พินัยกรรม

บริการจัดทำร่างพินัยกรรม แบบธรรมดา #ทนายทำพินัยกรรมThanuLaw

 

"ผู้รับพินัยกรรม มีสิทธิดีกว่าทายาทโดยธรรม..."

 

"สิทธิในทรัพย์มรดก เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้ทำพินัยกรรม ที่จะยก ตัด หรือให้ กับใครก็ได้"

"ทำเหอะ...ถ้าไม่อยากให้ลูกหลาน ต้องมา ทะเลาะ แย่งชิง ต่อสู้ ขัดแย้ง ฆ่าฟันกัน"

 

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน หรือเรื่องต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตายแล้ว การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ใครก็ได้ ตามหลักเจตนาอิสระ

 

พินัยกรรมมี 7 แบบ

1. แบบธรรมดา มาตรา 1656

2. แบบเขียนเอง (ทั้งฉบับ ห้ามพิมพ์) มาตรา 1657

3. แบบเอกสารฝ่ายเมือง มาตรา 1658

4. แบบเอกสารลับ มาตรา 1660

5. แบบวาจา มาตรา 1663

6. คนไทยทำในต่างประเทศ มาตรา 1667

7. ทหารทำระหว่างที่ประเทศตกอยู่ในภาวการณ์รบหรือการสงคราม มาตรา 1669

 

พินัยกรรม แบบธรรมดา ม.1656 มีหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ อันพึงต้องปฏิบัติตาม ดังนี้ **สำคัญมาก**

1. ทำด้วยตนเอง และต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. ม.25 (ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง)

2. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต โดยคำสั่งศาลแล้ว ตาม ป.พ.พ. ม.1704

   แต่กรณีเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ตาม ป.พ.พ. ม. 34 อ้างอิง ฎ.177/2528

3. ไม่ถูกข่มขู่ บังคับ สำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล

4. ผู้เขียน ผู้พิมพ์ หรือพยานในพินัยกรรม ตลอดรวมถึงคู่สมรส จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1653

5. พินัยกรรมแบบพิมพ์ จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ ป.พ.พ. ม.9 แต่จะใช้ตราประทับหรือลงแกงไดไม่ได้

6. คุณสมบัติของพยานในพินัยกรรม ป.พ.พ. มาตรา 1670

   6.1. บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือสมรสเมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์

   6.2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ทั้งกรณีที่ศาลสั่ง หรือยังไม่ได้สั่ง)

   6.3. ไม่เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้ง 2 ข้าง

   6.4. พยานต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลงแกงได หรือใช้ตราประทับไม่ได้ ป.พ.พ. ม.1666

   6.5. พยานในการทำพินัยกรรมและพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเป็นชุดเดียวกันก็ได้ โดยไม่ต้องระบุว่าเป็นพยานในฐานะใด

7. ต้องเป็นทำหนังสือ(เขียนหรือพิมพ์เองหรือให้ผู้อื่นเขียนหรือพิมพ์แทนก็ได้) ลงวัน / เดือน / ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม หากไม่ลง ว.ด.ป. ตกเป็นโมฆะ

   ข้อมูลสถานที่ ไม่ได้สำคัญ อ้างอิง ฎ.8747/2550

8. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน (แต่แบบวาจา ไม่ได้ลงลายมือชื่อ)

9. พยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ขณะนั้น ป.พ.พ. ม.1665 (เช่นเดียวกันกับเอกสารฝ่ายเมือง และเอกสารลับ)

   พยานไม่ต้องรับรู้ข้อความในพินัยกรรม ป.พ.พ. ม.1668

10. ผู้ทำพินัยกรรมไม่อาจลงชื่อได้ สามารถลงลายพิมพ์นิ้วมือแทนได้ โดยต้องมีพยาน 2 คนลงลายมือชื่อรับรอง ตาม ป.พ.พ. ม.1665 (แบบเขียนเองทั้งฉบับ ต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น)

11. การขูด ลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นในพินัยกรรมแบบธรรมดา ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. 1656 ว.2

   มีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ ส่วนอื่นหรือก่อนแก้ไขย่อมบังคับได้อยู่

   การขูดลบ ตกเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลง จะต้องมีการลงวัน เดือน ปี ในขณะขูดลบ และลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนพร้อมกันด้วย ซึ่งอาจจะเป็นคนละคนกันกับพยานในการทำพินัยกรรมตั้งแต่แรกเริ่ม (แก้ไขเพิ่มเติมภายหลัง) มิฉะนั้นข้อความที่แก้ไขจะไม่สมบูรณ์ ให้ถือตามข้อความเดิม

   การกรอกในช่องว่างไม่ถือเป็นการขูดลบตกเติมเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องลงลายมือชื่อกำกับ อ้างอิง ฎ.1624/2511

12. ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ข้อความแห่งพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อของตน ทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน ถ้าเป็นพยานด้วยให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตน ตาม ป.พ.พ. ม. 1671 ว.2

   หากขาดชื่อพยาน จะทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ

   แต่หากขาดชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ หาทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะไม่ เพราะไม่ใช่แบบ อ้างอิง ฎ.306/2507, 8228/2559

 

