (2) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม

   (3) ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้

   (4) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึง 3 คน

   (5) เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

   แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือให้มีการประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิกบริษัทก็ได้ แล้วแต่จะเห็นควร

มาตรา 1057 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ

   (1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง

   (2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก

   (3) เมื่อมีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 เบญจ คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ความไม่ไว้วางใจกันของผู้ถือหุ้นในบริษัท ถือเป็นเหตุเลิกบริษัทได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237(5)

2. หุ้นส่วนต้องยื่นคำร้องให้เลิกห้าง และชำระบัญชี ตามลำดับ แต่จะฟ้องให้คืนทุนและแบ่งผลกำไร โดยข้ามขั้นตอนไม่ได้ ถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4220/2559

 

หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วน อ้างอิงมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า DBD กระทรวงพาณิชย์

 

ค่าบริการว่าความ คดีเลิกบริษัท / หจก.

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ยื่นคำร้อง คำฟ้อง หุ้นส่วน ต่อศาล

-X-

 ♦ นำส่งคำสั่งแก่นายทะเบียน DBD

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.249.xxx]
เมื่อ: 2019-06-22 17:30:43
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: มุก [IP: 125.24.76.xxx]
เมื่อ: 2021-08-17 15:06:28
ขอสอบถาม บริษัทเปิดมาหลายปีแล้ว แต่เปิดได้ 2 ปีผลประกอบการไม่ดีจึงไม่ได้ดำเนินการต่อ แต่สินค้าที่คงเหลือก็มีการขายออกเรื่อยๆและมีการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มครบถ้วน ส่วนหนี้ค่าสินค้าก็ชำระหมดสิ้นแล้ว ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะเจ้าหนี้กรรมการจำนวน 8 ล้านบาท กับเงินสด 2 หมื่นบาท (ปัจจุบันผลขาดทุนย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ใช้หมดแล้ว) ขอสอบถามว่าหากต้องการเลิกบริษัท จะมีขั้นตอนหรือวิธีใดบ้างที่ไม่ต้องยุ่งยากหรือเกี่ยวพัน(น้อยที่สุด)กับสรรพากร ทางบัญชีได้เสนอให้เพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้ แต่ติดปัญหาที่ต้องนำเงินเข้าบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานแสดงกับกรมพัฒน์ฯ(ทุนปัจจุบัน 3 ล้านบาท) และกรรมการเกรงว่าจะถูกสรรพากรมองว่ากรรมการมีเงิน (กลัวถูกประเมินรายได้) หรือมีทางออกไหนที่ดีกว่าบ้างคะ

ขอบคุณค่ะ

0-2267-0638 ติดต่อ คุณมุก

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,301