บุตร

การใช้อำนาจปกครองบุตร

   ถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 ได้ให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรส หากมีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองได้ เช่น ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ เป็นต้น

หลักการพิจารณาของศาลเบื้องต้น

1. เด็กไร้เดียงสาควรให้มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ฎ.303/2548

2. พี่น้องควรอยู่ด้วยกัน ฎ.9130/2539

3. ลูกอายุ ตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป ให้แสดงความประสงค์ว่าอยากอยู่กับฝ่ายไหน ฎ.1454/2545

 

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

   ศาลมีอำนาจกำหนดว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยพิจารณาจากความสามารถทางการเงินของทั้งสองฝ่าย แม้บิดามารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

   ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะชำระเป็นเงินหรือชำระเป็นอย่างอื่นก็ได้โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนใหม่ภายหลังก็ได้หากพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู นั้นจะสละหรือถอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี

 

สิทธิในการติดต่อบุตร

คู่สมรสฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองหลังจากศาลมีคำพิพากษาให้หย่าย่อมมีสิทธิติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ฟ้องหย่าอย่างเดียว แต่ศาลสามารถใช้ดุลพินิจกำหนดอำนาจปกครองบุตรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548

   จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

   ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ ตาม มาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้ คคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ให้ศาลคำนึงถึง ความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้น เป็นสำคัญ

มาตรา 1522 ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

   ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,165