ตัวอย่าง ทรัพย์สินที่เป็นมรดก

1. ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม

2. หุ้น

3. เงินฝากรวมทั้งดอกผล ในธนาคารและสหกรณ์

4. รถยนต์ รถจักรยานยนต์

5. เครื่องประดับ นาฬิกา สร้อย เพชร พระเครื่อง

 

ตัวอย่าง ทรัพย์สินที่ "ไม่ใช่มรดก" เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้น "หลัง" จากที่เจ้ามรดกตาย

» เงินฌาปนกิจสงเคราะห์

» เงินชดเชย สิทธิในการได้รับจากเงินประกันชีวิต

» สิทธิเบิกเงินกู้ตามวงเงินของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร

» เงินบำนาญพิเศษ ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2494

 

คุณสมบัติของทรัพย์

1. ต้องเป็นของ"ทรัพย์สินของตนเอง" ที่มีอยู่แล้ว หรือได้มาภายหลัง และมีอยู่ก่อนหรือในขณะถึงแก่กรรม

2. กรรมสิทธิรวม สินสมรส มีผลผูกพันเฉพาะส่วนของผู้ทำเท่านั้น

3. ทรัพย์สินในอนาคตได้

 

ผู้รับพินัยกรรม แบ่งเป็น 2 ประเภท

1. ได้ทรัพย์มรดกทั้งหมด ให้ใช้ข้อความ “ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าให้แก่ นาย ก. แต่เพียงผู้เดียว"

2. ได้ทรัพย์มรดกตามส่วน ให้ใช้ข้อความ "ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าให้แก่ นาย ก. และนาย ข. คนละครึ่ง" 

   ยกเว้นแต่ พินัยกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน สิทธิหน้าที่ตามพินัยกรรมย่อมตกทอดเมื่อเงื่อนไขสำเร็จเป็นต้นไป

 

บุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้รับพินัยกรรม

1. ผู้เขียนพินัยกรรม + คู่สมรสของผู้เขียนพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1653 (การทำพินัยกรรมผู้ทำพินัยกรรมอาจให้บุคคลอื่นเขียนให้ก็ได้) ป.ล.ผู้เขียน รวมถึง ผู้พิมพ์ ด้วย

2. พยานในพินัยกรรม + คู่สมรสของพยาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1653

   เพียงสักขีพยานอยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยาน สามารถทำได้ อ้างอิง ฎ.5405/2533

   พยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้ทำพินัยกรรม ไม่ถือว่าเป็นพยาน สามารถทำได้ อ้างอิง ฎ.40/2539

3. ผู้ปกครอง รวมทั้งคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1652

   หมายเหตุ บิดามารดาไม่ถือเป็นผู้ปกครอง แต่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่อยู่ในบังคับนี้

 

พินัยกรรมเกี่ยวกับการตั้งผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586

สามารถทำพินัยกรรมให้ตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนร่วมกัน เป็นผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์ได้ แต่ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเป็นบิดามารดาของบุตรผู้เยาว์ที่ตายที่หลังเท่านั้น

   มาตรา 1586 ผู้ปกครองตามมาตรา 1585 นั้น ให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง

   ภายใต้บังคับมาตรา 1590 การตั้งผู้ปกครองนั้นถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม เว้นแต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา 1587

 

พินัยกรรมเกี่ยวกับการตั้งผู้ปกครองทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1687

กรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์มรดกให้แก่ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ไม่ต้องการให้อำนาจการจัดการตกอยู่แก่ บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์สิน เพื่อให้มีอำนาจจัดการแทนบุคคลดังกล่าวได้

 

***พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ กรณีดังนี้ 

1. พินัยกรรมทำโดยผู้มีอายุไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ป.พ.พ. มาตรา 1703

2. พินัยกรรมที่ทำขึ้นอันขัดต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. กล่าวคือ ไม่ได้ทำตามแบบธรรมดา(1656) แบบเอกสารเขียนเอง(1657) แบบเอกสารฝ่ายเมือง(1658) แบบลับ(1660) แบบวาจา(1663)

3. การตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเอง โดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1706(1)

4. มีข้อตกลงห้ามผู้รับพินัยกรรม จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์มรดกที่ยกให้ แต่ถ้ากำหนดเงื่อนไขของการฝ่าฝืนข้อห้ามไว้(กำหนดตัวบุคคลผู้ที่จะได้รับทรัพย์สินนั้นเมื่อผู้รับพินัยกรรมมีการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามโอนนั้น) สามารถบังคับใช้ได้ ป.พ.พ. มาตรา 1700

   จะกำหนดเป็นระยะเวลา ไม่เกิน 30 ปี (ถ้ากำหนดเกินให้ลดลงเหลือแค่ 30 ปี) หรือตลอดชีวิตของผู้รับก็ได้ ป.พ.พ. มาตรา 1701 แต่ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ สำหรับบุคคลธรรมดาให้ถือว่ามีกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตลอดชีวิต สำหรับนิติบุคคล ให้ถือว่ามีกำหนดระยะเวลา 30 ปี

   เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เรือที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ สังหาริมทรัพย์ที่อาจจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้ และจะต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก ป.พ.พ. มาตรา 1702

   ตัวอย่าง ข้าฯขอยกที่ดินให้แก่นาย C โดยห้ามมิให้นาย C ขายที่ดินเป็นเวลา 20 ปี แต่ถ้านาย C ขายเมื่อใด ถือว่าฝ่าฝืน ข้าฯจึงขอยกที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ให้แก่นาย H

   ข้อสังเกต : การห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ในกรณีนี้ จะห้ามได้เฉพาะการโอนโดยทางนิติกรรมเท่านั้น จะห้ามโอนโดยทางมรดก หรือโดยพินัยกรรมไม่ได้

5. พินัยกรรมซึ่งกำหนดตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรม ซึ่งไม่ทราบตัวแน่นอนเป็นใคร ป.พ.พ. มาตรา 1706(2) "ยกให้หลานอันเป็นที่รัก...หลานคนไหน???" ศึกษา ฎ.15201/2558

   พินัยกรรมระบุทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ชัดเจนไม่อาจทราบได้แน่นอนได้ หรือให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งกำหนดให้มากน้อยตามแต่ใจเขา ป.พ.พ. มาตรา 1706(3) ศึกษา ฎ.3381/2549

6. พินัยกรรมทำโดยผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ถ้าทำขึ้นโดยผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต ซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ พินัยกรรมจะเสียเปล่าต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าทำในเวลาที่วิกลจริต ป.พ.พ. มาตรา 1704

7. พินัยกรรมมีเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์ที่ยกให้นั้นแก่บุคคลอื่น ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย ป.พ.พ. มาตรา 1707

   ตัวอย่าง ข้าฯขอทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่นาย G และกำหนดให้นาย G โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ บุตรสาวของข้าฯ เมื่อบุตรสาวของข้าฯบรรลุนิติภาวะ

   ผลคือข้อกำหนดพินัยกรรมที่ยกให้นาย G สามารถบังคับได้ แต่เงื่อนไขให้โอนแก่บุตรสาว เป็นอันไม่มี ดังนั้น นาย G ไม่ต้องโอนที่ดินให้แก่บุตรสาวของเจ้ามรดก

 

การตกไปของข้อกำหนดในพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. ม.1698 (คือ ทำพินัยกรรมถูกต้องแล้ว แต่ไม่มีผลบังคับใช้)

1. หากผู้รับพินัยกรรมตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมตกไป และทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1698(1) และ 1699 ผู้สืบสันดานของผู้รับพินัยกรรมจึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่

   ข้อสังเกตุ : หากทำพินัยกรรมยกมรดกให้บุคคลหลายคน หากคนใดคนหนึ่งตายไปก่อน ข้อกำหนดพินัยกรรมตกไปเฉพาะแต่ส่วนของผู้รับพินัยกรรมที่ตายก่อนเท่านั้น คนอื่นๆยังใช้ได้

2. พินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้

   ตัวอย่าง คุณย่าทำพินัยกรรมยกที่ดินให้นายตู่ แต่มีเงื่อนไขว่า นายตู่จะต้องแต่งงานกับนางสาวซี ก่อน และมีหลานชายให้ จึงจะให้พินัยกรรมเป็นผล นายตู่เป็นหมัน เงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้  ข้อกำหนดพินัยกรรมก็ตกไป

3. เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

   ข้อสังเกตุ : กรณีนี้ผู้สืบสันดานของผู้รับพินัยกรรมไม่อาจเข้ารับมรดกที่สละไปได้ ตาม ม.1617

4. เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรม

 

การเพิกถอนพินัยกรรมโดยผู้ทำ

ผู้ทำสามารถเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมด หรือบางส่วนเวลาใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1693

ในกรณีพินัยกรรมหลายฉบับ ให้ถือว่า ฉบับสุดท้ายมีผล ส่วนฉบับก่อน ๆ เป็นอันถูกเพิกถอนไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1647

ขีดฆ่าข้อความ

 

การเพิกถอนพินัยกรรมโดยทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย

ทายาทสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ตามตามแบบ พินัยกรรมปลอม ผู้ทำถูกข่มขู่หรือจากกลฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. 1700 - 1710

อายุความฟ้องเพิกถอนพินัยกรรมปลอม ไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1710 อ้างอิง ฎ.2231/2521

การฟ้องเพิกถอนพินัยกรรม เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์คำนวณตามทรัพย์มรดกที่ระบุไว้ในพินัยกรรม อ้างอิง ฎ.5332/2534 หากไม่เกิน 300,000 บาท ถือเป็นคดีมโนสาเร่

ระยะเวลาการเพิกถอน ป.พ.พ. มาตรา 1710

ถูกข่มขู่ บังคับ > 3 เดือนนับแต่ผู้ทำตายและรู้เหตุ แต่ไม่เกิน 10 ปี

สำคัญผิด กลฉ้อฉล หรือหลอกลวง > 1 ปีนับแต่รู้ แต่ไม่เกิน 10 ปี

 

การตัดมิให้รับมรดก ตามป.พ.พ. ม.1608 สามารถทำได้ 2 วิธี

1. ทำพินัยกรรม โดยระบุข้อความ ตัวอย่าง “ไม่ให้นายจอร์จที่ 3 ได้รับมรดกของข้าพเจ้าฯ”

2. ทำหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่(ผอ.เขต หรือนายอำเภอ)

 

วิธีการถอนนั้นตามป.พ.พ. ม.1609 สามารถทำได้ 2 วิธีเช่นกัน

1. ทำพินัยกรรมฉบับใหม่

2. กรณีทำหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถทำหนังสือฉบับใหม่ หรือขอรับหนังสือถอนคืนมาและทำลายเสีย ก็ได้

หมายเหตุ : ตัดแบบใดต้องถอนแบบนั้นตามป.พ.พ. ม. 1609 วรรค 2

 

ผลของการตัดมิให้รับมรดก คือ ทายาทผู้นั้นจะถูกตัดออกจากกองมรดกผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกตัดรับมรดกแทนที่ไม่ได้ (ตัดทั้งสาย) ฎ.1188/2482

   การทำหนังสือตัดมิให้รับมรดกโดยวิธีมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ มีผลทันที ไม่ต้องรอให้ตายก่อน ฎ.178/2520

   ส่วนตัดโดยทำพินัยกรรม จะมีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

   การทำพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบ พินัยกรรมจะมีผลโมฆะ ถือว่าทายาทผู้นั้นไม่ถูกตัด

 

ทรัสต์ (Trusts) ป.พ.พ. มาตรา 1686

พินัยกรรมการก่อตั้งทรัสต์ ได้แก่ การทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้คนหนึ่ง โดยกำหนดให้บุคคลนั้นมีอำนาจจัดการทรัพย์สินที่ยกให้นั้น เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับประโยชน์ มีผลเป็นโมฆะ

 

มรดกพระภิกษุ

ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนา เว้นไว้แต่จะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

 

ปลอมพินัยกรรม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท ตาม ป.อ.. ม.266(2) , 268

 

เอกสารประกอบการทำพินัยกรรม 

1. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ทำ

2. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับพินัยกรรม

3. บัตรประจำตัวประชาชนของพยาน 2 คน

4. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด สมุดเงินฝากธนาคาร ใบหุ้น บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน ภาพถ่ายทองคำ เพชร พระเครื่อง กระเป๋า หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นต้น

5. หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

6. หนังสือเดินทาง PASSPORT (ถ้ามี- กรณี ชาวต่างชาติ)

7. ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)

8. สูติบัตร (ถ้ามี)

9. ใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี- กรณีเจ็บป่วย รักษาตัวในโรงพยาบาล)

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : คู่สมรสไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมเกินส่วนในสินสมรสของตน

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 505/2509

   บุคคลจะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายได้ ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายในทรัพย์สินของคนอื่นไม่ได้ หากเป็นทรัพย์สินที่สามีภริยามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันสามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินบริคณห์ให้ผู้อื่นเกินกว่าส่วนของตน
   แม้ในพินัยกรรมจะปรากฏข้อความว่า 'เพื่อมิให้ยุ่งยากจึงให้นางจ้อยภริยาของข้าพเจ้าเป็นพยานยกให้ด้วย' และภริยาได้พิมพ์ลายมือไว้ในช่องพยานด้วยก็ตามก็ไม่ใช่ในฐานะผู้ทำพินัยกรรมหากเป็นเพียงพยานรับรู้ว่าสามีได้ทำพินัยกรรมจริงเท่านั้น แม้จะถือว่าภริยายินยอมให้สามีทำพินัยกรรมพินัยกรรมก็ไม่มีผลผูกพันถึงสินบริคณห์ส่วนของภริยา

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2501

   สามีโจทก์ผู้ทำพินัยกรรมจะเอาส่วนสินสมรสของโจทก์ไปทำยกให้ผู้อื่นไม่ได้

 

ประเด็น : ไม่ระบุตัวผู้รับมรดกชัดเจน ถือเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558

   ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)

   แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

 

ประเด็น : การฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 306/2507 

   พินัยกรรมที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบ โดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2 คนนั้น มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น พินัยกรรมฉบับนั้นย่อมเป็นโมฆะ
   พินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยผู้ทำพินัยกรรมป่วยมาก แม้จะพูดไม่ได้แต่ถ้ายังมีสติสมบูรณ์ดีใช้กริยาแสดงออกตอนอ่านพินัยกรรมให้ฟังเมื่อเห็นด้วยหรือตรงกับเจตนาของตนก็พยักหน้า ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่ตรงกับเจตนาก็ส่ายหน้า เช่นนี้ ฟังได้ว่าพินัยกรรมนั้นทำขึ้นโดยผู้ตายและเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย
   ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับหลัง ถ้าไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้จนเป็นโมฆะแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
   พินัยกรรมที่คู่สมรสของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานย่อมเป็นโมฆะเสียไปเฉพาะผู้รับพินัยกรรมผู้นั้นเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมคนอื่นๆ นั้นยังคงสมบูรณ์อยู่
   พินัยกรรมที่ผู้พิมพ์พินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรมตามมาตรา 1671 ด้วยนั้นหาเป็นโมฆะไม่เพราะมาตรา 1705 ไม่ได้บัญญัติให้เป็นโมฆะ

 

ประเด็น : การขูดลบ ตกเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลง จะต้องมีการลงวัน เดือน ปี ในขณะขูดลบ และลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนพร้อมกันด้วย มิฉะนั้นข้อความที่แก้ไขจะไม่สมบูรณ์ ให้ถือตามข้อความเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2531

   พินัยกรรมแบบธรรมดาซึ่งผู้ทำพินัยกรรมมิได้เขียนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 การขูดลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน ซึ่งพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ทั้งนี้ตามวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว เมื่อการตกเติมข้อความในพินัยกรรมไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวย่อมมีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ส่วนข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อความที่ตกเติมจะเป็นข้อสาระสำคัญหรือไม่ก็มีผลเหมือนกัน

 

ประเด็น : การเติมข้อความในช่องว่าง ไม่ต้องเซ็นกำกับ l การแก้ไขถือว่าพินัยกรรมมีผลนับแต่วันแก้ไข และเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1624/2511

   พินัยกรรมทั้งฉบับของโจทก์และจำเลยต่างลงวันเดือนปีที่ทำตรงกันคือ วันที่ 12 มกราคม 2502 ของจำเลยนั้น ผู้ทำพินัยกรรมเขียนชื่อผู้รับไว้เรียบร้อยครบถ้วนแล้วแต่วันที่ลงในพินัยกรรม จึงถือเป็นอันสมบูรณ์แต่วันนั้น ส่วนพินัยกรรมของโจทก์ปรากฏว่าชื่อผู้รับพินัยกรรมเว้นว่างไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2506 จึงถือได้ว่าพินัยกรรมฉบับของโจทก์ได้ทำเสร็จเป็นพินัยกรรมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2506 อันเป็นวันภายหลังจากพินัยกรรมจำเลย พินัยกรรมของโจทก์จึงเป็นพินัยกรรมฉบับหลังซึ่งมีผลเพิกถอนพินัยกรรมฉบับของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697

   พินัยกรรมฉบับของโจทก์ได้เว้นชื่อผู้รับพินัยกรรมว่างไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับภายหลัง กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการขูดลบตกเติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม จึงหาจำเป็นต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ไม่

   เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยแสดงความเห็นไม่สมตามความประสงค์ของจำเลย ไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ผู้อื่นตรวจเอกสารหรือเรียกตัวผู้เชี่ยวชาญของจำเลยมาเบิกความในข้อที่ได้แสดงความเห็นไว้ชัดเจนแล้วนั้นอีก

 

ประเด็น : กรณีการทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ "ชาวต่างชาติ" ทำได้

   กรณีผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ลูกหรือสามีซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สามารถทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนการจะถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 คือ ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อถือกรรมสิทธิ์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน หากไม่ได้รับอนุญาต ก็จะต้องถูกบังคับขายภายใน 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี 

   การทำพินัยกรรมมีผลดีตรงที่สามารถระบุให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินแล้วนำเงินมามอบให้แก่ผู้รับพินัยกรรมได้ เพราะผู้จัดการมรดกสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนทายาทได้ และสามารถดำเนินการจดทะเบียนขายแทนได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ดินให้ยุ่งยาก

 

คำพิพากษาศาลฎีกา 475/2511

   ถ้าคนต่างด้าวผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิหรือมีทางที่จะขออนุญาตถือที่ดินได้ พินัยกรรมก็ไม่เป็นโมฆะ โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก และได้ทำสัญญาประนีประนอมกันว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในพินัยกรรมเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับผิด จึงบังคับตามสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ส่วนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวก็ให้ไปจัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2511)

 

ประเด็น : ไม่ได้ลงชื่อต่อหน้าพยานพร้อมกัน 2 คน เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2517

   ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อเป็นผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้าพยานเพียงคนเดียว ส่วนพยานอีกคนหนึ่งมาถึงและลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อแล้วประมาณ 5 นาที แม้ว่าขณะนั้นผู้ทำพินัยกรรมและพยานจะยังอยู่พร้อมหน้ากัน ก็ถือว่าพินัยกรรมนั้นเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656

 

ประเด็น : เป็นเพียงสักขีพยาน แต่ไม่ได้ลงชื่อ ไม่ต้องห้ามรับทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5404/2533

   พยานในพินัยกรรมซึ่งจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง หมายถึงพยานซึ่งต้องลงลายมือชื่อในแบบพินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้น ส่วนการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั่งอยู่ด้วยในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรม แต่มิได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม หาเป็นพยานในพินัยกรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ

 

ประเด็น : ผู้ทำพินัยกรรม พิมพ์ลายนิ้วมือได้ โดยให้พยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2534

   อ.ทำพินัยกรรมโดยพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ค. และ ล.พร้อมกัน ส่วน บ. ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมภายหลัง เมื่อ ค.และ ล. ลงลายมือชื่อในฐานะพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ อ.ในขณะที่ทำพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมจึงมีพยานครบ 2 คน มีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656

 

ประเด็น : พยานจะพิมพ์ลายมือนิ้ว ไม่ได้ ต้องลงชื่อเท่านั้น l พยานในพินัยกรรม ก็ถือได้ว่าเป็นพยานที่รับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว ไม่ได้เฉพาะเพียงรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2529

   พินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ พยานรับรองพินัยกรรมโดยลงลายพิมพ์นิ้วมือย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 และ 1666

   พินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ มีพยานรับรองพินัยกรรม 2 คน คนหนึ่งลงลายพิมพ์นิ้วมือ อีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อ และมี พ. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่ เมื่อปรากฏว่า พ. อยู่รู้เห็นการทำพินัยกรรมมาแต่ต้นจนกระทั่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมที่สมบูรณ์คนหนึ่งแล้ว พ.จึงลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่ แม้จะไม่ได้เขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อของ พ. ก็ถือได้ว่า พ. เป็นพยานรับรองพินัยกรรมอีกคนหนึ่ง เพราะพยานในพินัยกรรมไม่จำต้องเขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อ เป็นแต่เพียงมีข้อความให้เห็นได้ว่าเป็นพยาน ก็ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ (อ้างฎีกาที่363/2492)

   พยานที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมขณะทำพินัยกรรม ไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมอีกหนหนึ่ง เพราะถือได้ว่าพยานทำหน้าที่สองฐานะคือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9, 1665 และตามมาตรา 1656 (อ้างฎีกาที่111/2497)

   ฎีกาโจทก์ที่ว่าพินัยกรรมแบบธรรมดาจะต้องมีลายมือชื่อผู้เขียนกำกับไว้ และระบุด้วยว่าเป็นผู้เขียน ประเด็นดังกล่าวน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยลึกซึ้ง เป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างใด เพียงแต่เสนอความเห็นว่าน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้ลึกซึ้งเท่านั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

ประเด็น : ผู้เสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมได้ + ผู้พิทักษ์ให้ความยินยอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528

   พินัยกรรมทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

หมายเหตุ ผู้พิทักษ์ไม่ต้องให้ความยินยอม ก็ได้

 

ประเด็น : เป็นทรัพย์สินในอนาคตได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532

   การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย

 

ประเด็น : ผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม ทายาทผู้รับพินัยกรรมไม่มีสิทธิรับพินัยกรรมแทนที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2492

   เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีความว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายแล้วขอยกทรัพย์สมบัติให้แก่ ร. และส. โดยให้คนละครึ่งเท่าๆ กันผู้อื่นจะเรียกร้องขอแบ่งปันทรัพย์ของตนไม่ได้ ปรากฏว่า ร. ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกให้ ร. จึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบกับมาตรา 1620 วรรคสอง คือเมื่อเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรม ก็ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก

   การรับมรดกแทนที่มาตรา 1642 ให้ใช้แต่เฉพาะในระหว่างทายาทโดยธรรม ไม่รวมถึงผู้รับพินัยกรรม

 

ประเด็น : สามีภริยาทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้กันและกัน ในฉบับเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466/2537

   การที่ผู้ร้องร่วมกับผู้ตายทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกันแสดงเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง หากว่าฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ กรณีจึงถือได้ว่าเงื่อนไขดังกล่าวนั้นเป็นอันไม่มีเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1707 มิใช่กรณีตามมาตรา 1706(3) ดังนี้ ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้หาเป็นโมฆะไม่ พินัยกรรมที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้นและผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ขณะนั้น จึงเข้าแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ดังนั้นแม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารฉบับเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใด และก็มิใช่การพนันขันต่อเพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่าง ๆอันจะให้เกิดเป็นผลได้ตามกฎหมายในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 เมื่อผู้ร้องลงชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรม มิได้ลงชื่อในฐานะพยานทั้งมิได้มีข้อความระบุว่าเป็นพยานต่อท้ายลายมือชื่อของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องเป็นพยานในพินัยกรรม ดังนั้น พินัยกรรมหาได้ตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย มาตรา 1705 ไม่ แม้ผู้ร้องจะมีอายุมากแล้ว และเคยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ปรากฏว่าผู้ร้องมีสติสัมปชัญญะดี มีความรู้สึกผิดชอบ มีความสามารถที่จะดำเนินการทำนิติกรรมใด ๆ ได้ และผู้ร้องก็ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ทั้งผู้ร้องก็เป็นทายาทโดยพินัยกรรมตาม มาตรา 1603 วรรคสาม ได้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตาย เท่ากับผู้ตายตัดมิให้ผู้คัดค้านได้รับมรดกของตนแม้ผู้คัดค้านจะมีสิทธิในสินสมรสร่วมกับผู้ตายและเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ผู้คัดค้านไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับชายอื่นขณะที่ยังไม่ขาดจากการสมรสกับผู้ตาย ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

 

ประเด็น : สถานที่ทำพินัยกรรม ไม่ใช่สาระสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2550

   สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด

 

*** ประเด็น : แม้ผู้รับพินัยกรรม จะรู้เห็นและอยู่ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรม เมื่อไม่ได้ลงชื่อเป็นพยาน ก็มิได้ทำให้พินัยกรรมนั้นเสียไป

- ไม่มีลายมือชื่อผู้เขียน ก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2540

   ส. ผู้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน 3 คน ซึ่งพยานทั้ง 3 คนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของ ส. ไว้เป็นการทำพินัยกรรมถูกต้อง ตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ก็มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

   กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับประโยชน์อยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมจะมีผลให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ

   สินสมรสเป็นทรัพย์ที่ ส. มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย ส. จึงมีอำนาจยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481

 

ประเด็น : กรณีที่ผู้ทำพินัยกรรม ไม่เขียนหรือพิมพ์ ด้วยตนเอง แม้จะไม่มีลายมือชื่อของผู้เขียนหรือพิมพ์ พินัยกรรมก็ยังสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2547

   พินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายที่จะทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1705 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่ามีกรณีใดบ้างที่เป็นโมฆะ แต่มิได้บัญญัติให้พินัยกรรมที่ไม่ลงลายมือชื่อผู้เขียน (หรือผู้พิมพ์) ในกรณีที่ผู้เขียนมิใช่ผู้ทำพินัยกรรม กล่าวคือทำไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1671 ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้นเมื่อขณะทำพินัยกรรมในคดีนี้มีพยานในพินัยกรรมทั้งสี่คนอยู่พร้อมกันและผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยาน 2 คน พินัยกรรมดังกล่าวจึงถูกต้องตามแบบที่ ป.พ.พ. มาตรา 1656 กำหนดไว้ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 

ประเด็น : ผู้ทำพินัยกรรมไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ ถือเป็นพินัยกรรมปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6297/2556

   การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

 

ประเด็น : ป่วยหนัก แต่ยังพยักหน้า หรือส่ายหน้า ได้เมื่อแสดงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พินัยกรรมสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 306/2507

   พินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยผู้ทำพินัยกรรมป่วยมาก แม้จะพูดไม่ได้แต่ถ้ายังมีสติสมบูรณ์ดีใช้กริยาแสดงออกตอนอ่านพินัยกรรมให้ฟังเมื่อเห็นด้วยหรือตรงกับเจตนาของตนก็พยักหน้า ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่ตรงกับเจตนาก็ส่ายหน้า เช่นนี้ ฟังได้ว่าพินัยกรรมนั้นทำขึ้นโดยผู้ตายและเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ประเด็น : ทำพินัยกรรมที่โรงพยาบาล แพทย์ไม่จำเป็นต้องรับรองเรื่องสติสัมปชัญญะดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2530

   การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งทำขึ้นโดยทางราชการแม้จะจัดทำในโรงพยาบาลก็ไม่จำต้องให้แพทย์รับรอง เพราะการจะพิจารณาว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ทำพินัยกรรมย่อมมีความรู้ความสามารถพอที่จะพิจารณาได้

   คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแม้มิได้ระบุเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกไว้ แต่ได้ระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้แนบสำเนาสูติบัตรของผู้รับพินัยกรรมมาให้เห็นว่าเป็นผู้เยาว์ ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713(1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

 

ประเด็น : การยกทรัพย์สินให้ใครคนใดคนหนึ่งทั้งหมด ถือว่าเป็นการตัดทายาทคนอื่นโดยปริยาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2540

   พินัยกรรมของ พ. มีข้อความว่าเมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตลง ให้ทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าแก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว คำว่าทรัพย์มรดกของข้าพเจ้า แสดงว่าต้องการยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว แม้ในตอนท้ายของพินัยกรรมจะระบุเลขที่โฉนดที่ดินทรัพย์มรดกไว้ด้วย ก็ไม่ทำให้ทรัพย์มรดกอื่นที่มิได้แจ้งรายละเอียดไว้ในพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมไปได้ เมื่อ พ. ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่จำเลยแล้ว จึงถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง

 

ประเด็น : ไม่บอกว่าตัดใครออกจากมรดกอย่างชัดเจน ถือว่าไม่ได้มีการตัดมิให้รับมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120/2539

   ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่ บ. และระบุไว้ในพินัยกรรมว่า บุคคลอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมนี้ ไม่มีสิทธิรับมรดกของข้าฯ มิได้ระบุไว้ให้ชัดเจนว่าตัวผู้คัดค้านมิให้รับมรดก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1656 พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน ซึ่งพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น

   การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้น ย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้

มาตรา 1670 บุคคลต่อไปนี้ จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรม ไม่ได้

   (1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

   (2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

   (3) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง

มาตรา 1686 อันว่าทรัสต์นั้น จะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อม ด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใดๆ ที่มีผลในระหว่างชีวิตก็ดีหรือเมื่อตายแล้วก็ดี หามีผลไม่ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น

มาตรา 1693 ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้

มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

   (1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

   (2) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้

   (3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

   (4) เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมมิได้ได้มาซึ่งของแทน หรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายไป

มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดิน แล้วแต่กรณี

มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

มาตรา 1652 บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้น จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครองหรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้จนกว่าผู้ปกครองจะได้ทำคำแถลงการณ์ปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1577 และมาตราต่อ ๆ ไป แห่งประมวลกฎหมายนี้เสร็จสิ้นแล้ว

มาตรา 1653 ผู้เขียน หรือพยาน ในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้

   ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย

   พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรมที่พยานนำมาแจ้งตามมาตรา 1663 ให้ถือว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามความหมายแห่งมาตรานี้

มาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ

มาตรา 1704 พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ

   พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่

มาตรา 1705 พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652 1653 1656  1657 1658 1660 1661 หรือ 1663 ย่อมเป็นโมฆะ

 

พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

ภาค 6 มรดก

มาตรา 39 ความสามารถของบุคคลที่จะทำพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติในขณะที่ทำพินัยกรรม

มาตรา 40 บุคคลจะทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ก็ได้ หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ก็ได้

มาตรา 41 ผลและการตีความพินัยกรรมก็ดี ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรม หรือข้อกำหนดพินัยกรรมก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย

มาตรา 42 การเพิกถอนพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่เพิกถอนพินัยกรรม

   การตกไปแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ถึงแก่ความตาย

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ควรถ่ายคลิป Video ไว้ด้วยในขณะลงชื่อชื่อในพินัยกรรม

2. เจตนาให้ในระหว่างมีชีวิต ไม่ถือเป็นพินัยกรรม

3. หลายคนร่วมกันทำพินัยกรรมในเอกสารฉบับเดียวกันก็ได้

4. กำหนดเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินก็ได้ เช่น ตั้งผู้จัดการมรดก ตั้งผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์ ตั้งผู้ปกครองทรัพย์ จัดการศพ หรืออุทิศศพ เป็นต้น

5. ผู้รับพินัยกรรม อย่าระบุศักดิ์ (ลูกคนโต) ให้ระบุชื่อ (นายเทพ ใจดี)

6. สังหาริมทรัพย์สินต้องระบุชัดเจน เช่น ทองคำ น้ำหนัก 5 บาท พร้อมภาพถ่าย

7. ผู้ทำพินัยกรรมที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ กรณีซื้อห้องชุดมาในระหว่างจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ห้องชุดถือเป็นสินสมรส แม้จะมีชื่อคนไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวก็ตาม หากตายโดยไม่ทำพินัยกรรมไว้ ห้องชุดดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่คู่สมรสชาวต่างชาติก่อนกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

8. พินัยกรรมสามารถยกทรัพย์สินให้ใครก็ได้ กรณียกให้คู่สมรสชาวต่างชาติ ในส่วนอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน นั้น แม้จะยกให้ได้ แต่ชาวต่างชาติก็ไม่สามารถที่จะเป็นเจ้าของได้ เพราะกฎหมายที่ดินไม่อนุญาต เฉพาะต้องจำหน่าย แล้วนำเงินมาให้ชาวต่างชาติ แต่หากต้องการให้ชาวต่างชาติใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้าน ก็มีทางออก โดยใช้วิธีการจดสิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่ชาวต่างชาติ ให้มีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต โดยทำพินัยกรรมกำหนดสิทธิของผู้ที่จะได้รับมรดกในที่ดินและบ้าน ว่าให้เป็นผู้จัดการมรดก และให้มีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตโดยไม่มีค่าตอบแทน เทียบเคียง ฎ.7199/2552

9. พินัยกรรม สามารถทำเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่การบังคับใช้ในประเทศไทยจะต้องแปลเป็นภาษาไทยก่อน

10. พินัยกรรมทำขึ้นที่ต่างประเทศได้ โดยสามารถจะทำตามแบบของกฎหมายประเทศที่ตนอยู่ทำพินัยกรรม หรือจะทำแบบของกฎหมายไทยก็ได้

11. พินัยกรรมที่ทำในโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องให้แพทย์รับรอง เพราะการพิจารณาว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ พยานย่อมมีความรู้พอที่จะพิจารณาได้ ฎ.1790/2530 (แนะนำให้ถ่ายคลิป...จบ)

 

ค่าบริการจัดทำพินัยกรรม แบบธรรมดา

รูปแบบ

ราคา(เริ่มต้น)

     ♦ พินัยกรรม คนไทย

15,000 - 20,000

     ♦ พินัยกรรม ชาวต่างชาติ

25,000

 

รับว่าความ/บริการ ทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.245.xxx]
เมื่อ: 2019-05-31 09:10:16
สงสัยในส่วนใด สอบถามเพิ่มเติมได้ครับ
#2 โดย: ทัศนา [IP: 58.34.154.xxx]
เมื่อ: 2019-08-22 17:02:51
ต้องการทำพินัยกรรมให้สามีชาวต่างชาติ มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไรคะ
#3 โดย: admin [IP: 184.22.242.xxx]
เมื่อ: 2020-01-10 00:54:35
ตอบ #2 โดย ทัศนา
25,000 บาทครับ
#4 โดย: มัญฑิตา [IP: 223.24.95.xxx]
เมื่อ: 2020-06-30 23:42:23
เราสามารถทำพินัยกรรมเองโดยไม่ผ่านทนายได้ไหมคะ/แล้วถ้าได้ใครต้องเป็นคนเก็บพินัยกรรมคะ
#5 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.218.xxx]
เมื่อ: 2022-10-11 13:36:39
ตอบ #4 โดย: มัญฑิตา

ได้ครับ กฎหมายไม่ได้บังคับ / คนเก็บควรเป็นคนที่ได้รับมรดกมากที่สุด
#6 โดย: ทนายธนู [IP: 49.229.194.xxx]
เมื่อ: 2022-12-10 16:14:01
ทำพินัยกรรมให้ลูกสาวซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอยู่แล้วต่อมาพินัยเกิดเป็นโมฆะเพราะไม่สมบูรณ์มรดกทรัพย์สินก็ยังตกเป็นของลูกสาวอยู่ดีเพราะเป็นทายาทโดยธรรมตามกฏหมายใช่ไหมครับ
#7 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.210.xxx]
เมื่อ: 2023-01-13 16:50:52
ตอบ #6 โดย: ทนายธนู
ใช่ครับ ทรัพย์มรดกกลับเข้าสู่กองมรดก แบ่งกันตามกฎหมาย ป.พ.พ. ม.1629

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,370